วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พจนานุกรมแห่งความสำเร็จ

พจนานุกรมแห่งความสำเร็จ (ตอนที่ 2)

Data ข้อมูล ข้อมูลคือรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เราสนใจและได้จัดเก็บบันทึกไว้ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้งานต่อ ข้อมูลอาจจะเป็นตัวเลขเช่นค่าใช้จ่ายในการเรียน, อาจจะเป็นข้อความเช่น ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา, เป็นข้อความประกอบตัวเลข เช่น ยอดส่งออกสินค้าประเภทต่าง ๆ ในแต่ละปี, หรือเป็นภาพกราฟิกส์ เช่น แผนที่ นักศึกษาที่ดีจะต้องยึดข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญในการคิดวิเคราะห์ และจะต้องใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง, แม่นยำ และ เป็นปัจจุบันในการทำวิจัย ดังนั้นระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่นั้น นักศึกษาพึงหัดใช้ข้อมูลให้เป็นไม่ว่าในการอ่านหนังสือพิมพ์, อ่านเรื่องราวหรือข่าวในอินเทอร์เน็ต, ระหว่างการสนทนากับเพื่อน, หรือ ระหว่างการฟังอาจารย์สอน ข้อมูลที่ดีและน่าเชื่อถือนั้นจะต้องมีลักษณะดังนี้ ก. เป็นข้อมูลปฐมภูมิ หรือ นักศึกษาได้จัดเก็บรวบรวมมาอย่างถูกต้องเอง ข. มีพยานหลักฐานที่เชื่อถือได้ เช่น มีปรากฏอ้างถึงในตำรา, รายงานวิจัย, กฎหมาย, ระเบียบปฏิบัติของหน่วยงาน, คำพิพากษาของศาล ค. สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติที่เรารู้จักดี ในการทำวิจัยนั้นนักศึกษาจะต้องพิจารณาจัดเก็บข้อมูลอย่างถูกต้องตามระเบียบวิธีที่เหมาะสม

Ethics จริยธรรม คนไทยได้รับการสั่งสอนให้มีศีลธรรมอันดีงามอยู่แล้ว และโดยทั่วไปนักศึกษาก็มีศีลธรรมอยู่แล้ว แต่ในการเรียนและการทำงานนั้นศีลธรรมยังไม่พอ เราจะต้องมีจริยธรรมด้วย จริยธรรมที่สำคัญนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตสำนึกที่ถูกต้องและเหมาะสม เช่น การไม่ล่วงละเมิดทางเพศ (Sex harassment) ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของการผิดประเวณีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้วาจาแทะโลม หรือ ส่อไปในทางเหยียดหยามทางเพศ (หรือวัย) ด้วย อีกเรื่องหนึ่งก็คือการไม่นำผลงานของคนอื่นมาอ้างว่าเป็นของตน เช่นการลอกและดัดแปลงรายงานของคนอื่นไปส่งเป็นผลงาน หรือแม้แต่เมื่ออาจารย์ให้ค้นหาข้อมูลไปส่ง การที่นักศึกษาดาวน์โหลดข้อความไปส่งโดยตรงโดยไม่อ้างอิง หรือ ไม่ขยายความเป็นคำพูดของตนเองก็ถือว่าผิดจริยธรรม สำหรับการคัดลอกผลงานวิจัยของผู้อื่นไปนำเสนอเป็นผลงานวิชาการของตนเองนั้น ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษากำหนดให้เป็นความผิดสถานหนัก หากเป็นอาจารย์ก็มีโทษถึงไล่ออก โดยทั่วไปแล้วสมาคมหรือองค์การวิชาชีพต่าง ๆ นั้นมักจะกำหนดหลักเกณฑ์จริยธรรม (บางทีเรียกว่า จรรยาบรรณ - ซึ่งคำนี้โดยความหมายอย่างเคร่งครัดหมายถึงจริยธรรมของนักหนังสือพิมพ์หรือนักสื่อสาร) ของตนเอง นักศึกษาที่ทำงานอยู่จะต้องสนใจเรื่องนี้ด้วย
Fact ความจริง, ข้อเท็จจริง, สภาพความเป็นจริง นักศึกษาได้ชื่อว่าเป็นปัญญาชน หรือผู้ที่มีปัญญา โดยทั่วไปหมายความว่านักศึกษาต้องสามารถคิดหาเหตุผลต่าง ๆ ที่ถูกต้องได้ด้วยตนเองและในการพิจารณาตัดสินเรื่องใด ๆ จะต้องยึดความจริงเป็นพื้นฐาน ปัญหาที่สังคมไทยประสบอยู่ในปัจจุบันนี้ก็คือ นักการเมืองบางคน และ สื่อบางราย ใช้เล่ห์ในการบิดเบือนความจริงให้เป็นความเห็นสนับสนุนข้างของตนเอง ดังนั้นนักศึกษาจะต้องรู้จักแยกเรื่องราวที่เป็นความเห็นออกจากเรื่องราวที่เป็นความจริงให้ได้ ถ้าหากนักศึกษาสามารถจำแนกความจริงหรือข้อเท็จจริงได้แล้ว นักศึกษาก็สามารถจะเห็นสิ่งต่ง ๆ ได้ตามความเป็นจริงอย่างถ่องแท้
ในพระไตรปิฎกมีพระสูตรสำคัญที่เกี่ยวกับการสำรวจความจริงอยู่พระสูตรหนึ่ง คือ กาลามสูตร เนื้อความเป็นเรื่องราวที่พระพุทธองค์ทรงสอนชาวกาลามะ ซึ่งมีนักบวชมาสั่งสอนให้เชื่อเรื่องต่าง ๆ มากมาย จนชาวกาลามะไม่รู้ว่าควรจะเชื่อใครดี พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้รู้จักพิจารณาว่าควรพิจารณาโดยวิธีคิดสิบประการคือ
พระพุทธองค์ได้ให้หลักหรือวิธีปฏิบัติในการตรวจสอบความเชื่อไว้ 10 ข้อ ดังนี้
1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา (มา อนุสฺสเวน)
2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบต่อกันมา (มา ปรมฺปราย)
3. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ (มา อิติกิราย)
4. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์ (มา ปิฏกสมฺปทาเนน)
5. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก (มา ตกฺกเหตุ)
6. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอนุมาน (มา นยเหตุ)
7. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (มา อาการปริวิตกฺเกน)
8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว (มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา)
9. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ (มา ภพฺพรูปตาย)
10. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ)
ต่อเมื่อใดที่ได้พิจารณาด้วยตัวเองแล้วเห็นว่าเรื่องนั้น เป็นกุศล หรืออกุศล, มีโทษ หรือไม่มีโทษ แล้ว จึงควรเชื่อตามนั้น พระสูตรนี้มีความซับซ้อนเพราะแม้แต่ตำรา, ตรรกะ หรือ ทฤษฎี พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงเสนอให้นำมาใช้ แต่ทรงให้เราใช้ความคิดของตนเองพิจารณาเท่านั้น สำหรับในกรณีของนักศึกษานั้น สิ่งที่จะต้องนำมาใช้ประกอบการพิจารณาก็คือข้อเท็จจริงหรือความจริงที่ได้เห็นชัดด้วยตัวเองนั่นแล





Friend เพื่อน เพื่อนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาทุกระดับ การที่เราไปศึกษาในมหาวิทยาลัยเปิดนั้นเรามีโอกาสได้รับความรู้จากหลายช่องทางมาก เราได้รับความรู้จากอาจารย์ในการเข้าฟังคำบรรยายและการขอคำแนะนำ, เราได้รับความรู้จากห้องสมุดที่มีหนังสือและวารสารจำนวนมากให้อ่าน, เราได้รับความรู้จากระบบอินเทอร์เน็ต และ เราได้รับความรู้จากการสนทนากับเพื่อน ๆ ดังนั้นเราจึงต้องรู้จักใช้ประโยชน์เรื่องนี้ด้วย ก่อนเข้าเรียนหรือระหว่างการพักดื่มกาแฟ เราควรสนทนากันด้วยเรื่องเนื้อหาที่เกี่ยวกับบทเรียน หรือเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ มากกว่าคุยกันในเรื่องไร้สาระ ผู้ที่เป็นเพื่อนควรช่วยเหลือกันในทางที่ถูก เช่น ช่วยติวเนื้อหา, ช่วยอธิบายเนื้อหาที่เข้าใจยาก, ช่วยแนะนำเอกสารหรือเว็บไซต์, ช่วยวิจารณ์งานวิจัย, ช่วยให้ข้อมูล, ฯลฯ นอกจากนั้นเพื่อนร่วมชั้นควรสร้างมิตรภาพในระยะยาว และช่วยเหลือจุนเจือกันต่อไปในอนาคต

Gratitude ความรู้คุณ, การสำนึกบุญคุณ นักศึกษาปริญญาโทและเอกนั้นสามารถแสดงความสำนึกในบุณคุณของครูบาอาจารย์ได้หลายวิธี วิธีที่ใช้กันทั่วไปก็คือเขียนไว้ใน กิตติกรรมประกาศ (Acknowledgement) ในวิทยานิพนธ์หรือรายงานโครงานศึกษาอิสระ เท่าที่พบเห็นมานั้นการเขียนมีลักษณะขอไปที, เป็นไปอย่างเสียไม่ได้, หรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เช่น อาจารย์ที่เป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์นั้นบางทีก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่เขียนเสียเลอเลิศ ส่วนบางคนก็อาจจะไม่ได้เขียนเลย การเขียนแบบนี้อันที่จริงยังไม่ใช่การแสดงความสำนึกบุญคุณอย่างแท้จริง แต่เป็นการเขียนไปตามรูปแบบเท่านั้น นักศึกษาอาจแสดงความสำนึกบุญคุณได้ด้วยการนำความรู้ที่ได้เรียนมาไปใช้อย่างถูกต้อง หรือ ทำตามพันธะ (ดู commitment) ที่อาจารย์มอบหมายให้แล้วเสร็จอย่างมีคุณภาพและตรงตามกำหนด นักศึกษาไม่ควรนำของขวัญราคาแพงมามอบให้อาจารย์ เพราะเป็นการทำผิดจริยธรรมระหว่างศิษย์กับอาจารย์ หากต้องการแสดงออกถึงความขอบคุณก็อาจจะมอบเพียงบัตรขอบคุณให้อาจารย์เท่านั้น

Health สุขภาพ สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักศึกษาทุกระดับ ยิ่งถ้าเป็นนักศึกษาที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยแล้วยิ่งจะต้องระวังเรื่องสุขภาพมาก สุขภาพที่ดีประกอบด้วยเรื่องทางกายนับตั้งแต่การพักผ่อนนอนหลับให้พอเพียง, การรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและมีประโยชน์ครบถ้วน, การหลีกเลี่ยงไม่ให้ไปติดโรคระบาดร้ายแรงต่าง ๆ, และ รวมถึงสุขภาพทางจิต นั่นคือ การรู้จักผ่อนคลาย, ไม่เครียด, ไม่วิตกกังวลมากเกินควร ซึ่งเรื่องสุขภาพจิตนี้หากนักศึกษารู้จักวางแผนงาน และ ทำงานตามแผนอย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็ไม่น่าจะต้องมีปัญหาอะไรมากนัก

Honest ความจริงใจและซื่อสัตย์ การศึกษาเป็นด่านแรกสำหรับการฝึกฝนความจริงใจและความซื่อสัตย์ ที่สำคัญก็คือนักศึกษาต้องซื่อสัตย์ต่อตนเองก่อน งานที่อาจารย์มอบหมายให้ทำนั้นจุดประสงค์หลักก็คือการฝึกฝนให้นักศึกษาทำงานนั้นให้เป็น และอาจารย์ก็จะพิจารณาผลงานนั้นเพื่อให้คำแนะนำแก้ไขให้นักศึกษาปรับปรุงการทำงานของตนให้ดีขึ้นในอนาคต หากนักศึกษาไม่ทำงานส่งเอง แต่ลอกของเพื่อนไปส่ง หรือในกรณีที่เป็นงานกลุ่ม นักศึกษาก็ไม่เข้าร่วมเพียงแต่ขอมีชื่ออยู่ในกลุ่มเท่านั้น แบบนี้นักศึกษาก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรที่เป็นประโยชน์ และการทำเช่นนั้นก็เท่ากับนักศึกษาขาดความละอายต่อตัวเอง ความซื่อสัตย์ที่สำคัญก็คือระหว่างการทำวิจัยนั้นนักศึกษาต้องไม่สร้างข้อมูลที่เป็นเท็จเพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ และต้องไม่ว่าจ้างบุคคลอื่นทำงานวิจัยหรือทำโครงงานให้

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบพระคุณสำหรับพจนานุกรมแห่งความสำเร็จนี้
    บทความสั้นๆ แต่ความหมายและความนัยไม่สั้นเลยคะ
    กาญจนรัตน์ รัตนา
    นักศึกษาปริญญาโท ม.จันทรเกษม

    ตอบลบ