วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การตอบคำถามของพระพุทธองค์

เมื่อปีที่แล้ว คุณพิทยา ว่องกุล ได้เป็นบรรณาธิการหนังสือเรื่อง "ฉลาดเยี่ยงพุทธ พระพุทธปฏิภาณ" โดยนำหนังสือเรื่อง "พระพุทธปฏิภาณ" ซึ่งเคยจัดพิมพ์เมื่อปี 2479 มาเพิ่มเติมคำอธิบายและพิมพ์ใหม่.
หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่เป็นบทสนทนาธรรม 25 บท ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างพระพุทธองค์กับผู้ที่มาสอบถามปัญหา หรือผู้ที่พยายามมาหาเรื่องทะเลาะกับพระพุทธองค์. ข้อที่น่าสนใจก็คือ พระพุทธองค์ทรงใช้วิธีถามคำถามกลับเพื่อให้ผู้ที่มาถามปัญหาหรือมาชวนทะเลาะนั้นเกิดความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ด้วยตัวเอง. คำถามที่ทรงตั้งนั้นก็ทรงเลือกประเด็นที่สอดคล้องกับคำถามแรกของผู้ถามนั่นเอง แต่เปลี่ยนไปในรูปแบบเชิงอุปมาอุปมัย.
ผมขอยกตัวอย่างที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดมาให้พิจารณา. คือเมื่อพระอภยราชกุมาร ได้กราบทูลเชิญพระพุทธองค์ไปเสวยพระกระยาหารที่พระราชนิเวศน์. หลังจากนั้นพระอภยราชกุมารได้กราบทูลถามปัญหาที่ได้ทรงรับการเสี้ยมสอนมาจากนิครถ์นาฏบุตร แต่พระพุทธองค์ก็ได้ไขปัญหาให้กระจ่างหมด. จากนั้นพระอภยราชกุมาร กราบทูลถามว่า "พระองค์ผู้เจริญ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี และ สมณะ ผู้เป็นนักปราชญ์ผูกปัญหาแล้ว เข้ามาเฝ้าทูลถามพระตถาคตเจ้า ข้อพยากรณ์ปัญหาของนักปราชญ์เหล่านั้น พระตถาคตเจ้าได้ทรงตรึกด้วยพระหหฤทัยก่อนแล้วว่า ปัญหาอย่างนี้ จักต้องพยากรณ์อย่างนี้ หรือว่า ข้อพยากรณ์นั้นมาแจ่มแจ้งแก่พระองค์ในทันทีทันใดนั้นฯ"
ผู้ที่ศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์มามากคงนึกสงสัยอย่างพระอภยราชกุมารมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย. ผมเองก็เคยสงสัย เพราะดูเหมือนว่าในช่วง 45 พรรษาที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จสั่งสอนเวไนยสัตว์นั้น พระพุทธองค์ได้ทรงสอนเรื่องต่าง ๆ ไว้มากมาย จนกล่าวกันว่ามีถึง 84,000 พระธรรมขันธ์. ผมอยากรู้ว่า พระองค์ทรงตอบคำถามเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร. นอกจากนั้น ยังปรากฏชัดว่า เนื้อหาที่พระองค์ทรงสอนตั้งแต่ปฐมเทศนา จนถึงปัจฉิมโอวาทนั้น มีเนื้อหาตรงกันหมดทุกเรื่อง. ผมไม่อาจเอื้อมจะเปรียบเทียบตัวเองกับพระพุทธองค์ แต่อยากจะบอกว่า เนื้อหาวิชาที่ผมสอนในแต่ละรุ่นนั้นเปลี่ยนตลอดเวลา. การเปลี่ยนนั้นก็เพราะผมเพิ่งตีความเนื้อหาเก่าได้เพิ่มเติมบ้าง, ได้เรียนรู้เรื่องใหม่บ้าง, แก้ไขเนื้อหาเก่าเพราะล้าสมัยไปบ้าง ฯลฯ. บางครั้งผมย้อนกลับไปอ่านบทความที่ผมเขียนเมื่อสามสิบปีก่อน ผมยังแปลกใจว่าเขียนผิดพลาดไปได้อย่างไร.
เอาละครับ คราวนี้มาดูว่า พระพุทธองค์ทรงตอบอย่างไร.
พระพุทธองค์ทรงตอบว่า "พระราชกุมาร ความเรื่องนี้เราจักถามท่านกลับบ้าง ท่านเห็นอย่างไร ก็พึงตอบอย่างนั้น ท่านเป็นผู้ฉลาดรอบรู้ในเรื่องส่วนประกอบต่าง ๆ ของรถหรือไม่?"
พระอภยราชกุมาร กราบทูลตอบว่า "เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า"
พระพุทธองค์ทรงตอบว่า "พระราชกุมาร เมื่อเป็นเช่นนั้น หากมีคนเข้ามาเฝ้าท่านแล้วถามว่า ส่วนประกอบของรถชิ้นนี้ชื่ออะไร การตอบปัญหานี้ ท่านตรึกตรองด้วยหฤทัยไว้ก่อนแล้ว หรือว่ามาแจ่มแจ้งแก่ท่านในทันทีทันใดนั้นทีเดียว?"
พระอภยราชกุมาร กราบทูลตอบว่า "พระองค์ผู้เจริญ คำตอบปัญหานั้นมาแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ในทันทีทันใดนั้นทีเดียว เพราะอาศัยข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาด และทราบชัดอยู่แล้วในเรื่องส่วนประกอบน้อยใหญ่ของรถนั้น"
พระพุทธองค์ทรงสรุปว่า "ราชกุมาร ข้อนี้ก็เหมือนกัน นักปราชญ์เหล่าใด ที่เป็นกษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง คฤหบดีบ้าง สมณะบ้าง ผูกปัญหาแล้วเข้ามาเฝ้าทูลถามพระตถาคต ข้อกล่าวแก้ปัญหาของนักปราชญ์เหล่านั้น ย่อมมาแจ่มแจ้งแก่พระตถาคตในทันใดนั้นทีเดียว เพราะว่าธรรมธาตุทั้งหลาย พระตถาคตแทงตลอดดีแล้ว ดังนี้ฯ"
คำตอบของพระพุทธองค์คงจะช่วยให้เราหายสงสัยแล้วนะครับว่า ทรงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ และทรงมีความรู้มากมายมหาศาลยิ่งกว่าที่เราจะคาดคิดได้อย่างไร
หนังสือเล่มนี้อาจจะอ่านยากสักหน่อย เพราะใช้ถ้อยคำสำนวนบาลีเป็นคำพระ. ผมขอแนะนำให้ไปลองหามาศึกษาเพื่อจะได้เพิ่มพูนศรัทธาและสติปัญญาให้มากยิ่งขึ้น. หนังสือนี้พิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิถึทรรศน์ และ อยู่ในชุดวิถึธรรม 2 ครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น