วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ลักษณะคนเสื้อแดงที่เข้มข้น

สีแดงนั้นเป็นสีหนึ่งของธงไตรรงค์ และ เราทราบดีว่ามีความหมายถึงความเป็นชาติของคนไทย. ปัญหาก็คือเวลานี้คนกลุ่มหนึ่งเอาสีนี้ไปให้ความหมายที่ผิด คือ นำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของบุคคลเพียงคนเดียวเท่านั้น.
หล้งจากที่ผู้นำการชุมนุมได้เข้ามอบตัวต่อรัฐบาล และ ต่อมาได้มีการขนส่งนำผู้ชุมนุมกลับสู่ภูมิลำเนาแล้ว, เพื่อนของผมคนหนึ่งเล่าว่า เขาได้ขึ้นแทกซีในกรุงเทพ และ คนขับรถแทกซีบอกว่า เขาก็เป็นคนเสื้อแดง. แต่ไม่ใช่คนเสื้อแดงชนิดมาชุมนุม และ สร้างความเสียหายหรือวางเพลิง. เขาเป็นคนเสื้อแดงเพราะไม่ชอบพรรคประชาธิปัตย์.
คำบอกเล่าของเพื่อนนั้นน่าคิดนะครับ. นั่นแสดงว่า คนเสื้อแดงแบบที่เราเห็นเมื่อหลายวันก่อนนั้น มีหลายกลุ่มหลายประเภทด้วยกัน. แต่ไม่ใช่เสื้อแดงในแบบที่ผมจะกล่าวถึงต่อไป.
เวลานี้ผมมีตำแหน่งงานในภาครัฐที่ไม่สามารถจะไปสังกัดพรรคใด ๆ ได้. เมื่อเป็นเเช่นนี้ ผมจึงคิดว่าผมไม่สามารถจะรักหรือชังพรรคใด ๆ ได้. ผมจะต้องพิจารณาการดำเนินการต่าง ๆ ที่ผมรับผิดชอบอย่างถูกต้องและเป็นธรรม.
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเราจะต้องส่งเสริมให้คนไทยทั้งหมดเป็นคนเสื้อแดงซึ่งเป็นสีที่หมายถึงประเทศชาติให้ได้.
แดงอย่างประเทศชาติ หมายถึงอะไรบ้าง? ผมจะขอขยายความดังต่อไปนี้...
ก. คิดถึงประเทศชาติก่อนตนเอง, ญาติมิตร, หัวหน้า, หรือ แม้แต่ผู้มีบุญคุณ. นั่นคือ หากใครมาสั่งให้เราทำให้ประเทศชาติเดือดร้อน ไม่ว่าคนสั่งนั้นจะเป็นใคร เราจะต้องไม่ปฏิบัติตาม.
ข. เราจะต้องช่วยกันขัดขวางคนที่ทำร้ายประเทศ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม. เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก และจะต้องปลูกฝังความคิดนี้ให้แพร่หลายต่อไป. รวมทั้งต้องฝึกปฏิบัติด้วย.
ค. เราจะต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการส่งเสริมให้ผู้ที่มุ่งทำร้ายประเทศไทย ได้รับการยกย่อง หรือ ได้หน้าได้ตา. เรื่องนี้ฝากไว้ให้แก่บรรดา สื่อมวลชน, ส.ส., และ ศ.ว. ทั้งหลายที่เป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดการก่อการร้ายในอดีต และ กำลังจะยุยงให้เกิดปัญหาต่อไปอีก.
ง. เราจะต้องไม่กระทำการใด ๆ ให้คนในชาติเดือดร้อน เพื่อให้ตนเองและพรรคพวกได้ประโยชน์. ขอฝากเรื่องนี้ไว้ให้ทุกคนคิด.
จ. เราจะต้องไม่กระทำการใด ๆ อันจะทำให้ประเทศชาติเสื่อมเสียชื่อเสียงและ เกียรติภูมิ จนเป็นที่ได้รับการดูถูกดูหมิ่นจากประเทศต่าง ๆ.
ฉ. เราจะต้องร่วมกันขัดขวางคนชั่วที่คิดฉ้อราษฎร์บังหลวง, ฉ้อฉลนำเวลาประชุมสภาตามหน้าที่ไปนำคนมาชุมนุมเพื่อสร้างความวุ่นวาย, สร้างเรื่องเท็จขึ้นหลอกลวงประชาชน, นำอาวุธมาประหัตประหารคนบริสุทธิ์, นำเงินงบประมาณไปผลาญเพื่อแบ่งเปอร์เซ็นต์เข้าพรรคและเข้ากระเป๋าตนเอง, ใช้อิทธิพลบังคับข้าราชการให้ปฏิบัติตามคำบงการอย่างไม่ถูกต้อง, สร้างเส้นสายเพื่อให้พรรคพวกได้รับตำแหน่ง, เข้ารับตำแหน่งทางการเมืองโดยไม่มีความรู้ความสามารถในด้านนั้น, ฯลฯ.
ช. เราต้องเป็นหูเป็นตา เพื่อแจ้งเบาะแสการก่อการร้ายเพื่อบั่นทอนสันติสุขของคนไทยให้ทางการที่รับผิดชอบทราบ.
ซ. เราต้องขัดขวางคนที่กระทำการขัดกับรัฐธรรมนูญและหลักการประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้ได้เข้าไปนั่งในรัฐสภา และ ไม่ให้สามารถขึ้นมาปกครองประเทศ.
ฌ. เราจะต้องปกป้องรักษาทรัพยากรของชาติเอาไว้ให้มีใช้ต่อไปจนถึงรุ่นลูกหลาน.
ญ. เราจะต้องปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่คู่ชาติไทยสืบต่อไปนาน ๆ.

ถ้าทำได้เช่นนี้นี่แหละครับที่เราเป็นคนเสื้อแดงอย่างแท้จริง. คนเสื้อแดงอื่น ๆ ที่ไม่ได้ทำตามนี้ไม่อาจนับเป็นคนเสื้อแดงที่รักชาติได้เลย. คนพวกหลังนี้พอถูกน้ำฉีดเข้าหน่อย สีก็ตกหมดแล้วละครับ.

ท่านอิ๊คคิวซัง

วิถีแห่งอิ๊คคิวซัง เสริมปัญญาด้วยสมาธิ
วิทักโข เขียน
สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊กส์ ตุลาคม 2551

หลายปีมาแล้วระหว่างที่รอเครื่องบินอยู่ที่สนามบินโตเกียว ผมก็เดินเตร่ไปหาซื้อหนังสือมาอ่านที่ร้านหนังสือในสนามบิน. หนังสือเกือบทั้งหมดในร้านเป็นภาษาญี่ปุ่น และมีอยู่ไม่กี่เล่มที่เป็นภาษาอังกฤษ. ผมพบหนังสือน่าสนใจเล่มหนึ่งเกี่ยวกับพระเซ็นในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น และมีประวัติของท่านอิ๊คคิวซังอยู่ในหนังสือเล่มนี้ด้วย. ต่อมาอีกหลายปี ผมก็ได้เห็นหนังสือที่คุณ “วิทักโข” หรือคุณพิทักษ์ ไทรงาม เขียนออกมาเผยแพร่เล่มที่มีชื่อข้างต้น. เมื่อได้อ่านแล้วก็ต้องชมว่า วิทักโข ได้เรียบเรียงเนื้อหาของพระภิกษุชาวญี่ปุ่นรูปนี้ออกมาได้อย่างดี.
พวกเราหลายท่านเคยรู้จักท่านอิ๊คคิวซังในรูปแบบของภาพยนต์การ์ตูนเรื่องเณรน้อยเจ้าปัญญามาแล้ว แต่อาจไม่ทราบว่าท่านเป็นบุคคลที่เคยมีตัวตนจริง ๆ. นอกจากนั้นประวัติของท่านก็โลดโผนมากทีเดียว ดังที่คุณวิทักโขได้นำมาถ่ายทอดให้อ่าน.
ประวัติของท่านอิ๊กคิวซังนั้น ไม่เบาเลยทีเดียว ท่านเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของจักรพรรดิ์ญี่ปุ่น ส่วนมารดาของท่านก็คือพระนางโนะจิโบเนะ พระสนมที่ถูกความอิจฉาริษยาของสนมอื่น ๆ ใส่ร้ายจนต้องถูกเนรเทศกลับบ้านเดิมขณะตั้งครรภ์.
อิ๊กคิวซังถือกำเนิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 1892 มีนามว่า เซนงิกามารุ. เมื่อท่านมีอายุได้ 6 ขวบ มารดาของท่านวิตกว่าท่านอาจจะถูกภัยจากผู้ปองร้าย จึงพาท่านไปบวชเป็นเณรที่วัดอังคะคุจิ ซึ่งมีท่านโกคันเป็นเจ้าอาวาส และ ได้รับชื่อใหม่ว่า “ชูเคน”. ขณะที่ท่านเป็นเณรอยู่ที่นี่นั่นเองที่ท่านได้แสดงสติปัญญาในด้านต่าง ๆ ให้เป็นที่ประจักษ์จนกลายมาเป็นเรื่องบอกเล่า และมีผู้นำมาถ่ายทอดเป็นการ์ตูนให้เราได้ชื่นชม.
ครั้นท่านอายุได้ 17 ปีแล้ว ท่านก็กราบลาท่านโกคันไปศึกษาต่อที่วัดโกคอนจิ และที่วัดนี้เองท่านเคนโอ เจ้าอาวาสได้เมตตารับท่านไว้เป็นศิษย์และได้ตั้งชื้อให้ใหม่ว่า “โชจุน”. ต่อมาไม่นานนักท่านเคนโอก็มรณภาพ เณรโชจุนขาดร่มโพธิ์ร่มไทร ก็เลยออกเดินทางไปขอปฏิบัติธรรมที่วัดอิชิยามา. ท่านพำนักอยู่ที่วัดนี้จนอายุได้ 20 ปี ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ. ท่านยังคงอยู่ที่วัดนี้อีก 3 ปี จึงกราบลาท่านเจ้าอาวาสเพื่อไปศึกษากับท่านคะโซ ที่วัด โคอัน.
ระหว่างที่ท่านได้ศึกษาธรรมะกับท่านคะโซนั้น ท่านคะโซได้ให้ปริศนาธรรมไปพิจารณา. ในหนังสือเล่มนี้ วิทักโข ไม่ได้เล่าว่าปริศนาธรรม (เข้าใจว่าเป็น โกอาน)นั้นมีเนื้อความว่าอะไร. โกอานนั้นเป็นปริศนาธรรมที่เข้าใจยาก เช่น เสียงของการตบมือข้างเดียวเป็นอย่างไร, หรือ ก่อนที่เราจะเกิดมานั้นมีหน้าตาอย่างไร? วิทักโขเล่าแต่เพียงว่า ในที่สุดแล้วพระโจชุนก็ขบปริศนาธรรมออกและบรรลุธรรม. ท่านคะโซจึงตั้งชื่อให้ท่านใหม่ว่า “อิ๊คคิว โชจุน” มีความหมายว่า พระโจชุนบรรลุธรรม.
เมื่อท่านได้บรรลุธรรมแล้ว ท่านก็ได้สั่งสอนคนญี่ปุ่นทุกเพศทุกวัยจนเป็นที่เลื่องลือ และในที่สุด พระเจ้าจักรพรรดิ์ก็ทรงโปรดให้เข้าเฝ้า และ ได้ซักไซร้จนทรงตระหนักว่าท่านอิ๊คคิวคือพระโอรสของพระองค์เอง. พระเจ้าจักรพรรดิ์ทรงขอให้ท่านสึกมาอยู่ในวัง แต่ท่านไม่รับ ดังนั้นพระเจ้าจักรพรรดิ์จึงขอให้ท่านพำนักอยู่ที่วัดใกล้ ๆ กับวังแทน. ช่วงนี้เองที่ท่านอิ๊คคิวก็ถูกพระอลัชชี (ซึ่งมีทุกยุคทุกสมัย) พยายามกลั่นแกล้งให้ร้าย แต่ก็ไม่สามารถจะทำอันตรายต่ออริยบุคคลเช่นท่านได้. ท่านมีชีวิตต่อมาอีกนานจนมรณภาพเมื่อ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2024 สิริอายุ 88 ปี พรรษา 68.
ผู้เขียนคือ วิทักโข นั้นเคยบวชเรียนมานานหลายปี ดังนั้นจึงนำธรรมะต่าง ๆมาสอดแทรกไว้ค่อนข้างมาก. วิทักโขบอกว่า “หนังสือเล่มนี้ถือเอาประวัติของท่านอิ๊คคิวซังส่วนหนึ่งมาขยายความ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่าน แต่ยังคงข้อเท็จจริงของเรื่องท่านอิ๊คคิวเอาไว้”. อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการขยายความนี้อาจจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในยุคห้าร้อยปีมาแล้วเท่าใดนัก. วิทักโขกล่าวไปถึงการมีกฎหมายห้ามฆ่าช้างเอางาในอินเดีย หากพบงาช้างแล้วยึดมาก็จะเผาไฟทิ้ง. เรื่องนี้ไม่น่าจะจริงสำหรับยุคนั้น และญี่ปุ่นก็อยู่ห่างจากอินเดียมากเกินกว่าจะมีใครเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับความสนใจในการอนุรักษ์ช้างที่อินเดีย. อีกเรื่องหนึ่งก็คือการที่ท่านอิ๊กคิวไปบิณฑบาตรได้ส้ม และ ได้กล้วย แล้วนำมาแจกให้โสเภณี. เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะพระญี่ปุ่นไม่มีประเพณีการบิณฑบาตร และ การได้กล้วยมาก็ยิ่งไม่น่าเชื่อ เพราะญี่ปุ่นไม่ได้ปลูกกล้วยเอง. การตักบาตรด้วยกล้วยหนึ่งหวี จึงอาจจะเป็นไปไม่ได้. อีกเรื่องหนึ่งที่วิทักโขไม่ได้กล่าวถึงมากนักก็คือ การสร้างปัญญาด้วยสมาธิ.
อย่างไรก็ตาม ยกเว้นแต่เรื่องการขยายความเหล่านี้แล้ว ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าอ่านเพื่อจะได้ทราบประวัติที่น่าสนใจของท่านอิ๊คคิว. ในภาพรวมแล้วหนังสือเล่มนี้จะน่าสนใจมากขึ้นหากวิทักโขจะศึกษาแนวคิดของพุทธศาสนาในญี่ปุ่นให้ลึกซึ้งขึ้น แล้วนำแนวคิด, แนวปฏิบัติ และ คำสอนของทางญี่ปุ่นมาสอดแทรกและอธิบายเพิ่มขึ้น.

______________________________________

ชีวิต ก. เขาสวนหลวง

ชีวิต ก. เขาสวนหลวง
สายธาร ศรัทธาธรรม
สำนักพิมพ์ สร้อยทอง, กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙

ผู้ปฏิบัติธรรมและผู้ศึกษาพุทธศาสนาในเมืองไทยทุกคนย่อมรู้จักท่านพุทธทาสภิกขุ พระสงฆ์ผู้เป็นยิ่งกว่านักปราชญ์ทางธรรมของไทย. ทั้งนี้เพราะท่านมีมรดกเป็นพระธรรมเทศนาจำนวนมากมายยิ่งกว่าพระรูปอื่นใดจะทำได้เทียมท่าน. นอกจากนั้นพระธรรมเทศนาของท่านยังย้ำตรงไปถึงจุดที่เป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัยด้วย. นั่นก็คือ การขาดศีลธรรมขั้นพื้นฐาน, การขาดความเข้าใจในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา, ความเห็นแก่ตัวของคนไทย, และ การฟุ้งเฟ้อในวัตถุกามทั้งหลาย. อย่างไรก็ตามในช่วงที่ท่านพุทธทาสยังเพียรสั่งสอนพวกเราอยู่นั้น ก็มีอุบาสิกาอีกท่านหนึ่งที่อุทิศตนให้แก่พระพุทธศาสนาและการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดอย่างหาผู้ใดเปรียบได้ยาก. ท่านผู้นี้ก็คือ ท่าน กี นานายน หรือที่รู้จักกันในนาม ท่าน ก. เขาสวนหลวง.
ผมได้ยินกิตติศัพท์ของท่าน ก. เขาสวนหลวงมานานแล้ว อีกทั้งเคยอ่านคำสอนของท่านมาบ้างแล้วเหมือนกัน แต่ผลงานของท่านไม่มากเหมือนของท่านพุทธทาส. อย่างไรก็ตาม ผมเพิ่งได้หนังสือประวัติของท่านมาอ่านจากงานวิสาขบูชาเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง. ชีวิตของท่านนั้นแม้จะราบเรียบแต่ก็น่าสนใจมาก.
ท่านกีเกิดเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๔๔ ที่ตำบลท่าเจ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี. บิดาชื่อนายฮก นานายนและ มารดาชื่อนางบุญมี นานายน. ตระกูลนานายนเป็นชาวบ้านธรรมดา แต่ก็มีอันจะกิน อีกทั้งบิดามารดาก็ใฝ่ในทางศาสนา และ ได้สั่งสอนให้ลูกดำรงอยู่ในศีลธรรมอันดีมาตั้งแต่ยังเล็ก. เมื่อท่านมีอายุแค่ ๓-๔ ขวบ มารดาได้สอนให้ท่านสวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน. ถ้าหากคืนไหนท่านเผลอหลับไปก่อน มารดาก็จะปลุกให้ลุกขึ้นมาสวดมนต์ก่อนจึงจะให้นอนได้. เมื่อท่านมีอายุมากขึ้น ท่านก็ช่วยเหลือทำงานบ้านเพื่อแบ่งเบาภาระจากมารดาของท่านโดยไม่มีใครสั่ง.
เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ บิดามารดาได้ส่งท่านไปอยู่กับญาติที่กรุงเทพฯ และ ได้ค่าขนมเป็นประจำทุกวัน แต่ท่านนำค่าขนมไปซื้อดอกไม้มาบูชาพระแทน. ครั้นเมื่อท่านอายุได้ ๑๐ ขวบ ท่านก็กลับไปอยู่บ้านที่ราชบุรีกับบิดามารดา และ ได้เริ่มถือศีล ๕. การที่มารดาของท่านเน้นในเรื่องธรรมะมากกว่าการศึกษา ก็เพราะเห็นว่าต้องให้ลูกเป็นคนดีก่อนที่จะเป็นคนเก่ง. ครั้นถึง ๑๑ ขวบ ท่านจึงได้มีโอกาสเรียนหนังสือที่บ้าน จนกระทั่งสามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ดี. หนังสือที่ท่านชอบอ่านก็คือหนังสือสุภาษิตคำกลอน และ การสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์.
เมื่อท่านอายุได้ ๑๘ มารดาของท่านก็ป่วยหนักและถึงแก่กรรมไป. ต่อมาเมื่อท่านอายุได้ ๒๕ ปี ท่านก็ได้รักษาศีลอุโบสถอย่างจริงจัง และ ได้เริ่มปฏิบัติภาวนา “พุทโธ”. ในปีต่อมาท่านได้ชวนเพื่อนหญิงไปปฏิบัติธรรมที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี ซึ่งเป็นป่าเงียบสงัด พวกท่านนั่งภาวนาอยู่บนศาลาห่างจากเชิงตะกอนหลายเมตร. ต่อจากนั้นท่านก็รวบรวมความกล้า กระเถิบเข้าไปนั่งภาวนาใกล้เชิงตะกอนมากขึ้นทุกวัน. สุดท้ายท่านก็นั่งชิดกับเชิงตะกอนได้จนสามารถเห็นเศษกระดูกในเชิงตะกอนด้วย. การฝึกปฏิบัติเช่นนี้ทำให้ท่านสามารถเอาชนะความกลัวได้. ระหว่างที่ท่านปฏิบัติอยู่ที่วัดมหาธาตินี้เอง ท่านก็ได้ภาวนาจนถึงขั้นที่จิตมีความรู้แจ้งในสภาพธรรมที่มีลักษณะเกิดดับ เปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ อีกทั้งยังเห็นสภาพที่ไม่มีการเกิดดับเปลี่ยนแปลงในภายใน พ้นจากการเกิดการตายด้วย. เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความรู้ภายในขึ้นอย่างแจ่มแจ้ง.
ปกติแล้ว ท่าน ก. เขาสวนหลวง ไม่ชอบแสวงหาอาจารย์. ท่านศึกษาค้นคว้าจากบทสวดมนต์และหนังสือต่าง ๆ ด้วยตัวเอง. อย่างไรก็ตามท่านมีศรัทธาในผลงานของท่านพุทธทาสมาก จนถึงกับได้เดินทางไปสนทนาธรรมกับท่านพุทธทาส. ต่อมาท่านพุทธทาสก็ได้ยกย่องท่านว่าเป็นผู้ที่กล้าหาญไม่กลัวตาย.
ในช่วงปี ๒๔๘๘ ท่าน ก. เขาสวนหลวง ได้ตัดสินใจไปอยู่ในเขาสวนหลวง และ ได้เปิดสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นและรับแต่เฉพาะสตรีเท่านั้น. ในระยะแรกท่านมีศิษย์เพียง ๓ คนเท่านั้น. แต่ต่อมาก็มีผู้สนใจไปสมัครเป็นศิษย์กับท่านจำนวนมาก. ท่าน ก. เขาสวนหลวงนั้น ท่านโกนผม นุ่งผ้าถุงสีดำ สวมเสื้อสีขาว. คำสอนของท่านเป็นแนวเดียวกับของท่านพุทธทาส.
ต่อมาในปี ๒๕๐๐ ท่าน ก. เขาสวนหลวง ได้ประสบวิบากกรรมจนถึงกับตาบอดสนิท แต่ท่านก็มิได้เป็นทุกข์ร้อนหรือหวั่นไหว. ท่านยังคงดำเนินชีวิตทางธรรมตามปกติ, ยังคงเผยแพร่คำสอน และ สั่งสอนศิษย์ต่อไปตามเดิม. ในที่สุดท่านก็ได้ละสังขารไปเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๑.
ท่าน ก. เขาสวนหลวง สอนไว้ตอนหนึ่งดังนี้...”ชีวิตของการปฏิบัติธรรมเป็นชีวิตของการต่อสู้นั่นเอง คือต่อสู้กับกิเลสทุก ๆ ประเภทที่จะเกิดขึ้น ผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ เป็นบ่อเกิดของกิเลสประเภทไหนก็ตาม ก็จะต้องมีความรู้สึกตัว เพราะทางอายตนะผัสสะนี้ ถ้าไม่มีนายประตูแล้ว มันก็จะวิ่งพล่านไปตามอารมณ์ ซึ่งกิเลสมันก็คอยมาดักอยู่ทุกด้านเหมือนกัน การมีสติคุ้มครองใจได้ทุกเวลานาที ทำให้เรียบร้อยไปทั้งหมด ไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจอะไร เพราะเมื่อรับรู้อะไรมันก็ดับได้ ไม่ว่าเรื่องจะดีจะชั่ว จะถูกจะผิดก็ตาม เพียงแต่รับรู้แล้วก็ผ่านไป ดับไป สลายตัวไปหมด แล้วจิตนี้ก็มีความสงบรู้อยู่ เห็นอยู่ เป็นความว่างทั้งหมด
“เมื่อพิจารณาอยู่เป็นประจำแล้ว จะเห็นว่าโลกทั้งหมดนี้เหมือนความฝัน คือเมื่อไปยึดถือเข้าเป็นจริงเป็นจัง มันก็เป็นทุกข์ หรือว่ากามทั้งหลายมีความใคร่ ความอยาก เช่นวัตถุกามก็ตาม หรือว่ากิเลสกามก็ตาม อย่างนี้เป็นของชั่วคราว ยิ่งวัตถุกามที่เราพิจารณาดูแล้ว เป็นของชั่วคราวจริง ๆ คือ มันหลอกให้ยึดมั่นถือมั่นไปเพลิน ๆ เป็นของชั่วคราว แล้วก็ดับสลายตัวหมด ถ้าเปรียบก็เหมือนกับของที่ขอยืมเขามาใช้ทุกสิ่ง ทั้งเนื้อทั้งตัว ทั้งกาย ทั้งใจนี้ เดี๋ยวนี้กำลังถูกทวงกลับไปแล้ว ทวงกลับไปเรื่อย ๆ แล้วใครจะเป็นเจ้าของได้ ในเมื่อของนี้ขอยืมเขามาใช้ นี่มาทวงกลับไปเรื่อย ๆ แล้วนะ”

___________________________________

วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

กาลามสูตรกับสถานการณ์ปัจจุบัน

กาลามสูตรกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ครรชิต มาลัยวงศ์


ความก้าวหน้าของไอซีทีทำให้เกิดปัญหาในการเข้าถึงความจริงหรือความถูกต้องอย่างน่าเป็นห่วง. ไอซีทีทำให้เกิดสื่อมวลชนจำนวนมากมาย จนไม่อาจทราบได้ง่าย ๆ ว่าใครเป็นใคร หรือใครเป็นค่ายใด หรือมีทัศนคติและทิศทางอย่างไร. นอกจากนั้นไอซีทียังทำให้เกิดสื่อปัจเจกบุคคลมากมายที่เผยแพร่ความคิดเห็นหรือความรู้สึกของตนเองออกเผยแพร่โดยไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่. ไม่ต้องดูอื่นไกล บทความนี้ก็เป็นการเผยแพร่ความคิดเห็นของผู้เขียนเองออกไปโดยไม่มีใครตรวจสอบว่าความคิดนั้นเป็นบวกหรือลบ, หรือเป็นความคิดที่มีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผลเช่นเดียวกัน. ไอซีทีกำลังทำให้เกิดข่าวสารมากมายจนกระทั่งอาจกล่าวได้ว่า เรากำลังถูกทับถมและท่วมท้นด้วยข้อมูลข่าวสาร จนกระทั่งเราไม่อาจบอกได้ว่า อะไรคือความจริง หรือไม่จริง. ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นก็คือ ไอซีทีสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการตกแต่งปลอมแปลงภาพถ่ายและเอกสารได้โดยไม่ยาก. ในสมัยก่อนเราอาจจะใช้ภาพถ่ายเป็นพยานหลักฐานในคดีต่าง ๆ เพื่อแสดงว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำผิดจริง เช่น กำลังใช้อาวุธยิงผู้เสียหายจริง. แต่ในสมัยนี้เราสามารถใช้ไอซีทีตกแต่งหรือสร้างภาพเช่นนี้ขึ้นมาได้โดยง่าย. ดังนั้นการค้นหาว่าอะไรคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงจึงยากมากขึ้นเป็นทวีคูณ.
ถ้าเช่นนั้น เราจะเชื่อถือสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้เห็นหรือได้อ่านอย่างไร? คำตอบก็คือต้องยึดตามหลักกาลามสูตรซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงประทานไว้ให้เป็นเครื่องมือสำคัญ. คำสอนในพระสูตรนี้มีบางประเด็นที่ท่านต้องตีความหรือพิจารณาอย่างรอบคอบ. อย่าลืมว่าพระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องนี้เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว. ขณะนั้นยังไม่มีประเทศไทย หรือยังไม่แน่ว่ามีคนไทยแล้วหรือยังด้วยซ้ำไป. บ้านเมืองสมัยนั้นก็ไม่ได้มีไฟฟ้าน้ำประปาหรือโทรศัพท์เหมือนสมัยนี้. การคมนาคม การสื่อสาร การเผยแพร่ข่าวสาร แม้แต่การสาธารณสุขเองก็ยังอยู่ในระดับที่เรียกว่าอยู่ในระดับตั้งต้นของมนุษยชาติมาก. ยิ่งการศึกษาด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องคิดเลยว่าจะมีให้ประชาชนทุกคนได้เรียนรู้. ประเด็นเรื่องเหล่านี้แหละที่เราควรพิจารณาเวลานำพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาตีความหรืออธิบายความ.
กาลามสูตร กล่าวถึงชนเผ่าหนึ่งในแคว้นโกศลชื่อชาวกาลามะ. ชุมชนนี้เกิดความสงสัยว่ามีนักบวชหลากหลายกลุ่มมาสอนแนวคิดแนวปฏิบัติต่าง ๆ มากมายให้แก่พวกเขา. เรื่องที่สอนเหล่านี้บางทีก็ขัดแย้งกัน. พวกเขาจึงอยากทราบว่าควรจะเชื่อผู้ใดกันแน่ หรือมีวิธีการตรวจสอบความเชื่อนั้นอย่างไร. ชาวกาลามะจึงกราบทูลถามเรื่องนี้ต่อพระพุทธองค์. พระพุทธองค์ได้ทรงประทานวิธีการตรวจสอบความเชื่อไว้ ๑๐ ข้อ. ในที่นี้ผมจะลองนำมาประยุกต์กับสถานการณ์การชุมนุมและก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนี้...
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา (มา อนุสสะเวนะ). เนื้อหาข้อนี้อาจเทียบเคียงได้กับการอ่านอีเมลที่ได้รับต่อ ๆ กันมา, อ่านเนื้อความจากอินเทอร์เน็ต, อ่านจากสื่อต่าง ๆ เช่นหนังสือพิมพ์,วิทยุชุมชน, หรือ ฟังผู้ประกาศข่าวพูดแสดงความเห็นทางโทรทัศน์ แถมด้วยการฉายข้อความสั้น (SMS) ที่ได้รับจากคนทั่วไป . การที่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เชื่อได้ยาก เพราะการสื่อความต่าง ๆ ออกมาเป็นคำพูดนั้นอาจถูกบิดเบือนไปได้ทั้งโดยจงใจหรือไม่จงใจ. บางครั้งข่าวสารที่สื่อออกมานั้น อาจจะไม่ตรงกับความจริงเพราะการใช้ถ้อยคำ, ประโยคและข้อความที่ผิดพลาด หรือเขียนไม่ครบถ้วน ทำให้ต้องแปลความหมายว่าเนื้อความที่แท้คืออะไร. นอกจากนั้นการเห็นเหตุการณ์เพียงแง่มุมเดียวก็ไม่อาจจะบอกได้ว่ากำลังเห็นอะไรด้วยเช่นกัน. เมื่อผู้เห็นเหตุการณ์นำมาเขียนลงในเว็บ ก็อาจจะคลาดเคลื่อนไปจากความจริงได้. ยิ่งเมื่อคัดลอกส่งต่อ ๆ ไปด้วยแล้ว ยิ่งไม่ควรเชื่อมากขึ้น.
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการทำตามสืบ ๆ กันมา (มา ปรัมปรายะ). เนื้อหานี้อาจจะเทียบเคียงได้กับการที่เราเชื่อถือและทำตามคำสอนโบราณเช่น การไม่ออกจากบ้านเพราะยันต์อุบากองห้าม, หรือ ทำตามคติเก่าแก่เช่น ไม่เผาศพวันศุกร์ หรือ ไม่แต่งงานวันพุธ. ในกรณีของเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ เราจะเชื่อว่าการชุมนุมเรียกร้องจะเป็นแบบสงบและปราศจากอาวุธ เหมือนที่เคยเห็นการชุมนุมและเดินขบวนเรียกร้องหรือประท้วงครั้งก่อน ๆ ไม่ได้, เราจะเชื่อต่อไปจากการกระทำสืบต่อกันมาไม่ได้เช่นกันว่าตำรวจจะเป็นผู้ปราบปรามผู้ก่อการร้าย, เราจะเชื่อต่อไปไม่ได้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือผู้ทรงเกียรติ และเป็นตัวแทนประชาชนเพื่อสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติ, แต่ เราจะเชื่อต่อไปไม่ได้เหมือนกันว่าสื่อมวลชนจะมีความเป็นกลางเหมือนที่พยายามประกาศเรียกร้องให้เชื่อเช่นนั้น. พวกเราเคยพลาดมาแล้ว เพราะเชื่อว่าการที่นักการเมืองเป็นคนร่ำรวยนั้นจะไม่โกงกินอีก. ผลลัพธ์เป็นอย่างไรก็คงจะเห็นประจักษ์แล้วว่าเชื่อไม่ได้.
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือตื่นข่าว (มา อิติกิรายะ). เนื้อหานี้อาจเทียบเคียงได้จากการพูดปากต่อปาก ลือไปทั้งเมือง เช่น ลือว่าคนโน้นคนนี้เป็นมะเร็ง, ลือว่าคนโน้นคนนี้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นั้น ๆ, ลือว่าผู้ชุมนุมรายหนึ่งกระโดดหนีจากเวที และถูกจับตัวไว้แล้ว, ฯลฯ. ความจริงแล้ว เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ส่วนหนึ่งน่าจะลุกลามเพราะการเล่าลือแบบปากต่อปากนี่แหละ. ดังนั้นในเหตุการณ์ทำนองนี้เราอย่าได้เชื่อตามเสียงเล่าลือเป็นอันขาด. เราอาจจะฟังคนที่มาเล่าข่าว ไม่ต้องแสดงความเห็นขัดแย้ง, ไม่ต้องสนับสนุน, แล้วก็เงียบไว้ ไม่นำข่าวนั้นไปเล่าลือต่อ.
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ (มา ปิฎกสัมปทาเทนะ). เนื้อหานี้ อาจจะแปลกมากสักหน่อยสำหรับคนปัจจุบันซึ่งยึดถือตำราเป็นสรณะ. ถ้าหากเราลองทบทวนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ดู จะพบว่า ตำราฟิสิกส์ที่นิวตันเขียนนั้นขณะนี้ก็ไม่เป็นความจริงหมดเสียแล้ว เนื่องจากมีผู้ค้นพบเรื่องราวใหม่ ๆ ที่ไม่เป็นไปตามหลักการฟิสิกส์สมัยนิวตัน. ขณะนี้การศึกษาจักรวาลต้องใช้แนวคิดใหม่ด้านควอนตัมเป็นเครื่องมือ. อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ว่าฟิสิกส์ใหม่จะเป็นความจริงได้ตลอดกาลหรือไม่. ศัพท์บาลีข้อนี้ใช้ว่า มา ปิฏกสมฺปทาเนน และทางพุทธศาสนาใช้คำว่า ปิฏก ในความหมายของตำรามานานแล้ว. นั่นแปลว่า สมัยพระพุทธองค์ทรงมีพระชนม์อยู่นั้น ก็มีการเขียนตำรากันแล้ว. มีคำถามว่าแล้วเหตุใดจึงไม่มีใครบันทึกคำสอนของพระองค์เป็นตัวหนังสือบ้างหรือไร. ผมเองเชื่อว่าคงมีการบันทึกคำสอนไว้เป็นตัวหนังสือบ้างเหมือนกัน แต่หลัก ๆ อยู่ที่การทรงจำของพระเถระต่าง ๆ สืบต่อกันมา. หากบันทึกไว้แต่เพียงเป็นคัมภีร์เท่านั้น ป่านนี้ก็อาจจะไม่มีอะไรเหลือมาถึงพวกเราแล้ว. ขอย้ำอีกครั้ง...อย่าลืมว่านั่นเป็นยุคสมัยสองพันกว่าปีมาแล้ว. ในกรณีของเหตุการณ์การก่อการร้ายนั้น ผมขอขยายความว่า เราไม่ควรเชื่อเนื้อความที่เขียนในรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายมากนัก เพราะเนื้อความเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์เอาไว้อย่างชัดเจนนัก. เช่น การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ชุมนุมเรียกร้องอย่างสงบได้นั้น ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้มีเจตนาให้เดินขบวนมาเรียกร้องให้ยุบสภา หรือไปยึดราชประสงค์, หรือให้คนชุมนุมไปตรวจค้นผู้คนที่ขับยวดยานผ่านไปมาโดยไม่ได้มีหน้าที่.
อย่าปลงใจเชื่อพราะตรรกะ (มา ตักกะเหตุ). เรื่องนี้ดูจะแปลกสักหน่อยที่พระพุทธองค์ไม่ให้เชื่อเพราะตรรกะ. ผมเชื่อว่าสมัยนี้เรามีความรู้เรื่องตรรกะ หรือ ความเป็นเหตุเป็นผลกันมาก. เนื้อความข้อนี้จึงแปลก เพราะคำสอนในพระพุทธศาสนาล้วนมีเหตุผล. พระพุทธองค์เองก็สอนให้คนรู้จักเหตุ และ รู้จักผล ดังปรากฏในสัปปุริสธรรม ๗. เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุใดจึงทรงห้ามปลงใจเชื่อข้อนี้. คำตอบก็ต้องเริ่มด้วยคำถามคือ พวกเรารู้ตรรกะแค่ไหน? เรารู้วิธีการหาข้อเท็จจริงจากตรรกะหรือไม่? ถ้าตรรกะสามารถให้คำตอบได้ทุกอย่าง เราก็คงจะไม่เกิดความวุ่นวายจากสถานการณ์การก่อการร้าย. เราสามารถเอาชนะกันได้ตรรกะ ในการเจรจาไม่ได้ เพราะฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายผู้ชุมนุมถือข้อเท็จจริงต่างกัน. โดยทั่วไปแล้ว วาทกรรมของหัวหน้าผู้ชุมนุมนั้น เขายึดแต่เพียงสิ่งที่เขาเชื่อว่าเป็นความจริง และไม่ยอมรับสิ่งที่เป็นความจริงที่คนทั่วโลกยึดถือ. ดังนั้น เราจึงไม่ควรเชื่อในตรรกะว่า การมอบตัว และ การยุติการชุมนุม คือ การยุติการก่อการร้ายทั้งปวง. รวมทั้งไม่ควรเชื่อว่าหัวหน้าผู้ชุมนุมจะทำอะไร ๆ ตามที่เขาบอก หรือ สัญญาว่าจะทำ.
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอนุมาน(มา นยเหตุ). การอนุมานนั้นอาจกล่าวได้ย่อ ๆ ว่า คือการคาดคะเนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นแล้ว จะทำให้เกิดอะไรต่อไป. การอนุมาน เป็นการมองภาพใหญ่แล้วสรุปออกมาเป็นภาพเล็ก. การอนุมานในหลาย ๆ เรื่องนั้นเป็นความจริงแท้แน่นอน. เช่น การอนุมานด้วยการยกประเด็นว่า คนเป็นสิ่งมีชีวิต, สิ่งมีชีวิตทั้งหลายต้องตาย, ดังนั้นจึงสรุปว่าคนทุกคนก็ต้องตายในที่สุด. การอนุมานที่พระพุทธองค์ทรงห้ามไว้นั้น ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกินความรู้ของคนในยุคนั้น หรือ เป็นเรื่องที่อนุมานโดยไม่มีข้อมูลประกอบครบถ้วน. ยกตัวอย่างเช่น การอนุมานว่า พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์, พระป่าสายอิสานจำนวนมากบรรลุธรรมในป่า ดังนั้น ถ้าเราอยู่ในป่าที่มีต้นไม้มาก ๆ เราก็จะบรรลุธรรมได้. อย่างนี้ย่อมเป็นการอนุมานที่ผิด. ในทำนองเดียวกัน การที่หัวหน้าผู้ชุมนุมหลายคนเข้ามอบตัว จึงไม่สามารถจะอนุมานได้ว่าพวกเขาจะให้ลูกสมุนยุติการก่อการร้าย. หรือ การอนุมานว่า ผู้ที่ประกาศว่ามาชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ จะไม่ใช้อาวุธนั้น ย่อมเป็นการคาดคะเนที่ผิด เพราะเราไม่มีทางทราบว่าผู้มาชุมนุมได้แอบนัดแนะกับผู้ถืออาวุธไว้อย่างไรบ้าง
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามอาการ (มา อาการปริวิตกฺเกน). เนื้อหานี้สอนว่า เราอย่ามองเพียงแค่อาการ หรือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วเชื่อตามนั้น. เราอย่าเพิ่งเชื่อว่า การที่สถานการณ์สงบและไม่มีการก่อการร้ายแล้ว จะไม่มีการก่อการร้ายอีก. เราจะต้องไม่เชื่อว่า การที่ผู้ที่เข้ามอบตัวได้รับการปฏิบัติอย่างดี คือ การสมรู้ร่วมคิดระหว่างตำรวจกับผู้ต้องหา เพียงเพราะตำรวจมีอาการที่เข้าข้างผู้ชุมนุม หรือมีรูปปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์เท่านั้น.
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว (มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา). เนื้อหานี้หมายความว่าเราจะต้องไม่เชื่อ เพราะข้อมูลข่าวสารนั้นตรงกับความเห็นที่เรามีอยู่. ยกตัวอย่างเช่น เรามีความเชื่ออยู่แล้วว่า ทหารคือคนถืออาวุธ ส่วนผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ. เมื่อเราเห็นมีคนตาย เราก็เชื่อว่าทหารเป็นคนยิง. ความเชื่อนี้ยังไม่ถูกต้องตามหลักปฏิบัติข้อนี้. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีทฤษฎีว่า ประชาชนผู้เดือดร้อน น่าจะชุมนุมกันโดยสงบเพื่อร้องเรียนเรื่องที่เดือดร้อนต่อรัฐได้. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเชื่อตามทฤษฎีนี้ว่า การชุมนุมทำนองนี้จะช่วยแก้ปัญหาของชาติได้. แต่นี้ก็คือ ความเชื่อที่ผิด เพราะผู้ชุมนุมก็สามารถปลุกปั่นประชาชนผู้เดือดร้อนจริง ๆ ให้มาสนับสนุนการเรียกร้องที่ไม่มีเหตุผลของตนได้ด้วย. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าจะยอมให้มีการชุมนุมโดยสงบได้แล้ว ผู้ชุมนุมจะทำอะไรได้บ้าง และทำอะไรไม่ได้บ้าง.
อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นว่าผู้พูดควรเชื่อถือได้ (มา ภพฺพรูปตาย). เนื้อหาข้อนี้ พระพุทธองค์ทรงแนะนำไม่ให้เชื่อเพราะผู้พูดเป็นคนโน้นคนนี้. ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ เราไม่ควรเชื่อใครทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล หรือ ฝ่ายผู้ชุมนุม. อดีตนายกรัฐมนตรีที่ต้องระหกระเหินไปไกลนั้นแม้ว่าจะเคยพูดบ่อย และน่าเชื่อถือได้ เราฟังหรืออ่านแล้วก็ไม่ควรเชื่อ. แม้แต่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเองพูดอธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ เราก็ยังไม่ควรเชื่อ. ผู้ที่ออกมาอภิปรายประเด็นต่าง ๆ ทางโทรทัศน์ในช่วงเกิดเหตุการณ์หรือในช่วงนี้ เราก็ไม่ควรเชื่อ. สส. และ สว. ที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจะพูดอะไร ก็ไม่ควรเชื่อ.
อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ). เนื้อความข้อนี้ นับว่าสุดยอด เพราะพระพุทธองค์ทรงสอนว่า เราจะต้องไม่เชื่อแม้ว่าผู้สอนจะเป็นพระองค์เอง. อย่างไรก็ตาม สำหรับพวกเราแล้ว หากเราเห็นครูบาอาจารย์ของเราออกมาพูดเข้าข้างใครทางโทรทัศน์ แม้เราจะเคยเชื่อในความรู้และประสบการณ์ของท่านที่ได้ถ่ายทอดมาให้เราเรียน เราก็ยังไม่ควรเชื่อท่าน. เราควรทำเพียงแค่ฟังหูไว้หูเท่านั้น.

คำถามคือ แล้วเราจะเชื่อได้เมื่อใด? เท่าที่อธิบายมานี้ดูเหมือนว่า พระพุทธองค์สอนให้เราไม่เชื่อไปทุกสิ่งทุกอย่างเสียแล้ว. ตรงนี้ก็คือประเด็นที่เราต้องย้อนกลับไปพิจารณาว่า พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องนี้ในบริบทแบบใด? ชาวกาลามะนั้น มีปัญหาเรื่องการปฏิบัติธรรมว่า จะเชื่อผู้สอนคนไหนดี. ชาวกาลามะไม่ได้มีปัญหาว่าจะเชื่อว่าเกิดเหตุการณ์อะไรจริงหรือไม่จริง เหมือนที่เรากำลังประสบอยู่.
พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ระหว่างที่ทรงประทับนั่งพิจารณาตรวจสอบความเป็นไปในสกลกายของพระองค์ท่าน และทรงประจักษ์แจ้งถึงความจริงของธรรมชาติของชีวิตในช่วงนั้น. ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เราพิจารณาอริยสัจจ์หรือเหตุการณ์อันเป็นธรรมชาติที่เกิดกับร่างกายของเราให้เข้าใจหรือรู้แจ้งด้วยตัวเอง. ทรงให้หลักการว่า เราจะต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองเองว่า ธรรมใดเป็นกุศลหรืออกุศล, ธรรมใดมีโทษ หรือ ไม่มีโทษ แล้วจึงปฏิบัติตามนั้น. ด้วยเหตุนี้คำสอนในพระสูตรนี้จึงเป็นเรื่องปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของความเชื่อเท่านั้น.
ย้อนกลับมาสู่คำถามว่าแล้วเราควรจะเชื่ออะไรดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้?
คำตอบก็คือ ยังไม่ต้องเชื่ออะไรเลย. เราควรพิจารณาด้วยตัวเองว่า เหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาตามลำดับนั้นถูกต้องหรือไม่. การชุมนุมโดยการปลุกระดมมานั้นถูกต้องหรือไม่? การยึดถนนและสถานที่ประกอบธุรกิจเอาไว้นานเป็นเดือน ๆ จนทำให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องนั้นเดือดร้อน เป็นการถูกต้องหรือไม่ เป็นกุศล หรืออกุศล? การเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาในทันที เป็นการเรียกร้องที่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยหรือไม่? การตรวจค้นผู้คนที่เดินทางสัญจรโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ เป็นการถูกต้องหรือไม่? การเข้ายึดรถและอาวุธของทหารที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในภาคใต้ถูกต้องหรือไม่? การบุกรุกเข้าไปในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ถูกต้องหรือไม่? การประกาศอย่างเปิดเผยให้ผู้ชุมนุมเผาอาคารต่าง ๆ โดยเฉพาะศาลากลางจังหวัดนั้น ถูกต้องหรือไม่? การปล่อยให้ผู้ชุมนุมมีอาวุธร้ายแรงโดยไม่ห้ามปรามนั้นถูกต้องหรือไม่? การเผายางรถยนต์จนเกิดควันพิษนั้นถูกต้องหรือไม่?
สำหรับทางฝ่ายรัฐบาลเอง เราก็พิจารณาได้ว่า ที่รัฐบาลไม่ยอมยุบสภาตามคำเรียกร้องนั้นถุกต้องหรือไม่? การที่รัฐบาลพยายามยึดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนเกิดเหตุการณ์วุ่นวายนั้น ดำเนินการโดยชอบหรือไม่? การที่รัฐบาลพยายามตัดกำลังไม่ให้ผู้ชุมนุมมีจำนวนมากขึ้นนั้นถูกต้องหรือไม่? การที่รัฐบาลโอบล้อมผู้ชุมนุมและผลักดันจนต้องสลายการชุมนุมนั้นถูกต้องหรือไม่? การที่รัฐบาลดำเนินการล่าช้า จนอาคารหลายแห่งต้องเสียหายนั้นถูกต้องหรือไม่?
ทั้งหมดนี้ เราควรพิจารณาไตร่ตรองเอง แต่ขณะเดียวกันคำถามที่ยกขึ้นมาเป็นประเด็นนั้น เราจะตอบจากการนั่งวิปัสสนาไม่ได้. เราต้องอาศัยข้อเท็จจริงอีกมาก เราต้องอาศัยข้อความที่โฟนอินเข้ามาจากต่างประเทศ, ข้อความบนแผ่นประกาศปลุกเร้าในที่ชุมนุม, ข้อความที่หัวหน้าผู้ชุมนุมประกาศปลุกเร้า, ข้อความจากวิทยุชุมชน, ข้อความจากโทรทัศน์ทั้งจากฝ่ายผู้ชุมนุมและรัฐบาล, ภาพถ่ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น, ภาพวีดิทัศน์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น, คำให้การของผู้เกี่ยวข้อง ฯลฯ. ในที่นี้ ไม่ได้รวมเอาข้อความจากสื่อหนังสือพิมพ์เอาไว้ด้วย เพราะเท่าที่ปรากฏนั้น ส่วนที่เป็นข้อความทั้งหลายในสื่อหนังสือพิมพ์นั้น ล้วนเป็นความเห็นของผู้สื่อข่าวและคนเขียนข่าว มากกว่าเป็นข้อเท็จจริง.
เราจะได้ข้อเท็จจริงเหล่านี้มาได้อย่างไร? คำตอบก็คือ ไม่มีทางที่จะหามาได้เอง. ดังนั้นทางที่ดีที่สุดสำหรับการเชื่อว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ก็คือ รอฟังคำวินิจฉัยจากศาล เมื่อมีคำพิพากษาแล้วเท่านั้น.
ผลที่สุด เราก็ต้องเชื่อในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของตุลาการเท่านั้นเอง.
(กาลามสูตร อ้างจากหนังสือสารธรรม ซึ่งรวบรวมและเรียบเรียงโดยคุณนิตย์ จารุศร ๒๕๔๗)

วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

จิตตวิเวก

จิตตวิเวก
ธรรมจากจิตอันสงบ
ธรรมบรรยายของพระสุเมธาจารย์
น.พ. วิเชียร สืบแสง แปล
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔: ๒๒ เมษายน ๒๕๔๕

คุณหมอวิเชียร สืบแสง เป็นผู้แปลธรรมบรรยายของท่านสุเมธาจารย์ หรือท่านสุเมโธภิกขุหลายเรื่องออกมาตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓. ผมเคยอ่านประวัติของท่านสุเมโธ มาบ้างแล้ว ใน You tube ก็มีอัตชีวประวัติที่ท่านเล่า. ท่านอาจารย์สุเมโธเป็นพระภิกษุชาวอเมริกันผู้เป็นศิษย์เอกของหลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง. การอ่านครั้งนั้นผมประทับใจมากกับการพยายามนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในอังกฤษของท่านสุเมโธ จนกระทั่งสามารถสร้างวัดและมีผู้สนใจมาศึกษาและปฏิบัติธรรมมาก. ผมไม่ทราบว่ามีผู้เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับศาสนาพุทธในอังกฤษตั้งแต่ยุคแรก ๆ บ้างหรือไม่. ถ้ามีก็น่าจะมีคนแปลออกมาให้คนไทยอ่านกันบ้าง. ผมเองก็ทราบเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการเขียนของอาจารย์หลายท่าน แต่ถ้าจะลงลึกไปถึงความคิดของคนอังกฤษ ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ก็จะทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้มากขึ้น. คำบรรยายของท่านอาจารย์สุเมโธในหนังสือเล่มเล็ก ๆ นี้ก็มีการเปรียบเทียบวัฒนธรรมของอเมริกันและอังกฤษเอาไว้บ้างเหมือนกัน แต่ยังไม่มากนัก.
ผมได้หนังสือนี้มาจากแผงหนังสือสนามหลวงในระหว่างงานสัปดาห์วิสาขบูชา ปี 2553 นี้เอง. เมื่ออ่านแล้วก็ประทับใจในการสอนของท่านมาก. ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะผมคุ้นเคยกับความคิดของฝรั่งต่างชาติสมัยทำงานที่เอไอทีมานานร่วม ๒๓ ปี. ทำให้ผมเข้าใจเหตุผลที่ท่านสอน และ ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างผมกับเพื่อนร่วมงานฝรั่งได้เป็นอย่างดี. ผมจะไม่กล่าวถึงเรื่องเหล่านั้น แต่จะขอยกคำสอนบางส่วนของท่านที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ปัจจุบันมาไว้ในที่นี้.
“โลกของเราทุกวันนี้ขาดเมตตาธรรม เพราะเราพัฒนาความสามารถในด้านตำหนิติเตียนกันมากจนเกินไปป เราชอบวิพากษ์วิจารณ์อยู่เป็นนิจ เราอยู่กับความหลงผิดที่ติดอยู่กับตัวเราเอง กับผู้อื่น และกับสังคมที่เราอาศัยอยู่ เมตตาธรรมนั้นหมายถึงว่าเราจะไม่อยู่กับความเกลียดชัง แต่จะมีความปรารถนาดีและอดทน แม้กระทั่งกับสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง มันง่ายที่จะเมตตาสงสารคนที่เราชอบพอหรือเด็กเล็ก ๆ น่าเอ็นดู หรือคนชราซึ่งเราไม่จำเป็นต้องไปอยู่ด้วย และมันก็ง่ายที่จะมีความปรารถนาดีกับคนที่มีปรัชญาและแนวคิดทางการเมืองตรงกัน และกับคนที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่เป็นการยากที่จะเมตตาคนที่เราไม่ชอบ คนที่เป็นภัย หรือคนที่น่ารังเกียจ เพราะต้องใช้ความอดทนอย่างมากทีเดียว”
ลองพิจารณาดูจิตของตัวเองดีไหมครับว่า เหตุการณ์ทุกวันนี้ทำให้เราโกรธเกลียดใครบ้าง. แต่เราจะยุติความโกรธเกลียดนี้ได้ด้วยการมีเมตตาได้อย่างไร? คนเหล่านี้เผาบ้านเผาเมือง, ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียทรัพย์สินและขาดเครื่องมือทำมาหากิน, ทำให้หลายคนเสียชีวิตและพิการ, ทำให้อาคารสำคัญของราชการต้องพินาศ, ฯลฯ.
ท่านสุเมโธเฉลยว่า “ในขั้นแรก เราจะเริ่มที่ตัวเราก่อน เป็นธรรมเนียมทางพุทธศาสนาที่จะเริ่มแผ่เมตตา เราจะเริ่มด้วยเมตตาตนเองก่อนเสมอ ทั้งนี้มิได้หมายความว่า “ฉันรักตัวฉันเอง” แต่หมายความว่าเราจะไม่เกลียดชังตัวเราเองอีกต่อไป เราจะส่งความปรารถนาดีไปยังสภาวะต่าง ๆ ของกายและใจ เราจะแผ่เมตตาและอดทนต่อความผิดพลาด ความคิดชั่ว อารมณ์ร้าย โทสะ ตัณหา ความกลัว ความสงสัยลังเลใจ ความอิจฉาพยาบาท ความหลง ทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งไม่น่านิยมชมชอบเกี่ยวกับเรา”
ท่านอธิบายเรื่องนี้อีกมากแล้วมาลงที่ “ก่อนที่เราจะไปเปลี่ยนแปลงที่สังคม เราต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน โดยแผ่เมตตาให้แก่สภาพของกายและจิต เมื่อเราป่วย เราเมตตาต่อโรคที่กำลังเป็นอยู่นี้ มิได้หมายความว่าเราจะช่วยให้โรคมันอยู่นาน ๆ หรือปฏิเสธไม่ยอมรับยาปฏิชีวนะ เพราะเรามีเมตตาเกรงว่ายาจะไปฆ่าเจ้าตัวจุลิทรีย์เล็ก ๆ ที่มันเล่นงานเราอยู่ แต่หมายความว่าเราจะไม่ตั้งข้อรังเกียจเอากับความไม่สบายและความอ่อนเพลียทางกายที่กำลังป่วยอยู่ เราสามารถเรรียนทำสมาธิในขณะเป็นไข้ หรือกำลังอ่อนเพลีย หรือเมื่อขบตามร่างกาย เราไม่ต้องไป (ไม่) ชอบใจมัน ที่เราต้องทำนั้นคืออดทนกับมัน เข้าใจมัน ไม่ไปเกลียดมัน ถ้าเราขาดเมตตาธรรม เราก็มักจะไปตอบโต้กับสภาวะเหล่านั้น ด้วยความอยากที่จะขจัดมันไปเสียแล้ว เจ้าความอยากนั้นเองจะทำให้เราท้อแท้และหมดอาลัย”
การมีเมตตาธรรมนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากแต่ในสถานการณ์ที่มีข่าวเรื่องราวร้าย ๆ เกิดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์และในเว็บต่างๆ ตลอดเวลานั้น เราก็อาจจะมีเมตตาธรรมต่อไปไม่ไหว. ดังนั้นเราควรพิจารณาหาทางเรียนรู้ความเป็นจริงของโลกต่อไป.
ท่านสุเมโธสอนว่า “สมาธิภาวนา คือ รู้สภาพความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา รู้ทันถึงสภาพของจิตตามที่เป็นอยู่ คนไร้ปัญญาจะไม่เข้าใจในเรื่องอย่างนี้ เขาคิดว่าสภาพของจิตคือตัวเขาเอง หรือไปคิดว่าเขาไม่ควรมีสภาพอย่างนั้น ควรเป็นอย่างอื่น ถ้าท่านเป็นบุคคลที่เล็งผลเลิศ ท่านก็อยากจะเป็นคนดี เป็นนักบุญ ฉลาด น่าเคารพ และองอาจกล้าหาญ ซึ่งเป็นลักษณะที่ดีงามที่สุดของมนุษย์ปุถุชน ทั้งหมดนี้เป็นอุดมการณ์ที่น่าสนใจน่าปรารถนา แต่แล้วท่านก็ต้องมาเผชิญกับความจริงในชีวิตประจำวัน เราจะพบว่าเรายังติดอยู่กับความโกรธ ความริษยา และความโลภ คิดมิชอบต่อผู้อื่น ซึ่งถ้าหากเราอยากจะเป็นคนดีมีอุดมคติ เราก็ไม่ควรมีอารมณ์อย่างนั้น แล้วเราก็ไปตีโพยตีพายว่า “ตัวเรานั้นยังห่างไกลกับการจะเป็นคนดี เราหมดหวังเสียแล้ว เป็นคนเลวใช้ไม่ได้!” ทำไม? ก็เพราะสภาพจิตของเรายังไม่สอดคล้องกับอุดมคติเสมอไปนัก บางครั้งเราทำได้ บางครั้งทำไม่ได้ก็เกิดความสงสัยลังเลใจ

“ทีนี้ เราสามารถจะรู้ทันสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ต้องพยายาม อยากจะมี อยากจะเป็น คือ รู้ว่าสภาวะทั้งหลายทั้งปวงนั้น มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น เอาเถอะไม่ว่ามันจะสูงส่งองอาจ กล้าหาญ หรือ อ่อนแอ หรือโง่เขลาเบาปัญญา มันก็เป็นเพียงสภาวะที่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งเราไม่อาจจะรู้ล่วงหน้าและควบคุมได้ ฉะนั้น ให้เริ่มรู้ทันเสียแต่บัดนี้ว่า สังขารในขั้นที่ยังมีการปรุงแต่งอยู่นั้น ทุกสิ่งทุกอย่างมันเกี่ยวข้อง่งผลต่อกันอยู่ ไม่มีทางที่เราจะแยกตัวของเราเอง ออกจากทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยสิ้นเชิง ดังนั้นในขั้นนี้เราทำอะไรไม่ได้มากนัก นอกจากให้รู้ทันเอาไว้ มีทางออกอยู่ทางหนึ่งก็คือ ให้ประกอบแต่กรรมดี ถ้าท่านมีสติปัญญา ท่านจะใช้กายวาจาของท่านด้วยวิธีอันแยบคายต่อสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย และต่อโลกที่ท่านอาศัยอยู่ คือใช้ด้วยความมีเมตตากรุณาและมีคุณธรรม
“ในจิตใจของบุคคลนั้น อะไร ๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ อาจจะนึกอยากฆ่าคนก็ได้ แต่ท่านไม่ทำ เพราะท่านรู้ คือรู้ว่าความนึกคิดอย่างนั้นเป็นเพียงสภาวะอย่างหนึ่ง ไม่มีตัวตน หรือเป็นของตน ในที่นี่มีใครบ้างที่เคยคิดอยากจะฆ่าคน อาตมาเคย อาตมารู้เรื่องการฆ่า แต่ไม่เคยฆ่าใครหรือแม้แต่เฉียด ๆ เข้าไป แต่ความนึกคิดนั้นมันมีอยู่ แล้วเจ้าความนึกคิดเหล่านี้มันมาจากไหน มีอะไรเลวร้ายหนักหนาภายในตัวอาตมา จนต้องไปนั่งวิตกกังวลหรือ หรือวามันเป็นความโน้มเอียงของจิตโดยธรรมชาติที่ เมื่อรู้สึกเคียดแค้นชิงชังขึ้นมาแล้ว ก็อยากจะกำจัดทำลายล้างไปเสียให้สิ้น มันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ๆ อย่างหนึ่ง
“การฆ่ากันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เกิดขึ้นตลอดเวลา สัตว์มันจะฆ่ากันเอง ท่านเข้าไปในป่าเวลากลางคืนแล้วลองฟังดูซิ จะได้ยินเสียงฆ่ากันตลอดเวลา กระต่างจะร้องลั่นเมื่อถูกสุนัขจิ้งจอกงับคอหอย มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ในด้านศีลธรรมแล้ว พวกเราในฐานะผู้ใฝ่หาธรรม ผู้รู้ผิดรู้ชอบ แม้เราอาจจะมีความนึกคิดอย่างนั้น แต่เราไม่ทำ ตรงกันข้ามเรากลับจะรู้ทันว่านั่นมันเป็นเพียงอารมณ์ ซึ่งก็คือสภาวะอย่างหนึ่ง อาตมาพูดเช่นนี้หมายความว่าให้รู้ทันว่า “มันเป็นของมันอย่างนั้น”…”
เนื้อหาที่ผมได้คัดลอกมาทุกประโยคนี้อาจจะเข้าใจยากสักหน่อย. ท่านสุเมโธ ท่านบอกเราว่า เราต้องมีเมตตาธรรม แต่ในสถานการณ์แบบที่เกิดกับประเทศไทยเรานี้ บางครั้งพวกเราก็อาจจะทำใจได้ยาก. เราอาจจะนึกเคียดแค้น อยากฆ่าพวกผู้ก่อการร้ายที่ทำกับประเทศอย่างนี้. ท่านสุเมโธบอกว่าความคิดเช่นนั้นก็เป็นธรรมชาติ แต่เมื่อคิดแล้วขอให้เรารู้ว่ากำลังคิด เฝ้าดูเฉย ๆ ไม่ต้องไปคิดว่าเรากำลังคิดไม่ดี หรือเราเป็นคนเลว. เมื่อเราเฝ้าดูความคิดนั้นไปเรื่อย ๆ ด้วยความมีสติ ความคิดนั้นก็จะหายไปเอง เพราะความคิดนั้นก็เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ใช่ความจริงแท้. มันปรากฏขึ้นอย่างธรรมดา ๆ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะดับไป. อย่างไรก็ตามกรุณาเข้าใจด้วยว่า ท่านสุเมโธเทศน์เรื่องนี้เมื่อกันยายน ๒๕๒๕ นะครับ ท่านไม่ได้พูดเกี่ยวกับเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๕๓ นี้เลย. ผมเพียงแต่นำข้อความของท่านมาเรียบเรียงให้ท่านคิดตามสถานการณ์เท่านั้น.

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

งานวันวิสาขบูชาที่สนามหลวง

สวัสดีครับ
ช่วงห้าวันก่อนวันสำคัญทางพุทธศาสนาเช่น วันมาฆบูชา, วันวิสาขบูชา, และ วันอาสาฬหบูชา นั้น มักจะมีการจัดงานที่สนามหลวงเป็นประจำ. นอกจากนั้นก็ยังมีจัดที่พุทธมณฑล และ ที่อื่น ๆ อีก. ผมไปเดินที่สนามหลวงในช่วงที่จัดงานแบบนี้ทุกครั้งที่มีโอกาส ส่วนหนึ่งก็เพื่อทำบุญ, ส่วนหนึ่งเพื่อซื้อซีดีจากวัดและผู้จัดทำที่มาจัดงาน, และ อีกส่วนหนึ่งเพื่อซื้อหนังสือซึ่งไม่ได้มีโอกาสเห็นตามร้านหนังสือบ่อยนัก.
เรื่องขายหนังสือนี่เขาถึงกับตั้งชื่อว่า มหกรรมจำหน่ายหนังสือ. หนังสือส่วนมากก็เป็นหนังสือพุทธศาสนา และ หนังสือเรียน. วันเสาร์ที่ผ่านมานี้ผมก็ไปเดินหาซื้อหนังสือมาแล้ว. ได้มาหลายสิบเล่มในราคาถูก. หนังสือราคาถูกนี้บางเล่มผู้พิมพ์ก็แจกให้เปล่า และ พิมพ์ไว้ด้วยว่าห้ามจำหน่าย. แต่ในเมื่อผมไม่ได้รับแจก เมื่อเขามีขายก็จำต้องซื้อ จะไปพูดกับคนขายว่าเป็นหนังสือแจก เขาก็คงจะไม่ยอมให้ฟรีแน่ ๆ.
ร้านหนังสือที่นำหนังสือมาวางจำหน่ายนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผู้ขายหนังสือเก่า แต่ส่วนที่เป็นสำนักพิมพ์ก็มีเหมือนกัน. การเดินเลือกหนังสือก็ร้อนมากหน่อย ไม่เหมือนกับการเดินเลือกหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์. ส่วนหนังสือก็มีทั้งใหม่และเก่า. ที่ว่าเก่านี้คือ พิมพ์แล้วขายไม่ออก และ เก่าเพราะเป็นหนังสือมือสองมือสามหรือมากกว่านั้น.
เมื่อวันเสาร์ผมเดินได้สองชั่วโมงก็ร้อนจนทนไม่ไหว ต้องกลับบ้าน. ผมกะว่าจะกลับไปเดินดูใหม่ แต่ยังไม่มีช่วงเวลาที่จะเจียดได้ เพราะก่อนวันวิสาขบูชา ผมต้องเดินทางไปทำธุระที่เชียงใหม่แล้ว.
ที่นำมาเล่าให้ฟังก็เพื่อชวนเชิญให้ผู้ที่มีเวลาลองแวะไปบ้าง. วันสุดท้ายที่เขาจะมีงานกันก็คือวันวิสาขบูชาครับ.

วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ความเสี่ยงของฐานข้อมูล

สวัสดีครับ

ข่าวเกี่ยวกับการที่ผู้ก่อการร้ายเผาอาคารสำนักงานปราบปรามยาเสพติดนั้นทำให้ผมรู้สึกกังวลไม่น้อย. ที่เป็นกังวลก็เพราะผมไม่ได้ติดตามข่าวเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ของ ปปส. มาระยะหนึ่งแล้ว. ปปส. นั้นเคยมีระบบคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่มาก และใช้ในการสร้างฐานข้อมูลของผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และ ฐานข้อมูลผู้เดินทางเข้าออกในพระราชอาณาจักรซึ่งเป็นงานของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.). ผมได้ทราบมาว่า ทาง ตม. พยายามแยกระบบบันทึกข้อมูลออกมาบริหารเอง. ผมหวังว่าคงจะแยกการจัดเก็บฐานข้อมูลสำเร็จมาดำเนินงานเองเสร็จสิ้นก่อนที่จะเกิดปัญหาจากเหตุการณ์ครั้งนี้. การพยายามทำลายอาคาร ปปส. นั้นทำให้ผมสงสัยว่า ผู้บงการอาจจะเป็นผู้ติดยาเสพติด และมีรายชื่ออยู่ในบัญชีดำที่อยู่ในฐานข้อมูล ปปส. การทำลายฐานข้อมูลนี้ได้จะทำให้ ปปส. ต้องถอยหลังกลับไปอีกหลายก้าวเลยทีเดียว.

นอกจากปปส. แล้ว ศาลากลางจังหวัดของอุดรธานี, ขอนแก่น, อุบลราชธานี ก็มีปัญหาถูกผู้ก่อการร้ายเผาเสียหาย. ผมเคยไปเยี่ยมผู้บริหารที่ศาลากลางจังหวัดเหล่านี้ และ ได้เห็นศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด หรือ POC ซึ่งมีคอมพิวเตอร์แม่ข่ายของจังหวัดด้วย. คอมพิวเตอร์นี้บันทึกเก็บข้อมูลสำคัญไว้หลายอย่าง. ผมยังไม่ได้ทราบรายละเอียดว่าคอมพิวเตอร์เหล่านี้เสียหายหรือไม่.

ไม่ว่าคอมพิวเตอร์ของ ปปส. หรือ POC จะถูกทำลายไปเพราะการก่อการร้ายครั้งนี้หรือไม่. เรื่องสำคัญที่ผมจะต้องขอย้ำก็คือ เราต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของการสูญเสียคอมพิวเตอร์และข้อมูลที่จัดเก็บเอาไว้. ความเสี่ยงนี้มีโอกาสเกิดได้ง่ายมากอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในเหตุการณ์ครั้งนี้. ดังนั้นถ้าหากหน่วยงานใดยังไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้ และ ยังไม่คิดที่จะสำรองข้อมูล รวมทั้งวางแผนให้ระบบคอมพิวเตอร์มีความมั่นคงแล้วละก็ ควรจะเริ่มคิดได้แล้ว.

ปัจจุบันนี้ผมช่วยบริหารบริษัท ACInfotec ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการวางแผนความมั่นคงให้แก่ระบบไอทีของหน่วยงาน และ เราเป็นที่ปรึกษาให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมาก. หากใครสนใจก็อาจจะลองคลิกไปดูรายละเอียดได้ที่ www.acinfotec.com ครับ.

การใช้แนวคิดของ CMMI ในการปราบปรามการก่อการร้าย

สวัสดีครับ
จากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในรอบสองเดือนมานี้ ผมคิดว่าการพยายามแก้ไขสถานการณ์ของฝ่ายรัฐบาลนั้นยังมีประเด็นที่ CMMI สามารถมาช่วยได้. CMMI คือ Capability Maturity Model Integration ซึ่งเป็น Process Model ของสถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์. รายละเอียดของ Process Model นี้มีมากเกินกว่าผมจะนำมาอธิบายได้ในที่นี้. ผมจะขอนำมาเพียงส่วนเดียวที่เป็นหลักการพื้นฐานอย่างหนึ่งของ CMMI นั่นก็คือ การทำงานใด ๆ จะต้องมีการจัดการ.
การจัดการตามแนวคิดของ CMMI นั้นมีอยู่ด้วยกัน 10 ข้อ คือ...
1. ผู้บริหารจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการดำเนินการ. ผมเชื่อว่าข้อนี้ทาง รัฐบาลก็มีนโยบายอยู่ เพียงแต่อาจจะไม่ชัดเจนนัก นอกจากนั้นยังเปลี่ยนแปลงไปมาด้วย. ความจริงผมยังอาจขยายความข้อนี้ออกไปถึงประเด็นการขาดอำนาจอย่างแท้จริงในการดำเนินการ เพราะผู้ก่อความไม่สงบอ้างว่าชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ.
2. การดำเนินงานจะต้องมีการมอบหมายงานให้ชัดเจน. ผมคิดว่าข้อนี้รัฐบาลมีปัญหา เพราะแม้จะมอบหมายไป แต่คนที่ได้รับมอบหมายก็ไม่มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติมากนัก. คนทั่วไปก็อ่านออกว่า หลายคนก็กลัวถูกฟ้องร้องเรื่องใช้กำลังและไม่อยากเสียประวัติ และ หลายคนอาจจะมีส่วนได้ส่วนเสียด้วยซ้ำ.
3. ขาดการวางแผน. เรื่องนี้ ผมคิดว่าต้องย้อนกลับไปถึงปีที่แล้วด้วยซ้ำว่า รัฐบาลขาดแผนที่จะแก้ไขปัญหานี้แม้ว่ารัฐบาลสามารถสยบกลุ่มเสื้อแดงได้เมื่อสงกรานต์ปีก่อน. ความจริงรัฐบาลน่าจะอ่านเกมออกว่าจะต้องมีการปลุกปั่น, ฝึกอบรมกลุ่มผู้ติดอาวุธ, ล้อบบี้สื่อมวลชน, รวบรวมอาวุธ และ อุปกรณ์ต่าง ๆ. ผมไม่ได้มีสายที่จะบอกผมว่ารัฐบาลมีแผนรับมือ และ แผนแก้ไขปัญหาเหล่านี้มาตั้งแต่แรกหรือเปล่า. แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าไม่มี. เพราะถ้ามี เรื่องคงไม่ร้ายขนาดนี้. แผนนั้นจะต้องพิจารณาทางหนีทีไล่ต่าง ๆ มากมาย เช่น หากผู้ก่อการร้ายจะระดมคนมาเผาเมืองจะป้องกันและปราบปรามอย่างไร ไม่ใช่ยืนดู แล้วคอยไปจับทีหลัง.
4. ขาดการจัดสรรทรัพยากรให้พอเพียงแก่การปราบปราม. นักข่าวช่อง 3 เล่าผ่านโทรทัศน์ว่า ตำรวจที่ไปช่วยพวกเขาลงจากอาคารมาลีนนท์นั้นไม่มีอาวุธประจำตัว. เมื่อถามว่าทำไมไม่มีอาวุธ ตำรวจก็ตอบว่าพวกเขาเป็นตำรวจภูธร ก็เลยไม่มีปืน. พวกที่มีปืนเป็นตำรวจนครบาล. ผมเห็นว่า หากรัฐบาล และ ศอฉ. วางแผนตามข้อที่แล้วเป็น ก็จะต้องมีอุปกรณ์และทรัพยากรต่าง ๆ มากพอ ไม่ว่า จะเป็นเครื่องทำลายบังเกอร์แหลนหลาวไม้ไผ่ หรือ กว้านสำหรับรื้อและยึดยางรถยนต์.
5. การฝึกอบรม. ผมเริ่มเป็นห่วงว่า การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารของเราอาจจะไม่พอเพียงแก่การปราบปรามผู้ก่อการร้ายเสียแล้ว. ยกตัวอย่างเช่น การที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายยกกำลังมาเผาศาลากลางจังหวัด ทำให้สูญเสียเงินไปแห่งละกว่า 200 ล้านบาทนั้น. ดูจากภาพข่าวก็ไม่เห็นตำรวจและทหารทำอะไร นอกจากยืนดู. การเผาสถานที่ราชการนั้นเป็นความผิดสถานหนักขนาดประหารชีวิต เหตุใดจึงไม่จัดการให้เด็ดขาดตั้งแต่แรก. ผมเชื่อว่า ปัญหาข้อนี้โยงไปถึงการขาดการวางแผน และ การคาดคะเนสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น. ความเห็นห่วงนี้เลยออกไปจนถึงขั้นที่ว่า หากมีกองกำลังต่างชาติบุกเข้ามายึดหรือเผาสถานที่ราชการของเราในอนาคตแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารของเราจะสามารถป้องกันได้ละหรือ.
6. การบันทึกรายละเอียดการดำเนินงานต่าง ๆ. เรื่องนี้ผมคิดว่าบรรดานักข่าวต่าง ๆ ได้บันทึกภาพและเสียงต่าง ๆ เอาไว้เป็นจำนวนมาก. จำเป็นที่ ศอฉ. จะต้องรวบรวมรายละเอียดเหล่านี้ทั้งหมด รวมทั้งเว็บของกลุ่มคนเสื้อแดง, เว็บสนับสนุน, เว็บสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศเอาไว้หมด. จากนั้นจะต้องจัดหาผู้ชำนาญมาอ่านศึกษา, และ จัดทำออกมาเป็นเอกสารรายละเอียดทั้งหมด. บุคคลที่ปรากฏในภาพว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และ ผู้สนับสนุน จะต้องรวบรวมรายละเอียดข้อมูลและประวัติมาให้ครบ. นอกจากนั้น แม้แต่เจ้าหน้าที่ของเราเองก็จะต้องรวบรวมรายละเอียดเพื่อศึกษาว่าแต่ละคนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงานอย่างไร.
7. พิจารณาว่าใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบ้าง. งานนี้ทั้งหมดเกี่ยวกับใครบ้าง, ใครมีส่วนได้ส่วนเสีย, ใครปลุกปั่น, ใครระดมพล, ใครฝึกอบรมการทำระเบิด, ใครเป็นผู้ถืออาวุธ, ใครเป็นผู้เสียหาย, ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์ ฯลฯ. เรื่องนี้ได้ทราบว่า รัฐบาลจะเยียวยาทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ และ ผู้ที่ถูกชักนำให้มาร้องเรียนเพราะมีปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขจริง. อย่างไรก็ตาม การเยียวยายังไม่เพียงพอ. รัฐบาลต้องแยก บุคคลที่ถูกลวงให้มา และ บุคคลที่เป็นตัวการหรือผู้ปลุกปั่นออกให้ชัด.
8. การติดตามรับทราบข้อมูลข่าวสารและงานตามแผน. เรื่องนี้สำคัญมาก. รัฐบาลจะต้องทราบรายละเอียดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรทันทีที่เกิดความเสี่ยงหรือปัญหา. ข้อมูลข่าวสารจะต้องมีรายละเอียดพร้อมที่จะป้องปรามได้. ผมสงสัยว่าหน่วยงานการข่าวกรองของรัฐบาลอาจจะมีปัญหา และต้องการการปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยด่วน.
9. การสร้างความสามารถในการตรวจสอบ. ขณะนี้แม้ว่ารัฐบาลจะทำให้เรื่องสงบลงได้ระดับหนึ่ง. แต่วิสัยผู้ก่อการร้ายดังที่ประชาชนได้เห็นจากคำขู่เข็ญที่ผู้ก่อการร้ายได้ประกาศออกมานั้น เราย่อมคาดคะเนได้ว่า พวกเขาย่อมกล่าวหารัฐบาลว่าเป็นผู้กระทำผิด. แม้แต่สื่อมวลชนเอง แม้ว่าเวลานี้รัฐบาลจะทำให้สถานการณ์สงบลงได้แล้ว พวกเขาก็เริ่มพาดหัวข่าวในทำนนองให้เกิดความสงสัยว่าทหารฆ่าประชาชนเสียแล้ว.
10. การจัดทำรายงานเสนอประชาชนและรัฐสภา. งานนี้คืองานสุดท้ายที่รัฐบาลจะต้องทำเมื่อทุกอย่างคลี่คลายแล้ว.

หัวข้อทั้ง 10 ไม่ใช่การแก้ปัญหานะครับ. อย่าสับสน. ผมไม่มีความรู้ทางยุทธวิธีปราบปรามผู้ก่อการร้ายพอที่จะบอกว่าการแก้ปัญหาที่จะเริ่มตั้งแต่ระดับที่เรียกว่าสุภาพไปจนถึงระดับใช้กำลังรุนแรงนั้น ต้องทำอย่างไร. หัวข้อทั้ง 10 ที่ผมเสนอนั้น เป็นสิ่งที่จะต้องทำร่วมไปกับการแก้ปัญหาไม่ว่าจะเลือกวิธีใดก็ตาม. เช่น เมื่อเลือกวิธีล้อมผู้ก่อการร้ายให้หมดเสบียงและไม่มีสาธารณูปโภคนั้น ก็จะต้องมี 10 ข้อที่ผมอธิบายมานี้ประกอบ. เมื่อทำได้ก็จะทำให้การแก้ปัญหานั้นมีการจัดการที่ดีร่วมด้วย.

เรื่องที่อธิบายมานี้ พวกคุณไม่จำเป็นต้องนำไปใช้กับการปราบปรามผู้ก่อการร้ายก็ได้. เพราะทั้ง 10 ข้อนี้สามารถประยุกต์กับงานทุกงาน รวมไปถึงการเรียน, การสอน, การให้บริการ, การขาย, การผลิต ฯลฯ.

ลองนำไปประยุกต์ดูเถอะครับ
ครรชิต มาลัยวงศ์

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การก่อการร้ายเกิดจากการสนับสนุนของสื่อมวลชน

ขณะเขียนเรื่องนี้ สถานการณ์การก่อการร้ายในประเทศยังไม่สงบ. แม้จะมีผู้ก่อการร้ายทยอยเข้ามอบตัวแล้ว แต่ผลของการปลุกระดมก็ยังคุกรุ่นอยู่. ผมคาดเดาว่า กลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ยังสร้างความปั่นป่วนอยู่ในเวลานี้ อาจจะมี
ก. กลุ่มผู้ถูกปลุกปั่นด้วยการโฆษณาชวนเชื่อและปลุกระดมตลอดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว
ข. กลุ่มสื่อมวลชนที่คิดว่าจะต้องเป็นกลางระหว่างผู้ก่อการร้ายกับรัฐบาล และพยายามโฆษณาสื่อข่าวให้คนเห็นใจผู้ก่อการร้ายที่วางเพลิงและทำให้ผู้บริสุทธิ์หลายแสนหลายล้านคนต้องเสียหาย
ค. กลุ่มอันธพาลที่ฉกฉวยโอกาสก่อวินาศกรรมเพื่อโจรกรรมสิ่งของมีค่า.
ง. กลุ่มวัยรุ่นที่ไม่มีงานทำ และ ไม่พอใจทางการที่เข้มงวดในการแข่งรถจักรยานยนต์.
จ. กลุ่มผู้ขับขี่รถรับจ้างและรถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ตกเป็นทาสโฆษณาชวนเชื่อ และ คำปลุกปั่นจากนักการเมืองเลว ๆ หรือ เป็นผู้โกรธเกลียดตำรวจจราจร.
ฉ. นักการเมืองเลว ๆ ที่แอบอ้างตัวเองว่าเป็นผู้มีเกียรติ
ช. นักรบเลว ๆ ที่เป็นพรรคพวกของผู้เสียผลประโยชน์ในด้านต่าง ๆ
ซ. ทหารรับจ้างต่างชาติ ที่แทรกซึมอยู่ในกรุงเทพในปัจจุบัน.

ผมเคยพูดในที่สาธารณะมาหลายหนแล้วว่า สื่อมวลชนคือผู้ที่มีปัญหาในการสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในสังคมไทยมากที่สุด ด้วยการคิดว่าตนเองต้องเป็นกลาง และ ด้วยการ "คิดเอาเอง" ว่าความถูกต้องคืออะไร. บางทีตอนนี้ผมอาจจะคิดใหม่แล้วว่า สื่อมวลชนนี่แหละอาจจะเป็นผู้ก่อการร้ายที่แท้จริงของสังคมไทย. ถ้าสื่อมวลชนไม่ให้ท้ายด้วยการเขียนข่าวยกย่องผู้ก่อการร้ายมาตลอดเวลาแล้ว เรื่องราวก็คงไม่บานปลายขนาดนี้. ผมเสนอให้ฉีกทฤษฏีบทผิด ๆ ที่อ้างว่าจะต้องเป็นกลางออกได้แล้ว. สื่อมวลชนจะต้องเลือกข้าง ระหว่าง ธรรมะ กับ อธรรม ให้ได้เสียที. ถ้าทำเช่นนี้ได้ เมืองไทยก็จะเจริญมากยิ่งกว่านี้.

ครรชิต

ร่มโพธิ์ร่มไทร

ร่มโพธิ์ร่มไทร

หนังสือ ร่มโพธิ์ร่มไทร เล่มนี้ ผมได้รับมาจากคุณโชติกาเจ้าหน้าที่ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้.
หนังสือเล่มนี้เรียบเรียงโดยคณะศิษยภาวนา ๒๕๔๐ ของพระโสภณวิสุทธิคุณ (หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก) แห่งวัดป่าวิเวกธรรม จังหวัดขอนแก่น. จัดพิมพ์ถวายเพื่อแจกเป็นธรรมทาน เนื่องในโอกาสทำบุญอายุ ครบ ๘๒ ปี เมื่อ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ นี้. เนื้อหาของหนังสือก็เป็นการนำคำเทศนาของหลวงปู่มาสรุปให้อ่านกันอย่างเบา ๆ ง่าย ๆ. แต่ความจริงแล้ว เนื้อหาไม่ได้เบาเลย เพราะเป็นเรื่องปฏิบัติล้วน ๆ.
หลวงปู่อธิบายว่า การปฏิบัติเป็นหน้าที่ของทุกคน ต้องทำเอง ให้คนอื่นทำให้ไม่ได้. แนวของท่านคือการใช้คำภาวนา “พุทโธ” เพราะเป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว. เราจะต้องพยายามภาวนาจนกระทั่งเกิดความสงบสุข. ไม่ต้องกลัวว่าจะ “ติดสุข”. เราต้องพยายามภาวนาจนกว่าเกิดความสงบ จากนั้นใจก็จะทำหน้าที่ของเขาต่อไป. เริ่มจากรู้เรื่องของตนเอง, รู้เรื่องเจ้ากรรมนายเวร, รู้จักกิเลสต่าง ๆ, สามารถกำหนดจิตดูว่าสกลกายของเราเป็นอย่างไร.
“การกำหนดจิตนอกจากจะใช้ตรวจดูภายในสกลกายของตนเอง สำรวจกิเลสของตนเอง ตรวจดูความเป็นมาของกิเลส ตรวจดูความเปนมาของอุปนิสัยของตนเอง อันเป็นประโยชน์ในการชำระสะสางกิเลสแล้ว ท่านยังทำให้เราฝึกหัดกำหนดจิตดูสิ่งต่าง ๆ ภายนอก ซึ่งการกำหนดจิตดูจะต่างจากที่เราดูที่เรามองเห็นด้วยสายตาเนื้อ ตาเนื้อมองไปได้ด้านเดียวและดูได้เฉพาะในมิติเวลาปัจจุบัน ได้ได้ระยะทางจำกัด และเห็นเฉพาะของที่มีตัวตน แต่ตาจิตหลับตาดู แต่ดูได้ทุกมิติ ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ดูได้รอบทิศ ไม่จำกัดระยะทาง จะข้ามน้ำ ข้ามทะเล มหาสมุทรก็ยังดูได้ รู้ได้ อย่าว่าแต่สิ่งของที่มีตัวตนเลย สิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น วิญญาณ ภูตผี เทวดา ก็ดูได้ แม้แต่ความนึกความคิดของผู้อื่น หากมีความชำนาญแล้วกำหนดจิตดูได้ รู้ได้ ท่านว่ารู้ได้ทุกอย่าง จิตถามจิต จิตตอบจิต จิตเห็นกาย แต่กายไม่เห็นจิต.”
ท่านสอนว่า “การบำเพ็ญภาวนาเป็นทางสายเดียวที่จะพาเราไปสู่สายพระอริยะได้ ไม่มีทางสายอื่น มีแต่การภาวนาเพื่อความสงบของจิตเท่านั้น ถ้าจิตสงบแล้ว ชำนาญแล้ว และมั่นคงแล้ว จิตจะไม่มีหนี ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก จิตไม่หนี เราจะทำงานทำการอยู่ก็ตาม จะพูดจะคุยก็ตาม จิตมีความรู้อยู่เสมอ ไม่ได้หนีออกไปไกล จะอยู่ตลอด จะภาวนาเมื่อไร กำหนดได้ทันทีจิตจะวูบไปเลย หรือนิ่งไปเลย ถ้าจิตเคยชินกับความสงบและได้รับผลของการปฏิบัติด้วยความสงบไปแล้ว เราจะไปนั่งทำความเพียรที่ไหนจะไม่ยาก พอหลับตา จิตก็จะลงเลย จิตจะไปทำงานอยู่ภายใน ไปรู้อยู่ภายใน ไม่ได้มารับรู้ข้างนอกคือไม่สัมผัสกับของภายนอก แม้แต่เสี่ยงที่จะมารบกวนก็ตาม จินนั้นจะไม่รับสัมผัส แม้แต่ความร้อนบางอย่างมากระทบ จิตก็ยังไม่รับสัมผัสนั้น เพราะไปรู้เฉพาะตัวของเขาอยู่ข้างใน จิตจะทำงานของเขาอยู่โดยเฉพาะ สมควรแก่เวลาแล้วจิตจะออกมา”.
นี่แหละครับ เนื้อหาบางส่วนของหนังสือเล่มนี้. หากใครสนใจอ่านก็ต้องติดต่อขอไปที่วัดป่าวิเวกธรรมก็แล้วกันครับ.

หลวงปู่เพียร วิรีโย

สวัสดีครับ
วันนี้ผมนั่งอ่านหนังสือที่บ้านหลายเล่ม เพราะรัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุด เพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้าย. ใช่แล้วครับ ผมเรียกว่าผู้ก่อการร้าย ไม่ใช่ผู้ชุมนุมโดยสันติ และ ผมเรียกมาตั้งหลายสัปดาห์แล้วด้วย. ผู้นำของคนเหล่านี้ มองหน้าก็เห็นถึงจิตที่สกปรกโสมมแล้ว. การเขียนบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่มีความปรารถนาดีอยากให้คนคัดค้านการทำงานของรัฐบาลได้นั้น ในที่สุดก็กลายเป็นเครื่องมือของบุคคลที่มีจิตใจเลวทรามแบบนี้.
หนังสือเล่มแรกที่อ่าน เป็นหนังสือที่คุณอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กรุณาเอื้อเฟื้อส่งมาให้. ขอขอบคุณที่ท่านกรุณาส่งมาให้อ่านทำให้ได้รู้เห็นปฏิปทาของพระเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอีกรูปหนึ่ง. วันนี้ ผมเห็นหนังสือแล้วก็รู้สึกสะท้อนใจ ที่คุณอำนาจต้องต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายในจังหวัดของท่านอย่างเหน็ดเหนื่อย และต้องสูญเสียศาลากลางไป. การสู้กับการก่อการร้ายนั้น ความจริงไม่ยากนัก. สิ่งที่ยากกว่าคือการต่อสู้กับความโง่เขลาของประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของผู้ก่อการร้ายนี่สิครับ. เราคงจะต้องค่อย ๆ แก้ไขด้วยการให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องก่อน. ขณะเดียวกันต้องสร้างความคุ้มกันให้แก่ประชาชนด้วย. ผมเดินทางไปตรวจงานภาคอิสานมาสี่ปีแล้ว พบว่าคนชั่วที่ทำร้ายคนอิสานมีมากด้วยกัน และต่างก็ยังอยู่ดีกินดี มีหน้ามีตาอยู่ในสังคมอยู่ในเวลานี้. ถ้าเราไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ชาวบ้านได้แล้ว คนชั่วเหล่านี้ก็จะทำร้ายคนอิสานและคนไทยต่อไปได้อีกนาน.
หนังสือที่คุณอำนาจส่งก็คือ “ท่านเพียร...ศิษย์ก้นกุฏิของเรา” และเป็นประวัติของหลวงปู่เพียร วิรีโย พระเถระผู้เป็นศิษย์ของหลวงตามหาบัว แห่งวัดบ้านตาด อุดรานี. หลวงปู่เพียร มรณภาพเมื่อ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ สิริอายุ ๘๒ ปี พรรษา ๖๑. ถึงตรงนี้ก็อาจจะมีคำถามว่าอาจารย์ของท่านนั้นมีอายุเท่าใดแล้ว. คำตอบก็คือ ๙๔+ แล้ว ครับ.
หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยคำเทศนาของหลวงตามหาบัวซึ่งท่านเล่าเรื่องน่าสนใจไว้เกี่ยวกับความตายว่า ท่านนั้นก็เคยเฉียดตายมาแล้ว. ท่านเล่าว่า ท่านจำพรรษาอยู่ที่หนองฝือ และป่วย ถ่ายท้อง ๒๕ ครั้ง อาเจียน ๒ ครั้ง. ท่านได้ติดตามดูจิตกับร่างไปตลอดเวลา. “เวลามันจะไปจริง ๆ ทุกขเวทนาแสนสาหัสดับหมดนะ ยังเหลือแต่ความรู้ล่วน ๆ ร่างกายเป็นท่อนไม้ท่อนฟืน ไม่เกิดเวทนาอะไรเลย ถึงเวลาจะไปจริง ๆ ดับนะ ความทุกข์ทั้งหลายในร่างกาย อ่อนเพลียทั้งหมดดับหมดเลย ยังเหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ ร่งกายเป็นท่อนไม้ท่อนฟืน ทุกขเวทนาหมดเลย เพราะจิตมันไม่เผลอ ดูมันตลอด พอไปถึงที่สุดแล้วทุกขเวทนาก็ดับ ในร่างกายทุกส่วนดับหมดเลย ยังเหลือแต่ความรู้ ดูความรู้”
“วิตกว่านี่จะไปเดี๋ยวนี้เชียวเหรอ เอา ถ้าจะไปจริง ๆ ก็ไป ว่าอย่างนั้นน่ะ พูดกับเจ้าของนั่นละ พอไปถึงนั้นคือมันปล่อยหมดนะ ทุกขเวทนาทั้งหมดปล่อยหมดเลย ร่างกายเป็นท่อนไม้ท่อนฟืน ยังเหลือแต่ความรู้อยู่ ดู พอไปถึงจุดนั้นมันปล่อยหมดจริง ๆ เอารอตั้งแต่มันจะดีดออก พอไปถึงนั้นหยุดกึ๊ก ไม่เคลื่อนไม่ไหว เราก็ดูอยู่ สักเดี๋ยวก็มียิบแย็บเคลื่อนไหวออกมา แล้วค่อนฟื้นขึ้นมา ฟื้นขึ้นมา ว่าจะไปแล้วก็หยุดตรงนั้นแล้วฟื้นกลับคืน ... ถ้าหากจิตใจหวั่นไปละ ไปเลยในคราวนั้น แต่นี่จิตใจไม่หวั่นคือดูความจริงทุกอย่ามง พอถึงจุดของมันแล้วก็มาหยุดที่นั่น แล้วค่อย ๆ ถอยออกมา ถอยออกมาก็เริ่มมีเวทนาขึ้นมาอีก เหอ ไม่ไปเหรอ ก็เลยหยุดละ...”
เรื่องที่หลวงตาบัวท่านเล่าในเทศนาครั้งนี้ ทำให้เราพอเข้าใจได้ว่าในช่วงที่เราจะสิ้นใจนั้นเป็นอย่างไร. แต่เรื่องนี้ทางพระสงฆ์ทิเบตเขาได้ศึกษาไว้เยอะมาก. เอาไว้วันหลังผมจะนำมาเล่าให้ฟัง.
สำหรับประวัติท่านเพียรนั้นมีย่อ ๆ ดังนี้ ท่านถือกำเนิดในครอบครัวชาวนา สกุล “จันใด” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ เดือน ตุลาคม ๒๔๖๙ ที่หมู่บ้านศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร. ท่านได้เรียนหนังสือแค่ประถม ๒ เท่านั้น ไม่ได้เรียนจบประถม ๔ เพราะต้องช่วยครอบครัวทำงาน. ท่านอุปสมบทที่วัดป่าศรีฐานใน เมื่อ ๕ กรกฏาคม ๒๔๙๐ โดยมี ท่านพระครูพิศาลศีลคุณ (โฮม วิสารโท) เป็นพระอุปัชาย์ และ พระมหาแสง อนาวิโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า วิริโย แปลว่า ผู้มีความพากเพียร
การบวชและการศึกษาของท่านเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก เพราะท่านไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้. การขานนาคต้องอาศัยการฟังแล้วจำเอาไว้. กว่าจะท่องคำขานนาคได้ก็ใช้เวลาถึง ๓ เดือน. ในตอนแรกของชีวิตภิกษุของท่าน ท่านก็ประสบความยากลำบากในการเรียนเช่นกัน. แต่ในช่วงต่อมา ท่านก็สามารถเรียนตัวหนังสือได้ในนิมิต ระหว่างที่ท่านมาอยู่ที่วัดป่าโสตถิผล อำเภอพรรณานิคม จังหวัด สกลนคร. ลายมือของท่านนั้นสวยงามมาก. นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากจริง ๆ.
หนังสือเล่มนี้ส่วนมากกล่าวถึงเส้นทางการเดินทางของท่านในแต่ละพรรษาเพื่ออไปนมัสการพระผู้ใหญ่, ไปศึกษาเล่าเรียนธรรมะ และ ไปธุดงค์. ในที่สุดในช่วงพรรษาที่ ๒๕ เป็นต้นมา ท่านก็มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าหนองกลอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จนกระทั่งมรณภาพ.
ท่านเป็นพระเถระที่ไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยแสดงเทศนาพิศดารมากนัก ท่านเน้นที่การปฏิบัติและกวดขันให้ศิษย์ของท่านปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่เกียจคร้านมากกว่า. มีบ้างที่ท่านตอบคำถามศิษย์ที่มาถามปัญหา แต่ก็มักจะตอบสั้น ๆ เท่านั้น.
_____________________________

ไปเที่ยวนครศรีธรรมราช

ช่วงนี้ผมเดินทางไปหลายจังหวัด ก็เลยไม่มีเวลาเขียนบล็อกมากนัก วันนี้ก็เลยนำบทความสั้น ๆ มาให้อ่านหลายเรื่องหน่อย
ครรชิต

ผมไปนครศรีธรรมราชเมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคมนี้. วัตถุประสงค์ก็คือเพื่อบรรยายในงานปฐมนิเทศให้นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรปริญญาโท Management of Information Technology มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้เข้าใจวิธีการเรียนที่มีการจัดการและการปรับปรุงการเรียนรู้พร้อมกันไปด้วย. การบรรยายนั้นเป็นช่วงบ่ายของวันที่ 15 ผมก็เลยขอให้ทางมหาวิทยาลัยส่งรถมารับผมไปเที่ยวชมสถานที่น่าสนใจในนครศรีธรรมราชในช่วงเช้าก่อนจะตรงไปยังมหาวิทยาลัย.

ความจริงผมก็เคยมาเที่ยวชมสถานที่สำคัญในนครศรีธรรมราชหลายหนแล้ว. โดยเฉพาะวัดพระบรมธาตุฯ นั้น ผมเคยเดินขึ้นไปนมัสการและเดินประทักษิณหลายครั้งเช่นกัน. นอกจากนั้นยังเคยเข้าไปชมสิ่งของต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์ของวัดมาหลายครั้ง แม้มาครั้งนี้ผมก็ยังมาเที่ยวชมอีก. เหตุผลก็คือวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ ผู้คนได้นำเอาสิ่งของเครื่องใช้มาถวายเป็นเครื่องบูชาพระธาตุต่อเนื่องกันมาหลายร้อยปี. ดังนั้นจึงมีวัตถุสิ่งของโบราณน่าชมให้ศึกษามากมายด้วยกัน.

ในวันที่ 15 นั้น คุณเผ่าพงษ์ ณ นคร ผู้เป็นเชื้อสายคนนครฯ และได้รับมอบหมายให้นำผมไปเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ เริ่มต้นพาผมไปยังศาลากลางก่อน. ที่นี่ ผมแวะไหว้อนุสาวรีย์ท่านเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (เจ้าน้อย) ก่อน. คำจารึกใช้ราชาศัพท์กับท่านเจ้าพระยานครท่านนี้ เพราะมีประวัติว่าท่านมีมารดาเป็น เจ้าจอมปราง ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. ขณะที่ตั้งครรภ์ได้ 2 -3 เดือน สมเด็จพระเจ้าตากสินได้พระราชทานให้เป็นภริยาของท่านเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์). แต่ ท่านเจ้าพระยานครฯ ก็มิได้ล่วงเกินท่าน คงยกให้ท่านเป็นแม่เมืองจนตลอดชีวิต. เรื่องราวของท่านเจ้าพระยานครฯ หลายท่านนั้นมีปรากฏในประวัติศาสตร์หลายเล่ม. เล่มที่อาจหาอ่านได้ง่ายในเวลานี้คือ หนังสือเรื่อง พระเจ้าตากสิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร เขียนโดยคุณทศยศ กระหม่อมแก้ว ชาวนครฯผู้สงสัยในเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับพระเจ้าตาก จนต้องลงทุนศึกษาค้นคว้า จนออกมาเป็นประวัติศาสตร์ฉบับท้องถิ่นที่ไม่เหมือนกับประวัติศาสตร์ของทางการ.
ต่อจากนั้นผมก็เดินไปชมหอพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งน่าเสียดายที่เขาไม่ได้เปิดให้นมัสการในวันเสาร์อาทิตย์. ต่อจากนั้น ผมก็นั่งรถไปชม หอพระอิศวร และ หอพระนารายณ์ ซึ่งอาคารทั้งสองนั้นได้บูรณะจากอาคารเดิมที่แสดงร่องรอยว่าชาวนครเคยนับถือเทพทั้งสองมาเก่าก่อนแล้ว. ในหนังสือของคุณทศยศนั้น ก็กล่าวถึงหอพระอิศวร และ เสาชิงช้า ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันไว้เหมือนกัน. ที่สำคัญคือ คุณทศยศ ได้ตำหนิการบูรณะอาคารหอพระอิศวรและเสาชิงช้าของกรมศิลปากรว่าทำไม่ถูกหลักการ. เนื่องจากได้เปลี่ยนรูปแบบอาคาร และ เปลี่ยนเสาชิงช้าจากไม้มาเป็นเสาโลหะด้วย. เรื่องการบูรณะโบราณสถานผิดหลักการของกรมศิลปากรนั้น ผมได้ยินมาหลายครั้งแล้ว. ได้ฟังทีใดก็รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ แต่ก็เห็นใจกรมศิลปากรซึ่งอาจจะขาดนักวิชาการ และ ขาดงบประมาณที่จะทำอะไร ๆ ให้ดียิ่งไปกว่าที่ทำไปแล้ว. ผมเลยคิดว่า ถ้าหากกรมศิลปากรไม่มีความมานะถือตัวมากนัก การที่จะบูรณะโบราณสถานใด ๆ ต่อไป ก็น่าจะเชิญให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันคิดในรูปแบบที่เรียกว่า สุนทรียสนทนา เพื่อหาวิธีการทำงานให้ดีขึ้น.
ต่อจากนั้น ผมนั่งรถไปยังวัดเสมาเมือง (หรือเสมาชัย) ซึ่งเคยขุดพบใบเสมาขนาดใหญ่มีอักษรปัลลวะเก่าแก่. ใบเสมาจริงนั้นขณะนี้นำมาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติแล้ว ส่วนที่วัดตั้งแสดงนั้นเป็นเพียงเสมาจำลองเท่านั้น. วัดนี้มีโรงเรียนวัดเสมาเมืองด้วย และ เมื่อเดินเลยผ่านเข้ามาในโรงเรียน ก็เห็นศาลหลวงพ่อวัดเสมาชัย ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยองค์ใหญ่สามองค์. พุทธศิลป์เป็นแบบทางใต้ซึ่งมีความงดงามอีกแบบหนึ่ง ต่างไปจากที่เคยเห็น. เดินเลยต่อไปอีกมุมหนึ่งของวัด ก็มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ชื่อ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เสมาไชย. น้ำในบ่อนี้ใช้สำหรับนำเข้าพิธิสำคัญของทางราชการมาโดยตลอด. อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีใครดูแลทำให้มีเศษขยะตกลงไปอยู่ในบ่อหลายชิ้น.
ต่อจากนั้น เราก็ผ่านสวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช ซึ่งเคยเป็นเรือนจำของจังหวัด และ เพิ่งรื้อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะเมื่อไม่นานมานี้เอง. สวนนี้เป็นสนามหญ้ากว้างมีต้นไม้ใหญ่เฉพาะช่วงริม ๆ สวนเท่านั้น.
สถานที่ต่อมาที่เรามาแวะก็คือ ศาลหลักเมืองซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของจังหวัด และ เป็นแหล่งให้กำเนิดพระจตุคามรามเทพรุ่นแรกที่ได้รับความนิยมมานานมาก จนกระทั่งทำให้เกิดกระแสการปลุกเสกเมื่อสามปีที่แล้ว. ใกล้กับศาลมีหอพระสูงซึ่งตั้งอยู่บนเนินดินสูงราวเมตรเศษ มีบันไดเดินขึ้นไปสู่หอพระซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก หลังคาทรงบ้านไทย มุงด้วยกระเบื้องเคลือบ จั่วเป็นไม้แผ่นปูในแนวตั้ง ไม่มีลวดลายประดับ. อาคารนี้มีประตูด้านหน้าด้านเดียวแต่ปิดอยู่. ด้านข้างสองด้านมีหน้าต่างเจาะช่องข้างละช่อง ตำแหน่งค่อนมาทางด้านหน้าใกล้ประตู. ช่องหน้าต่างเป็นรูปกากะบาด. วันนี้หอพระสูงนี้ปิด แต่ผมทราบจากหนังสือคุณทศยศว่า ภายในประดิษฐาน “พระสูง” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดขนาดใหญ่. ส่วนบริเวณหอพระสูงเองนั้นคุณทศยศก็หาหลักฐานมาเสนอว่า น่าจะเป็นบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั่นเอง.
ต่อจากนั้น เรานั่งรถแวะไปชมอนุสรณสถาน พระรัตนธัชมุนี (ม่วง ศิริรัตน์) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุฯ. ท่านผู้นี้ได้บุกเบิกการพระศาสนา และ การศึกษาในนครศรีธรรมราชอย่างกว้างขวาง. เชื่อว่า การที่มหาวิทยาลัยลักษณ์ใช้สีม่วงเป็นสัญลักษณ์ก็เพราะนามของท่านนี้เอง. อนุสรณสถานแห่งนี้ไม่ได้เปิดให้ชม เราได้แต่เดินชมอาคารทรงปั้นหยาแบบเก่าแล้วก็กลับ.
จากนั้น เราก็ไปชมเก๋งจีนที่วัดแจ้ง. ความจริงแล้วที่นครศรีธรรมราชนี้มีเก๋งจีนอยู่ในวัดสองวัด. อีกวัดหนึ่งก็คือวัดประดู่. เก๋งจีนทั้งสองนั้นเป็นที่เก็บอัฐิของผู้คนในตระกูล ณ นคร. สำหรับเก๋งจีนที่วัดแจ้งนั้น มีป้ายแสดงคำ “เชื่อว่า” เป็นที่ประดิษฐาน พระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชด้วย. เก๋งจีนที่วัดแจ้งนี้มีขนาดเล็ก เนื้อที่ประมาณสามคูณสี่ตารางเมตรเท่านั้น. ด้านนอกพ้นอาคารเก๋งออกมามีรั้วและประตูซุ้มสำหรับเดินจากข้างนอกเข้าไปข้างใน. อาคารเก๋งมีกำแพงอิฐเจาะช่องกลม และ มีประตูไม้ทาสีแดง เชื่อมต่อกับแผ่นไม้ที่เจาะช่องโปร่ง ยึดติดกับผนังกำแพง. เราเข้าไปชมข้างในไม่ได้เพราะประตูติดกุญแจ. เมื่อมองผ่านช่องโปร่งเข้าไปก็เห็นเจดีย์และปรางค์ขนาดสูงเมตรเศษประดิษฐานอยู่สององค์. ผมเข้าใจเอาเองว่าอัฐิต่าง ๆ ก็คงจะเก็บอยู่ที่เจดีย์และปรางค์ทั้งสองนี้เอง.
ต่อจากวัดแจ้ง เรามุ่งหน้าไปที่วัดบางนา หรือ วัดอินทรคีรีซึ่งอยู่ใกล้กับอำเภอพรหมคีรี. จุดประสงค์ก็เพื่อมานมัสการพระพุทธรูปซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธสิหิงค์องค์จริง. พวกเราได้ทราบกันมาว่า ในเมืองไทยนั้นมีพระพุทธสิหิงค์อยู่สามองค์ คือ ที่ กทม., เชียงใหม่ และ นครศรีธรรมราช. แต่คุณเผ่าพงษ์บอกว่า แม้แต่องค์ที่อยู่ที่หอพระพุทธสิหิงค์ก็ยังไม่ใช่องค์จริง. ตามตำนานแล้ว พระพุทธสิหิงค์ที่ได้มาจากศรีลังกาในอดีตนั้นอยู่ที่วัดบางนาต่างหาก. เมื่อเรามาถึงวัด ท่านเจ้าอาวาสก็มีเมตตาให้พวกเราขึ้นไปนมัสการพระพุทธสิหิงค์องค์นี้. แต่เราก็ไม่ได้เห็นองค์จริงอยู่ดี เพราะประดิษฐานอยู่ในห้องมั่นคงที่มีรั้วเหล็กกั้นถึงสองชั้น. ที่โต๊ะหมู่หน้าห้องมั่นคงนั้น ประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งผมเข้าใจเอาเองว่าคงจะเป็นองค์จำลองไว้ด้วย. เมื่อลองพิจารณาดูแล้ว ก็เห็นว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย ประดิษฐานบนฐานเรียบหลายชั้น. พระพักตรและพระเนตรค่อนข้างดุมีลักษณะเหมือนกับศิลปอินเดีย. ภายในห้องมั่นคงยังมีตู้กระจกประดิษฐานพระพุทธรูปยืนสำริดอีกองค์หนึ่ง. พิจารณาดูคล้ายกับเป็นปางอุ้มบาตร แต่ไม่มีบาตร. พระเศียรสวมอุษณีษ์ และ เทริด. พุทธศิลป์แบบทางใต้นี้เอง.
วัดบ้านนานี้ยังมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งตามที่ปรากฏในหนังสือของคุณทศยศ. นั่นก็คือเป็นสถานที่ซึ่งเป็นทางผ่านไปยังวัดเขาขุนพนมซึ่งเชื่อกันว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมาพำนักอยู่ที่นี่ก่อนสิ้นพระชนม์.
ผมเล่าเรื่องที่มาเที่ยวชมโบราณสถานและโบราณวัตถุในนครศรีธรรมราชอย่างคร่าว ๆ พอให้เห็นภาพว่า นครศรีธรรมราชมีเรื่องราวต่าง ๆ มากมายที่น่าศึกษา และ มีสถานที่ที่น่าเยี่ยมชมมากมาย. ใครผ่านไปทางนี้ก็ควรเจียดเวลาไปเยี่ยมชมอย่างผมบ้าง จะได้รับความรู้และความชื่นชมในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของเรามาก.
__________________________________

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

นิสัยเคยชินของสื่อ

ผมมีความรู้สึกไม่ค่อยสบายใจกับการทำงานของนักข่าวและสื่อต่าง ๆ มาเป็นเวลานานแล้ว. สมัยที่ผมมาทำงานเป็นรองผู้อำนวยการเนคเทคนั้น ผมได้สังเกตพบว่า การเขียนข่าวหรือการลงข่าวต่าง ๆ ของสื่อนั้นไม่ค่อยตรงไปตรงมา. เรื่องที่เป็นข่าวนั้นมีลักษณะและข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง แต่เวลาออกมาเป็นข่าว กลับกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นึกไม่ถึงว่าจะออกมาอย่างนั้นได้. ที่เป็นเช่นนี้เพราะนักข่าว (รวมทั้งหัวหน้าข่าว) จะพยายามคาดคะเนว่า เรื่องที่ได้ยินได้ฟังมานั้น หมายถึงอะไร. จากนั้นก็นำเรื่องที่คาดคะเนนั้นมาทำเป็นข่าว.
ยกตัวอย่างเช่น ผมเคยได้รับการสัมภาษณ์จากนักข่าวสาวคนหนึ่ง ซึ่งต้องการทราบทัศนะของผมเกี่ยวกับการสนับสนุนงานไอทีภาครัฐอย่างไร. ผมอธิบายพร้อมยกตัวอย่างที่เป็นปัญหาหลัก ๆ ที่ควรแก้ไขมาบอกเล่าให้นักข่าวทราบ. แต่พอลงเป็นข่าวหนังสือพิมพ์ กลับมีการพาดหัวข่าวว่า "ครรชิตกินรังแตน". แน่นอนครับ ผมไม่พอใจและต่อว่านักข่าวสาวคนนั้นไป. ถัดจากนั้นผมก็ไม่เคยได้พบนักข่าวสาวคนนั้นอีกเลย.
คราวนี้ผมจะยกตัวอย่างของผู้ยิ่งใหญ่ระดับโลกมาให้เห็นภาพต่อไปว่า สื่อในอเมริกาก็ไม่แตกต่างไปจากไทยเลย. ผู้ยิ่งใหญ่คนนั้นก็คือ ประธานาธิบดี โอบามา นี่เอง.
เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมนี้เอง ประธานาธิบดี โอบามา ได้ไปกล่าวปราศรัยในพิธีรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยแฮมป์ตันในเวอรจิเนีย. ในคำกล่าวนั้นท่านได้กล่าวถึงลักษณะและธรรมชาติของเทคโนโลยีที่เกิดจากระบบอินเทอร์เน็ตและเว็บว่ามีบทบาทอย่างไรบ้าง. ท่านกล่าวว่า...
"พวกคุณกำลังอยู่ในยุคของสิ่งแวดล้อมของสื่อที่ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ทุก 7 วัน เราล้วนถูกยัดเยียดให้รับเนื้อหาข่าวสารต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการโต้แย้งทุกเรื่องทุกประการ และ บางเรื่องนั้นก็ไม่ได้มีระดับความเป็นจริงสูงมากแต่อย่างใด. ในเมื่อเรามีทั้ง iPods และ iPads รวมทั้ง Xbox และ Plan Stations ซึ่งผมไม่รู้จักใช้สักอย่างเดียวนั้น เราก็พบว่าข่าวสารต่าง ๆ ล้วนแต่ทำให้ว่อกแว่ก และ เบี่ยงเบน เรื่องเหล่านี้มักเป็นเรื่องเพื่อความหรรษาเพลิดเพลินมากกว่าจะทำให้เราเกิดพลัง หรือ ปลดปล่อยให้เราเป็นอิสระจากพันธนาการทั้งหลาย. สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่ไปสร้างแรงกดดันให้พวกคุณเท่านั้น แต่ยังไปแรงกดดันแบบใหม่ต่อประเทศของเรา และ ต่อประชาธิปไตยของเราด้วย"
แม้ว่าผมจะเป็นนักไอทีมานานเกือบครึ่งศตวรรษ แต่ผมก็เห็นด้วยกับท่านโอบามา. ผมเห็นคนใช้เวลาพูดเรื่องไม่เป็นเรื่องทางโทรศัพท์ในที่สาธารณะให้ได้ยินอย่างน่ารำคาญ, ได้เห็นเยาวชนลุ่มหลงเล่นเกม แทนที่จะใช้เวลาเสริมสร้างปัญญา. ลูกชายของอดีตพนักงานคนหนึ่งของผม ถึงกับขโมยเงินของครูเพื่อเอาไปเล่นเกม! เคเบิลทีวีมีแต่เรื่องน้ำเน่ามากกว่าเรื่องที่มีสาระสำหรับการพัฒนาจิตและพ้ฒนาชีวิต. รายการข่าว มีแต่เรื่องพูดไร้สาระและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างผิด ๆ. ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นก็เพราะ คอมพิวเตอร์นั่นเองที่ช่วยให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้โดยง่าย.
เกิดอะไรขึ้นกับสื่อในอเมริกา หลังจากได้ยินท่านประธานาธิบดีกล่าวคำปราศรัยเช่นนี้? ลองอ่านดูครับ...
สื่อรายหนึ่งพาดหัวข่าวว่า "Obama warns Grads of iPad Perils", อีกรายพาดว่า "iPad is Bad for Democracy, Obama tells Graduates".
พาดหัวแบบนี้ทำให้ เรื่องที่ผมเคยโมโห กลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยไปเลยครับ.

วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พระพิฆเนศวร์

พระพิฆเนศวร์เป็นเทพเจ้าแห่งความรู้และศิลปวิทยา. นามของท่านนั้น พระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ) กล่าวว่ามีความหมายถึง หัวหน้าคณะข้ามความขัดข้อง. นอกจากนามนี้แล้ว ท่านยังมีนามอื่น ๆ อีกมาก เช่น อขุรถ (ขี่หนู), คชมุข, กรีมุข (หน้าเป็นช้าง), เอกทนต์ (งาเดียว), ลัมพกรรณ (หูยาน), ลัมโพทร (ท้องยาน), ทวิเทพ (ตัวสองลอน). (จาก ทรงวิทย์ แก้วศรี, พระพิฆเณศวร์, นิตยสารศิลปากร, ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๑ ม.ค. - ก.พ. ๒๕๓๗)
เรื่องราวของพระพิฆเณศวร์ในบทความของคุณทรงวิทย์ นั้นมีรายละเอียดเกี่ยวกับกำเนิด และ การเสียงาจนเหลือข้างเดียวของพระพิฆเณศวร์แล้ว. ใครอยากทราบก็จะสามารถค้นหาอ่านได้. ในที่นี้ผมจะเล่าเรื่องในเชิงเปรียบเทียบเกี่ยวกับท่านให้ทราบ.
ในราวสิบปีมาแล้ว ผมไปอินเดีย กับ ดร. รอม หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนวยการคนแรกของเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย (หรือ ซอฟต์แวร์ พาร์ก). เราได้ไปเยี่ยมชมสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง และได้เห็นคำสอนเปรียบเทียบการเรียนรู้ของนักศึกษากับพระพิฆเณศวร์ที่น่าสนใจมาก. ผมจึงขอนำมาถ่ายทอด และ เพิ่มเติมบางส่วนดังต่อไปนี้...
๑. พระพิฆเณศวร์ท่านเป็นเจ้าแห่งศิลปวิทยา. ท่านมีจมูกเป็นงวงที่ยาวมาก และธรรมดานั้นช้างย่อมแกว่งงวงไปสำรวจสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ ไม่ได้ว่างเว้น. นั่นแสดงว่าท่านสนใจเสาะแสวงหาความรู้ตลอดเวลา เราจึงควรทำตนให้เหมือนท่าน.
๒. ท่านมีหูที่ใหญ่มาก. นั่นแสดงว่าท่านยินดีที่จะรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ เสมอ. เราจึงควรใช้เวลาในการฟังเพื่อเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ให้เหมือนท่าน.
๓. ท่านมีปากที่เล็กเทียบกับส่วนอื่น นั่นแสดงว่าท่านไม่ชอบพูดหรือสนทนาเรื่องที่ไร้สาระหรือเหลวไหล. เราจึงควรพูดให้น้อยลง และใช้เวลาฟังให้มากขึ้น.
๔. ท่านมีศีรษะที่ใหญ่มาก. นั่นแสดงว่าท่านชอบใช้สมองครุ่นคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์เรื่องที่เป็นประโยชน์ตลอดเวลา. เราเองก็ควรใช้สมองคิดในเรื่องที่เป็นประโยชน์เสมอ ไม่ใช่คิดในเรื่องที่ไร้สาระ.
๕. ท่านมีนัยตาที่เล็ก แต่อ่อนโยน เต็มไปด้วยความเมตตา ซึ่งเราควรจะมองคนอื่นด้วยความเมตตาอยู่เสมอเช่นกัน.
๖. ท่านมีร่างกายที่บึกบึนแสดงว่าท่านกล้าบุกลุยปัญหาต่าง ๆ โดยใช้ศิลปวิทยาที่ท่านได้แสวงหามา ซึ่งเราก็ควรจะปฏิบัติเยี่ยงอย่างท่านและกล้าสู้กับปัญหาต่าง ๆ.
ผมจำเรื่องที่ได้อ่านพบที่อินเดียมาพอเลา ๆ เฉพาะข้อ ๑ - ๔ ส่วนข้อ ๕ และ ๖ นั้น ผมเพิ่มเติมขึ้นเอง. แต่ผมก็หวังว่า ผู้ที่เคารพบูชาพระพิฆเณศวร์ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยานั้น ไม่ควรแค่บูชาเฉย ๆ เท่านั้น แต่ควรจะยึดลักษณะของท่านเป็นเครื่องเตือนใจให้ปฏิบัติด้วย.
________________________

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

100 หนังสือบริหารธุรกิจที่ต้องอ่าน

100 หนังสือบริหารธุรกิจที่ต้องอ่าน
เขียนโดย Jack Covert และ Todd Sattersten
แปลโดย ดร. รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน

สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นสำนักพิมพ์ที่เพิ่งเกิดใหม่ และควรจะพิมพ์หนังสือเล่มนี้เป็นปฐมฤกษ์ เพราะผู้แปลก็คืออธิการบดีหญิงผู้แกร่งกล้าคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเอง. แต่บังเอิญต้นฉบับคงจะเสร็จไม่ทัน จึงเพิ่งจะออกมาวางตลาด.
หนังสือเล่มนี้หนาราว 460 หน้า หากเอาจำนวนนี้หารด้วย 100 ก็จะออกมาเพียง 4.6 หน้าต่อหนังสือที่จะแนะนำแต่ละเล่ม. แน่นอนครับว่า ทำอย่างไรก็ไม่สามารถจะย่อเนื้อหาหนังสือขนาด 200 หน้าให้เหลือเพียงสี่หน้าเศษได้. ยิ่งเมื่อเปิดไปอ่านดูหนังสือที่แนะนำแต่ละเล่มด้วยแล้ว ก็จะพบว่าเนื้อหายิ่งน้อยลงไปใหญ่ เพราะผู้เขียนจะต้องแนะนำผู้เขียนแต่ละเล่มด้วย. เรื่องนี้ก็เป็นธรรมดา เพราะถ้านักเขียนเป็นเสมียนโรงรับจำนำเสียแล้ว นักธุรกิจที่ไหนจะมาอ่าน. แต่เรื่องนี้ก็อย่าปักใจเชื่อมากนักนะครับ เพราะเสมียนสำนักงานจดสิทธิบัตรในเยอรมันก็ยังเคยได้รางวัลโนเบลมาแล้ว. เสมียนคนนั้นมีชื่อว่า อัลเบิรต ไอน์สไตน์ครับ.
เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้มาจากธุรกิจของคุณ Covert และ Sattersten นั่นเอง. ธุรกิจนั้นก็คือขายหนังสือ และเพื่อให้การขายเดินหน้าได้ดี ทั้งคู่ก็มีบริการย่อยหนังสือธุรกิจส่งให้สมาชิกอ่านเพื่อจะได้ทราบว่ามีหนังสืออะไรน่าสนใจบ้าง. หากอ่านคำแนะนำและคำวิจารณ์แล้วเห็นว่าหนังสือใดมีเนื้อหาน่าสนใจก็จะได้หาซื้อมาอ่านต่อไป. หลังจากนั้นทั้งคู่ก็นำคำแนะนำและคำวิจารณ์เหล่านี้มาคัดสรรเฉพาะเล่มที่เห็นว่าผู้เขียนสามารถนำเสนอเนื้อหาใหม่ที่น่าสนใจ และสามารถนำไปใช้ปรับปรุงการทำธุรกิจได้จริง. เมื่อคัดสรรแล้วก็นำมารวมและจัดเป็น 12 กลุ่มด้วยกัน คือ..
1. ตัวคุณ การพัฒนาชีวิต ตัวตน และ จุดแข็งของคุณ. หนังสือในกลุ่มนี้มีหลายเล่มที่เราอาจจะได้ยินคนพูดถึงบ่อย ๆ เช่น 7 Habits of Highly Effective People หรือหนังสือเก่าแก่อย่างเช่น How to Win Friends and Influence People ของ เดล คาร์เนกี.
2. ความเป็นผู้นำ แรงบันดาลใจ, ความท้าทาย, ความกล้าหาญ, การเปลี่ยนแปลง. ในกลุ่มนี้มีหนังสือที่เคยแปลเป็นภาษาไทยแล้ว เช่น The Leadership Challenge และ Leadership is an Art, The Radical Leap.
3. กลยุทธ์ พิมพ์เขียวองค์กรทั้งแปดแบบที่คุณสามารถใช้เป็นต้นร่างองค์กรของคุณ. ในกลุ่มนี้มีหนังสือที่คนไทยเคยอ่านมาแล้วเช่น In Search of Excellence, Good to Great.
4. การขายและการตลาด วิธีดำเนินการและหลุมพรางที่แฝงอยู่ในกระบวนการสร้างลูกค้าอย่างต่อเนื่อง. ในกลุ่มนี้ก็มีหนังสืออย่างเช่น Positioning: The Battle for Your Mind, How to Become a Rainmaker, และ Purple Cow.
5. กฎเกณฑ์และการเก็บคะแนน ตัวเลขข้อมูลสำคัญ ๆ. ในกลุ่มนี้ก็ย่อมต้องมีหนังสือ The Balanced Scorecard แน่นอนอยู่แล้ว.
6. การจัดการ การให้คำแนะนำและกำหนดทิศทางแก่คนรอบข้าง. ในกลุ่มนี้ก็มีหนังสือจากปรมาจารย์ The Essential Drucker, และเล่มอื่น ๆ เช่น Toyota Production System, Reengineering the Corporation, Six Thinking Hats.
7. ชีวประวัติ เจ็ดชีวิต บทเรียนไร้ขีดจำกัด. ในกลุ่มนี้ก็มีหนังสือที่น่าสนใจอย่างเช่น My Years with General Motors และ Sam Walton: Made in America – My Story.
8. ความเป็นผู้ประกอบการ ความหลงใหลและการยืนอยู่บนหลักแห่งความเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างธุรกิจยุคใหม่. ในกลุ่มนี้มีหนังสือที่เคยแปลเป็นไทยแล้วเล่มเดียวคือ The E-Myth Revisited.
9. เรื่องเล่า เรื่องราวความสำเร็จและล้มเหลวในอุตสาหกรรมทั้งหก. หนังสือในกลุ่มนี้เป็นเรื่องของแมคโดนัลด์ซึ่งแน่นอนว่าคือความสำเร็จ และ เรื่องของ เอนรอน ซึ่งเป็นยิ่งกว่าฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากเห็นเป็นจริง.
10. นวัตกรรมและความสร้างสรรค์ เจาะลึกกระบวนการพัฒนาความคิดใหม่. นวัตกรรมเป็นเรื่องใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจ แต่ผมยังไม่เห็นมีใครแปลหนังสือในกลุ่มที่หนังสือเล่มนี้แนะนำออกเป็นภาษาไทย.
11. ไอเดียสุดยอด อนาคตของหนังสือแนวบริหารอยู่ตรงนี้. หนังสือในกลุ่มนี้ที่ผมคุ้นเคยก็มีเพียง To Engineer is Human ที่เขียนโดย Henry Petroski.
12. ติดตัวไปทุกที สิ่งที่ทุกคนมองหา. หนังสือในกลุ่มนี้คือหนังสือที่ผู้เขียนเชื่อว่าจะมีประโยชน์ตรงสามารถนำเนื้อหาไปประยุกต์ได้ทันทีที่ต้องการ หรือ เมื่อเกิดปัญหา.

กล่าวโดยสรุป แม้เนื้อหาเกี่ยวกับหนังสือแต่ละเล่มจะไม่มากพอที่จะทำให้เรานำไปใช้ได้จริง แต่ก็เป็นประโยชน์ตรงที่ให้แนวคิดเบื้องต้นหลายอย่างแก่เรา. บางทีเราอาจต้องการแค่แนวคิดซึ่งเป็นเนื้อยิ่งกว่าจะอ่านส่วนที่เป็นน้ำในแต่ละเล่ม. หากลองเคี้ยวกินแล้วรู้สึกว่าอร่อย ก็ลองไปหาฉบับแปลหรือฉบับภาษาอังกฤษมาอ่านต่อไปก็แล้วกัน.

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก

เมื่อยี่สิบปีก่อน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ส่งผมและ ดร.นงนุช วรรธนะวหะ เป็นผู้สังเกตการณ์การแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกครั้งที่สองที่เมืองมินส์ สหภาพโซเวียต (ก่อนที่จะมีการแตกออกเป็นหลายประเทศเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน). การแข่งขันนี้เขามีชื่อว่า IOI หรือ International Olypiad in Informatics และจัดครั้งแรกที่ประเทศบัลแกเรีย. ประเทศที่มาเข้าร่วมแข่งขันส่วนใหญ่คือประเทศยุโรปตะวันออกในค่ายสังคมนิยม และ มีประเทศจากเอเชียคือจีนแผ่นดินใหญ่ และ มองโกเลีย. การสอบยุคนั้นสอบสองวัน วันละ 6 ชั่วโมง และ ข้อสอบมีเพียงข้อเดียว. ผู้เข้าสอบก็เป็นนักเรียนมัธยมทั้งนั้น. การสอบแข่งขันนั้นนักเรียนแต่ละคนจะต้องคิดแก้ปัญหาคนเดียว ช่วยกันคิดไม่ได้.
ก่อนสอบก็มีการพิจารณาเลือกข้อสอบกันระหว่างหัวหน้าทีม. เมื่อตกลงข้อสอบได้แล้ว หัวหน้าทีมก็จะแปลข้อสอบเป็นภาษาของประเทศของตนเอง. ระหว่างการแปลจนถึงการเข้าสอบนั้น หัวหน้าทีมจะไม่ได้พบกับนักเรียนของตนอีก. จะได้พบอีกทีก็เมื่อสอบเสร็จแล้วเท่านั้น.
ผมและดร.นงนุช เห็นข้อสอบแล้ว ก็รู้ทันทีว่า นักเรียนของเราคงจะสู้ไม่ได้. เพราะขณะที่เราออกข้อสอบให้นักเรียนของเราคำนวณพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือ พื้นที่วงกลมอยู่นั้น ข้อสอบของเขาให้เขียนโปรแกรมเลื่อนแผ่นเลขจำนวน 14 แผ่นที่อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมขนาด 4x4 และมีตัวเลขระหว่าง 1 - 14 ที่วางในกรอบตามใจชอบ ให้เลื่อนมาเรียงกัน โดยการเลื่อนนั้นตัองน้อยครั้งที่สุด.
ถ้าเราแวะไปที่แผงร้านขายของเล่นตามตลาด จะเห็นว่าเขาขายของเล่นแบบนี้ แต่แผ่นตัวเลขนั้นมี 15 แผ่น. นานมาแล้วของเล่นชนิดนี้เป็นเกมที่สร้างความปวดสมองให้แก่คนทั่วโลกมาแล้ว แต่เกมนี้กำหนดให้เลข 1 ถึง 13 เรียงกันอยู่แล้ว มีแต่เพียงเลข 14 และ 15 เท่านั้นที่เรียงสลับกัน. เกมเขากำหนดให้สลับเลข 14 กับ 15 ให้ได้. ปรากฏว่าไม่มีใครสามารถเลื่อนได้ตามโจทย์เลย เพราะโจทย์นี้แก้ไม่ได้ (unsolvable).
โจทย์ที่เขาออกนั้นง่ายกว่า เพราะมีตัวเลขเพียง 14 ตัว. ดังนั้นจะสามารถแก้โจทย์ได้ทุกแบบ ไม่ว่าจะวางตัวเลขไว้แบบไหน. แต่เขาไม่ได้ให้ตัวเลขมาเลื่อน. เขาให้นักเรียนเขียนโปรแกรมต่างหาก. โปรแกรมที่จะทำให้คอมพิวเตอร์เลื่อนตัวเลขใด ๆ ได้นั้น หากนักเรียนเขียนได้ถูกต้อง จะเป็นเนื้อโปรแกรมยาวสิบกว่าหน้า!
ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อเรากลับมาแล้ว ก็ต้องรีบเตรียมการคัดนักเรียน และ ฝึกฝนให้รู้วิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเนื้อหานั้นมากยิ่งกว่าระดับนักศึกษาปริญญาตรีทั่วไปจะรู้เสียอีก. ในที่สุดทาง สสวท. ก็เชิญ อ. ยืน ภู่วรวรรณ และ อาจารย์ทางด้านคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยหลายแห่งมาช่วยฝึกอบรมนักเรียน. หลังจากนั้นเรื่องนี้ก็กลายเป็นงานประจำไป ประกอบด้วยการคัดเลือกนักเรียนทั่วประเทศมา 30 คน, จัดฝึกอบรมการเขียนโปรแกรมตั้งแต่เบื้องต้น รวมเทคนิคการแก้ปัญหา, และ ซ้อมเขียนโปรแกรมจนกว่าจะชำนาญขนาดเห็นปัญหาก็สามารถคิดคำสั่งให้เลื่อนไหลออกมาได้.
เทคนิคที่เราต้องสอนในการแก้ปัญหา พอสรุปได้ว่ามีเนื้อหาต่อไปนี้
  • การแก้ปัญหาเชิงเรขาคณิต
  • การแก้ปัญหา Optimization เน้นที่ Integer Programming
  • การจัดเรียงข้อมูลแบบเร็ว
  • การสร้างภาพกราฟิกส์ขั้นต้น
  • การคำนวณค่าสถิติต่าง ๆ
  • การคำนวณค่าในเชิง combinatorial
  • การคำนวณเชิงตรรกะและเซ็ต
  • การคำนวณในแบบ Heuristics
  • หลักการด้าน Data Structures

ยี่สิบปีผ่านไปแล้ว แต่ผมก็ยังคงรั้งตำแหน่งประธานอนุกรรมการพิจารณาจัดส่งนักเรียนไทยไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระห่ว่างประเทศเหมือนเดิม. เรื่องที่น่าสนใจก็คือ บรรดาผู้เกี่ยวข้องกับ IOI ก็ยังคงคิดข้อสอบออกมาได้อย่างน่าสนใจ. นักเรียนของเราได้เหรียญทุกปี. บางปีก็ได้เหรียญทอง บางปีก็ไม่ได้. นักเรียนหลายคนก็เรียนต่อทางด้านคอมพิวเตอร์ บางคนก็ไปเรียนด้านอื่น ๆ. ที่น่าเสียใจก็คือ เรายังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการแข่งขัน IOI ได้มากนัก. เรายังไม่สามารถผลักดันให้กระทรวงกำหนดให้นักเรียนทุกคนต้องเรียนการเขียนโปรแกรม. แต่ที่น่าเสียใจมากยิ่งขึ้นก็คือ บัณฑิตด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์เวลานี้หลายคนเขียนโปรแกรมไม่เป็น.

ไม่ทราบว่าเขานึกขายหน้าเด็กนักเรียนคอมพิวเตอร์โอลิมปิกบ้างหรือเปล่า?

วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การตอบคำถามของพระพุทธองค์

เมื่อปีที่แล้ว คุณพิทยา ว่องกุล ได้เป็นบรรณาธิการหนังสือเรื่อง "ฉลาดเยี่ยงพุทธ พระพุทธปฏิภาณ" โดยนำหนังสือเรื่อง "พระพุทธปฏิภาณ" ซึ่งเคยจัดพิมพ์เมื่อปี 2479 มาเพิ่มเติมคำอธิบายและพิมพ์ใหม่.
หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่เป็นบทสนทนาธรรม 25 บท ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างพระพุทธองค์กับผู้ที่มาสอบถามปัญหา หรือผู้ที่พยายามมาหาเรื่องทะเลาะกับพระพุทธองค์. ข้อที่น่าสนใจก็คือ พระพุทธองค์ทรงใช้วิธีถามคำถามกลับเพื่อให้ผู้ที่มาถามปัญหาหรือมาชวนทะเลาะนั้นเกิดความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ด้วยตัวเอง. คำถามที่ทรงตั้งนั้นก็ทรงเลือกประเด็นที่สอดคล้องกับคำถามแรกของผู้ถามนั่นเอง แต่เปลี่ยนไปในรูปแบบเชิงอุปมาอุปมัย.
ผมขอยกตัวอย่างที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดมาให้พิจารณา. คือเมื่อพระอภยราชกุมาร ได้กราบทูลเชิญพระพุทธองค์ไปเสวยพระกระยาหารที่พระราชนิเวศน์. หลังจากนั้นพระอภยราชกุมารได้กราบทูลถามปัญหาที่ได้ทรงรับการเสี้ยมสอนมาจากนิครถ์นาฏบุตร แต่พระพุทธองค์ก็ได้ไขปัญหาให้กระจ่างหมด. จากนั้นพระอภยราชกุมาร กราบทูลถามว่า "พระองค์ผู้เจริญ กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี และ สมณะ ผู้เป็นนักปราชญ์ผูกปัญหาแล้ว เข้ามาเฝ้าทูลถามพระตถาคตเจ้า ข้อพยากรณ์ปัญหาของนักปราชญ์เหล่านั้น พระตถาคตเจ้าได้ทรงตรึกด้วยพระหหฤทัยก่อนแล้วว่า ปัญหาอย่างนี้ จักต้องพยากรณ์อย่างนี้ หรือว่า ข้อพยากรณ์นั้นมาแจ่มแจ้งแก่พระองค์ในทันทีทันใดนั้นฯ"
ผู้ที่ศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์มามากคงนึกสงสัยอย่างพระอภยราชกุมารมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย. ผมเองก็เคยสงสัย เพราะดูเหมือนว่าในช่วง 45 พรรษาที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จสั่งสอนเวไนยสัตว์นั้น พระพุทธองค์ได้ทรงสอนเรื่องต่าง ๆ ไว้มากมาย จนกล่าวกันว่ามีถึง 84,000 พระธรรมขันธ์. ผมอยากรู้ว่า พระองค์ทรงตอบคำถามเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร. นอกจากนั้น ยังปรากฏชัดว่า เนื้อหาที่พระองค์ทรงสอนตั้งแต่ปฐมเทศนา จนถึงปัจฉิมโอวาทนั้น มีเนื้อหาตรงกันหมดทุกเรื่อง. ผมไม่อาจเอื้อมจะเปรียบเทียบตัวเองกับพระพุทธองค์ แต่อยากจะบอกว่า เนื้อหาวิชาที่ผมสอนในแต่ละรุ่นนั้นเปลี่ยนตลอดเวลา. การเปลี่ยนนั้นก็เพราะผมเพิ่งตีความเนื้อหาเก่าได้เพิ่มเติมบ้าง, ได้เรียนรู้เรื่องใหม่บ้าง, แก้ไขเนื้อหาเก่าเพราะล้าสมัยไปบ้าง ฯลฯ. บางครั้งผมย้อนกลับไปอ่านบทความที่ผมเขียนเมื่อสามสิบปีก่อน ผมยังแปลกใจว่าเขียนผิดพลาดไปได้อย่างไร.
เอาละครับ คราวนี้มาดูว่า พระพุทธองค์ทรงตอบอย่างไร.
พระพุทธองค์ทรงตอบว่า "พระราชกุมาร ความเรื่องนี้เราจักถามท่านกลับบ้าง ท่านเห็นอย่างไร ก็พึงตอบอย่างนั้น ท่านเป็นผู้ฉลาดรอบรู้ในเรื่องส่วนประกอบต่าง ๆ ของรถหรือไม่?"
พระอภยราชกุมาร กราบทูลตอบว่า "เป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า"
พระพุทธองค์ทรงตอบว่า "พระราชกุมาร เมื่อเป็นเช่นนั้น หากมีคนเข้ามาเฝ้าท่านแล้วถามว่า ส่วนประกอบของรถชิ้นนี้ชื่ออะไร การตอบปัญหานี้ ท่านตรึกตรองด้วยหฤทัยไว้ก่อนแล้ว หรือว่ามาแจ่มแจ้งแก่ท่านในทันทีทันใดนั้นทีเดียว?"
พระอภยราชกุมาร กราบทูลตอบว่า "พระองค์ผู้เจริญ คำตอบปัญหานั้นมาแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ในทันทีทันใดนั้นทีเดียว เพราะอาศัยข้าพระองค์เป็นผู้ฉลาด และทราบชัดอยู่แล้วในเรื่องส่วนประกอบน้อยใหญ่ของรถนั้น"
พระพุทธองค์ทรงสรุปว่า "ราชกุมาร ข้อนี้ก็เหมือนกัน นักปราชญ์เหล่าใด ที่เป็นกษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง คฤหบดีบ้าง สมณะบ้าง ผูกปัญหาแล้วเข้ามาเฝ้าทูลถามพระตถาคต ข้อกล่าวแก้ปัญหาของนักปราชญ์เหล่านั้น ย่อมมาแจ่มแจ้งแก่พระตถาคตในทันใดนั้นทีเดียว เพราะว่าธรรมธาตุทั้งหลาย พระตถาคตแทงตลอดดีแล้ว ดังนี้ฯ"
คำตอบของพระพุทธองค์คงจะช่วยให้เราหายสงสัยแล้วนะครับว่า ทรงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ และทรงมีความรู้มากมายมหาศาลยิ่งกว่าที่เราจะคาดคิดได้อย่างไร
หนังสือเล่มนี้อาจจะอ่านยากสักหน่อย เพราะใช้ถ้อยคำสำนวนบาลีเป็นคำพระ. ผมขอแนะนำให้ไปลองหามาศึกษาเพื่อจะได้เพิ่มพูนศรัทธาและสติปัญญาให้มากยิ่งขึ้น. หนังสือนี้พิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิถึทรรศน์ และ อยู่ในชุดวิถึธรรม 2 ครับ.

ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกันเถอะ

ผมไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติทั้งในกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัดบ่อยมาก. หากผมไปต่างจังหวัดและมีเวลาพอ ก็จะหาทางไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเสมอ. บางจังหวัดที่ผมมีโอกาสไปบ่อย ผมก็ไปพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่จังหวัดนั้นบ่อยเหมือนกัน.
การที่ผมได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งช่าติบ่อย ๆ นั้น ทำให้ผมพบประเด็นต่าง ๆ ที่อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังบ้าง.
เรื่องแรกก็คือ ในฐานะนักสารสนเทศ ผมเห็นว่าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติมีสารสนเทศให้บริการน้อยมาก. หลายแห่งมีแผ่นพับแจก และมีหนังสือนำชมศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑ์จำหน่ายด้วย. อย่างไรก็ตาม แผ่นพับที่แจกนั้นมีเนื้อหาน้อยมาก และอาจจะไม่น่าดึงดูดให้เยาวชนสนใจพิพิธภัณฑ์มากนัก. พิพิธภัณฑ์สถานหลายแห่งวางป้ายอธิบายผิดตำแหน่งที่ควรจะวางบ้าง, พิมพ์คำอธิบายผิดบ้าง. หรือ แม้แต่แผ่นโปสเตอร์ขนาดใหญ่สำหรับอธิบายที่จ้างจัดทำมาอย่างดีเพื่อแขวนไว้ในพิพิธภัณฑ์ก็ยังมีที่ผิด. พิพิธภัณฑ์นั้นเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ หากความรู้ที่ให้ผิดพลาดเสียแล้ว เราจะเชื่อถือพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไร?
เรื่องที่สองก็คือ พิพิธภัณฑ์ควรมีชีวิตและปรับเปลี่ยนการนำเสนอบ่อย ๆ เพื่อให้ผู้สนใจแวะเวียนกลับมาศึกษาหาความรุ้บ่อย ๆ. ผมไปพิพิธภัณฑ์หลายจังหวัดหลายหน ไปแต่ละครั้งก็แสดงแต่ของเดิม ๆ ไม่ได้มีการจัดนิทรรรศการหมุนเวียน. ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติใน กทม. นั้นยังดีหน่อยที่มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนบ่อยครั้ง. แต่ก็ควรหมุนเวียนออกไปต่างจังหวัดให้ได้บ่อยครั้งด้วย.
เรื่องที่สามก็คือ พิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศนั้น มีอาสาสมัครคอยอธิบายให้คนที่เข้าชมได้ทราบความเป็นมาของศิลปวัตถุหรือโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์นั้น. ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติใน กทม. ก็มีอาสาสมัครเหมือนกันครับ. แต่อาสาสมัครที่ผมพบนั้นเป็นฝรั่ง ซึ่งเขาก็ให้บริการแก่ผู้มาเยี่ยมชมที่เป็นฝรั่งด้วยกัน. อาสาสมัครชาวไทยอาจจะมีก็ได้ แต่ผมยังไม่เห็น. ผมคิดว่าเรื่องนี้ควรจัดให้เป็นกิจกรรมไปยังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติทุกแห่ง. ไม่ใช่ให้มีอาสาสมัครฝรั่งครับ. ผมเสนอให้ใช้นักเรียนมัธยมนี่แหละมาทำงานนี้. ประการแรกก็เพื่อให้นักเรียนเหล่านั้นรู้จักและเห็นความสำคัญของพิพิธภัณฑ์สถาน และ ประการที่สองก็จะทำให้เพื่อน ๆ ของอาสาสมัครตามมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์กันด้วย. เมื่อหลายวันที่ผ่านมา ผมไปชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดปราจีนบุรี. ผมเกิดความสงสัยเรื่องง่าย ๆ เกี่ยวกับการขุดค้นชุมชนโบราณแห่งหนึ่งที่ชลบุรีว่าเกิดเมื่อใด. ปรากฏว่าคนที่เฝ้าห้องอยู่ตอบไม่ได้ เขาต้องไปอ่านข้อความที่อยู่ในตู้นิทรรศการอีกพักใหญ่ จึงหันมาบอกผมว่าเกิดเมื่อปีนั้น ๆ. นี่ถ้าผมถามยากกว่านี้ เขาก็คงจะตอบไม่ได้ เพราะลำพังเนื้อหาที่แสดงอยู่เขายังไม่รู้เลยว่ามีอะไรบ้าง.
เรื่องที่สี่ ก็คือ แต่ละครั้งที่ผมไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นั้น แทบจะไม่มีคนสนใจมาชมเลย. มีครั้งเดียวที่มีคนแน่นพิพิธภัณฑ์ นั่นก็คือการจัดงานที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ บ้านเชียง ซึ่งมีการจัดงานที่ชุมชนด้านนอกพิพิธภัณฑ์ควบคู่ไปด้วย. ผมเห็นว่า การที่คนไทยไม่เข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาตินั้น ก็คงเป็นเพราะปัญหาสามข้อข้างบนนั่นแหละครับ. หากเราแก้ไขปัญหาสามข้อนี้ได้ และ เพิ่มการประชาสัมพันธ์มากขึ้นอีกหน่อย ผมเชื่อว่าจะมีคนมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สถานกันมากขึ้น.
ผมเคยไปชมพิพิธภัณฑ์พอล เกตตี้ ที่ลอส แองเจลิส มาแล้วสองหน. ผมชอบตรงที่เขาเขียนรายละเอียดของศิลปะวัตถุในแต่ละห้องให้เราศึกษาอย่างละเอียดมาก. อ่านแล้วได้ความรู้มาก. ที่เยี่ยมมากก็คือ ถ่ายภาพได้ด้วย. ที่อื่น ๆ เขาให้ถ่ายรูปได้ทั้งนั้นแล้ว แต่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของไทยยังไม่ยอมให้ถ่ายรูป. ที่อียิปต์ก็ไม่ให้ถ่ายรูป เหมือนกัน. เรื่องนี้น่าจะเสนอให้แก้ไขได้แล้ว. หากให้ถ่ายรูปได้ก็จะทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น หากต้องเอาสมุดมาคอยจดไปก็คงจะดูอะไรไม่ได้มากนัก.
ผมเขียนเรื่องนี้ เพราะอยากชวนให้ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สถานกันมากๆ หน่อยครับ. ค่าเข้าชมสำหรับคนไทยก็ถูกมากจริง ๆ แต่สำหรับผมแล้วดูฟรี เพราะอายุเกินมามากแล้วครับ (ที่แปลกก็คือ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ บางแห่งก็ไม่ทราบว่า ผู้สูงอายุไม่ต้องเสียเงิน. แต่ผมก็ยินดีจ่ายครับ.)

ครรชิต

ความสำคัญของ TQF

สวัสดีครับ
วงการอุดมศึกษาทุกวันนี่กำลังวุ่นวายด้วยกรอบมาตรฐานคุณภาพไทยที่ สกอ. กำหนดขึ้น. กรอบมาตรฐานนี้เรียกกันย่อ ๆ ว่า TQF หรือ Thai Quality Framework.
สกอ. กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้มีรูปแบบเดียวกันกับที่ทาง สกอ. กำหนด. หลักการสำคัญก็คือ หลักสูตรต่าง ๆ นั้นจะต้องเป้นไปตามกรอบเนื้อหาที่ทาง สกอ. กำหนดขึ้น. กรอบนี้กำหนดให้ผู้จัดทำหลักสูตรต้องเข้าใจว่าองค์ความรู้หลักของหลักสูตรประกอบด้วยเนื้อหาอะไรบ้าง. เนื้อหาทั้งหมดจะแบ่งออกไปเป็นรายวิชาอะไรบ้าง. รายวิชาต่าง ๆ จะต้องมีลำดับการเรียนรู้อย่างไร. แนวคิดนี้สำคัญมาก เพราะจากการที่ผมได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสิบกว่าแห่ง ผมพบว่าอาจารย์หลายท่านยังไม่ค่อยทราบประเด็นเหล่านี้. ดังนั้นลำพังแค่ภาควิชาที่รับผิดชอบแต่ละหลักสูตรสามารถทำตามกรอบส่วนนี้ได้ ก็ได้ประโยชน์มากแล้ว.
เพื่อนรุ่นน้องของผมหลายคน ไม่ชอบ TQF เพราะไปทำให้งานของเขาเพิ่มมากขึ้น และเขาเชื่อว่าเนื้อหาวิชาของเขาดีอยู่แล้ว. ผมเห็นใจคนที่ไม่ชอบเหล่านี้. แต่อย่างที่ผมได้เล่าให้ฟังไปแล้วว่า ผมเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยมาแล้วหลายแห่ง. ผมได้พบว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งไม่ได้มีแต่เพียงอาจารย์ประจำเท่านั้น หากมีอาจารย์ภายนอก ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ. ท่านเหล่านี้อาจจะสอนเป็นและถ่ายทอดประสบการณ์ของท่านได้. แต่การไม่เข้าใจหลักการและเนื้อหาของวิชาที่ท่านสอนว่าเกี่ยวข้องกับวิชาอื่น ๆ อย่างไร ก็ทำให้เกิดความบกพร่องในการสอนของท่านเหล่านั้นได้. ผมพบว่า การสอนบางวิชาไม่ได้เน้นเรื่องที่ควรจะเน้น และทำให้นักศึกษาไม่ได้รับความรู้ที่สำคัญเหล่านั้น. ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ เมื่อหัวหน้าภาควิชา ติดต่อประสานงานให้อาจารย์ภายนอกมาสอน ก็มักจะบอกแค่ว่าจะให้สอนวิชาอะไร, ไม่ได้คุยกันให้ชัดว่าจะต้องสอนเนื้อหาอะไร และ แต่ละเนื้อหาจะต้องเกี่ยวข้องกับวิชาอื่นใดบ้าง. การจัดทำรายละเอียดของหลักสูตรตามแนวคิดของ TQF จะทำให้เราลดปัญหาเหล่านี้ลงได้.
เวลานี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นไปตามกรอบ TQF แล้ว. ผมมีโอกาสไปประเมินการสอนของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งเริ่มใช้ TQF ในหลักสูตรหนึ่งเป็นแบบนำร่องดูเพื่อศึกษา. ผมพบว่า อาจารย์เองก็ยังไม่ได้สอนตามกรอบนี้. นั่นก็คือ ยังคงสอนไปตามปกติ ทั้ง ๆ ที่ในหลักสูตรใหม่ ได้กำหนดว่าอาจารย์จะต้องประเมินผลการเรียนของนักเรียนในหลาย ๆ ด้านด้วย. กรอบมาตรฐาน ได้กำหนดให้ประเมินในด้าน คุณธรรม จริยธรรม, ความรู้, ทักษะทางปัญญา, ทักษะความสัมพันธระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ และ ทักษะการวิเคราะห์ เชิงตัวเลข การสื่อสาร และ เทคโนโลยีสารสนเทศ. ผมพบว่าอาจารย์สอนแล้วก็ประเมินด้วยการสอบกลางภาคและปลายภาคเท่านั้น ไม่ได้ประเมินด้านอื่น ๆ ด้วย. เรื่องนี้คงจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับอาจารย์ต่อไป.
ผมเห็นว่า ขณะนี้ความรู้เกี่ยวกับการใช้กรอบมาตรฐานนี้ยังคงต่ำอยู่. อาจารย์จำนวนมากยังไม่ทราบและไม่เห็นความสำคัญด้านนี้. นอกจากนั้นยังมีอาจารย์ที่คัดค้านกรอบมาตรฐานนี้ด้วย. ดังนั้นจึงจำเป็นที่ สกอ. จะต้องรีบเร่งอธิบายแนวทางการสอนรายวิชาต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับ TQF ด้วย. การกำหนดกรอบอย่างเดียว แต่ไม่บอกว่ามีกรอบแล้ว จะนำไปใช้อย่างไร ก็เหมือนกับการไม่มีกรอบนั่นแหละครับ

พจนานุกรมแห่งความสำเร็จตอนที่ 5

Statistics สถิติ ความรู้เรื่องสถิติมีความสำคัญต่อคนยุคใหม่มาก ทุกวันนี้เราได้อ่านสถิติต่าง ๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ สถิตินั้นเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเห็นภาพของเหตุการณ์อันนำมาซึ่งสถิตินั้นได้ชัดเจนขึ้นก็จริงอยู่ แต่นักสถิติบางคนใช้สถิติในการโกหกหรือหลอกลวงผู้ที่ไม่รู้เท่าทัน เช่นบริษัทแห่งหนึ่งอาจให้สถิติว่าพนักงานมีรายได้เฉลี่ยคนละ 50,000 บาทต่อเดือน ซึ่งดูดีมาก แต่บริษัทแห่งนี้อาจจะมีพนักงาน 11 คน ในจำนวนนี้พนักงาน 10 คนมีรายได้เพียง 5,000 บาทต่อเดือน และ เจ้าของบริษัทได้เงินเดือน 500,000 บาทต่อเดือน หรือในกรณีของ GDP ของประเทศก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้แปลว่าประชาชนแต่ละคนได้เงินมากเท่าที่ระบุ นักศึกษาที่ต้องทำวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยเชิงจำนวน มีความจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องสถิติและสามารถแปลความหมายของค่าสถิติได้อย่างถูกต้องเพื่อให้สามารถสรุปผลงานวิจัยได้อย่างแม่นยำ สถิติเป็นวิชาหนึ่งซึ่งเราจะใช้ประโยชน์ได้ตลอดชีวิต

Think คิด การคิดเป็นกิจกรรมทางสมองซึ่งเราหยุดได้ยาก เพราะคนเราส่วนมากนั้นคิดตลอดเวลา คิดถึงเรื่องอดีต คิดถึงเรื่องอนาคต คิดถึงคนนั้น คิดถึงความผิดพลาดที่เคยทำ คิดแค้นใจที่ถูกใส่ร้าย คิดน้อยใจที่คนอื่นไม่ให้ความสำคัญ จะเห็นว่าการคิดเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่มีความหลากหลายมากจนกระทั่งมีนักวิชาการหยิบยกเรื่องคิดมาเขียนอธิบายการคิดแบบต่าง ๆ มากมายหลายเล่ม นักเขียนทางตะวันตกที่มีชื่อก็คือ เอ็ดเวิรด เดอ โบโน ซึ่งนำแนวคิดแบบ lateral thinking มาเผยแพร่ในหนังสือต่าง ๆ และ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ก็ได้เขียนเรื่องความคิดเป็นหนังสือภาษาไทยหลายเล่ม การคิดนั้นทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นสังขารอันเป็นต้นเหตุให้เกิดความวุ่นวายต่าง ๆ ตามมา ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะคิดให้เป็น, คิดในทางบวก, คิดเชิงระบบ, และ คิดด้วยความเมตตาอยู่เสมอ

Understand เข้าใจ การเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งนั้นต้องประกอบด้วยการรู้รายละเอียดของเรื่องนั้น, รู้ที่มาที่ไป, รู้เหตุและผล, รู้คุณและโทษ และรู้วิธีที่จะใช้ประโยชน์จากเรื่องนั้น เมื่ออาจารย์ทั้งหลายสอนเนื้อหาสำคัญจบ อาจารย์อาจจะถามว่าที่อธิบายไปนี้เข้าใจหรือไม่ ส่วนมากนักศึกษาก็มักจะนั่งเฉยไม่ได้ตอบสนองซึ่งเป็นสัญญาณว่าเข้าใจเรื่องที่อาจารย์อธิบาย แต่ทว่า นักศึกษาเข้าใจจริงละหรือ นักศึกษารู้ประเด็นต่าง ๆ ที่ยกมาข้างต้นหรือไม่ ถ้ารู้แต่เพียงว่าอาจารย์สอนเรื่องอะไรจบไป นั่นแสดงว่านักศึกษายังไม่เข้าใจเนื้อหานั้นดีพอ
ตัวอย่างสำคัญก็คือพุทธศาสนาซึ่งคนไทยส่วนใหญ่นับถือ เราเรียนมาว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจจ์สี่ เราเรียนมาว่าอริยสัจจ์สี่ประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค การที่เราเรียนเรื่องนี้อาจทำให้เรารู้จักว่าอริยสัจจ์สี่ประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่พวกเราส่วนมากก็ยังไม่เข้าใจอริยสัจจ์สี่อยู่นั่นเอง เพราะการรู้แบบนี้ยังไม่ใช่การเข้าใจ
การเข้าใจจะต้องศึกษาไตร่ตรองเรื่องนั้นให้ลึกซึ้งมากขึ้น เห็นความเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ รู้ว่าเรื่องนั้นเป็นเหตุเป็นผลกันอย่างไร ทำไมจึงเกิดเรื่องนี้ขึ้น และจะนำไปใช้ได้อย่างไร
ถ้าหากเราลองพิจารณาเรื่องที่ง่ายกว่านี้อีกสักหน่อย คือการหาพื้นที่รูปสามเหลี่ยม เรารู้จักสูตรว่า พื้นที่สามเหลี่ยม = ความสูง X ความยาวฐาน / 2 แต่เราเข้าใจเรื่องนี้หรือไม่ว่า พื้นที่คืออะไร, ความสูงคืออะไร, เหตุใดสูตรจึงออกมาเช่นนี้, สูตรนี้ใช้ได้กับรูปสามเหลี่ยมทุกแบบหรือไม่ และเราจะนำสูตรนี้ไปใช้ได้อย่างไร ถ้าหากเราตอบคำถามเหล่านี้ได้ก็แสดงว่าเราเข้าใจเรื่องนี้จริง
นักศึกษาต้องเรียนรู้ทุกเรื่องที่กำหนดไว้ในวิชาที่เรียนในหลักสูตร (รวมทั้งเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นของแต่ละวิชา) ให้เข้าใจ เพื่อที่นักศึกษาจะได้สามารถกล่าวได้ว่า สามารถนำความรู้นั้นไปใช้ได้จริง

Vision วิสัยทัศน์ วิสัยทัศน์คือภาพในอนาคตของสิ่งที่เราต้องการจะเป็น โดยปกติแล้ว เรามักจะกำหนดให้องค์การทุกแห่งต้องกำหนดวิสัยทัศน์ แต่ไม่ใช่เฉพาะองค์การเท่านั้น แม้แต่ตัวเราเองก็ควรกำหนดวิสัยทัศน์ของตัวเราด้วย นักศึกษาต้องถามตนเองว่า ในห้าปี สิบปี หรือ ยี่สิบปีข้างหน้านั้น นักศึกษาอยากเป็นอะไร อยากทำงานอะไร อยากได้ตำแหน่งอะไร เมื่อกำหนดได้แล้ว เราจึงแปลงวิสัยทัศน์ระยะยาวนี้ให้เป็นเป้าหมายสำหรับการเดินทางของชีวิตในระยะต่าง ๆ ได้ แน่นอนว่าเป้าหมายสำคัญที่จะต้องกำหนดก็คือการศึกษาให้สำเร็จตามหลักสูตรภายในระยะเวลาที่กำหนด ต่อจากนั้นก็กำหนดเป้าหมายลำดับถัดไปว่าจะเป็นอะไรหรือได้ตำแหน่งอะไรต่อไป นักศึกษาทุกคนควรกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายให้ชัดเจนเพื่อที่เราจะได้มีจุดหมายของชีวิตที่ชัดเจน และเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นที่จะเดินไปตามเส้นทางที่เราคาดหวังไว้ แม้ว่าในที่สุดแล้ว เราจะเดินไปสู่ปลายทางสุดท้ายที่เดียวกันก็ตามที

Wisdom ปัญญา การศึกษาอย่างจริงจังทำให้เกิดความรู้ แต่ความรู้ยังไม่ใช่เป้าหมายสำคัญของการศึกษา เป้าหมายหลักก็คือปัญญาต่างหาก ปัญญาคือความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งจนกระทั่งบอกได้ว่า เรื่องนั้นจริงหรือไม่จริง, ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง อีกนัยหนึ่งคือเป็นเรื่องที่เป็นสัจธรรมที่เป็นจริงเสมอหรือไม่ ด้วยเหตุนี้เองปัญญาจึงเป็นผลสุดท้ายของการเรียนรู้ การไตร่ตรอง และ การพิจารณาโลกและสิ่งต่าง ๆ โดยไม่นำความคิดเห็นของตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องจนเกิดความลำเอียง การปลูกฝังให้เกิดปัญญาเป็นเรื่องยาก แต่ก็อาจทำได้โดยการศึกษาศาสนาที่นักศึกษาเชื่อถือและปฏิบัติตามคำสอนนั้นอย่างจริงจังตลอดเวลา

X-Ray เอ็กซเรย์ ทุกคนรู้จักเอ็กซเรย์ว่าเป็นรังสีที่ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นภาพอวัยวะภายในของเราเพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติได้ แต่ในอีกทางหนึ่งเราสามารถใช้คำนี้ในความหมายของการสืบค้นลงไปถึงเบื้องหลังหรือเบื้องลึกของสิ่งต่าง ๆ ได้ โลกมนุษย์มีความซับซ้อนมาก และมนุษย์ส่วนมากก็สวมทั้งหัวโขน และ ใส่ทั้งหน้ากาก จนเราไม่สามารถมองเห็นใบหน้าที่แท้จริงที่ถูกปิดบังอยู่ได้ แต่แม้จะเห็นใบหน้าที่แท้จริงแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจรู้ว่าใจของผู้นั้นเป็นอย่างไรอยู่นั่นเอง ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องฝึกฝนสร้างความสามารถของเราให้มองทะลุลงไปถึงความรู้สึกหรือความต้องการที่แท้จริงของแต่ละคนได้ หรือมองทะลุลงไปถึงก้นบึ้งหรือสาเหตุของเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ ยิ่งในสังคมปัจจุบันนี้มีปรากฏการณ์การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น เรายิ่งต้องใช้ตาเอ็กซเรย์มองให้เห็นความเป็นจริงของปรากฏการณ์เหล่านั้นให้ได้ การที่จะมีตาเอ็กซเรย์จริง ๆ นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่การฝึกฝนก็คือการสังเกตเรื่องราวที่อ่านและได้ยิน, การใช้เหตุผล, การสืบค้น, การสอบทาน, การไตร่ตรอง และ พิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างจริงจัง โดยวิธีนี้จะทำให้เราเข้าใจโลกนี้มากขึ้น และไม่หวั่นไหวหรือหลงคารมคำพูดที่ปราศจากความจริงใจได้

Yardstick เครื่องวัด คำนี้ความหมายแท้ ๆ อาจจะหมายถึงไม้วัดเหมือนที่เห็นในร้านขายผ้า แต่โดยอนุโลมแล้วอาจจะหมายถึงเครื่องวัดหรือดัชนีวัดเรื่องต่าง ๆ ได้ด้วย เมื่อเราลองพิจารณาร่างกายของเราเองแล้วจะพบว่าในทางด้านการรักษาสุขภาพนั้น ทางด้านการแพทย์ได้กำหนดัชนีต่าง ๆ เอาไว้มากมาย เช่น การใช้ดัชนีมวลกายสำหรับวัดความอ้วน, ดัชนีไขมันต่าง ๆ สำหรับวัดระดับไขมันในเลือด, ดัชนีน้ำตาลสำหรับวัดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน ฯลฯ นักศึกษาเองก็มีตัววัดที่สำคัญคือ “ระดับคะแนน” แต่ตัววัดนี้ยังไม่พอเพียงที่จะระบุว่านักศึกษาจะประสบความสำเร็จตามหลักสูตรหรือไม่ เราต้องมีตัววัดเพิ่มเติมซึ่งนักศึกษาอาจจะต้องกำหนดขึ้นก่อน และต้องเก็บข้อมูลด้วยตนเองเช่น
จำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการอ่านตำราต่อสัปดาห์
จำนวนข้อของแบบฝึกหัดที่สามารถทำได้ถูกต้องในครั้งแรก
จำนวนเวลาที่ใช้ในการเขียนคำอธิบายเนื้อหาวิชาต่อหน้า
จำนวนเนื้อหาที่เรียนแล้วไม่เข้าใจต่อสัปดาห์
จำนวนกิจกรรมที่ทำสำเร็จตามแผนในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ฯลฯ
ดัชนีเหล่านี้จะบอกให้เราเห็นว่า เรามีความสามารถในการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด และจะสามารถศึกษาได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้หรือไม่
ดัชนีเป็นเครื่องมือของการบริหารจัดการยุคใหม่ซึ่งนักศึกษาควรฝึกฝนใช้งานตั้งแต่ขณะนี้เป็นต้นไป

Zeal กระตือรือร้น คนไทยจำนวนมากไม่ค่อยกระตือรือร้นในเรื่องต่าง ๆ ยกเว้นแต่ในเรื่องสนุกสนาน, เพลิดเพลิน, หรือไร้สาระ เมื่ออาจารย์สั่งการบ้านให้ทำ ก็ไม่รีบทำให้เสร็จสิ้นไปตั้งแต่แรกได้รับคำสั่ง ยังคงโอ้เอ้อยู่จนกระทั่งใกล้จะหมดเวลา จึงลงมือทำ และก็อาจจะพบว่าไม่มีเวลาพอที่จะทำให้ได้ผลงานที่ดี ผลของการขาดความกระตือรือร้น ทำให้เกิดความเฉื่อยแฉะ และไม่ตรงต่อเวลา นิสัยนี้กำลังกลายเป็นนิสัยประจำชาติซึ่งทำให้คนไทยไม่สามารถแข่งขันกับคนชาติอื่นได้ในระยะยาว นักศึกษาจึงจำเป็นต้องปลุกตัวเองให้มีความกระตือรือร้นที่จะเรียน และทำวิจัยตามที่ได้รับมอบหมาย การเข้าห้องเรียนช้าเพราะอ้างว่าการจราจรคับคั่ง หรือ รถติด นั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ความจริงแล้วเราควรกระตือรือร้นที่จะตื่นเร็วกว่าเดิม หรือออกจากบ้านให้เร็วกว่าเดิมต่างหาก ความกระตือรือร้นจึงเป็นนิสัยที่เราต้องช่วยกันปลูกฝังขึ้นในตัวของพวกเราทุกคนโดยด่วน

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พจนานุกรมแห่งความสำเร็จตอนที่ 4

พจนานุกรมแห่งความสำเร็จตอนที่ 4
Organize การจัดหมวดหมู่, การจัดงาน ปัจจุบันนี้เราต้องทำอะไรรวดเร็วขึ้นกว่ายุคก่อน เราต้องการค้นหาเอกสารที่เก็บไว้ได้อย่างรวดเร็ว, เราต้องการค้นหาแฟ้มที่เราเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ของเราแต่เราลืมชื่อไปแล้วเพียงแต่รู้ว่าเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรเท่านั้น, เราต้องการค้นหาภาพได้รวดเร็ว ฯลฯ การที่จะค้นหาสิ่งต่าง ๆ ที่เราต้องการได้รวดเร็วนั้น จำเป็นที่เราจะต้องสร้างระบบการจัดหมวดหมู่สิ่งเหล่านั้นอย่างเหมาะสม เราต้องรู้วิธีทีจะสร้างโฟลเดอร์และชื่อแฟ้มที่เข้าใจได้ง่าย, เราต้องรู้วิธีที่จะสร้างฐานข้อมูลสำหรับจัดเก็บรายละเอียดค่าใช้จ่าย หรือ แฟ้มสรุปวรรณกรรมที่เราได้บันทึกไว้สำหรับการทำวิจัย การจัดงานต่าง ๆ ให้เป็นหมวดหมู่นั้นไม่ใช่ของยาก วิธีง่าย ๆ ที่จะเรียนรู้ก็คือเดินเข้าไปในห้องสมุดและศึกษาการจัดหมวดหมู่ของหนังสือ หรือ การจัดวางวารสาร แล้วนำวิธีจัดหมวดหมู่เหล่านั้นมาใช้กับงานของเรา นอกจากการจัดหมวดหมู่งานเอกสารแล้ว สิ่งที่เราต้องทำเป็นอีกอย่างก็คือการจัดงานต่าง ๆ ของเราให้มีลำดับที่เหมาะสม เราต้องรู้ว่าในการทำงานต่าง ๆ นั้น เราควรทำอะไรก่อนอะไรหลัง

Planning การวางแผน ไม่ว่าเราจะทำงานใด ๆ เราต้องวางแผนการทำงานนั้นก่อนการลงมือทำงาน การวางแผนที่ดีจะช่วยให้เรามีรายละเอียดงานที่จะต้องทำได้อย่างครบถ้วน รู้ว่าจะต้องทำอะไรเมื่อใด และรู้ว่างานเหล่านั้นเมื่อทำเสร็จแล้วจะได้อะไร คนทั่วไปคิดว่าเราควรวางแผนเฉพาะในงานที่สำคัญ เช่น การสร้างบ้าน หรือ การผลิตสินค้า แต่อันที่จริงแล้วเราต้องวางแผนงานในทุกเรื่อง แม้แต่การเดินทางไปเรียนในแต่ละวันก็ต้องวางแผน หรือแม้แต่ชีวิตของเราเองก็ต้องวางแผนด้วยเช่นกัน
การวางแผนประกอบด้วยการกำหนดเป้าหมายของงานว่าเราต้องการให้เกิดผลลัพธ์อะไรบ้าง และการสร้างผลลัพธ์นั้นจะต้องทำกิจกรรมอะไรบ้างและต้องใช้เวลาเท่าใด จากนั้นก็นำกิจกรรมเหล่านั้นมาจัดเรียงกันไว้ตามลำดับขั้นตอนที่เหมาะสมตั้งแต่กิจกรรมแรก จนถึงกิจกรรมสุดท้ายซึ่งจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ในการทำเช่นนี้หมายความว่าเราจะต้องรู้ว่าการทำงานต่าง ๆ ต้องมีกิจกรรมอะไรบ้าง เช่น การทำวิทยานิพนธ์มีกิจกรรมอะไรบ้าง เรื่องเหล่านี้นักศึกษาจะต้องศึกษาค้นคว้าจากแหล่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

Prestige เกียรติภูมิ ความจริงแล้วเกียรติภูมิหรือเกียรติศักดิ์เป็นผลของความสำเร็จในการศึกษาหรือในหน้าที่การงาน แต่เกียรติภูมินั้นจะต้องเกิดด้วยความสามารถของตนเอง และเราสามารถทบทวนการทำงานของเราได้ด้วยความภาคภูมิใจ นักศึกษาบางคนอาจสนใจเฉพาะให้มีงานส่งอาจารย์โดยไม่เลือกว่าจะลอกเลียนของใครมา หรือไปจ้างใครทำมาส่ง แต่การทำเช่นนั้นไม่ได้มีเกียรติภูมิแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเกียรติภูมิเป็นหลักคิดสำคัญที่จะหล่อหลอมให้เกิดความสำเร็จก็ได้ หลักคิดที่สำคัญก็คือ ไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ไหนเราจะต้องสร้างชื่อเสียงและความมั่นคงให้แก่ที่นั้น หลักคิดนี้เป็นสิ่งที่นักวิชาชีพ (professional) ยึดถือ เช่น นักบริหารมืออาชีพ เมื่อได้รับการว่าจ้างไปอยู่ที่ไหน เขาจะต้องทุ่มเทการทำงานเพื่อให้บริษัทที่ว่าจ้างเขานั้นรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จ หรือนักฟุตบอลอาชีพที่ย้ายจากทีมหนึ่งไปอีกทีมหนึ่ง ก็จะต้องทุ่มเทให้ทีมที่ตนสังกัดประสบชัยชนะ แม้ว่าจะต้องแข่งขันกับทีมเก่าที่มีเพื่อนเก่าอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม ด้วยเหตุนี้นักศึกษาจะต้องสร้างเกียรติภูมิหรือมีหลักคิดที่ดีก่อนจึงจะนำตัวเองไปสู่ความสำเร็จได้

Questioning การตั้งคำถาม การรู้จักตั้งคำถามที่เหมาะสมเป็นเทคนิคสำคัญของการเรียนรู้ และการบริหารจัดการ คำถามภาษาอังกฤษใช้คำนำหน้าที่จำง่ายนั่นก็คือ What, When, Where, Why, Why not, How, How to แต่เราต้องรู้จักใช้คำนำหน้าคำถามเหล่านี้อย่างเหมาะสมจึงจะเกิดประโยชน์จริง การตั้งคำถามมีประโยชน์หลายอย่างคือ ทำให้เราได้ทราบรายละเอียดและประวัติของเรื่องที่เราสนใจมากขึ้น, ทำให้เราทราบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์, ทำให้เราทราบเหตุผลของเรื่องเหล่านั้นมากขึ้น, ทำให้เราสรุปข้อเท็จจริงได้อย่างถูกต้องขึ้น ฯลฯ ในประวัติศาสตร์มนุษยชาตินั้นบุคคลที่มีความสามารถในการตั้งคำถามให้เราเรียนรู้ได้มากมีหลายคน เช่น พระพุทธเจ้า, โสเครตีส, และ ขงจื๊อ ส่วนในปัจจุบันนั้นผู้ที่โดดเด่นก็คือ กฤษณามูรติ เราควรศึกษาแนวทางการตั้งคำถามของท่านเหล่านี้ แล้วนำคำถามในลักษณะเดียวกันไปใช้บ้าง

Read อ่าน ในอดีตวิธีการเรียนรู้ที่สำคัญก็คือการฟัง แต่ในยุคนี้วิธีการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดก็คืออ่าน ทุกวันเราได้อ่านเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ทั้งการอ่านหนังสือพิมพ์, อ่านข้อความ SMS, อ่านอีเมล, อ่านเรื่องราวต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ต ฯลฯ โดยรวมแล้วเราต้องใช้เวลามากมายในการอ่าน แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งเราอ่านมากเท่าใด เรากลับเรียนรู้ได้น้อยลงเท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะความสามารถในการเขียนของคนร่วมสมัยของเรากลับลดลง ทุกวันนี้เมื่ออ่านเรื่องต่าง ๆ ที่ได้รับทาง SMS, อีเมล, หรือแม้แต่ข่าวหนังสือพิมพ์ เราต้องใช้เวลาตีความหรือหาความหมายที่แท้จริงนานมากขึ้น
ในเมื่อทุกวันนี้มีสื่อให้เราอ่านมากขึ้น เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการอ่านแฟ้ม, เอกสารหรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันด้วย การอ่านตำรานั้นไม่จำเป็นต้องอ่านทุกตัวอักษรและทุกหน้า แต่ต้องเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจแนวทางการเขียนตำราของผู้เขียนซึ่งจะปรากฎอยู่ในคำนำของตำรา, ต้องทำความเข้าใจโครงสร้างของเนื้อหาซึ่งปรากฎในสารบาญ, จากนั้นจึงเลือกอ่านบทที่เราต้องการเรียนรู้ ซึ่งแม้แต่การอ่านเนื้อหาในบท เราก็ต้องรู้ว่าโครงสร้างของแต่ละบทมีลักษณะอย่างไร และโครงสร้างของเนื้อหาที่อยู่ในแต่ละพารากราฟเป็นอย่างไรด้วย สำหรับการอ่านบทความวิชาการนั้น เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจชื่อบทความซึ่งสะท้อนเนื้อหาอย่างกว้าง ๆ ก่อน จากนั้นจึงพิจารณาว่าผู้เชียนคือใคร สังกัดอะไร มีตำแหน่งหน้าที่อะไร แล้วจึงอ่านบทคัดย่อเพื่อทำความเข้าใจภาพรวมของงานวิชาการนั้น หากสนใจก็ขอให้ข้ามไปพิจารณาว่าผู้เขียนบทความนั้นอ้างอิงเนื้อหาหลักจากเอกสารหรือบทความวิชาการใดบ้างและทันสมัยหรือไม่ จากนั้นจึงค่อยอ่านรายละเอียดของตัวบทความ
การอ่านนั้นเราต้องจดบันทึกไปด้วย ไม่ใช่อ่านเฉย ๆ เราควรมีปากกาเน้นข้อความ หรือ marker สำหรับชีดเส้นใต้หรือขีดทับประโยคสำคัญที่เราต้องการย้อนกลับมาทบทวน หากเราต้องการที่จะค้นคว้าเรื่องใดต่อ ให้เขียนรายละเอียดหรือคำถามลงไปที่ขอบกระดาษเพื่อให้เราย้อนกลับมานำคำถามเหล่านั้นไปหาคำตอบได้

Research การวิจัย การศึกษาระดับปริญญาตรีเน้นที่การเรียนในชั้นอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันนี้เริ่มกำหนดให้นักศึกษาไปปฏิบัติงานในบริษัทเอกชนตลอดภาคการศึกษาและเรียกการเรียนแบบนี้ว่า สหกิจศึกษา การศึกษาปริญญาโทนั้นนอกจากเรียนในชั้นแล้วยังเน้นการเรียนรู้และทำงานวิจัยด้วย ถ้าหากเป็นงานวิจัยขนาดใหญ่และเป็นเรื่องที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนก็เรียกว่าเป็นวิทยานิพนธ์ ส่วนการศึกษาปริญญาเอกนั้นไม่เน้นการเรียนในชั้น แต่ให้ทำวิทยานิพนธ์ซึ่งเป็นงานวิจัยขนาดใหญ่และยากเพิ่มมากขึ้นกว่าระดับปริญญาโท ด้วยเหตุนี้นักศึกษาจึงต้องสนใจเรื่องงานวิจัยและต้องทำวิจัยให้ถูกขั้นตอนและระเบียบวิธีด้วย
นักศึกษาควรเข้าใจว่าการทำวิจัยนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาความรู้ที่เรายังไม่เคยรู้มาก่อน ไม่ใช่งานทดลองในห้องปฏิบัติการของเด็กมัธยมหรือนักศึกษาปริญญาตรี การทดลองน้ำมาแยกด้วยกระแสไฟฟ้าให้เป็นออกซิเจนและไฮโดรเจนในห้องปฏิบัติการนั้นไม่ใช่งานวิจัยเพราะเป็นเรื่องที่รู้จักกันดีแล้ว งานวิจัยต้องหาความรู้ใหม่ที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน หรือยืนยันในสิ่งที่อาจจะรู้แต่ไม่เคยมีใครวิจัย ยกตัวอย่างข้อเท็จจริงในสังคมไทย คือ ทุกปีประเทศไทยส่งนักเรียนไทยไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก นักเรียนที่เป็นตัวแทนของไทยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชาย ๆ นาน ๆ จึงจะมีนักเรียนหญิงได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนสักครั้ง ข้อเท็จจริงนี้แสดงว่านักเรียนชายมีทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์มากกว่านักเรียนหญิงจริงหรือไม่ นี่เป็นคำถามวิจัยที่ยังไม่มีใครตอบด้วยการวิจัย เพียงแต่ยืนยันกันจากการสังเกตว่านักเรียนชายชอบเครื่องยนต์กลไกมากกว่านักเรียนหญิง แต่ในชีวิตการทำงานแล้วปรากฏว่ามีนักเขียนโปรแกรมหญิงมากพอ ๆ กับชาย หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ
การวิจัยที่ดีจะต้องต่อยอดงานวิจัยอื่น ๆ ที่รู้จักกันจนถึงปัจจุบัน นั่นคือนักวิจัยจะต้องค้นคว้าหาวรรณกรรม (หมายถึงบทความวิชาการหรือบทความวิจัย) ที่เกี่ยวข้องมาอ่านจนตระหนักดีว่าในปัจจุบันวงการวิชาการด้านนี้รู้อะไรถึงไหนแล้ว และมีอะไรที่ยังไม่รู้ เพื่อที่นักวิจัยจะได้ศึกษาค้นคว้าต่อจากนั้นออกไป
การทำวิจัยมีหลายรูปแบบ และอาจแบ่งได้หลายลักษณะ ถ้าแบ่งอย่างกว้างที่สุดก็คืองานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์ ถ้าแบ่งตามลักษณะการทำวิจัยก็อาจแบ่งเป็นการวิจัยเชิงการทดลอง, การวิจัยเชิงพรรณนา, การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ ถ้าแบ่งตามสาขาวิชาการก็ยังอาจแบ่งได้เป็นการวิจัยทางสังคมศาสตร์, การวิจัยทางวิทยาศาสตร์, การวิจัยทางเกษตรศาสตร์, การวิจัยทางแพทยศาสตร์, ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยแบบใด ต่างก็มีระเบียบวิธีวิจัย (Research methodology) ที่เราจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อให้แน่ใจว่างานวิจัยนั้นไม่เกิดข้อบกพร่องจนถึงกับทำให้ผลงานได้รับการปฏิเสธจากนักวิจัยอื่น ๆ
การทำวิจัยอย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือเป็นเรื่อใหญ่ และนักศึกษาจะต้องลงทะเบียนเรียนวิชาเกี่ยวกับการทำวิจัยให้เข้าใจ

การแข่งขัน IOI ระดับประเทศที่เชียงใหม่

สวัสดีครับ
สามวันที่ผ่านมา ผมไปอยู่เชียงใหม่เพื่อร่วมการแข่งขันการเขียนโปรแกรมของนักเรียนระดับมัธยม ซึ่งทางมูลนิธิ สอวน. มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์ของ มช. เป็นผู้จัด. การแข่งขันครั้งนี้จัดที่โรงแรม Kantary Hill ซึ่งเพิ่งเปิดมาได้ปีเศษ. ผมและบรรดาอาจารย์จากศูนย์ฝึกอบรมต่าง ๆ ทั่วประเทศก็เลยได้มาพักที่โรงแรมที่สวยงาม แห่งนี้.

มูลนิธิ สอวน. นั้นจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการฝึกอบรมนักเรียนไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ. เมื่อแรกตั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวง ทรงเป็นองค์ประธาน. ปัจจุบันนี้มีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงรับเป็นองค์ประธาน. ในทางด้านคอมพิวเตอร์นั้น มูลนิธินี้ได้มอบหมายให้มีศูนย์ฝึกอบรมนักเรียน 13 แห่ง เพื่อส่งเข้ามาแข่งขันและคัดเลือกนักเรียนมาเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อคัดเป็นตัวแทนไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกเป็นประจำทุกปี.

การแข่งขันครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 และ มีนักเรียนมาเข้าร่วมแข่งขันเกือบหนึ่งร้อยคน. การแข่งขันมีสองวัน ๆ ละ 3 ชั่วโมง ในช่วงเช้าระหว่าง 9 - 12 น. ในการแข่งครั้งนี้ ทาง สสวท. ซึ่งทำหน้าที่ส่งนักเรียนไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ และ มีผมเป็นประธานอนุกรรมการคัดเลือกนักเรียนทางด้านคอมพิวเตอร์นั้น ได้ขอความร่วมมือจากทางมูลนิธิ และ มช. เพื่อขอนำโปรแกรมการลงทะเบียนเข้าแข่งขัน และ โปรแกรมการตรวจโปรแกรมที่นักเรียนเขียน ไปทดสอบที่นี่. วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบก็เพื่อเป็นการเตรียมตัวสำหรับการเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศในปลายเดือนกรกฎาคม ปีหน้า.

ผลการทดลองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและราบรื่น ทีมงานวิชาการที่ทาง สสวท. ส่งไปทดลองและฝึกเตรียมการนั้นมาจากทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สำหรับการแข่งขันนั้น ผมยังไม่ทราบผล เพราะเดินทางกลับ กทม. ก่อน.

วันนี้ช่วงเช้า ทางเราขอประชุมกับอาจารย์หัวหน้าทีมและผู้แทนศูนย์ฯ ต่าง ๆ เพื่อร่วมกันคิดว่าจะทำให้การแข่งขันระดับประเทศนั้นมีความแข็งแกร่ง และ มีรูปแบบเป็นมาตรฐานได้อย่างไร. ผมเล่าให้ผู้แทนฟังถึงการจัดงานของ คณะกรรมการนานาชาติ (International Committee) ที่บริหารการจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ว่าประกอบด้วยกรรมการที่มาจากการเลือกของหัวหน้าทีมที่เข้าแข่งขันทุกทีม, และ กรรมการที่เป็นผู้แทนของประเทศเจ้าภาพ. กรรมการประเภทที่สองนี้มี 7 คน คือ อดีตเจ้าภาพสามคน, เจ้าภาพปีปัจจุบันหนึ่งคน, และ เจ้าภาพปีต่อไปอีก 3 คน. การมีกรรมการที่มาจากเจ้าภาพเก่าและใหม่นี้ทำให้การดำเนินการแข่งขันเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะเจ้าภาพใหม่ที่จะจัดต่อไป ก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากเจ้าภาพเก่า และ มีโอกาสซักถามประเด็นปัญหาต่าง ๆ จากเจ้าภาพเก่าเพื่อนำไปปรับปรุงการจัดให้ดีขึ้น.
อ. ยืน ภู่วรวรรณ ก็ได้เชิญชวนให้คิดว่า เราน่าจะจัดให้มีกรรมการในทำนองนี้ เพื่อจะได้เกิดการเรียนรู้และปรับปรุงการจัดให้ดีขึ้น.
ผลของการปรึกษาหารือ ก็ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมประชุมเห็นด้วย และ ได้กำหนดให้มีกรรมการจากเจ้าภาพเก่า 2 ปี, เจ้าภาพปัจจุบัน, และ เจ้าภาพปีถัดไปอีก 2 ปี. จากนั้นก็ได้มีผู้เสนอผู้ที่ควรเป็นกรรมการอีกสี่คน โดยขอให้ ดร. พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่า จาก ม. เกษตรศาสตร์ เป็นประธาน. กรรมการที่ได้รับเลือกอีก 3 คนนั้น ผมยังไม่บอกชื่อ เพราะทั้ง 3 คนมัวยุ่งอยู่กับการตรวจข้อสอบและคะแนนอยู่ จึงยังไม่ทราบว่าได้รับเลือก. ขณะที่ผมกลับ กทม. ผมก็ยังไม่ทราบว่าอาจารย์ทั้ง 3 คนนั้นตอบรับแล้วหรือยัง.
มหาวิทยาลัยที่จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันปีต่อไปคือ ม. นเรศวร ครับ.
ความจริงแล้ว ผมบอกกับผู้เข้าร่วมประชุมว่า ปีหน้าที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันระหว่างประเทศนั้น ไทยต้องใช้เงินจำนวนมาก. อยากให้ทุกคนช่วยกันคิดว่า เราจะส่งเสริมให้เด็กไทยสนใจด้านงานเขียนโปรแกรมได้อย่างไร. เวลานี้ นักเรียนไม่ค่อยอยากเรียน Computer Science และ ไม่อยากเขียนโปรแกรม. ถ้าเป็นอย่างนี้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยก็จะไม่เกิด และไทยจะต้องเป็นทาสโปรแกรมฝรั่งไปตลอดกาล. เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ผมคิดว่าบางทีอาจารย์อาจจะยังไม่ตระหนักมากนัก. นอกจากนั้นยังมีเรื่องที่ต้องผลักดันอีกมาก เช่น ทำให้วิชาการเขียนโปรแกมเป็นวิชาที่นักเรียนทุกคนควรจะเรียนในระดับมัธยม. หลายคนอาจจะสงสัยว่าเรียนไปทำอะไร เพราะอาจจะไม่ได้ใช้. ถ้าเราย้อนกลับไปคิดเรื่องที่เราเรียน ก็จะพบว่า หลายวิชาเราก็ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ตรีโกณมิติ หรือแม้แต่เรขาคณิต เราก็ใช้แบบง่าย ๆ เช่น รูปสามเหลี่ยมมุมฉาก หรือความเป็นมุมฉากเท่านั้น. แต่เราก็ต้องเรียนไปเสียตั้งมาก. ความรู้ด้านเขียนโปรแกรมนั้น สามารถช่วยงานในชีวิตประจำวันเราได้อีกมาก. ยกตัวอย่างเช่น นำมาใช้กับ Excel หรือ ใช้ในการค้นคืนฐานข้อมูล ฯลฯ.
วันนี้ผมเอาเรื่องนี้มาเกริ่นให้ฟังกันไว้ก่อน ต่อไปผมจะนำเรื่องการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกมาเล่าให้ฟังเพื่อประดับความรู้ และจะได้ช่วยผมคิดว่าเราจะส่งเสริมการเขียนโปรแกรมต่อไปอย่างไรดี.

ครรชิต