วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

สวัสดีครับ
ผมขอนำเสนอพจนานุกรมเพื่อความสำเร็จให้ผู้สนใจได้นำไปศึกษาครับ. พจนานุกรมนี้ไม่ยาวนัก เพราะผมเลือกมาแต่ที่สำคัญ แต่กระนั้นก็ลงในคราวเดียวไม่หมด. ผมจะค่อย ๆ นำมาลงไปเรื่อย ๆ จนหมดครับ
ครรชิต


สารานุกรมแห่งความสำเร็จ
โดย ดร. ครรชิต มาลัยวงศ์ ราชบัณฑิต
นายกสภามหาวิทยาลัยศรีปทุม

ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมได้จัดปฐมนิเทศแก่นักศึกษาปริญญาโทและเอกประจำปีในวันนี้ ผมขอนำเรื่องราวที่น่าสนใจและเป็นแนวทางสำหรับช่วยให้นักศึกษาประสบความสำเร็จในการศึกษาสมความปรารถนามานำเสนอ เรื่องราวเหล่านี้ผมได้เรียบเรียงไว้ตามลำดับตัวอักษรภาษาอังกฤษเพื่อให้ง่ายแก่การจำและทำความเข้าใจ คำที่นำเสนอนี้บ้างก็เป็นคำนาม, บ้างก็เป็นคำกริยา, บ้างก็เป็นคำคุณศัพท์ และส่วนมากเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการองค์การที่มีสมรรถนะสูง นักศึกษาจึงควรนำคำเหล่านี้ไปคิดค้นต่อและนำไปประยุกต์ตามเหตุการณ์และความเหมาะสมต่อไป อย่างไรก็ตามพึงจำไว้ด้วยว่า คำแห่งความสำเร็จอื่น ๆ ยังมีอีกมาก ในที่นี้ได้รวบรวมมาเพียงบางคำเพราะความจำกัดของเวลาในการคิดและเขียนเท่านั้น

Advisor อาจารย์ที่ปรึกษา โดยทั่วไปมหาวิทยาลัยจะแต่งตั้งให้นักศึกษาแต่ละคนมีอาจารย์ที่ปรึกษาประจำ หน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษามีสองระยะ ระยะแรกคือก่อนที่นักศึกษาจะเลือกหัวข้อโครงงานค้นคว้าอิสระ หรือ วิทยานิพนธ์ อาจารย์ที่ปรึกษาจะให้คำแนะนำในการเลือกวิชาเรียน โดยพิจารณาจากพื้นฐานการศึกษาเดิมและคะแนนที่ได้รับในวิชาต่าง ๆ นักศึกษาสมควรไปพบอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นประจำเพื่อบอกเล่าให้อาจารย์ที่ปรึกษาทราบถึงความก้าวหน้าในการศึกษาและปัญหาที่ได้รับเพื่อที่อาจารย์ที่ปรึกษาจะได้ให้คำแนะนำที่เหมาะสมได้ สำหรับในระยะที่สองนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาคนเดิมอาจจะรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หรือโครงงานค้นคว้าอิสระก็ได้ หรืออาจจะเปลี่ยนเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาใหม่ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด นักศึกษาจะต้องพบอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำเสนอข้อเสนอวิทยานิพนธ์หรือหัวข้อโครงงานค้นคว้าอิสระ และเมื่อได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการแล้วก็จะต้องเสนอแผนงาน, วิธีการทำวิจัย, และความก้าวหน้าของการทำวิจัยอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นยังต้องรับฟังความเห็นของอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อนำไปปรับแก้การดำเนินการของตนด้วย

Audit การตรวจสอบ การพิจารณาตรวจสอบตนเองเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในการทำงานใด ๆ ไม่ว่านักศึกษาจะเรียนวิชาใด หรือ ทำวิจัยเรื่องใด นักศึกษาควรวางแผนการเรียนและการวิจัยเอาไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องทำอะไรในช่วงเวลาใดบ้าง เช่นจะต้องเข้าเรียนในชั้นเรียน, จะต้องค้นคว้าเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต, จะต้องทำการบ้านหรือรายงาน, จะต้องเตรียมตัวเข้าสอบ ฯลฯ นักศึกษาจะต้องหมั่นตรวจสอบตนเองเป็นประจำว่าสามารถปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่ ถ้าหากทำไม่ได้ตามแผน นักศึกษาก็ต้องพิจารณาหาสาเหตุต่อไปว่าเป็นเพราะเหตุใด และพยายามแก้ไขปัญหานั้นให้หมด การตรวจสอบนั้นต้องตรวจลึกลงไปด้วยว่านักศึกษาทำงานที่กำหนดไว้ได้ผลจริงหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อนักศึกษาเรียนวิชาหนึ่ง ๆ และได้เข้าสอบกลางภาคจนรู้ผลคะแนนแล้ว นักศึกษาจะต้องตรวจสอบว่าอาจารย์ตั้งคำถามอย่างไรและนักศึกษาตอบคำถามนั้นถูกหรือไม่ ถ้าพบว่าได้คะแนนไม่ดีนักศึกษาต้องพิจารณาว่าเป็นเพราะเหตุใด เพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น

Book หนังสือ หนังสือในที่นี้ต้องการให้หมายถึงตำราเรียน นักศึกษาพึงเข้าใจว่าเนื้อหาที่อาจารย์สอนในชั้นเรียนนั้นความจริงแล้วมีเนื้อหาเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของตำราเท่านั้น การฟังและเข้าใจเนื้อหาที่อาจารย์สอนและสอบตามเนื้อหานั้นได้จึงเท่ากับรู้เนื้อหาเพียงส่วนน้อยของวิชานั้นนั่นเอง นักศึกษาที่ต้องการมีความรู้อย่างจริงจังจึงต้องซื้อตำราเรียนทุกวิชามาอ่าน และหากจำเป็นก็อาจจะต้องซื้อหนังสือมาอ่านประกอบ หรืออ่านหนังสือที่มหาวิทยาลัยได้จัดหาไว้ให้ในห้องสมุด ในปัจจุบันนี้ความรู้ของโลกเพิ่มพูนมากขึ้นหนึ่งเท่าตัวทุกสิบปี ดังนั้นตำราที่พิมพ์มาหลายปีแล้วจึงไม่ทันสมัย นักศึกษาจึงต้องรู้จักค้นคืนเนื้อหาใหม่ ๆ จากอินเทอร์เน็ตมาอ่านด้วย

Budget งบประมาณ นักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกหลายคน ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เพราะต้องนำเงินรายได้มาเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา ดังนั้นนักศึกษาจะต้องรู้จักวางแผนและกำหนดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเรียนแต่ละภาคการศึกษาตั้งแต่แรกจนจบอย่างแม่นยำ และต้องติดตามตรวจสอบว่าตนมีงบประมาณพอเพียงที่จะใช้หรือไม่ นอกจากนั้นเงินรายได้ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงด้วย หากนักศึกษาเห็นว่าจะต้องลาออกจากงานเพื่อทำวิทยานิพนธ์อย่างจริงจัง นักศึกษาก็จะต้องคิดล่วงหน้าว่าจะมีงบประมาณสำหรับใช้จ่ายในช่วงที่ไม่มีรายได้หรือไม่

Commitment พันธะ การทำงานใด ๆ ร่วมกับผู้อื่นนั้นเท่ากับเรามีพันธะที่จะต้องทำงานให้เสร็จตามที่เราได้ตกลงไว้กับผู้นั้น เมื่ออาจารย์สั่งให้ทำรายงานมาเสนอในสัปดาห์หน้า นักศึกษาก็มีพันธะที่จะต้องทำให้เสร็จตามที่อาจารย์สั่ง อาจารย์ที่ปรึกษาสั่งให้ไปสำรวจวรรณกรรมมาให้ดูในหนึ่งเดือน เมื่อครบกำหนดก็ต้องนำมาส่ง อีกนัยหนึ่งเมื่อนักศึกษาได้ตกลงว่าจะทำงานใด ๆ กับอาจารย์ผู้สอนหรืออาจารย์ที่ปรึกษาแล้ว นักศึกษาก็มีพันธะที่จะต้องทำให้เสร็จ นิสัยนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การเรียนประสบความสำเร็จ และจะเป็นนิสัยที่ดีสำหรับการทำงานให้ประสบความสำเร็จในการงานอาชีพด้วย

Computer คอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเรียนรู้ในยุคนี้ นักศึกษาทุกคนควรซื้อคอมพิวเตอร์ชนิดโน้ตบุ๊ก (หรือบางทีเรียกว่า Laptop) เและอุปกรณ์มาใช้ อุปกรณ์ที่จำเป็นก็คือเครื่องพิมพ์ และ อุปกรณ์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาใช้คอมพิวเตอร์ค้นคืนข้อมูลหรือสื่อสารในอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน นอกจากนั้นก็ควรมีซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่จำเป็นสำหรับใช้ในการเรียนและการทำวิจัยให้พร้อมด้วย (อย่าลืมนำค่าใช้จ่ายเรื่องนี้ไประบุในงบประมาณด้วย)

วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

ความสำเร็จไม่มีสูตรสำเร็จ

ความสำเร็จไม่มีสูตรสำเร็จเป็นหนังสือที่คุณหลี จื้อ อิง แต่ง และ แปลโดย อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี พิมพ์โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 นี้เอง
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ธรรมดาเลย เพราะเป็นผู้ก่อตั้งกิจการแฟชัน "จิออดาโน" ซึ่งมีชื่อชั้นนำระดับโลก. หลังจากสร้างจิออดาโนแล้ว หลี จื้อ อิง หรือ จิมมี ไหล ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นเจ้าของกิจการสื่อ และ เริ่มเขียนบทความแนะนำการทำธุรกิจ. หนังสือเล่มนี้รวบรวมประสบการณ์และข้อคิดที่เขาได้สะสมไว้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กข้างถนนจนกระทั่งเป็นเจ้าของกิจการที่ร่ำรวย.
เป็นเรื่องยากมากที่จะนำเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้มาสรุปในบล็อกนี้. ชีวิตของ หลี จื้อ อิง เต็มไปด้วยประสบการณ์ล้ำค่าที่ยากจะมีใครเหมือน. ดังนั้นทุกบทจึงเป็นบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จ. ความสำเร็จหลายอย่างของเขานั้นผมอาจจะสรุปเป็นสูตร (ทั้ง ๆ ที่เขาปฏิเสธว่าไม่มีสูตร) ได้ว่าเป็น Calculated Success. นั่นก็คือเป็นความสำเร็จที่เขาคำนวณและวางแผนไว้ล่วงหน้า. เมื่อเขายังหนุ่มและตั้งใจจะซื้อโรงงานตัดเสื้อไหมพรม แต่มีเจ้าของกิจการย้อมด้ายไหมพรมอีกคนหนึ่งซึ่งสนใจจะซื้อเหมือนกัน แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะซื้อดีไหม และเปรยว่าต้องไปถามนักพรตซึ่งทำนายโชคชะตาแม่นก่อน. คุณหลี จื้อ อิง รีบแอบไปพบนักพรต และขอความร่วมมือให้แนะนำเจ้าของกิจการที่จะแข่งกับเขา ว่าไม่ควรซื้อโรงงานหลังนั้น. เมื่อคู่แข่งของเขาทำตามคำแนะนำ และเขาซื้อโรงงานมาได้ เขาก็ไม่สบายใจไปตลอด.
คุณหลี จื้อ อิง ยังใช้สูตร Calculated Success ของเขาต่อไปอีกหลายครั้ง. ไม่ใช่ด้วยการเล่นไม่ซื่อแบบนี้ แต่ด้วยการหาข้อมูลต่าง ๆ แล้วเตรียมตัวเพื่อให้ตนเองได้เปรียบที่สุดในการแข่งขัน.
เรื่องเหล่านี้มีอะไรบ้าง คงจะต้องอ่านเอาเอง.
ในที่นี้ ผมจะยกแต่เพียงทัศนะของเขามาให้ศึกษาสักหน่อย...
"ยามที่ผมเป็นลูกจ้าง ผมมีเถ้าแก่และมีชื่อเสียงของบริษัทหนุนหลังอยู่ จึงไม่ค่อยรู้สึกว่าคนอื่นเขาระแวงตัวผมสักเท่าไร จนกระทั่งผมออกมาบุกเบิกธุรกิจเอง ฐานะผมเปลี่ยนไป คนอื่นก็มองผมด้วยสายตาที่เปลี่ยนไปจากเดิมไปด้วย ความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจเมื่อครั้งเก่าก่อนหายไปแล้ว หลงเหลือแต่ความระมัดระวังและระแวง หากผมไม่รู้สึกตัวกับสายตาคนที่เปลี่ยนไป ไม่รู้จักปรับตัว ปรับวิสัยทัศน์และการวางตัว เอาแต่ตำหนิสังคมว่าแล้งน้ำใจแล้วละก็ สุดท้ายคือตายสถานเดียว
"ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเห็นผู้อื่นแสดงปฏิกิริยาที่แล้งน้ำใจก็โกรธเกลียด คิดแค้น ด้วยจิตใจที่ผูกพยาบาท โน้มนำให้เกิดการกระทำที่ผิดธรรมเนียม ยอมเสี่ยงกับเรื่องอันตราย นั่นก็ตายสถานเเดยวเช่นกัน"
หนังสือของคุณหลี จื้อ อิง ได้กล่าวถึงเรื่องต่าง ๆ ทางวิทยาศาสตร์หลายเรื่อง...นั่นก็เป็นเพราะ...
"การอ่านหนังสือก็เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ไม่ใช่เพื่อค้นหาสูตรสำเร็จของความร่ำรวย ความสำเร็จที่ดูเหมือนเกิดขึ้นในทันทีนั้นความจริงแล้วคือผลลัพธ์ที่ได้มาจากความรู้ที่ซึมซับมาจากหนังสือเล่มนั้นนิด หนังสือเล่มนี้หน่อย หลักการตรงนั้นนิด วิชาตรงนี้หน่อย ผ่านการสั่งสม กลั่นกรอง จนตกผลึก"
แม้คุณหลี จื้อ อิง จะประสบความสำเร็จ แต่เขาก็เตือนว่า...
"ความสำเร็จทำให้จิตวิญญาณของเราลอยขึ้นไปในอวกาศ ทำให้เรามองโลกผ่านวงแหวนรัศมีของความสำเร็จ ผลทื่ได้ก็คือ มองเห็นแต่แสงสว่าง ไม่เห็นความมืด แล้วนั่นจะเป็นสภาพความจริงของธุรกิจและชีวิตจริงได้อย่างไรกัน
"เมื่อไม่มีความมืด ก็ไม่มีข้อบกพร่อง แล้วจะเหลือช่องว่างอะไรให้ก้าวหน้าได้อีก ชีวิตที่ไม่มีความก้าวหน้า มิกลายเป็นความสมบูรณ์แบบเหมือนเช่นความตายหรอกหรือ"
สำหรับในเรื่องความล้มเหลว เขากล่าวว่า...
"คุณเคยได้ยินใครพูดบ้างไหมว่า การที่เขาทำธุรกิจล้มเหลว เป็นเพราะเขาทำธุรกิจไม่เป็น ไม่รู้หลักการ บริหารไม่เก่ง ใช้คนไม่เก่ง คุณต้องไม่เคยได้ยินอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่คุณมักได้ยินคนที่ทำธุรกิจล้มเหลวพูดก็คือ ผิดจังหวะ ผิดเวลา ถูกคนถ่อยให้ร้าย อะไรทำนองนี้แทน
"คนที่พูดจาเช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าเป็นพวกคิดว่าการทำธุรกิจเป็นเรื่องง่าย มันไม่ควรจะล้มเหลวได้เลย เมื่อตนเองโชคร้ายล้มเหลวก็โทษดวงบ้าง โทษโชคชะตาบ้าง หรือไม่ก็ว่าตนเป็นคนดีเกินไป ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม จึงถูกคนหลอก
"มันเป็นแบบนั้นจริงหรือ แน่นอน การทำธุรกิจก็ต้องพึ่งดวงเหมือนกับเรื่องอื่น ๆ ทุกเรื่อง และมีช่วงจังหวะที่ตกอบดวงซวยได้เหมือนกัน แต่ในเมื่อเราควบคุมดวงชะตาไม่ได้ จะไปหัวเสียกับเรื่องดวงชะตาทำไม เพราะท้ายที่สุดแล้ว การทำธุรกิจไม่ได้อาศัยดวงเพียงอย่างเดียว ตัวกำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวทางธุรกิจในระยะยาวคือความสามารถ"
ผมขอจบท้ายด้วยคำเตือนของเขา...
"บนโลกนี้ไม่มีธุรกิจใดที่ทำสำเร็จแล้วคุณจะได้สั่งเสพสุข
ธุรกิจเป็นของเป็น มันพลิกผันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นความสำเร็จมีแต่จะนำพาอุปสรรคอื่น ๆ ตามมาเรื่อย ๆ ถ้าอยากให้ธุรกิจประสบความสำเร็จก็ต้องรู้จักครูพักลักจำจากผู้อื่นเสมอ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา การทำธุรกิจเปรียบเสมือนการเล่นกายกรรมเดินไต่ลวดสลิง"
รีบไปหามาอ่านได้แล้วครับ

วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553

การทำงานที่ดีตามแนวทาง CMMI

ผมเป็นอาจารย์ผู้สอนในหลักสูตร CMM และ CMMI มานานร่วมทศวรรษแล้ว. CMM และ CMMI มีหลักการเดียวกัน และความจริงแล้ว CMMI เป็นโมเดลที่เกิดมาจาก CMM. ดังนั้นต่อไปนี้ผมจะใช้คำว่า CMMI เท่านั้น.
CMMI เป็นโมเดลสำหรับปรับปรุงกระบวนการ. อีกนัยหนึ่ง CMMI สอนเราว่า กระบวนการที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร. ผมจะไม่พูดถึงกระบวนการต่าง ๆ ในที่นี้ แต่จะรวบรัดด้วยการเล่าว่า การปฏิบัติงานต่าง ๆ ไม่ว่าการพัฒนาซอฟต์แวร์, การจัดซื้อจัดหาพัสดุ, การบริหารบุคลากร, การให้บริการไอที และอื่น ๆ นั้น ถ้าจะให้ได้ผลจะต้องเขียนรายละเอียดกระบวนการที่เกี่ยวข้องให้เป็นมาตรฐาน และดูแลให้ทุกคนปฏิบัติตามกระบวนการนั้น.
ความจริงแล้ว นี่ก็เป็นสิ่งสำคัญในการทำงานของผู้ที่อยู่ในหน่วยงานรัฐ. ทุกวันนี้ผู้บริหารในหน่วยงานรัฐมักจะถูกฟ้องร้องในศาลปกครองอยู่เสมอ. ถ้าหากผู้บริหารปฏิบัติตามกฎและระเบียบ ตลอดจนขั้นตอนที่กำหนดไว้อย่างถูกต้องแล้ว ผู้บริหารจะมีโอกาสชนะคดีสูงมาก. แต่ถ้าหากผู้บริหารไม่ทำตามขั้นตอนของหน่วยงาน แต่ทำไปตามอำเภอใจแล้ว โอกาสแพ้คดีก็จะมีสูง.
กลับมาสู่เรื่อง CMMI อีกครั้งครับ.
ผมจะสมมุติก็แล้วกันว่า คุณจะต้องทำงานสักอย่างซึ่งคุณรู้ขั้นตอนชัดเจนอยู่แล้วว่าจะต้องทำอะไรบ้าง. เช่น ถ้าคุณเป็นนักศึกษาคุณก็จะต้องเรียน จะให้เป็นการเรียนทั้งหลักสูตร หรือเรียนเฉพาะแต่ละวิชาก็ได้ ไม่แตกต่างกัน. หรือถ้าหากคุณเป็นนักเขียนบทละคร คุณก็จะต้องเขียนบทละคร. เห็นไหมครับว่าเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมามาก.
หลักการ CMMI ที่ผมพยายามสอนให้ผู้เรียนในหลักสูตรของผมเข้าใจก็คือ ไม่ว่าเขาจะทำอะไร หรือทำงานอะไร นอกจากจะต้องทำกิจกรรมตามที่เกี่ยวข้องกับเนื้องานนั้น ๆ แล้ว เขาจะต้องทำกิจกรรมที่สำคัญอีกหลายข้อ คือ...
  1. เขาจะต้องกำหนดเป้าหมายของงานให้ชัดเจน โดยเฉพาะเวลา และ แรงงานที่ต้องใช้
  2. เขาจะต้องวางแผนการทำงานโดยกำหนดว่าจะต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อใด ใช้แรงงานเท่าใด และจะได้ผลงานอะไรบ้าง.
  3. เขาจะต้องจัดเตรียมเครื่องมือและทรัพยากรสำหรัรบใช้ให้พอเพียง
  4. เขาจะต้องทบทวนตรวจสอบว่าสามารถทำงานได้ตามแผน และ เป้าหมายหรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็ต้องแก้ไข.
  5. เมื่อทำงานเสร็จแล้ว เขาจะต้องสรุปว่าการทำงานได้ผลอย่างไร ควรแก้ไขปรับปรุงอย่างไร.

กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าเราจะทำงานใด ๆ เราต้องจัดการการทำงานของเรา และ ต้องเรียนรู้เพื่อปรับปรุงการทำงานในอนาคตให้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา.

ผมขอเชิญชวนให้ผู้ที่อ่านบล็อกของผมลองทบทวนงานของท่านดูสิครับว่า นอกจากท่านจะทำงานที่ได้รับมอบหมายไปตามปกติแล้ว ท่านเคยทำกิจกรรมทั้งห้าประเด็นขั้นต้นนี้หรือเปล่า? ถ้าท่านยังไม่เคยทำ ก็ควรลองทำดู. ไม่เสียเวลาอีกมากเท่าไหร่หรอกครับ. กิจกรรมที่ผมนำมาแนะนำนี้จะช่วยให้เราได้เรียนรู้อีกมาก และทำให้งานของท่านได้ผลดีขึ้นด้วย.

ครรชิต

วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

ผมจะเลิกเป็น SCAMPI Lead Appraiser

สวัสดีครับ
ผมได้รับอนุญาตให้เป็น SCAMPI Lead Appraiser จาก สถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์(SEI) แห่ง มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน เป็นเวลาร่วมสิบปี เมื่อเร็ว ๆ นี้ SEI ได้ส่งคำเตือนมาที่ผมให้รีบไปสอบ SCAMPI เพื่อจะได้ขึ้นทะเบียนเป็น Certified SCAMPI Lead Appraiser. กำหนดสอบคือในสิ้นเดือนนี้.

ความจริงถ้าผมจะไปสอบก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ผมรู้สึกเบื่อที่จะเป็นผู้ประเมินแล้ว. การประเมินแต่ละครั้งใช้เวลาผมนานมาก และรายรับก็ไม่คุ้มกับค่า Fee ซึ่งต้องจ่ายให้แก่ SEI เป็นรายปี. การสอบก็ต้องจ่ายเงิน ถ้าผมสอบเสร็จ ก็ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่อีก (เกือบสามแสนบาท). แต่ในช่วงปีนี้ก็ไม่มีลูกค้าที่สนใจให้ผมประเมินมากนัก. ผมก็เลยคิดว่าต้องหยุดสักทีแล้ว. อย่างไรก็ตามในปีนี้ผมยังเป็น Certified CMMI v1.2 Instructor อยู่ และปีนี้ก็เพิ่งสอนไปได้ครั้งเดียวเอง.

ในทัศนะของผมแล้ว CMMI เป็นโมเดลที่ดี แต่เจ้าของโมเดลค่อนข้างโหด. คือคิดเงินทุกอย่าง ใครเรียนก็ต้องจ่ายเงินให้ SEI. ใครเป้นผู้สอน เป็นผู้ประเมิน ก็ต้องจ่ายเงินให้ SEI. แถมมีกฎหยุมหยิมอีกมาก. เช่น ผมเองก็เป็นอาจารย์ด้วย. กฎของอาจารย์ก็คือ ต้องสอนทุกปี, ต้องไปลงทะเบียนเรียนวิชาเพิ่มเติมที่ SEI ทุกปี, หรือต้องทำวิจัยและเขียนบทความด้าน CMMI หรือ ไปร่วมประเมิน SCAMPI ด้วย. การไปเรียนเพิ่มเติมก็ดีแหละครับ แต่ค่าเครื่องบิน, ค่ากินอยู่ และ ค่าเรียนแต่ละหลักสูตรนั้นแพงมาก.

ประเทศไทยเวลานี้ก็มีผู้ประเมินอยู่อีกสองคน และ อาจารย์อีกหนึ่งคน. ผู้ประเมินทั้งสองต้องไปหากินในเมืองจีน เพราะเมืองไทยไม่ค่อยมีลูกค้า. กำลังหากินเพลิน ๆ SEI ก็ออกกฎมาอีกแล้วว่า จะประเมินบริษัทปีละหลาย ๆ แห่งไม่ได้. เขาจำกัดจำนวนมาให้เสร็จ ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ประเมินจะไม่มั่ว. ผมก็เลยคิดว่าหยุดให้คนไทยอีกสองคนมีลูกค้าจะดีกว่า. ลืมไปอีกนิดครับ คือมีฝรั่งมาหากินในการประเมินในเมืองไทยด้วยครับ.

มีคำถามว่า เราประเมิน SCAMPI ของบริษัทซอฟต์แวร์ไปทำไม? คำตอบก็คือเพื่อให้ได้ชื่อว่า ประเทศไทยมีบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพระดับโลกหลายบริษัทครับ. การประเมิน SCAMPI ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่า บริษัทใดผ่านการประเมินก็แสดงว่าบริษัทมีระบบการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดี่ น่าเชื่อถือ และ ไว้ใจได้. ประเทศที่มีบริษัทสนใจประเมินมาก ก็มี สหรัฐอเมริกา, อินเดีย, จีน, ญี่ปุ่น, ยุโรป, และ ออสเตรเลีย. ทางอาเชียนก็สนใจมากเหมือนกันครับ. อย่างเช่น ฟิลิปปินส์นั้น ผมเคยไปสอนเรื่องนี้ก่อน จากนั้นเขาก็สนใจและพัฒนาคน และ ความรู้ในเรื่องนี้ จนกระทั่งมีบริษัทที่ผ่านการประเมินมากกว่าไทยเสียอีก. ที่เวียตนามผมก็ไปสอนหลักการให้แก่บริษัทของรัฐบาลด้วย. แต่ไม่ได้สอนเต็มรูปแบบ ผมดัดแปลงหลักสูตรไปเป็นส่วนหนึ่งของวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์. สำหรับบริษัทไทยนั้น ความจริงก็สนใจอยู่มาก. แต่ไม่อยากควักกระเป๋าประเมิน ต้องรอให้ทางการเช่น ซอฟต์แวร์พาร์ก และ สวทช. เข้ามาให้ทุนอุดหนุน จึงจะยอมประเมิน.

SCAMPI นั้นย่อมาจาก Standard CMMI Appraisal Method for Process Improvement และ เป็นแนวทางการประเมินว่าบริษัทใช้โมเดล CMMI อย่างถูกต้องตามหลักการ. ขอให้สังเกตด้วยว่า การประเมินนี้มีคำว่า Process Improvement ด้วย. นั่นหมายความว่า การประเมินนั้นมีวัตถุประสงค์ที่จะนำผลที่ได้รับจากการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น. แต่ไป ๆ มา ๆ การประเมินเวลานี้ ไปมุ่งเน้นที่การได้ใบประกาศที่แสดงว่าบริษัทบรรลุวุฒิภาวะระดับใดมากกว่าการที่จะนำผลลัพธ์ไปปรับปรุง. อีกนัยหนึ่งก็คือ บริษัทซอฟต์แวร์ก็เริ่มเอาแนวคิดเด็ก ๆ ที่เรียนเอาใบปริญญามาใช้แทนเสียแล้ว.

ถ้าเรายังปรับความคิดเรื่องการได้หน้า, การได้ประกาศนียบัตร, การโฆษณา, การอวดตัว, หรืออะไรต่อมิอะไรแบบนี้แล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้การปฏิบัติงานมีคุณภาพมากขึ้นจริง. ลงท้าย การประกาศว่าบริษัทได้วุฒิภาวะระดับใด ก็ไร้ความหมาย.

ครรชิต

วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553

IT Audit

สวัสดีครับ
เดิมทีวันนี้ ผมมีกำหนดไปเปิดการสัมมนาที่จังหวัดสุรินทร์ และบรรยายเรื่อง IT Audit แต่บังเอิญต้องเข้าประชุมคณะกรรมการ คตป. ที่กพร. ก็เลยต้องอัดเสียงและภาพคำบรรยายลงดีวีดี ไปเปิดให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาฟัง. ต้องขออภัยท่านที่ต้องอดทนดูคำบรรยายแห้ง ๆ ไว้ด้วย.

การตรวจสอบไอที เป็นเรื่องสำคัญ แต่หน่วยงานไทยยังไม่ค่อยได้สนใจนัก. ผู้ตรวจสอบภายในเองก็ยังไม่ค่อยทราบรายละเอียดว่าจะต้องทำอย่างไร. ความจริงทาง กพร. ได้กำหนดเรื่องการใช้ไอทีไว้เป็นหมวดที่ ๔ ในงาน PMQA ที่กำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ ต้องทำ. ผมจึงนำหมวดที่ ๔ นี้มาขยายความให้ทราบว่า ผู้ตรวจสอบภายในควรจะดูเอกสารอะไรบ้าง จึงจะบอกได้ว่าหน่วยงานทำหมวดที่ ๔ ครบถ้วน.

โดยหลักการแล้ว การตรวจสอบไอทีมีงานที่จะต้องทำขั้นต้นสองกลุ่ม. กลุ่มแรกก็คือการตรวตสอบทั่วไป หรือ General Audit ซึ่งก็คือการตรวจว่า หน่วยงานได้วางแผนงานด้านไอที, มีการจัดทำระบบต่าง ๆ ที่จำเป็น, มีการจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็น, การจัดอุปกรณ์ในหน่วยงานได้รับการปกป้องให้มีความมั่นคงที่ดี, การจัดตำแหน่งและหน้าที่เป็นไปอย่างถูกหลักการ, การใช้งานมีการกำหนดสิทธิในการใช้อย่างถูกต้อง และ มีการควบคุมภายในที่ดี ฯลฯ. เนื้อหาอย่างนี้ ไม่เหลือวิสัยที่ผู้ตรวจสอบภายในจะทำความเข้าใจได้ในขั้นต้น. แต่ต่อไป ก็จะต้องอ่านลึกเข้าไปในเอกสาร เช่น แผนงานด้านไอที ต้องตรวจสอบด้วยว่า วางแผนไอทีไว้เหมาะสมกับภาระหน้าที่หรือไม่, กำหนดกิจกรรมที่ควรทำครบหรือไม่ ฯลฯ. เรื่องนี้ก็จะยากมากขึ้น แต่ไม่ยากเกินกว่าจะศึกษาทำความเข้าใจต่อไปได้ด้วยตัวเอง.

กลุ่มที่สองก็คือ Application Audit ซึ่งยากมากขึ้นไปอีก เพราะจะต้องรู้รายละเอียดด้านซอฟต์แวร์และการออกแบบซอฟต์แวร์ด้วยย. การตรวจสอบในขั้นนี้อาจรวมทั้ง การพัฒนาและการจัดซื้อจัดหาระบบซอฟต์แวร์ (รวมฮาร์ดแวร์ ฯลฯ), การออกแบบ และ การเขียนโปรแกรม ว่ามีการกำหนดความมั่นคงไว้ในระบบครบถ้วน, ไม่มีการแอบฝังคำสั่งอันตรายไว้คอยจารกรรมแจ้งข่าวและข้อมูลของหน่วยงานไปให้คนนอกใช้, มีการควบคุมการบำรุงรักษาระบบอย่างเหมาะสม, มีการตรวจสอบการใช้งานของซอฟต์แวร์ทุกระบบว่าไม่มีใครทำอะไรที่ทุจริต.

นับวันเราก็ยิ่งต้องฝากอนาคตของหน่วยงานไว้กับระบบไอทีมากขึ้น. ดังนั้นการตรวจสอบจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้บริหารระดับสูง และ ผู้บริหารที่อยู่เหนือหน่วยงานขึ้นไปอีก (รวมทั้ง สส., สว. และ ประชาชน) มีความมั่นใจว่าหน่วยงานมีความมั่นคง และทำงานอย่างถูกต้องตรงกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้.

หากท่านยังไม่ได้สนใจเรื่องนี้มาก่อน ก็ขอให้เริ่มศึกษาได้แล้วครับ

ครรชิต

วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

อุปักกิเลสสูตร

เมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้วผมได้ซื้อพระไตรปิฏกมาชุดหนึ่งจากกรมการศาสนา. จากนั้นก็ได้อ่านบ้างไม่ได้อ่านบ้าง เพราะอ่านยาก. วันนี้นึกขึ้นได้จึงไปหยิบเล่มที่ ๑๔ มาเปิดอ่าน อุปักกิเลสสูตร ในหน้า ๒๕๓. ซึ่งผมขอสรุปเฉพาะคาถาในส่วนแรกของพระสูตรนี้มาให้ท่านพิจารณา.
เนื้อหาของพระสูตรนี้เริ่มเมื่อครั้งพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระวิหารโฆษิตาราม เขตพระนครโกสัมพี. ในช่วงนั้นเองภิกษุในนครโกสัมพีเกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกันและเสียดสีกันและกันด้วยฝีปาก. ต่อมา มีภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์และกราบทูลขอให้พระองค์เสด็จไประงับการวิวาทนั้น. พระพุทธองค์ทรงรับแล้วเสด็จไปยังที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้น แล้วตรัสห้ามภิกษุไม่ให้ทะเลาะแก่งแย่งกัน ถึงสามครั้ง. แต่ทุกครั้งก็มีภิกษุกราบทูลว่า ขอให้พระองค์อย่าทรงห้ามเลย ภิกษุยังต้องการทะเลาะกันอยู่ต่อไป. พระพุทธองค์จึงเสด็จหลีกไป. หลังจากที่พระพุทธองค์เข้าไปบิณฑบาตและเสวยพระกระยาหารแล้ว ทรงเก็บเสนาสนะ และ ประทับยืนตรัสพระคาถาว่า...
ภิกษุมีเสียงดังเสมอกัน ไม่มีใคร ๆ สำคัญตัวว่าเป็นพาล เมื่อสงฆ์แตกกัน ต่างก็มิได้สำคัญตัวกันเองให้ย่ง พวกที่เป็นบัณฑิตก็พากันหลงลืม มีปากพูด ก็มีแต่คำพูดเป็นอารมณ์ พูดไปเท่าที่ปรารถนาจะแสดงฝีปาก ไม่รู้เหตุที่ตนนำไป ก็ชนเหล่าใดผูกโกรธเขาว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ประหารเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ ส่วนชนเหล่าใดไม่ผูกโกรธเขารว่า คนโน้นได้ด่านเรา คนโน้นได้ประหารเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมเข้าไปสงบได้ เวรในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวรเลยในกาลไหน ๆ แต่จะระงับได้ด้วยไม่มีเวรกัน นี้เป็นธรรมดามีมาเก่าแก่ ก็พวกคนพวกอื่นย่อมไม่รู้สึกว่า พวกเราจะย่อยยับในที่นี้ แต่ชนเหล่าใดในที่นี้รู้สึก ความมาดร้ายกันย่อมสงบแต่ชนเหล่านั้นได้ คนพวกอื่นตัดกระดูกกัน ผลาญชีวิตกัน ลักโค ม้า ทรัพย์กัน แม้ชิงแว่นแคว้นกันยังมีคืนดีกันได้ เหตุไรพวกเธอจึงไม่มีเล่า ถ้าบุคคลได้สหายที่มีปัญญารักษาตัวร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์มีปรกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่ คุ้มอันตรายทั้งปวงได้ พึงชื่นชมมีสติเที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด ถ้าไม่ได้สหายที่มีปัญญารักษาตัวร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์ มีปรกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่ พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไป เหมือนพระราชาที่ทรงสละราชสมบัติ และ เเหมือนช้างมาตังคะในป่า ฉะนั้นการเที่ยวไปคนเดียวประเสริฐกว่า เพราะไม่มีความเป็นสหายกันในคนพาล พึงเป็นผู้ผู้เดียวเที่ยวไป และไม่พึงทำบาป เหมือนช้างมาตังคะมีความขวนขวายน้อยในป่าฉะนั้น.

ความจริงแล้วส่วนที่สองของพระสูตรนี้มีความสำคัญน่าศึกษามาก เพราะเป็นส่วนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าถึงเรื่องนิมิตที่เกิดระหว่างการทำสมาธิของพระองค์เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ในคืนวันที่พระองค์จะทรงตรัสรู้.

วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553

ข้อพึงปฏิบัติด้านจริยธรรมไอทีสำหรับนักศึกษา

ในช่วงต้นเดือนหน้า ผมจะต้องไปบรรยายเรื่องจริยธรรมให้นักศึกษาปริญญาโทฟัง. ผมจึงถือโอกาสเขียนบทความยาวเกือบสี่สิบหน้าอธิบายเรื่องน่าสนใจหลายเรื่อง. ส่วนเรื่องจริยธรรมนั้น ผมเขียนเป็นเรื่องสุดท้ายเมื่อเหนื่อยมากแล้ว ก็เลยเขียนไม่ได้มากนัก. อย่างไรก็ตาม ผมได้กล่าวแนะนำวิธีการที่นักศึกษาแต่ละคนควรจะปฏิบัติเพื่อไม่ให้ผิดทั้งกฎหมายและจริยธรรมอันดีไว้ในเอกสารประกอบคำบรรยายของผม. คำแนะนำนั้นมีดังนี้
· นักศึกษาจะต้องเคารพกฎและระเบียบในการใช้ระบบไอทีของมหาวิทยาลัย.
· นักศึกษาจะต้องไม่ก๊อปปีแฟ้มใด ๆ ของมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ได้กำหนดให้เป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะออกไปเพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัว หรือเพื่อเผยแพร่ไปยังบุคคลอื่น.
· นักศึกาจะต้องไม่เขียนหรือพัฒนาโปรแกรมอันตรายที่จะสร้างความเสียหายให้แก่ระบบไอทีของมหาวิทยาลัย แล้วอัพโหลดโปรแกรมนั้นไว้ในระบบไอทีของมหาวิทยาลัย หรือระบบไอทีของหน่วยงานอื่น ๆ.
· นักศึกษาต้องไม่พยายามบุกรุกเข้าไปสู่ระบบไอทีของมหาวิทยาลัยหรือของหน่วยงานอื่น ๆ ไม่ว่าจะมีระบบกำหนดระดับสิทธิในการเข้าถึงระบบบไอทีนั้นหรือไม่ เพื่อให้ตนเข้าถึงข้อมูลที่ไม่ได้รับอนุญาต, เข้าไปแอบแฝงเพื่อดักเก็บข้อมูล, เพื่อรบกวนการปฏิบัติงาน, หรือเพื่อก่อความเสียหายใด ๆ ให้แก่ระบบไอทีของมหาวิทยาลัยหรือของหน่วยงานอื่น.
· นักศึกษาจะต้องไม่จัดเก็บ, ส่ง หรือเผยแพร่แฟ้มข้อมูลซึ่งบรรจุภาพหรือข้อความที่ไม่เหมาะสม, อนาจาร, หรือ ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดี ไว้ในคอมพิวเตอร์ของตนเอง หรือจัดส่งผ่านระบบเครือข่ายให้แก่บุคคลอื่น.
· นักศึกษาต้องไม่แก้ไขดัดแปลงโปรแกรมและแฟ้มข้อมูลที่จัดเก็บในเครื่องของบุคคลอื่น หรือ หน่วยงานอื่น.
· นักศึกษาต้องไม่ดักอีเมลของบุคคลอื่นแล้วนำไปเปิดเผยให้บุคคลที่สามทราบ.
· นักศึกษาต้องไม่กลั่นแกล้งบุคคลอื่นด้วยการส่งอีเมลจำนวนมากเข้าไปยังกล่องรับ อีเมลของบุคคลอี่นจนบุคคลนั้นไม่สามารถรับอีเมลอื่นได้.
· นักศึกษาที่ได้รับโอกาสทำงานพิเศษกับหน่วยงานมหาวิทยาลัย และสามารถเข้าถึงแฟ้มข้อมูลส่วนบุคคลใด ๆ จะต้องไม่นำข้อมูล หรือส่วนหนึ่งของข้อมูลส่วนบุคคลไปเปิดเผย.
· นักศึกษาจะต้องไม่นำฮาร์ดแวร์ใด ๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้ามาต่อเชื่อมกับระบบเครือข่าย หรือ คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย.
· นักศึกษาจะต้องไม่หยิบฉวยหรือนำอุปกรณ์, ฮาร์ดแวร์, หรือส่วนหนึ่งของฮาร์ดแวร์ออกไปจากที่ตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต.
· นักศึกษาจะต้องไม่ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งของส่วนตัว, ของมหาวิทยาลัย, หรือของบุคคลใด ๆ ในการหลอกลวงบุคคลอื่นให้หลงผิดเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์, เพื่อก่อกวนให้เกิดความยุ่งเหยิงต่อสังคม หรือ เพื่อความสนุกสนานส่วนตัว.

วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

ไทยจะไปทางไหนกัน

สวัสดีครับ

มีคนถามผมหลายคนว่าผมมองเหตุการณ์การประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ผมตอบว่าผมมองเห็นเหมือนเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของโลก. ประเทศต่าง ๆ ต้องผ่านปรากฏการณ์นี้แทบทั้งนั้น ก่อนที่จะก้าวไปสู่ความสงบสุข. บังเอิญว่าเหตุการณ์ทำนองนี้เพิ่งเคยเกิดกับประเทศไทยในช่วงนี้ เราก็เลยตกอกตกใจกันมาก.

ในที่สุดแล้วเรื่องนี้ก็ต้องจบครับ. แต่ผมไม่ทราบว่าจะจบอย่างไร. ทุกวันนี้ผมไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ดูข่าวโทรทัศน์ ไม่ฟังวิทยุ เพราะมีแต่ข่าวไร้สาระ. นานมาแล้ว ผมเคยพูดอย่างเปิดเผยว่า ปัญหาของประเทศไทยส่วนหนึ่งก็คือ นักข่าว และ นักนิเทศ. คนเหล่านี้ได้รับการสอนมาว่าพวกเขาต้องมีจิตสำนึกของการเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง. ต้องไม่เข้าข้างใคร. พวกเขาสนุกกับการหาข่าวฝ่ายโน้นที ฝ่ายนี้ที. แต่พวกเขาลืมไปว่า เขาไม่ได้ยืนอยู่ระหว่างคนสองกลุ่มธรรมดา. หากกำลังยืนอยู่ตรงกลางระหว่างความเจริญก้าวหน้า กับ การก้าวถอยหลัง ของประเทศ. ก็ไม่เป็นไรครับ ยึดมั่นในหลักการต่อไปเรื่อย ๆ ก็ได้ ประเทศชาติก็จะได้ล่มจม ในตอนจบ..

เรื่องที่น่าสนใจมากกว่าสำหรับผมก็คือ การคิดหาทางสร้างระบบความมั่นคงให้กับระบบคอมพิวเตอร์. ผมสนใจในแง่นั้นมากกว่า. ธนาคารจะทำอย่างไรดี ระบบไอทีจึงจะสามารถคงทนต่อการก่อการร้ายได้. หน่วยงานราชการจะต้องทำอย่างไร ข้อมูลจึงจะไม่เสียหาย และ การบริการประชาชน ยังสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงัก. จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากคนกลุ่มใหญ่ที่กำลังประท้วงไม่ใช่คนไทย? แต่เป็นคนชาติอื่นที่เดินเกลื่อนกลาดในเมืองไทย? เราจะจัดการกับพวกเขาอย่างไร? แล้วในทางกลับกัน ถ้าคนที่เขาคิดว่าจะได้เป็นใหญ่เป็นโตใหม่ ต้องประสบปัญหาการประท้วงแบบนี้ พวกเขาจะทำอย่างไร?

เรากำลังอยู่ในช่วงที่น่าสนใจมากสำหรับประวัติศาสตร์ชาติไทย เมื่อเวลาผ่านไปสักห้าสิบปี เด็กไทย (ถ้ายังมีเหลือเชื้อพันธุ์อยู่) จะได้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงนี้ และใครทำอะไรให้ประเทศเจ็บปวดไว้บ้าง. ถ้าคนเหล่านี้ไม่โดนสาปแช่งไปทั้งตระกูลบ้าง ก็ให้รู้ไป. ลอ่งนึกถึงปาท่องโก๋ ที่เขาเรียกว่า อิ่วจาก้วย บ้างสิครับ ว่าประวัติเป็นมาอย่างไร.

ครรชิต

วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553

แนวคิดเกี่ยวกับความรู้

สวัสดีครับ
ช่วงนี้เป็นระยะเวลาที่นักเรียนนักศึกษากำลังปิดภาคเรียน. ผมจึงคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะต้องแนะนำให้นักเรียนนักศึกษาเข้าใจความสำคัญของการเรียนอย่างมีวุฒิภาวะสักหน่อย. แน่นอนว่า ผมเคยเป็นนักเรียนนักศึกษามาก่อน และแม้ว่าเมื่อผมยังเด็กอยู่ผมก็เป็นนักเรียนดี แต่เวลานี้เมื่อผมนึกย้อนกลับไป ผมก็พบว่า การเรียนของผมนั้นเป็นไปตามยถากรรมจริง ๆ. หากสมัยนั้น ผมรู้วิธีเรียนอย่างถูกต้องแล้ว ผมเชื่อว่าผมจะเรียนได้ดีมากยิ่งขึ้น. การเรียนตามยถากรรม ที่ผมว่านี้ก็คือการเรียนโดยไม่ได้สนใจว่าจะเรียนไปทำไม, ไม่ได้ตั้งเป้าหมายของชีวิต, ไม่ได้วางแผน, ไม่ได้เตรียมความพร้อม, ไม่ได้เตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เหมาะสม, ไม่ได้ตรวจสอบความสามารถของตนเอง และ ไม่ได้สนใจปรับปรุงการเรียนให้ดีขึ้น.
ผมยังโชคดีที่ในช่วงที่ผมอยู่ในระดับมัธยมปลาย ผมได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับวิธีการเรียน ของ ดร. ก่อ สวัสดิพาณิชย์ อดีตนักการศึกษาและ รมว. กระทรวงศึกษา (ปัจจุบันได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว). หนังสือของท่านทำให้ผมปรับวิธีการเรียนของผมให้ดีมากขึ้น. แต่ผมก็ยังคงเรียนตามยถากรรมอยู่นั่นเอง.
เนื้อหาที่จะทำให้การเรียนของผมมีวุฒิภาวะดีขึ้นนั้น อยู่ในโมเดลสำหรับใช้ในการปรับปรุงการพัฒนาซอฟต์แวร์. โมเดลนี้เรียกว่า CMMI หรือ Capability Maturity Model Integration. เวลานี้ผมเป็นอาจารย์วิชา Introduction to CMMI ซึ่งเป็นวิชาที่สถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จัดทำขึ้น. ผมได้รับการรับรอง (certify) จากสถาบันแห่งนี้ให้เป็นอาจารย์ผู้สอนวิชานี้คนแรกในเมืองไทย. ผู้เรียนก็คือบรรดานักพัฒนาและผู้บริหารงานซอฟต์แวร์ซึ่งต้องการเปลี่ยนสภาพการพัฒนาซอฟต์แวร์ตามยถากรรม เป็นการพัฒนาอย่างมีวุฒิภาวะ. เมื่อเริ่มสอน ผมมักจะบอกกับผู้เรียนว่า เมื่อเรียนและเข้าใจโมเดลนี้แล้ว พวกเขาจะเสียใจที่รู้โมเดลนี้ช้าไป. หากรู้เร็วกว่านี้ พวกเขาสามารถนำเนื้อหาไปใช้ในการเรียนให้ดีขึ้นได้.
เนื้อหา CMMI มีค่อนข้างมากและลึกซึ้ง. ดังนั้น ผมจะแนะนำเพียงสั้น ๆ ว่า การที่จะเปลี่ยนการเรียนตามยถากรรม ไปสู่การเรียนที่มีวุฒิภาวะมากขึ้นนั้น นักเรียนนักศึกษาจะต้องปรับปรุงตัวเองดังนี้...
  1. ต้องมีความตั้งใจจริง, มีฉันทะ และ ความมุ่งมั่นที่จะเรียนให้ดีขึ้น.
  2. พิจารณาตรวจสอบตัวเองว่า มีจุดอ่อนในด้านใดบ้าง (เช่น อ่อนทางด้าน ภาษาอังกฤษ, คณิตศาสตร์, การหาเหตุผล, การเขียน, การใช้คอมพิวเตอร์ ฯลฯ) แล้ว พยายามหาวิธีที่จะแก้ไขจุดอ่อนนี้.
  3. พิจารณาวางแผนการเรียน โดยมองไปที่เป้าหมายใหญ่ของชีวิต (อยากประกอบอาชีพอะไร, อยากทำงานที่ไหน, อยากศึกษาต่อถึงระดับใดและที่ไหน, อยากมีความสามารถระดับใด ฯลฯ) และ มองที่เป้าหมายในแต่ละปี. จากนั้นจึงกำหนดกิจกรรมที่จะต้องทำ และ วิชาที่จะเรียนในแต่ละปีไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดภาคเรียนแรก.
  4. จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในการเรียนให้ครบ. หาหนังสือ, ตำรา, เครื่องเขียน, เครื่องใช้ต่าง ๆ (รวมคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์) ที่จำเป็นสำหรับการเรียนตามที่สถานศึกษากำหนดให้ครบถ้วน. ถ้าหากไม่สามารถหาได้ครบ อาจจะต้องหาทางที่จะหยิบยืมอุปกรณ์นั้นมาใช้ในช่วงที่จำเป็นให้ได้.
  5. ศึกษาเนื้อหาของวิชาที่จะต้องเรียนในแต่ละภาควิชาล่วงหน้า. ตรวจสอบว่าเราจะต้องรู้พื้นฐานอะไรบ้าง, ต้องมีความรู้อะไรเพิ่มเติมจึงจะเรียนรู้เรื่องในวิชานี้ได้ดีบ้าง. ให้พิจารณาว่าจะต้องทำกิจกรรมอะไรบ้างในส่วนนี้ แล้วนำไปบันทึกไว้ในแผนงาน.
  6. ศึกษารายละเอียดของขั้นตอนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนวิชาต่าง ๆ ในแต่ละภาคเรียน, ค่าบำรุงการศึกษาที่สถานศึกษากำหนด, ระยะเวลาต่าง ๆ ที่สำคัญ. จากนั้นนำรายละเอียดเหล่านี้บรรจุไว้ในแผน เพื่อไม่ให้เราหลงลืมวันที่ที่สำคัญได้.
  7. เมื่อถึงเวลาเรียน จะต้องใช้วิธีการเรียนที่เหมาะแก่แต่ละวิชา. แต่ไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไร เราจะต้องหัดจดบันทึกเนื้อหาที่เราได้เรียนในแต่ละคาบเอาไว้เสมอ. ก่อนเข้าเรียนแต่ละครั้งจะต้องทบทวนเนื้อหาที่จดบันทึกไว้ และ หัวข้อและเนื้อหาที่จะต้องเรียนในคาบนั้นไว้ล่วงหน้า. เตรียมคำถามสำคัญที่เราน่าจะเรียนรู้จากเนื้อหานั้นเอาไว้ล่วงหน้า. พิจารณาว่า ระหว่างการสอนนั้นอาจารย์ผู้สอน ได้ให้เนื้อหาที่ตอบคำถามที่เราสนใจหรือไม่. หากไม่ได้สอน เราควรตั้งคำถามนั้นให้อาจารย์ตอบ.
  8. ในแต่ละสัปดาห์ เราจะต้องติดตามตรวจสอบว่าการเรียนแต่ละวิชานั้น เราได้ผลตามที่เรามุ่งหมายหรือไม่. เราได้เข้าเรียนครบหรือไม่ครบ (เหตุใดจึงไม่ครบ? และ จะรีบศึกษาเพิ่มได้อย่างไร). นอกจากนั้นให้พิจารณาว่า เราได้ทำตามแผนการที่เราจัดทำขึ้นไว้หรือไม่. มีอะไรควรเปลี่ยนแปลงบ้าง.
  9. ก่อนถึงเวลาสอบทุกครั้ง ให้พิจารณาภาพรวมทั้งหมดของวิชาที่เรียนมา แล้วตรวจสอบว่า มีเนื้อหาเรื่องใดเป็นสาระที่สำคัญมากบ้าง. ลองถามตัวเองว่า ถ้าหากเราเป็นอาจารย์เอง เราจะบอกได้อย่างไรว่านักเรียนนักศึกษารู้เรื่องนั้นบ้าง และ ควรจะตั้งคำถามอะไร. เราควรศึกษาและทำโจทย์ต่าง ๆ ในตำราทั้งที่อาจารย์ใช้ และ ในเล่มอื่น ๆ ล่วงหน้า. ความสามารถในการตอบข้อสอบนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในการทำโจทย์มาก ๆ นั่นเอง.
  10. หลังจากการสอบกลางภาคแล้ว ควรพิจารณาว่าเรามีปัญหาอย่างไรบ้างในการตอบข้อสอบ. เหตุใดเราจึงทำโจทย์ได้หรือไม่ได้. จากนั้นให้หาทางแก้ไขจุดอ่อนที่พบ.
  11. หลังจากการสอบปลายภาคแล้ว เราควรพิจารณาเช่นเดียวกับการสอบกลางภาค. ถึงแม้ว่าเราจะเรียนวิชานั้นเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่เราก็อาจจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์การสอบปลายภาคได้ด้วย. เรื่องที่จะเรียนรู้นี้จะเป้นประโยชน์ในภาคต่อ ๆ ไปด้วย.

รายละเอียดทั้ง 11 ข้อนี้ ไม่ใช่เทคนิคการเรียน. แต่เป็นเทคนิคการจัดการการเรียน เพื่อให้การเรียนเรามีวุฒิภาวะสูงขึ้น. การเรียนก็เหมือนกับงานอื่น ๆ นั่นคือต้องมีการจัดการ และ การเรียนรู้พร้อมกันไปด้วย. นั่นคือ เมื่อเราเรี่ยนจบไปหนึ่งวิชา เราควรจะรู้ในเรื่องต่อไปนี้คือ...

  1. เนื้อหาของวิชานั้นตามที่กำหนดไว้ในรายละเอียดเนื้อหาวิชา.
  2. เราได้จัดการการเรียนดีหรือไม่, ถูกต้องหรือไม่, และ มีอะไรควรแก้ไขปรับปรุงบ้าง.
  3. การเรียนวิชาในลักษณะนี้ในภาคต่อ ๆ ไป เราควรจะใช้วิธีเรียนแบบใด จึงจะเรียนได้ดีขึ้น.

เนื้อหาวันนี้อาจจะค่อนข้างยากสักหน่อยครับ. ต้องใช้เวลาครุ่นคิดสักหน่อย แต่นี่ก็คือหลักการพื้นฐานของ CMMI ซึ่งกำหนดว่า จะทำอะไรต้องมีการจัดการและต้องเรียนรู้พร้อมกันไปด้วย.

อ่านแล้วอย่าลืมนำไปใช้ปฏิบัตินะครับ

ครรชิต

วันเสาร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2553

สวัสดีครับ
มีเพื่อน ๆ หลายคน ถามว่าตอนนี้ผมทำงานอะไรบ้าง. คำตอบก็คือทำงานหลายอย่างครับ. งานหลักอันดับหนึ่งก็คือ เป็นประธานของบริษัท ACInfotec ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการจัดทำกระบวนการมาตรฐานทางด้าน ISO 20000, ISO 27001, CMMI และอื่น ๆ. บริษัทนี้แหละครับที่เป็นชื่อบล็อกที่ผมใช้อยู่ตอนนี้. งานหลักอันดับต่อมาก็คือเป็นกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ หลายคณะด้วยกัน ทั้งของรัฐ และ เอกชน. คณะกรรมการที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งจาก ครม. ในปีนี้ก็คือ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ. สำหรับตำแหน่งที่ผมใช้ประจำคือ ราชบัณฑิต แห่งราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งผมได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙. งานของคณะกรรมการต่าง ๆ หลายคณะนั้นไม่ค่อยเป็นที่ทราบกันในหมู่คนทั่วไป ดังนั้น ผมจึงคิดว่าจะนำเรื่องเหล่านี้มาเล่าในบล็อกนี้ต่อ ๆ ไป. ที่ตั้งใจจะนำมาเล่า ก็เพื่อให้ทราบว่า คณะกรรมการเหล่านั้นได้ทำอะไรที่น่าสนใจและมีประโยชน์แก่คนทั่วไปบ้าง.
ครรชิต

วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553

CMMI for Services

สถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (SEI) ได้พัฒนา โมเดลสำหรับการให้บริการอย่างมีวุฒิภาวะและความสามารถขึ้น โดยปรับปรุงมาจาก CMMI for Development. โมเดล CMMI for Services นี้มีกระบวนการบางส่วนที่คล้ายกับของ CMMI for Development. กระบวนการเหล่านี้เรียกว่ากระบวนการที่เป็นแกน (core) ของโมเดล และ ทุกโมเดล จะมีแกนเหมือนกัน. กระบวนการที่แตกต่างก็คือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเท่านั้น.

วันพุธที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2553

เปิด Blog ของ ดร.ครรชิต

สวัสดีครับ

ผมยินดีที่จะแจ้งให้เพื่อน ๆ และ ผู้สนใจงานของผมทราบว่า ผมได้เปลี่ยนจากการทำเว็บมาเป็นการใช้บล็อกแล้วครับ. ในช่วงสองปีกว่านั้น เว็บของผมไม่ได้เคลื่อนไหวเลย เพราะผมลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาบริษัทไอซีซีมาแล้ว. ก่อนหน้านั้น ผมก็วานให้พนักงานช่วย Upload แฟ้มลงเว็บให้ เพราะไม่มีเวลาที่จะทำเอง. ครั้นเมื่อลาออกมาแล้ว แทนที่ผมจะมีเวลา แต่กลายเป็นว่างานของผมกลับยิ่งต้องใช้เวลามากกว่าเดิม. การปรับปรุงเว็บจากบ้านก็ค่อนข้างยาก เพราะ ADSL ที่เช่าไว้ไม่เร็วเหมือนกับที่บริษัท. อันที่จริงแล้ว ในช่วงที่ผมไม่ได้ปรับปรุงเว็บนั้น ผมได้เขียนบทความและเอกสารคำบรรยายเอาไว้มากด้วยกัน. แต่จนใจที่ยังไม่สามารถนำมาลงเว็บให้ท่านที่สนใจอ่านได้.

ผมหวังว่า การที่ผมหันมาทำบล็อกนี้คงจะทำให้เพื่อน ๆ และผู้สนใจ มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผมมากขึ้น. และ ผมก็คงจะค่อย ๆ ทยอยนำเนื้อหาน่าสนใจมาเสนอให้อ่านกันได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม.

ขอบคุณทุกคนที่สนใจสอบถาม และ ติดตามอ่านเว็บของผม และหวังว่าท่านคงจะหันมาติดตามอ่านบล็อกของผมต่อไปด้วย

ครรชิต