วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปริศนาธรรมหลวงปู่ขาว อนาลโย

ปริศนาธรรมหลวงปู่ขาว อนาลโย

เมื่อสองวันมานี้ผมได้อ่านหนังสือ ๘๐ ปี หลวงปู่จันทา ถาวโร แห่งวัดป่าเขาน้อย จังหวัดพิจิตร. หลวงปู่ท่านมอบตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ขาว อนาลโย แห่งวัดถ้ำกลองเพล และ ได้อยู่อุปฐากหลวงปู่ขาวจนท่านละสังขาร. ต่อจากนั้นท่านจึงมาอยู่ที่วัดป่าเขาน้อยที่พิจิตรนี้. ท่านได้เล่าปริศนาธรรมของหลวงปู่ขาวที่น่าสนใจไว้สามเรื่อง ซึ่งผมขอนำมาเล่าต่ออย่างย่อ ๆ ดังนี้...
1. เรื่องที่หนึ่ง ใฝ่ร้อนจะนอนเย็น ใฝ่เย็นจะเข็ญร้อน ภายหลังจะดิ้นตาย หลวงปู่จันทาท่านอธิบายว่า เราต้องรีบประพฤติปฏิบัติ ทำคุณงามความดี อดนอนผ่อนอาหาร เผากิเลสให้เร่าร้อน ทั้งวันทั้งคืน ไม่หวั่นไหวต่อร้อนหนาวและหิวกระหาย เมื่อจิตสงบลงไปได้ ขณิกสมาธิ หรือ อุปจาระสมาธิ ก็เท่ากับนอนเย็นสบาย ส่วนใฝ่เย็นจะเข็ญร้อน ภายหลังจะดิ้นตายนั้น หมายถึงผู้ประมาท ไม่เร่งทำความเพียร ผลัดวันเวลาอยู่เสมอ เมื่อไฟร้อนคือความเจ็บไข้ได้ป่วยมาถึง ก็จะดิ้นตาย หรือเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ก็ไม่มีสติปัญญาแก้ไขออกจากเหตุร้ายนั้น ก็เหมือนกับดิ้นตาย.
2. รีบพายเรือ ตะวันจะสาย ตลาดจะวาย สายบัวจะเน่า หลวงปู่จันทาอธิบายว่า รีบพายเรือ คือ รีบเดินจงกรมเดินภาวนา ยืนภาวนา นั่งภาวนา อดนอนผ่อนอาหารพิจารณาธาตุขันธ์ น้อมลงสู่ไตรลักษณ์เห็นแจ้งประจักษ์ทุกเมื่อ จิตจะรวมลงสู่ภวังคภพอันแน่นแฟ้น แล้วเห็นของจริง ว่ามีอะไรบ้างอยู่ในตลาดนี้ ซึ่งตลาดนั้นก็คือร่างกายนั่นเอง ส่วนตะวันจะสาย หลวงปู่จันทาบอกว่าก็คือ มันจะแก่นั่นเอง ตลาดจะวาย สายบัวจะเน่า ก็คือ ตาย ร่างกายเปรียบเสมือนสายบัว วายคือตาย สายบัวมันก็เน่า ไม่มีอะไรเป็นของเราแท้ ๆ.
3. บ้านใกล้ครั่ง ย้อมครั่งไม่แดง นอนตะแคง ผิงแดดไม่อุ่น สวดจุ้มกุ้มมืองุ่มไม่ถึง. หลวงปู่จันทา ท่านอธิบายว่า บ้านใกล้ครั่ง ย้อมครั่งไม่แดง ก็คือพวกเราที่นับถือศาสนาพุทธ แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติ ก็เลยไม่รู้ธรรม ไม่เห็นธรรม จิตก็ไม่ได้บรรลุธรรม ไม่ได้ลิ้มรสของความสงบ มีแต่กิเลสเผาใจให้เร่าร้อน นั่นก็คือ ย้อมครั่งไม่แดง ส่วนนอนตะแคงผิงแดดไม่อุ่น นั้น คือ ผู้เกียจคร้าน ไม่เจริญธรรม เมื่อความเจ็บไข้ได้ป่วยมาถึง ความตายมาถึงแล้ว หาความสุขอะไรไม่ได้ มีแต่ความเร่าร้อน แม้จะมีข้าวของเงินทองมากมาย มันก็ไม่มาช่วยเหลือให้อบอุ่นได้ มีแต่เร่าร้อนกระวนกระวายหิวกระหายอย่างนั้น. ส่วน สวดจุ้มกุ้มมืองุ่มไม่ถึง ได้แก่ลาภยศสรรเสริญสุข ฝ่ายโลก นั่นแหละ เขาได้กัน เราไม่ได้ เพราะบุญน้อยวาสนาน้อย พลอยรำคาญ เล่าเรียนแล้วก็ไม่ได้ หรือทางฝ่ายธรรม เขาได้เป็นเจ้าฟ้าเจ้าคุณตลอดจนสังฆราช ประมุขของศาสนา อยากได้แล้วก็ไม่ได้. นั่นเป็นเพราะความเกียจคร้าน ไม่สะสมบุญกุศลใส่ตัวไว้ ไม่รีบเร่งบำเพ็ญอินทรีย์ธรรม ไม่บำเพ็ญบารมีธรรม เป็นผู้ติดสุขลืมตน ประมาทท่องเที่ยวเกิดดับภพน้อยภพใหญ่ ขี้เกียจขี้คร้าน ขี้เซาเหงานอน ครูบาอาจารย์ท่านแนะนำพร่ำสอนอย่างไร ก็ไม่ยอมทำ ทำได้แต่ความชั่ว แต่ความดีทำไม่ได้ ผลสุดท้าย ก็อับอายขายหน้า เอาแต่ความชั่วอวดเขาทั้งนั้น.

(ขอขอบคุณคณะผู้จัดทำไว้ ณ ที่นี้)

การแบ่งเวลาให้ชีวิต

การแบ่งเวลาให้ชีวิต

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน นี้ ผมได้ไปเปิดการสัมมนาด้านไอทีของนักศึกษาปริญญาโทและเอก ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม. ผมได้แนะนำนักศึกษาว่า เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว ขอให้รู้จักการแบ่งเวลาของชีวิตในแต่ละวันหรือสัปดาห์ออกเป็นสี่กลุ่ม คือ...
1. เวลาสำหรับทำงานหรือประกอบอาชีพ. เวลาในหัวข้อนี้ผมยังแยกออกเป็นสองส่วนย่อย คือ เวลาสำหรับทำงานตามหน้าที่จริง ๆ และ เวลาสำหรับเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงตัวเองให้มีความก้าวหน้าต่อไปในสายงาน หรือในด้านธุรกิจ.
2. เวลาสำหรับตนเอง. เวลาในหัวข้อนี้ ผมแยกออกเป็น เวลาสำหรับนอนหลับพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูพละกำลังและเกิดความสดชื่น, เวลาสำหรับการออกกำลังทั้งกายและสมองเพื่อให้ร่างกายมีความแข็งแรง, เวลาสำหรับนันทนาการ ซึ่ง ได้แก่ การทำงานอดิเรกที่ตนสนใจ, เวลาสำหรับปฏิบัติธรรมและศึกษาเรื่องราวของชีวิตให้เข้าใจลึกซึ้งขึ้น.
3. เวลาสำหรับครอบครัว. ได้แก่เวลาสำหรับใช้ในการดูแลบิดามารดา, ภริยาหรือสามี, บุตรธิดา. บุคคลเหล่านี้ย่อมต้องการเวลาจากเราในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการสงเคราะห์, การรับใช้, การช่วยเหลือ, การให้ความรู้ ฯลฯ.
4. เวลาสำหรับสังคม. ได้แก่เวลาสำหรับใช้ในการคบค้าสมาคมกับเพื่อนร่วมวิชาชีพ, เพื่อนร่วมสถาบัน, ญาติพี่น้อง, องค์การสาธารณกุศล ต่าง ๆ, ฯลฯ.

เมื่อเห็นหัวข้อของเวลาที่จะต้องนำมาพิจารณานั้น อาจจะแปลกใจเพราะมีหลายเรื่องจริง ๆ. ผมลองทบทวนการใช้เวลาของผมและเพื่อนหลาย ๆ คนดู ก็พบว่าหนีไม่พ้นที่จะต้องมีเรื่องเหล่านี้. ปัญหาก็คือบางคนใช้เวลาไม่ค่อยเหมาะสมนัก. เพื่อนบางคนใช้เวลาเข้าสังคมมากไปและไม่มีเวลาให้ครอบครัว ผลก็คือ ครอบครัวขาดความอบอุ่นและไม่มีความสุข. เพื่อนบางคนใช้เวลาส่วนใหญ่กับการทำงาน, ครอบครัว และ สังคม แต่ไม่มีเวลาให้ตนเอง ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ ผลก็คือ เกิดความเครียดจนต้องจากไปก่อนเวลาอันสมควร. ผมไม่ทราบว่าแต่ละคนควรจะแบ่งเวลาเป็นสัดส่วนอย่างไรจึงจะเหมาะ เพราะต่างคนต่างก็มีเรื่องที่จำเป็นต้องทำต่างกัน. ดังนั้นขอให้พิจารณากันเองก็แล้วกันครับ.

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อกุศลกรรมบถทางวาจา

อกุศลกรรมบถทางวาจา

อกุศลกรรมบถ หมายถึงการกระทำที่เป็นบ่อเกิดแห่งอกุศลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำด้วยวาจาหรือด้วยใจ. อกุศลกรรมบถทางกายนั้นสอดคล้องกับศีล 3 ข้อคือ ไม่ฆ่าสัตว์, ไม่ลักทรัพย์ และ ไม่ประพฤติผิดในกาม ซึ่งโดยทั่วไปแล้วรักษาได้ง่ายกว่า อกุศลกรรมบถทางวาจา. อกุศลกรรมบถทางวาจานั้น ท่านได้กำหนดไว้ 4 ข้อด้วยกัน คือ ไม่พูดเท็จ, ไม่พูดส่อเสียด, ไม่พูดหยาบคาย, และ ไม่พูดเพ้อเจ้อ. ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นเรื่องที่ประพฤติได้ยากมาก. นอกจากนั้นเราจะเห็นคนในสังคมไทย ทำอกุศลกรรมบถทางวาจาให้ได้เห็น ให้ได้ยิน เป็นประจำ. ผู้ที่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่าประพฺฤติผิดทั้ง 4 ข้อนี้ ก็คือ สื่อมวลชน และ นักการเมือง.
สื่อมวลชน นิยมนำความเห็นของบุคคลต่าง ๆ มาระบุว่าเป็นความจริง ทั้ง ๆ ที่เรื่องเหล่านั้นก็ไม่ได้เห็น หรือไม่ได้ประจักษ์ด้วยตนเอง. การรายงานข่าวที่นำความเห็นมาเสนอไม่ว่ารับฟังมาหรือเขียนขึ้นเองจึงเป็นการรายงานความเท็จอย่างชัดแจ้ง. อีกกรณีหนึ่งก็คือ สื่อมวลชนนิยมวาดภาพล้อทางการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่คือภาพที่แสดงการส่อเสียดให้เกิดความแตกแยกทางความคิด. ในทางพุทธศาสนานั้นถือว่า ใครทำให้เกิดสังฆเพท หรือทำให้สงฆ์แตกแยกนั้นเป็นความผิดสถานหนัก. ในทางประเทศชาติก็เช่นกัน. ใครทำให้คนในชาติต้องแตกแยกเป็นสองฝักสองฝ่าย แทนที่จะร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาประเทศ ก็ต้องถือว่าเป็นผู้ที่ทำอนันตริยกรรมอันหนักไม่แพ้กัน. นอกจากนั้น สื่อมวลชนยังนิยมลงบทความที่มีข้อความเพ้อเจ้อ และ บางบทก็ใช้ถ้อยคำอันหยาบคายด้วย. การสื่อสารด้วยวิธีเหล่านี้แหละครับที่ทำให้ผมกล้าพูดว่า สื่อมวลชนเป็นผู้ที่ทำให้เกิดปัญหาด้านการเมือง.
สำหรับนักการเมืองนั้นพวกเรายิ่งแน่ใจได้เลยว่า นักการเมืองแทบทุกคนล้วนทำอกุศลกรรมบถทางวาจาทั้ง 4 ข้อนี้เป็นประจำ. ประชาชนทั่วไปไม่อาจทราบได้เลยว่าเรื่องที่นักการเมืองแต่ละคนพูดนั้นมีความจริงแค่ไหน. นักการเมืองที่ก้าวขึ้นระดับสูงสุดคนหนึ่ง สามารถกล่าวอ้างอิงสถิติต่าง ๆ ได้อย่างน่าเชื่อถือ. ครั้นเมื่อนำไปตรวจสอบแล้วก็พบว่าเป็นสถิติที่ไม่มีพื้นฐานความจริงรองรับ. เรื่องทำนองนี้ดูจะเป็นที่นิยมกันมากในกลุ่มนักการเมือง และ สื่อมวลชนที่นำเรื่องที่นักการเมืองพูดมาขยายความ. ด้วยเหตุนี้เอง เนื้อหาต่าง ๆ ที่สื่อมวลชนตีพิมพ์ทุกวัน จึงเป็นเรื่องเหลวไหล ไร้สาระ และทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดกันอย่างกว้างขวาง.
เป็นเรื่องน่าเศร้าเมื่อต้องคิดว่า สถานการณ์เช่นนี้ไม่อาจจะแก้ไขได้ในเวลานี้ เพราะทั้งสื่อมวลชนและนักการเมืองก็ยึดว่าการสื่อสารด้วยการทำอกุศลกรรมบถทั้ง 4 ข้อนี้เป็นวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องสำหรับพวกเขา. ผมไม่ทราบว่าต่อไปคนไทยจะอยู่กันต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อบรรยากาศทั้งหมดของประเทศไทย เต็มไปด้วยความเท็จและความหลอกลวง. นักการเมืองหลอกประชาชน, ข้าราชการหลอกนักการเมือง, ประชาชนหลอกรัฐบาล, นักธุรกิจหลอกลูกค้า, นักธุรกิจหลอกคู่ค้า, ผู้ผลิตหลอกผู้บริโภค, ผัวหลอกเมีย และ เมียหลอกผัว, ครูหลอกลูกศิษย์, ลูกศิษย์เองก็หลอกครูอาจารย์, พระหลอกชาวบ้าน, ชาวบ้านเองก็หลอกลวงพระ, ฯลฯ. ดูแล้วหลอกลวงกันทุกหย่อมหญ้าของเมืองไทย.
ผมเคยอ่านคำทำนายของพระพุทธองค์ว่าสังคมจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต. อ่านแล้วไม่น่าเชื่อ เช่น พระพุทธองค์บอกว่าต่อไปพระสงฆ์ก็แค่มีผ้าเหลืองชิ้นเล็ก ๆ เป็นสัญลักษณ์. แต่เมื่อมองดูสังคมไทยในปัจจุบันแล้ว เห็นได้ชัดว่าพระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นแล้วว่า ในขณะที่เทคโนโลยีเจริญขึ้น สังคมจะยิ่งเสื่อมลง. ทรงทำนายว่าความเสื่อมนี้จะเพิ่มขึ้น ๆ จนในที่สุดโลกก็จะถึงแก่ความพินาศ. ความพินาศนั้นก็จะมาจากไฟประลัยกัลป์บ้าง จากน้ำบ้าง หรือจาก ลมบ้าง. เมื่อโลกพินาศไปแล้ว ชีวิตก็จะเริ่มต้นตั้งใหม่ แล้วสังคมก็จะเริ่มต้นกันใหม่ จะเจริญเพิ่มมากขึ้น แล้วก็จะเสื่อมไปในที่สุด. ทั้งหมดนี้ก็คือวัฏจักรที่เป็นมาเช่นนี้นับไม่ถ้วน.
เห็นความเป็นอนิจจังของสังคมไทยในปัจจุบันแล้ว หากเชื่อในวัฏจักรที่กล่าวมานี้ก็ต้องมองออกว่า สังคมไทยกำลังจะก้าวไปสู่ความพินาศ. เหลือเพียงอย่างเดียวคือ เราอยากจะให้สังคมไทยพินาศเร็วหรือช้าเท่านั้น.

___________________________

พยายามสร้างใจให้เป็นกุศล

พยายามสร้างใจให้เป็นกุศล

พ.ญ. อมรา มลิลา เป็นแพทย์ที่ใฝ่ธรรมะและได้ปฏิบัติธรรมมานานหลายสิบปีแล้ว. ความจริงท่านเป็นพี่สาวของเพื่อนร่วมรุ่นที่วิศวะจุฬาฯ ของผม แต่ผมไม่เคยพบท่านสักที. ผมรู้จักท่านแต่เฉพาะในหนังสือรวมคำบรรยายของท่านในที่ต่าง ๆ ซึ่งผมได้รับมาหลายเล่มจากเพื่อน. เมื่ออ่านหลาย ๆ เรื่องปะติดปะต่อเข้าด้วยกันแล้ว ก็จะเห็นภาพของการปฏิบัติของท่าน และ ของท่านอาจารย์สิงห์ทองผู้เป็นอาจารย์ของท่านได้อย่างชัดเจน.
ในวันนี้ ผมจะยกตัวอย่างมาเฉพาะเรื่องของความคิด. ปกติแล้วเราคิดอยู่ตลอดเวลา. เราคิดทั้งวัน ไม่ว่าจะตื่นหรือหลับ. ความคิดนี่เองที่ทำให้เกิดปัญหาทางจิตของเรา และ ในที่สุดก็ทำให้เกิดความเครียด. ทุกวันนี้เราคิดเรื่องการก่อการร้ายของคนที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ ทั้งในกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัด. เมื่อเราอ่านข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีผู้ทำลายร้านค้าและโจรกรรมข้าวของเราก็รู้สึกโกรธแค้นขึ้นมาทันที. บางครั้งความโกรธทำให้เรานึกแช่งผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ให้ตกนรกหมกไหม้ ถูกไฟแผดเผาไปตลอดกาล.
พ.ญ. อมรา ยกตัวอย่างท่านเองที่เคยถูกผู้อื่นทำให้ขุ่นใจว่า “ครั้งหนึ่งดิฉันเคยเชื่อว่า คน ๆ นี้ทำให้ดิฉันเหลือที่จะอภัยให้ได้ ถ้าอภัยแล้ว ต่อไปเขาก็จะไปทำอย่างนี้ให้คนอื่นเดือดร้อน ก็นึกว่าที่รักษาความเจ็บช้ำน้ำใจเอาไว้ ก็เพื่อเป็นประโยชน์กับโลก วันหนึ่ง เกิดได้คิดขึ้นมาว่า การที่เราไปนั่งจดจำความชั่วของเขาไว้ มันหนักโดยเปล่าประโยชน์
“ใจเราสมมุติเป็นตะกร้า เอาก้อนหินมาใส่เอาไว้ ประเดี๋ยวหูตะกร้าก็ขาดเปล่า ๆ แล้วถ้าเราเกิดตายไป เราก็ต้องไปเจอะเขาอีก เพราะเรายังไปผูกใจเอาไว้กับเขา มันก็เป็นแรงดูดให้เราไปเจอะไปเจอกับเขชาอีก ก็เลยตัดใจว่า เอาละ วันนี้อภัยให้หมด เพราะได้คิดแล้วว่า เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม จะตายเมื่อไหร่ต้องตายได้ นี่ออกจากบ้านเช้านี้อาจจะไปเจออุบัติเหตุ ก็น้อมใจอภัยอโหสิให้เขา
“ใจที่เคยหนักกระด้าง หงุดหงิด เปลี่ยนเป็นเบาสบาย และเกิดความชุ่มฉ่ำ เหมือนคนที่หิ้วของหนักจนมือล้า เชือกหูหิ้วบาดมือ เอาผ้ามารองไว้ก็ยังบาดทะลุผ้า จนมือชาเป็นเหน็บ แล้วของก็หลุดมือตกลงไป ทำให้รู้สึกเบาสบาย..ทำไมไม่รู้จักวางลงไปเสียก่อนก็ไม่รู้”
ผมยังไม่ได้ผ่านไปบริเวณที่ถูกไฟไหม้เพราะการก่อการร้าย. เมื่อเห็นภาพที่น่าเศร้าเหล่านั้น ผมเชื่อว่าพวกเราหลายคนคงจะต้องแช่งชักหักกระดูกผู้บงการและผู้ก่อการร้าย. การแช่งชักนั้นเป็นมโนกรรมที่เกิดกับจิตของเราเอง. เป็นการเอาหินมาใส่ตะกร้าจิตเหมือนที่คุณหมออมราอธิบายนั่นเอง. เมื่อเอาหินมาบรรทุกไว้แล้ว ตัวเราก็หนักเอง. ผู้บงการยังคงนั่งยิ้มหัวเราะอย่างสบายใจที่ได้ทำร้ายประเทศชาติ ส่วนตัวผู้ก่อการร้ายเองก็กำลังเพลิดเพลินกับทรัพย์สินที่โจรกรรมไปได้. ตัวเรานั่นแหละที่จะหงุดหงิดและเครียด. เราจึงต้องพยายามไม่แบกหินเอาไว้ในตะกร้าจิตของเรา.
คุณหมออมราอธิบายต่อไปว่า “ใจของเรา ที่จะไปกระทบกระเทือน เพราะผัสสะ ที่จะไปเพ่งโทษผู้อื่น เราไม่ทำ ที่จะพูดให้เกิดความขุ่นมัวหรือจะไปบ่นให้คนอื่นรกหู เราไม่ทำ เพราะเป็นเหตุให้เรามีอกุศลวจีกรรม เหมือนเอายาพิษมาแช่อิ่มตัวเอง เราสงบอยู่กับปัจจุบัน ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย
“อะไรจบแล้วก็จบอยู่ตรงนั้น แผ่เมตตา ขอให้เขาฉุกคิดได้ ขอให้เขามีบุญมีกุศล กลับเนื้อกลับตัวไปในทิศทางที่ดี เพราะถ้ายังทำอย่างนี้ต่อไป ความทุกข์เดือดร้อนจากการกระทำของเขาเอง คอยเขาอยู่อเนกอนันต์ หนักหนาเกินกว่าที่เราจะต้องไปทับถมซ้ำเติมเพิ่มให้เขาอีก
“เราเริ่มเข้าใจ อย่างนี้นี่เอง ท่านจึงสอนให้อภัยต่อกันเถิด ตั้งต้นกันใหม่ อยู่กับปัจจุบัน อย่าไปเอาของเก่ามาก่อกวนใจอีก เมื่อใจเห็นอย่างนี้ ไม่ว่าอะไรผ่านมาในชีวิตประจำวัน มันเป็นอาหารใจ ให้เราได้ลับสติปัญญาของเราทั้งนั้น”

(จาก หนังสือ รากแก้ว ความงอกงามแห่งใจ ของ พ.ญ. อมรา มลิลา)

คำสอนหลวงปู่เพียร

คำสอนหลวงปู่เพียร

ผมได้เคยเล่าประวัติของหลวงปู่เพียร วิริโย แห่งวัดป่าหนองกอง อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี ไปแล้วครั้งหนึ่ง. มาบัดนี้ ผมได้หนังสือประมวลคำสอนสั้น ๆ ของหลวงปู่เพียรมาอีกเล่มหนึ่งแล้ว. ผมจึงขอคัดเอาคำสอนของท่านมาเผยแพร่ให้ทราบดังนี้...
· โดยที่ท่านชื่อเพียร ดังนั้นคำสอนจำนวนมากของท่านจึงเน้นที่เรื่องความเพียร. เช่น...ความเพียร ให้เพียรสติ ให้อยู่ในกรอบของธรรม เพียรละกิเลส อันนี้จึงเรียกว่าผู้มีความเพียร อะไร ๆ ก็ดี แต่สู้ความเพียรไม่ได้ อย่าปล่อยใจให้คิดไปทางโลกมาก. ...ถ้ามีสติก็มีความเพียร ถ้าขาดสติความเพียรกก็ขาด ฝึกสตินี้ให้ดีให้มาก ความเพียรอยู่ที่สติ
...มรรค ผล นิพพานนั้น ต้องกระทำเอา เพียรเอา ถ้ามีความเพียรความมุ่งมั้น มันถึงจะได้ ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้อะไร
...ทำความเพียรนี่ล่ะมันดี เพียรละเพียรวาง ไม่ได้เพียรเอา เพียรดูกายดูใจตัวเองนั่นล่ะ ไม่ให้ไปไหน ดูให้มันเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เป็นอสุภะอสุภัง ให้เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นล่ะมันจึงดี สวรรค์นิพพานมันไม่ได้อยู่กับใคร มันอยู่กับใจเรานี่ล่ะ ภาวนาเพียรดูให้มันเห็นจิตเห็นใจตัวเอง มันอยู่กับใจเรานี่ล่ะ ภาวนาเพียรดูให้มันเห็นจิตเห็นใจตัวเอง
· คิดมากก็ฟุ้งซ่านมาก คิดออกไป ไม่คิดเข้ามาหาตัวเอง คิดส่งออกไปข้างนอก มันไม่ดี มันคิดมาก มันก็ไม่หยุดล่ะ ตัวเรามันมีแต่เรื่องไม่ดี คิดถึงเขา คิดถึงลูก ทำไมมันไม่คิดเรื่องเกิดเรื่องตาย คิดอะไรมากมาย โอ่ย...มันมีแต่เรื่องไม่ดี คิดตั้งแต่เกิดมันเป็นแต่โลกนะ โอ่ย...คิดมาก คิดมากมันก็ไม่เห็นพ้นทุกข์ คิดมากมันก็ทุกข์มาก ทำไมไม่ดูตัวเองว่ามันคิคอะไรมาก มันมีแต่เรื่องไม่ดี คิดมากมันมีแต่ใจเท่านั้นแหละเว่ย คิด กายมันไม่ได้คิด กายในก็เป็นของมันอย่างนั้น คิดออกไปมาก ไม่คิดเข้ามาหาใจของตัวเอง ว่ามันจะตายเมื่อไหร่ จะอยู่อีกนานแค่ไหน คิดมาตั้งแต่เกิด มั้นมีแต่เรื่องทุกข์ทั้งนั้นแหละ ไม่หยุด คิดมากฟุ้งซ่านมาก คิดมากมันมีแต่โลก มันไม่มีธรรมแหละเว่ย ก็คิดเข้ามาดูกายดูใจ ดูขน ผม เล็บ ฟัน หนังมันก็ดีอยู่ มันมีแต่ทางพ้นทุกข์ ทางอื่นมันไม่พ้นทุกข์เว่ย ดูตัวเองทำตัวเองนี่แหละ มันจึงพ้นทุกข์ ดูตัวเองซิล่ะ ว่ามันมีทางไหนเป็นของตัวเองบ้าง นั่งภาวนาปวด ดูซิว่าตรงไหนมันปวดมันเจ็บ ใครเจ็บ กายเจ็บหรือใจเจ็บ กระดูกเจ็บหรือหนังเจ็บ เอ็นเจ็บหรืออะไร ดูมันซิว่า อันไหนมันของเรา มันไม่มีของใครสักหน่อย มีแต่กองธาตุ มันประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่เห็นมีใครเป็นเจ้าของ เขาสมมุติมันมองไม่เห็น ตัวเรามันหลงนี่เว่ย ว่าเป็นเราเป้นเขา โอ่ย...มันดูไม่เห็น มันจึงทุกข์ มันดูไม่ออก ถ้าดูออก ทุกข์มันก็ไม่มาก พิจารณามันลงมาเป็นธรรมะซะ มันก็เบา ดูให้มันเป็นกองธาตุกองขันธ์ รวมลงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาซะ มันก็วาง มันก็หยุดหรอก ถ้ายังมีเรามีเขา มันก็ยังทุกข์มาก. มันยังหนุ่มยังแน่น มันก็คิดถึงสาว คิดถึงเขา รูป รส กลิ่น เสียง มันไม่ดูอสุภะว่าอันไหน ๆ มันก็ไม่จีรัง มันมีแต่ทางเสื่อม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มันมีแต่จะเสื่อมไป ๆ มันอยู่ไม่ได้ โอ่ย...มันจะดียังไง
· อย่าไปอยากรู้เรื่องของคนอื่น มันเป็นทุกข์ ให้สนใจเรื่องของตัวเอง คือเรื่องกายกับใจ ดูมันให้ชัด การภาวนาก็อย่าไปมั่นไปหมาย การไปคาดหมายนั้นจะทำให้เราไปติดในภพในชาติ การภาวนาก็ไม่สำเร็จ เพราะการคาดหมายนั้น มันปรุงมันแต่งไปต่าง ๆ นานา คาดหมายนั่นหมายนี่ ว่าเป็นเราเป็นเขา ดังนั้นการภาวนาท่านจึงให้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนังที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม มีอะไรเป็นของสวยของงาม ให้พิจารณาทีละอย่าง ตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ว่าสิ่งใดสวย พอมาประกอบเป็นคนเป็นมนุษย์ผู้หญิงผู้ชาย มีอะไรสวยอะไรงาม ถ้ามันว่าสวย มันไม่ตายเหรอ เอาไปได้ไหมสิ่งที่ว่าสวยว่างาม พิจารณาให้มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาให้เป็นอสุภะอสุภัง แล้วถามใจตัวเองว่า ยินดีกับมันอีกไหม ในร่างกายประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม เมื่อธาตุขันธ์แตกดับ เน่าเปื่อยผุพัง ย่อยสลายไป เอาอะไรไปได้บ้าง แม้กระทั่งกระดูก!

อ่านแล้วเราได้ความคิดอะไรไหมครับ? ความคิดของผมเองก็คือ อ่านแล้วก็เข้าใจความสำคัญและความจำเป็นของการปฏิบัติอย่างจริงจัง . ปัญหาก็คือ พวกเราเองก็ไม่ค่อยมีวินัยในการปฏิบัติ และ ไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง. พูดง่าย ๆ ก็คือยังไม่มีความเพียร. ถ้าใครเป็นอย่างนี้ ก็จะต้องขอชวนว่า เรามาเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เพียรกันเถอะ.