วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พยายามสร้างใจให้เป็นกุศล

พยายามสร้างใจให้เป็นกุศล

พ.ญ. อมรา มลิลา เป็นแพทย์ที่ใฝ่ธรรมะและได้ปฏิบัติธรรมมานานหลายสิบปีแล้ว. ความจริงท่านเป็นพี่สาวของเพื่อนร่วมรุ่นที่วิศวะจุฬาฯ ของผม แต่ผมไม่เคยพบท่านสักที. ผมรู้จักท่านแต่เฉพาะในหนังสือรวมคำบรรยายของท่านในที่ต่าง ๆ ซึ่งผมได้รับมาหลายเล่มจากเพื่อน. เมื่ออ่านหลาย ๆ เรื่องปะติดปะต่อเข้าด้วยกันแล้ว ก็จะเห็นภาพของการปฏิบัติของท่าน และ ของท่านอาจารย์สิงห์ทองผู้เป็นอาจารย์ของท่านได้อย่างชัดเจน.
ในวันนี้ ผมจะยกตัวอย่างมาเฉพาะเรื่องของความคิด. ปกติแล้วเราคิดอยู่ตลอดเวลา. เราคิดทั้งวัน ไม่ว่าจะตื่นหรือหลับ. ความคิดนี่เองที่ทำให้เกิดปัญหาทางจิตของเรา และ ในที่สุดก็ทำให้เกิดความเครียด. ทุกวันนี้เราคิดเรื่องการก่อการร้ายของคนที่ไม่หวังดีต่อประเทศชาติ ทั้งในกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัด. เมื่อเราอ่านข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีผู้ทำลายร้านค้าและโจรกรรมข้าวของเราก็รู้สึกโกรธแค้นขึ้นมาทันที. บางครั้งความโกรธทำให้เรานึกแช่งผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ให้ตกนรกหมกไหม้ ถูกไฟแผดเผาไปตลอดกาล.
พ.ญ. อมรา ยกตัวอย่างท่านเองที่เคยถูกผู้อื่นทำให้ขุ่นใจว่า “ครั้งหนึ่งดิฉันเคยเชื่อว่า คน ๆ นี้ทำให้ดิฉันเหลือที่จะอภัยให้ได้ ถ้าอภัยแล้ว ต่อไปเขาก็จะไปทำอย่างนี้ให้คนอื่นเดือดร้อน ก็นึกว่าที่รักษาความเจ็บช้ำน้ำใจเอาไว้ ก็เพื่อเป็นประโยชน์กับโลก วันหนึ่ง เกิดได้คิดขึ้นมาว่า การที่เราไปนั่งจดจำความชั่วของเขาไว้ มันหนักโดยเปล่าประโยชน์
“ใจเราสมมุติเป็นตะกร้า เอาก้อนหินมาใส่เอาไว้ ประเดี๋ยวหูตะกร้าก็ขาดเปล่า ๆ แล้วถ้าเราเกิดตายไป เราก็ต้องไปเจอะเขาอีก เพราะเรายังไปผูกใจเอาไว้กับเขา มันก็เป็นแรงดูดให้เราไปเจอะไปเจอกับเขชาอีก ก็เลยตัดใจว่า เอาละ วันนี้อภัยให้หมด เพราะได้คิดแล้วว่า เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม จะตายเมื่อไหร่ต้องตายได้ นี่ออกจากบ้านเช้านี้อาจจะไปเจออุบัติเหตุ ก็น้อมใจอภัยอโหสิให้เขา
“ใจที่เคยหนักกระด้าง หงุดหงิด เปลี่ยนเป็นเบาสบาย และเกิดความชุ่มฉ่ำ เหมือนคนที่หิ้วของหนักจนมือล้า เชือกหูหิ้วบาดมือ เอาผ้ามารองไว้ก็ยังบาดทะลุผ้า จนมือชาเป็นเหน็บ แล้วของก็หลุดมือตกลงไป ทำให้รู้สึกเบาสบาย..ทำไมไม่รู้จักวางลงไปเสียก่อนก็ไม่รู้”
ผมยังไม่ได้ผ่านไปบริเวณที่ถูกไฟไหม้เพราะการก่อการร้าย. เมื่อเห็นภาพที่น่าเศร้าเหล่านั้น ผมเชื่อว่าพวกเราหลายคนคงจะต้องแช่งชักหักกระดูกผู้บงการและผู้ก่อการร้าย. การแช่งชักนั้นเป็นมโนกรรมที่เกิดกับจิตของเราเอง. เป็นการเอาหินมาใส่ตะกร้าจิตเหมือนที่คุณหมออมราอธิบายนั่นเอง. เมื่อเอาหินมาบรรทุกไว้แล้ว ตัวเราก็หนักเอง. ผู้บงการยังคงนั่งยิ้มหัวเราะอย่างสบายใจที่ได้ทำร้ายประเทศชาติ ส่วนตัวผู้ก่อการร้ายเองก็กำลังเพลิดเพลินกับทรัพย์สินที่โจรกรรมไปได้. ตัวเรานั่นแหละที่จะหงุดหงิดและเครียด. เราจึงต้องพยายามไม่แบกหินเอาไว้ในตะกร้าจิตของเรา.
คุณหมออมราอธิบายต่อไปว่า “ใจของเรา ที่จะไปกระทบกระเทือน เพราะผัสสะ ที่จะไปเพ่งโทษผู้อื่น เราไม่ทำ ที่จะพูดให้เกิดความขุ่นมัวหรือจะไปบ่นให้คนอื่นรกหู เราไม่ทำ เพราะเป็นเหตุให้เรามีอกุศลวจีกรรม เหมือนเอายาพิษมาแช่อิ่มตัวเอง เราสงบอยู่กับปัจจุบัน ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย
“อะไรจบแล้วก็จบอยู่ตรงนั้น แผ่เมตตา ขอให้เขาฉุกคิดได้ ขอให้เขามีบุญมีกุศล กลับเนื้อกลับตัวไปในทิศทางที่ดี เพราะถ้ายังทำอย่างนี้ต่อไป ความทุกข์เดือดร้อนจากการกระทำของเขาเอง คอยเขาอยู่อเนกอนันต์ หนักหนาเกินกว่าที่เราจะต้องไปทับถมซ้ำเติมเพิ่มให้เขาอีก
“เราเริ่มเข้าใจ อย่างนี้นี่เอง ท่านจึงสอนให้อภัยต่อกันเถิด ตั้งต้นกันใหม่ อยู่กับปัจจุบัน อย่าไปเอาของเก่ามาก่อกวนใจอีก เมื่อใจเห็นอย่างนี้ ไม่ว่าอะไรผ่านมาในชีวิตประจำวัน มันเป็นอาหารใจ ให้เราได้ลับสติปัญญาของเราทั้งนั้น”

(จาก หนังสือ รากแก้ว ความงอกงามแห่งใจ ของ พ.ญ. อมรา มลิลา)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น