วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การแบ่งเวลาให้ชีวิต

การแบ่งเวลาให้ชีวิต

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน นี้ ผมได้ไปเปิดการสัมมนาด้านไอทีของนักศึกษาปริญญาโทและเอก ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม. ผมได้แนะนำนักศึกษาว่า เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว ขอให้รู้จักการแบ่งเวลาของชีวิตในแต่ละวันหรือสัปดาห์ออกเป็นสี่กลุ่ม คือ...
1. เวลาสำหรับทำงานหรือประกอบอาชีพ. เวลาในหัวข้อนี้ผมยังแยกออกเป็นสองส่วนย่อย คือ เวลาสำหรับทำงานตามหน้าที่จริง ๆ และ เวลาสำหรับเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงตัวเองให้มีความก้าวหน้าต่อไปในสายงาน หรือในด้านธุรกิจ.
2. เวลาสำหรับตนเอง. เวลาในหัวข้อนี้ ผมแยกออกเป็น เวลาสำหรับนอนหลับพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูพละกำลังและเกิดความสดชื่น, เวลาสำหรับการออกกำลังทั้งกายและสมองเพื่อให้ร่างกายมีความแข็งแรง, เวลาสำหรับนันทนาการ ซึ่ง ได้แก่ การทำงานอดิเรกที่ตนสนใจ, เวลาสำหรับปฏิบัติธรรมและศึกษาเรื่องราวของชีวิตให้เข้าใจลึกซึ้งขึ้น.
3. เวลาสำหรับครอบครัว. ได้แก่เวลาสำหรับใช้ในการดูแลบิดามารดา, ภริยาหรือสามี, บุตรธิดา. บุคคลเหล่านี้ย่อมต้องการเวลาจากเราในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการสงเคราะห์, การรับใช้, การช่วยเหลือ, การให้ความรู้ ฯลฯ.
4. เวลาสำหรับสังคม. ได้แก่เวลาสำหรับใช้ในการคบค้าสมาคมกับเพื่อนร่วมวิชาชีพ, เพื่อนร่วมสถาบัน, ญาติพี่น้อง, องค์การสาธารณกุศล ต่าง ๆ, ฯลฯ.

เมื่อเห็นหัวข้อของเวลาที่จะต้องนำมาพิจารณานั้น อาจจะแปลกใจเพราะมีหลายเรื่องจริง ๆ. ผมลองทบทวนการใช้เวลาของผมและเพื่อนหลาย ๆ คนดู ก็พบว่าหนีไม่พ้นที่จะต้องมีเรื่องเหล่านี้. ปัญหาก็คือบางคนใช้เวลาไม่ค่อยเหมาะสมนัก. เพื่อนบางคนใช้เวลาเข้าสังคมมากไปและไม่มีเวลาให้ครอบครัว ผลก็คือ ครอบครัวขาดความอบอุ่นและไม่มีความสุข. เพื่อนบางคนใช้เวลาส่วนใหญ่กับการทำงาน, ครอบครัว และ สังคม แต่ไม่มีเวลาให้ตนเอง ไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ ผลก็คือ เกิดความเครียดจนต้องจากไปก่อนเวลาอันสมควร. ผมไม่ทราบว่าแต่ละคนควรจะแบ่งเวลาเป็นสัดส่วนอย่างไรจึงจะเหมาะ เพราะต่างคนต่างก็มีเรื่องที่จำเป็นต้องทำต่างกัน. ดังนั้นขอให้พิจารณากันเองก็แล้วกันครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น