วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

ไทยจะไปทางไหนกัน

สวัสดีครับ

มีคนถามผมหลายคนว่าผมมองเหตุการณ์การประท้วงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง ผมตอบว่าผมมองเห็นเหมือนเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของโลก. ประเทศต่าง ๆ ต้องผ่านปรากฏการณ์นี้แทบทั้งนั้น ก่อนที่จะก้าวไปสู่ความสงบสุข. บังเอิญว่าเหตุการณ์ทำนองนี้เพิ่งเคยเกิดกับประเทศไทยในช่วงนี้ เราก็เลยตกอกตกใจกันมาก.

ในที่สุดแล้วเรื่องนี้ก็ต้องจบครับ. แต่ผมไม่ทราบว่าจะจบอย่างไร. ทุกวันนี้ผมไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ดูข่าวโทรทัศน์ ไม่ฟังวิทยุ เพราะมีแต่ข่าวไร้สาระ. นานมาแล้ว ผมเคยพูดอย่างเปิดเผยว่า ปัญหาของประเทศไทยส่วนหนึ่งก็คือ นักข่าว และ นักนิเทศ. คนเหล่านี้ได้รับการสอนมาว่าพวกเขาต้องมีจิตสำนึกของการเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง. ต้องไม่เข้าข้างใคร. พวกเขาสนุกกับการหาข่าวฝ่ายโน้นที ฝ่ายนี้ที. แต่พวกเขาลืมไปว่า เขาไม่ได้ยืนอยู่ระหว่างคนสองกลุ่มธรรมดา. หากกำลังยืนอยู่ตรงกลางระหว่างความเจริญก้าวหน้า กับ การก้าวถอยหลัง ของประเทศ. ก็ไม่เป็นไรครับ ยึดมั่นในหลักการต่อไปเรื่อย ๆ ก็ได้ ประเทศชาติก็จะได้ล่มจม ในตอนจบ..

เรื่องที่น่าสนใจมากกว่าสำหรับผมก็คือ การคิดหาทางสร้างระบบความมั่นคงให้กับระบบคอมพิวเตอร์. ผมสนใจในแง่นั้นมากกว่า. ธนาคารจะทำอย่างไรดี ระบบไอทีจึงจะสามารถคงทนต่อการก่อการร้ายได้. หน่วยงานราชการจะต้องทำอย่างไร ข้อมูลจึงจะไม่เสียหาย และ การบริการประชาชน ยังสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงัก. จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากคนกลุ่มใหญ่ที่กำลังประท้วงไม่ใช่คนไทย? แต่เป็นคนชาติอื่นที่เดินเกลื่อนกลาดในเมืองไทย? เราจะจัดการกับพวกเขาอย่างไร? แล้วในทางกลับกัน ถ้าคนที่เขาคิดว่าจะได้เป็นใหญ่เป็นโตใหม่ ต้องประสบปัญหาการประท้วงแบบนี้ พวกเขาจะทำอย่างไร?

เรากำลังอยู่ในช่วงที่น่าสนใจมากสำหรับประวัติศาสตร์ชาติไทย เมื่อเวลาผ่านไปสักห้าสิบปี เด็กไทย (ถ้ายังมีเหลือเชื้อพันธุ์อยู่) จะได้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงนี้ และใครทำอะไรให้ประเทศเจ็บปวดไว้บ้าง. ถ้าคนเหล่านี้ไม่โดนสาปแช่งไปทั้งตระกูลบ้าง ก็ให้รู้ไป. ลอ่งนึกถึงปาท่องโก๋ ที่เขาเรียกว่า อิ่วจาก้วย บ้างสิครับ ว่าประวัติเป็นมาอย่างไร.

ครรชิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น