วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553

แนวคิดเกี่ยวกับความรู้

สวัสดีครับ
ช่วงนี้เป็นระยะเวลาที่นักเรียนนักศึกษากำลังปิดภาคเรียน. ผมจึงคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะต้องแนะนำให้นักเรียนนักศึกษาเข้าใจความสำคัญของการเรียนอย่างมีวุฒิภาวะสักหน่อย. แน่นอนว่า ผมเคยเป็นนักเรียนนักศึกษามาก่อน และแม้ว่าเมื่อผมยังเด็กอยู่ผมก็เป็นนักเรียนดี แต่เวลานี้เมื่อผมนึกย้อนกลับไป ผมก็พบว่า การเรียนของผมนั้นเป็นไปตามยถากรรมจริง ๆ. หากสมัยนั้น ผมรู้วิธีเรียนอย่างถูกต้องแล้ว ผมเชื่อว่าผมจะเรียนได้ดีมากยิ่งขึ้น. การเรียนตามยถากรรม ที่ผมว่านี้ก็คือการเรียนโดยไม่ได้สนใจว่าจะเรียนไปทำไม, ไม่ได้ตั้งเป้าหมายของชีวิต, ไม่ได้วางแผน, ไม่ได้เตรียมความพร้อม, ไม่ได้เตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เหมาะสม, ไม่ได้ตรวจสอบความสามารถของตนเอง และ ไม่ได้สนใจปรับปรุงการเรียนให้ดีขึ้น.
ผมยังโชคดีที่ในช่วงที่ผมอยู่ในระดับมัธยมปลาย ผมได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับวิธีการเรียน ของ ดร. ก่อ สวัสดิพาณิชย์ อดีตนักการศึกษาและ รมว. กระทรวงศึกษา (ปัจจุบันได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว). หนังสือของท่านทำให้ผมปรับวิธีการเรียนของผมให้ดีมากขึ้น. แต่ผมก็ยังคงเรียนตามยถากรรมอยู่นั่นเอง.
เนื้อหาที่จะทำให้การเรียนของผมมีวุฒิภาวะดีขึ้นนั้น อยู่ในโมเดลสำหรับใช้ในการปรับปรุงการพัฒนาซอฟต์แวร์. โมเดลนี้เรียกว่า CMMI หรือ Capability Maturity Model Integration. เวลานี้ผมเป็นอาจารย์วิชา Introduction to CMMI ซึ่งเป็นวิชาที่สถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน จัดทำขึ้น. ผมได้รับการรับรอง (certify) จากสถาบันแห่งนี้ให้เป็นอาจารย์ผู้สอนวิชานี้คนแรกในเมืองไทย. ผู้เรียนก็คือบรรดานักพัฒนาและผู้บริหารงานซอฟต์แวร์ซึ่งต้องการเปลี่ยนสภาพการพัฒนาซอฟต์แวร์ตามยถากรรม เป็นการพัฒนาอย่างมีวุฒิภาวะ. เมื่อเริ่มสอน ผมมักจะบอกกับผู้เรียนว่า เมื่อเรียนและเข้าใจโมเดลนี้แล้ว พวกเขาจะเสียใจที่รู้โมเดลนี้ช้าไป. หากรู้เร็วกว่านี้ พวกเขาสามารถนำเนื้อหาไปใช้ในการเรียนให้ดีขึ้นได้.
เนื้อหา CMMI มีค่อนข้างมากและลึกซึ้ง. ดังนั้น ผมจะแนะนำเพียงสั้น ๆ ว่า การที่จะเปลี่ยนการเรียนตามยถากรรม ไปสู่การเรียนที่มีวุฒิภาวะมากขึ้นนั้น นักเรียนนักศึกษาจะต้องปรับปรุงตัวเองดังนี้...
  1. ต้องมีความตั้งใจจริง, มีฉันทะ และ ความมุ่งมั่นที่จะเรียนให้ดีขึ้น.
  2. พิจารณาตรวจสอบตัวเองว่า มีจุดอ่อนในด้านใดบ้าง (เช่น อ่อนทางด้าน ภาษาอังกฤษ, คณิตศาสตร์, การหาเหตุผล, การเขียน, การใช้คอมพิวเตอร์ ฯลฯ) แล้ว พยายามหาวิธีที่จะแก้ไขจุดอ่อนนี้.
  3. พิจารณาวางแผนการเรียน โดยมองไปที่เป้าหมายใหญ่ของชีวิต (อยากประกอบอาชีพอะไร, อยากทำงานที่ไหน, อยากศึกษาต่อถึงระดับใดและที่ไหน, อยากมีความสามารถระดับใด ฯลฯ) และ มองที่เป้าหมายในแต่ละปี. จากนั้นจึงกำหนดกิจกรรมที่จะต้องทำ และ วิชาที่จะเรียนในแต่ละปีไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดภาคเรียนแรก.
  4. จัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จะต้องใช้ในการเรียนให้ครบ. หาหนังสือ, ตำรา, เครื่องเขียน, เครื่องใช้ต่าง ๆ (รวมคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์) ที่จำเป็นสำหรับการเรียนตามที่สถานศึกษากำหนดให้ครบถ้วน. ถ้าหากไม่สามารถหาได้ครบ อาจจะต้องหาทางที่จะหยิบยืมอุปกรณ์นั้นมาใช้ในช่วงที่จำเป็นให้ได้.
  5. ศึกษาเนื้อหาของวิชาที่จะต้องเรียนในแต่ละภาควิชาล่วงหน้า. ตรวจสอบว่าเราจะต้องรู้พื้นฐานอะไรบ้าง, ต้องมีความรู้อะไรเพิ่มเติมจึงจะเรียนรู้เรื่องในวิชานี้ได้ดีบ้าง. ให้พิจารณาว่าจะต้องทำกิจกรรมอะไรบ้างในส่วนนี้ แล้วนำไปบันทึกไว้ในแผนงาน.
  6. ศึกษารายละเอียดของขั้นตอนต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนวิชาต่าง ๆ ในแต่ละภาคเรียน, ค่าบำรุงการศึกษาที่สถานศึกษากำหนด, ระยะเวลาต่าง ๆ ที่สำคัญ. จากนั้นนำรายละเอียดเหล่านี้บรรจุไว้ในแผน เพื่อไม่ให้เราหลงลืมวันที่ที่สำคัญได้.
  7. เมื่อถึงเวลาเรียน จะต้องใช้วิธีการเรียนที่เหมาะแก่แต่ละวิชา. แต่ไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไร เราจะต้องหัดจดบันทึกเนื้อหาที่เราได้เรียนในแต่ละคาบเอาไว้เสมอ. ก่อนเข้าเรียนแต่ละครั้งจะต้องทบทวนเนื้อหาที่จดบันทึกไว้ และ หัวข้อและเนื้อหาที่จะต้องเรียนในคาบนั้นไว้ล่วงหน้า. เตรียมคำถามสำคัญที่เราน่าจะเรียนรู้จากเนื้อหานั้นเอาไว้ล่วงหน้า. พิจารณาว่า ระหว่างการสอนนั้นอาจารย์ผู้สอน ได้ให้เนื้อหาที่ตอบคำถามที่เราสนใจหรือไม่. หากไม่ได้สอน เราควรตั้งคำถามนั้นให้อาจารย์ตอบ.
  8. ในแต่ละสัปดาห์ เราจะต้องติดตามตรวจสอบว่าการเรียนแต่ละวิชานั้น เราได้ผลตามที่เรามุ่งหมายหรือไม่. เราได้เข้าเรียนครบหรือไม่ครบ (เหตุใดจึงไม่ครบ? และ จะรีบศึกษาเพิ่มได้อย่างไร). นอกจากนั้นให้พิจารณาว่า เราได้ทำตามแผนการที่เราจัดทำขึ้นไว้หรือไม่. มีอะไรควรเปลี่ยนแปลงบ้าง.
  9. ก่อนถึงเวลาสอบทุกครั้ง ให้พิจารณาภาพรวมทั้งหมดของวิชาที่เรียนมา แล้วตรวจสอบว่า มีเนื้อหาเรื่องใดเป็นสาระที่สำคัญมากบ้าง. ลองถามตัวเองว่า ถ้าหากเราเป็นอาจารย์เอง เราจะบอกได้อย่างไรว่านักเรียนนักศึกษารู้เรื่องนั้นบ้าง และ ควรจะตั้งคำถามอะไร. เราควรศึกษาและทำโจทย์ต่าง ๆ ในตำราทั้งที่อาจารย์ใช้ และ ในเล่มอื่น ๆ ล่วงหน้า. ความสามารถในการตอบข้อสอบนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในการทำโจทย์มาก ๆ นั่นเอง.
  10. หลังจากการสอบกลางภาคแล้ว ควรพิจารณาว่าเรามีปัญหาอย่างไรบ้างในการตอบข้อสอบ. เหตุใดเราจึงทำโจทย์ได้หรือไม่ได้. จากนั้นให้หาทางแก้ไขจุดอ่อนที่พบ.
  11. หลังจากการสอบปลายภาคแล้ว เราควรพิจารณาเช่นเดียวกับการสอบกลางภาค. ถึงแม้ว่าเราจะเรียนวิชานั้นเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่เราก็อาจจะได้เรียนรู้จากประสบการณ์การสอบปลายภาคได้ด้วย. เรื่องที่จะเรียนรู้นี้จะเป้นประโยชน์ในภาคต่อ ๆ ไปด้วย.

รายละเอียดทั้ง 11 ข้อนี้ ไม่ใช่เทคนิคการเรียน. แต่เป็นเทคนิคการจัดการการเรียน เพื่อให้การเรียนเรามีวุฒิภาวะสูงขึ้น. การเรียนก็เหมือนกับงานอื่น ๆ นั่นคือต้องมีการจัดการ และ การเรียนรู้พร้อมกันไปด้วย. นั่นคือ เมื่อเราเรี่ยนจบไปหนึ่งวิชา เราควรจะรู้ในเรื่องต่อไปนี้คือ...

  1. เนื้อหาของวิชานั้นตามที่กำหนดไว้ในรายละเอียดเนื้อหาวิชา.
  2. เราได้จัดการการเรียนดีหรือไม่, ถูกต้องหรือไม่, และ มีอะไรควรแก้ไขปรับปรุงบ้าง.
  3. การเรียนวิชาในลักษณะนี้ในภาคต่อ ๆ ไป เราควรจะใช้วิธีเรียนแบบใด จึงจะเรียนได้ดีขึ้น.

เนื้อหาวันนี้อาจจะค่อนข้างยากสักหน่อยครับ. ต้องใช้เวลาครุ่นคิดสักหน่อย แต่นี่ก็คือหลักการพื้นฐานของ CMMI ซึ่งกำหนดว่า จะทำอะไรต้องมีการจัดการและต้องเรียนรู้พร้อมกันไปด้วย.

อ่านแล้วอย่าลืมนำไปใช้ปฏิบัตินะครับ

ครรชิต

1 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีปีใหม่ ไทยๆ ค่ะ
    ดีใจที่อาจารย์ ใช้ blog เป็นที่ให้ความรู้กับ ลูกศิษย์ และบุคคลทั่วไปค่ะ ประสบการณ์ของอาจารย์ ทุกด้าน ที่อาจารย์ได้นำมาเผยแพร่ ใน Website เก่า และ blog ใหม่นี้ เป็นประโยชน์มากค่ะ อย่างแนวคิดเกี่ยวกับความรู้นี้เป็นประโยชน์สำหรับ นักเรียนนักศึกษา มากค่ะ เพราะสมัยที่เป็นเด็ก หนังสือไม่ค่อยได้อ่านค่ะ จะอ่านก็ตอนสอบ ไม่เคยมีแผนการอะไรในชีวิต สงสัยที่ได้เรียน ITM กับอาจารย์ คงเป็นเพราะติดตัวมาจากชาติปางก่อน ค่ะ
    ขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรง คอยติดตามอ่าน ค่ะ

    ตอบลบ