วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

อุปักกิเลสสูตร

เมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้วผมได้ซื้อพระไตรปิฏกมาชุดหนึ่งจากกรมการศาสนา. จากนั้นก็ได้อ่านบ้างไม่ได้อ่านบ้าง เพราะอ่านยาก. วันนี้นึกขึ้นได้จึงไปหยิบเล่มที่ ๑๔ มาเปิดอ่าน อุปักกิเลสสูตร ในหน้า ๒๕๓. ซึ่งผมขอสรุปเฉพาะคาถาในส่วนแรกของพระสูตรนี้มาให้ท่านพิจารณา.
เนื้อหาของพระสูตรนี้เริ่มเมื่อครั้งพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระวิหารโฆษิตาราม เขตพระนครโกสัมพี. ในช่วงนั้นเองภิกษุในนครโกสัมพีเกิดขัดใจทะเลาะวิวาทกันและเสียดสีกันและกันด้วยฝีปาก. ต่อมา มีภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์และกราบทูลขอให้พระองค์เสด็จไประงับการวิวาทนั้น. พระพุทธองค์ทรงรับแล้วเสด็จไปยังที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้น แล้วตรัสห้ามภิกษุไม่ให้ทะเลาะแก่งแย่งกัน ถึงสามครั้ง. แต่ทุกครั้งก็มีภิกษุกราบทูลว่า ขอให้พระองค์อย่าทรงห้ามเลย ภิกษุยังต้องการทะเลาะกันอยู่ต่อไป. พระพุทธองค์จึงเสด็จหลีกไป. หลังจากที่พระพุทธองค์เข้าไปบิณฑบาตและเสวยพระกระยาหารแล้ว ทรงเก็บเสนาสนะ และ ประทับยืนตรัสพระคาถาว่า...
ภิกษุมีเสียงดังเสมอกัน ไม่มีใคร ๆ สำคัญตัวว่าเป็นพาล เมื่อสงฆ์แตกกัน ต่างก็มิได้สำคัญตัวกันเองให้ย่ง พวกที่เป็นบัณฑิตก็พากันหลงลืม มีปากพูด ก็มีแต่คำพูดเป็นอารมณ์ พูดไปเท่าที่ปรารถนาจะแสดงฝีปาก ไม่รู้เหตุที่ตนนำไป ก็ชนเหล่าใดผูกโกรธเขาว่า คนโน้นได้ด่าเรา คนโน้นได้ประหารเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่สงบ ส่วนชนเหล่าใดไม่ผูกโกรธเขารว่า คนโน้นได้ด่านเรา คนโน้นได้ประหารเรา คนโน้นได้ชนะเรา คนโน้นได้ลักของเรา เวรของชนเหล่านั้นย่อมเข้าไปสงบได้ เวรในโลกนี้ ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวรเลยในกาลไหน ๆ แต่จะระงับได้ด้วยไม่มีเวรกัน นี้เป็นธรรมดามีมาเก่าแก่ ก็พวกคนพวกอื่นย่อมไม่รู้สึกว่า พวกเราจะย่อยยับในที่นี้ แต่ชนเหล่าใดในที่นี้รู้สึก ความมาดร้ายกันย่อมสงบแต่ชนเหล่านั้นได้ คนพวกอื่นตัดกระดูกกัน ผลาญชีวิตกัน ลักโค ม้า ทรัพย์กัน แม้ชิงแว่นแคว้นกันยังมีคืนดีกันได้ เหตุไรพวกเธอจึงไม่มีเล่า ถ้าบุคคลได้สหายที่มีปัญญารักษาตัวร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์มีปรกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่ คุ้มอันตรายทั้งปวงได้ พึงชื่นชมมีสติเที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด ถ้าไม่ได้สหายที่มีปัญญารักษาตัวร่วมทางจร เป็นนักปราชญ์ มีปรกติให้สำเร็จประโยชน์อยู่ พึงเป็นผู้เดียวเที่ยวไป เหมือนพระราชาที่ทรงสละราชสมบัติ และ เเหมือนช้างมาตังคะในป่า ฉะนั้นการเที่ยวไปคนเดียวประเสริฐกว่า เพราะไม่มีความเป็นสหายกันในคนพาล พึงเป็นผู้ผู้เดียวเที่ยวไป และไม่พึงทำบาป เหมือนช้างมาตังคะมีความขวนขวายน้อยในป่าฉะนั้น.

ความจริงแล้วส่วนที่สองของพระสูตรนี้มีความสำคัญน่าศึกษามาก เพราะเป็นส่วนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าถึงเรื่องนิมิตที่เกิดระหว่างการทำสมาธิของพระองค์เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ในคืนวันที่พระองค์จะทรงตรัสรู้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น