วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

ผมจะเลิกเป็น SCAMPI Lead Appraiser

สวัสดีครับ
ผมได้รับอนุญาตให้เป็น SCAMPI Lead Appraiser จาก สถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์(SEI) แห่ง มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน เป็นเวลาร่วมสิบปี เมื่อเร็ว ๆ นี้ SEI ได้ส่งคำเตือนมาที่ผมให้รีบไปสอบ SCAMPI เพื่อจะได้ขึ้นทะเบียนเป็น Certified SCAMPI Lead Appraiser. กำหนดสอบคือในสิ้นเดือนนี้.

ความจริงถ้าผมจะไปสอบก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ผมรู้สึกเบื่อที่จะเป็นผู้ประเมินแล้ว. การประเมินแต่ละครั้งใช้เวลาผมนานมาก และรายรับก็ไม่คุ้มกับค่า Fee ซึ่งต้องจ่ายให้แก่ SEI เป็นรายปี. การสอบก็ต้องจ่ายเงิน ถ้าผมสอบเสร็จ ก็ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่อีก (เกือบสามแสนบาท). แต่ในช่วงปีนี้ก็ไม่มีลูกค้าที่สนใจให้ผมประเมินมากนัก. ผมก็เลยคิดว่าต้องหยุดสักทีแล้ว. อย่างไรก็ตามในปีนี้ผมยังเป็น Certified CMMI v1.2 Instructor อยู่ และปีนี้ก็เพิ่งสอนไปได้ครั้งเดียวเอง.

ในทัศนะของผมแล้ว CMMI เป็นโมเดลที่ดี แต่เจ้าของโมเดลค่อนข้างโหด. คือคิดเงินทุกอย่าง ใครเรียนก็ต้องจ่ายเงินให้ SEI. ใครเป้นผู้สอน เป็นผู้ประเมิน ก็ต้องจ่ายเงินให้ SEI. แถมมีกฎหยุมหยิมอีกมาก. เช่น ผมเองก็เป็นอาจารย์ด้วย. กฎของอาจารย์ก็คือ ต้องสอนทุกปี, ต้องไปลงทะเบียนเรียนวิชาเพิ่มเติมที่ SEI ทุกปี, หรือต้องทำวิจัยและเขียนบทความด้าน CMMI หรือ ไปร่วมประเมิน SCAMPI ด้วย. การไปเรียนเพิ่มเติมก็ดีแหละครับ แต่ค่าเครื่องบิน, ค่ากินอยู่ และ ค่าเรียนแต่ละหลักสูตรนั้นแพงมาก.

ประเทศไทยเวลานี้ก็มีผู้ประเมินอยู่อีกสองคน และ อาจารย์อีกหนึ่งคน. ผู้ประเมินทั้งสองต้องไปหากินในเมืองจีน เพราะเมืองไทยไม่ค่อยมีลูกค้า. กำลังหากินเพลิน ๆ SEI ก็ออกกฎมาอีกแล้วว่า จะประเมินบริษัทปีละหลาย ๆ แห่งไม่ได้. เขาจำกัดจำนวนมาให้เสร็จ ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ประเมินจะไม่มั่ว. ผมก็เลยคิดว่าหยุดให้คนไทยอีกสองคนมีลูกค้าจะดีกว่า. ลืมไปอีกนิดครับ คือมีฝรั่งมาหากินในการประเมินในเมืองไทยด้วยครับ.

มีคำถามว่า เราประเมิน SCAMPI ของบริษัทซอฟต์แวร์ไปทำไม? คำตอบก็คือเพื่อให้ได้ชื่อว่า ประเทศไทยมีบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพระดับโลกหลายบริษัทครับ. การประเมิน SCAMPI ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่า บริษัทใดผ่านการประเมินก็แสดงว่าบริษัทมีระบบการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดี่ น่าเชื่อถือ และ ไว้ใจได้. ประเทศที่มีบริษัทสนใจประเมินมาก ก็มี สหรัฐอเมริกา, อินเดีย, จีน, ญี่ปุ่น, ยุโรป, และ ออสเตรเลีย. ทางอาเชียนก็สนใจมากเหมือนกันครับ. อย่างเช่น ฟิลิปปินส์นั้น ผมเคยไปสอนเรื่องนี้ก่อน จากนั้นเขาก็สนใจและพัฒนาคน และ ความรู้ในเรื่องนี้ จนกระทั่งมีบริษัทที่ผ่านการประเมินมากกว่าไทยเสียอีก. ที่เวียตนามผมก็ไปสอนหลักการให้แก่บริษัทของรัฐบาลด้วย. แต่ไม่ได้สอนเต็มรูปแบบ ผมดัดแปลงหลักสูตรไปเป็นส่วนหนึ่งของวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์. สำหรับบริษัทไทยนั้น ความจริงก็สนใจอยู่มาก. แต่ไม่อยากควักกระเป๋าประเมิน ต้องรอให้ทางการเช่น ซอฟต์แวร์พาร์ก และ สวทช. เข้ามาให้ทุนอุดหนุน จึงจะยอมประเมิน.

SCAMPI นั้นย่อมาจาก Standard CMMI Appraisal Method for Process Improvement และ เป็นแนวทางการประเมินว่าบริษัทใช้โมเดล CMMI อย่างถูกต้องตามหลักการ. ขอให้สังเกตด้วยว่า การประเมินนี้มีคำว่า Process Improvement ด้วย. นั่นหมายความว่า การประเมินนั้นมีวัตถุประสงค์ที่จะนำผลที่ได้รับจากการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น. แต่ไป ๆ มา ๆ การประเมินเวลานี้ ไปมุ่งเน้นที่การได้ใบประกาศที่แสดงว่าบริษัทบรรลุวุฒิภาวะระดับใดมากกว่าการที่จะนำผลลัพธ์ไปปรับปรุง. อีกนัยหนึ่งก็คือ บริษัทซอฟต์แวร์ก็เริ่มเอาแนวคิดเด็ก ๆ ที่เรียนเอาใบปริญญามาใช้แทนเสียแล้ว.

ถ้าเรายังปรับความคิดเรื่องการได้หน้า, การได้ประกาศนียบัตร, การโฆษณา, การอวดตัว, หรืออะไรต่อมิอะไรแบบนี้แล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้การปฏิบัติงานมีคุณภาพมากขึ้นจริง. ลงท้าย การประกาศว่าบริษัทได้วุฒิภาวะระดับใด ก็ไร้ความหมาย.

ครรชิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น