วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พจนานุกรมแห่งความสำเร็จตอนที่ 5

Statistics สถิติ ความรู้เรื่องสถิติมีความสำคัญต่อคนยุคใหม่มาก ทุกวันนี้เราได้อ่านสถิติต่าง ๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นประจำ สถิตินั้นเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเห็นภาพของเหตุการณ์อันนำมาซึ่งสถิตินั้นได้ชัดเจนขึ้นก็จริงอยู่ แต่นักสถิติบางคนใช้สถิติในการโกหกหรือหลอกลวงผู้ที่ไม่รู้เท่าทัน เช่นบริษัทแห่งหนึ่งอาจให้สถิติว่าพนักงานมีรายได้เฉลี่ยคนละ 50,000 บาทต่อเดือน ซึ่งดูดีมาก แต่บริษัทแห่งนี้อาจจะมีพนักงาน 11 คน ในจำนวนนี้พนักงาน 10 คนมีรายได้เพียง 5,000 บาทต่อเดือน และ เจ้าของบริษัทได้เงินเดือน 500,000 บาทต่อเดือน หรือในกรณีของ GDP ของประเทศก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้แปลว่าประชาชนแต่ละคนได้เงินมากเท่าที่ระบุ นักศึกษาที่ต้องทำวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัยเชิงจำนวน มีความจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องสถิติและสามารถแปลความหมายของค่าสถิติได้อย่างถูกต้องเพื่อให้สามารถสรุปผลงานวิจัยได้อย่างแม่นยำ สถิติเป็นวิชาหนึ่งซึ่งเราจะใช้ประโยชน์ได้ตลอดชีวิต

Think คิด การคิดเป็นกิจกรรมทางสมองซึ่งเราหยุดได้ยาก เพราะคนเราส่วนมากนั้นคิดตลอดเวลา คิดถึงเรื่องอดีต คิดถึงเรื่องอนาคต คิดถึงคนนั้น คิดถึงความผิดพลาดที่เคยทำ คิดแค้นใจที่ถูกใส่ร้าย คิดน้อยใจที่คนอื่นไม่ให้ความสำคัญ จะเห็นว่าการคิดเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่มีความหลากหลายมากจนกระทั่งมีนักวิชาการหยิบยกเรื่องคิดมาเขียนอธิบายการคิดแบบต่าง ๆ มากมายหลายเล่ม นักเขียนทางตะวันตกที่มีชื่อก็คือ เอ็ดเวิรด เดอ โบโน ซึ่งนำแนวคิดแบบ lateral thinking มาเผยแพร่ในหนังสือต่าง ๆ และ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ก็ได้เขียนเรื่องความคิดเป็นหนังสือภาษาไทยหลายเล่ม การคิดนั้นทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นสังขารอันเป็นต้นเหตุให้เกิดความวุ่นวายต่าง ๆ ตามมา ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะคิดให้เป็น, คิดในทางบวก, คิดเชิงระบบ, และ คิดด้วยความเมตตาอยู่เสมอ

Understand เข้าใจ การเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งนั้นต้องประกอบด้วยการรู้รายละเอียดของเรื่องนั้น, รู้ที่มาที่ไป, รู้เหตุและผล, รู้คุณและโทษ และรู้วิธีที่จะใช้ประโยชน์จากเรื่องนั้น เมื่ออาจารย์ทั้งหลายสอนเนื้อหาสำคัญจบ อาจารย์อาจจะถามว่าที่อธิบายไปนี้เข้าใจหรือไม่ ส่วนมากนักศึกษาก็มักจะนั่งเฉยไม่ได้ตอบสนองซึ่งเป็นสัญญาณว่าเข้าใจเรื่องที่อาจารย์อธิบาย แต่ทว่า นักศึกษาเข้าใจจริงละหรือ นักศึกษารู้ประเด็นต่าง ๆ ที่ยกมาข้างต้นหรือไม่ ถ้ารู้แต่เพียงว่าอาจารย์สอนเรื่องอะไรจบไป นั่นแสดงว่านักศึกษายังไม่เข้าใจเนื้อหานั้นดีพอ
ตัวอย่างสำคัญก็คือพุทธศาสนาซึ่งคนไทยส่วนใหญ่นับถือ เราเรียนมาว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจจ์สี่ เราเรียนมาว่าอริยสัจจ์สี่ประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค การที่เราเรียนเรื่องนี้อาจทำให้เรารู้จักว่าอริยสัจจ์สี่ประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่พวกเราส่วนมากก็ยังไม่เข้าใจอริยสัจจ์สี่อยู่นั่นเอง เพราะการรู้แบบนี้ยังไม่ใช่การเข้าใจ
การเข้าใจจะต้องศึกษาไตร่ตรองเรื่องนั้นให้ลึกซึ้งมากขึ้น เห็นความเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ รู้ว่าเรื่องนั้นเป็นเหตุเป็นผลกันอย่างไร ทำไมจึงเกิดเรื่องนี้ขึ้น และจะนำไปใช้ได้อย่างไร
ถ้าหากเราลองพิจารณาเรื่องที่ง่ายกว่านี้อีกสักหน่อย คือการหาพื้นที่รูปสามเหลี่ยม เรารู้จักสูตรว่า พื้นที่สามเหลี่ยม = ความสูง X ความยาวฐาน / 2 แต่เราเข้าใจเรื่องนี้หรือไม่ว่า พื้นที่คืออะไร, ความสูงคืออะไร, เหตุใดสูตรจึงออกมาเช่นนี้, สูตรนี้ใช้ได้กับรูปสามเหลี่ยมทุกแบบหรือไม่ และเราจะนำสูตรนี้ไปใช้ได้อย่างไร ถ้าหากเราตอบคำถามเหล่านี้ได้ก็แสดงว่าเราเข้าใจเรื่องนี้จริง
นักศึกษาต้องเรียนรู้ทุกเรื่องที่กำหนดไว้ในวิชาที่เรียนในหลักสูตร (รวมทั้งเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นของแต่ละวิชา) ให้เข้าใจ เพื่อที่นักศึกษาจะได้สามารถกล่าวได้ว่า สามารถนำความรู้นั้นไปใช้ได้จริง

Vision วิสัยทัศน์ วิสัยทัศน์คือภาพในอนาคตของสิ่งที่เราต้องการจะเป็น โดยปกติแล้ว เรามักจะกำหนดให้องค์การทุกแห่งต้องกำหนดวิสัยทัศน์ แต่ไม่ใช่เฉพาะองค์การเท่านั้น แม้แต่ตัวเราเองก็ควรกำหนดวิสัยทัศน์ของตัวเราด้วย นักศึกษาต้องถามตนเองว่า ในห้าปี สิบปี หรือ ยี่สิบปีข้างหน้านั้น นักศึกษาอยากเป็นอะไร อยากทำงานอะไร อยากได้ตำแหน่งอะไร เมื่อกำหนดได้แล้ว เราจึงแปลงวิสัยทัศน์ระยะยาวนี้ให้เป็นเป้าหมายสำหรับการเดินทางของชีวิตในระยะต่าง ๆ ได้ แน่นอนว่าเป้าหมายสำคัญที่จะต้องกำหนดก็คือการศึกษาให้สำเร็จตามหลักสูตรภายในระยะเวลาที่กำหนด ต่อจากนั้นก็กำหนดเป้าหมายลำดับถัดไปว่าจะเป็นอะไรหรือได้ตำแหน่งอะไรต่อไป นักศึกษาทุกคนควรกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายให้ชัดเจนเพื่อที่เราจะได้มีจุดหมายของชีวิตที่ชัดเจน และเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นที่จะเดินไปตามเส้นทางที่เราคาดหวังไว้ แม้ว่าในที่สุดแล้ว เราจะเดินไปสู่ปลายทางสุดท้ายที่เดียวกันก็ตามที

Wisdom ปัญญา การศึกษาอย่างจริงจังทำให้เกิดความรู้ แต่ความรู้ยังไม่ใช่เป้าหมายสำคัญของการศึกษา เป้าหมายหลักก็คือปัญญาต่างหาก ปัญญาคือความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งจนกระทั่งบอกได้ว่า เรื่องนั้นจริงหรือไม่จริง, ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง อีกนัยหนึ่งคือเป็นเรื่องที่เป็นสัจธรรมที่เป็นจริงเสมอหรือไม่ ด้วยเหตุนี้เองปัญญาจึงเป็นผลสุดท้ายของการเรียนรู้ การไตร่ตรอง และ การพิจารณาโลกและสิ่งต่าง ๆ โดยไม่นำความคิดเห็นของตนเองเข้าไปเกี่ยวข้องจนเกิดความลำเอียง การปลูกฝังให้เกิดปัญญาเป็นเรื่องยาก แต่ก็อาจทำได้โดยการศึกษาศาสนาที่นักศึกษาเชื่อถือและปฏิบัติตามคำสอนนั้นอย่างจริงจังตลอดเวลา

X-Ray เอ็กซเรย์ ทุกคนรู้จักเอ็กซเรย์ว่าเป็นรังสีที่ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นภาพอวัยวะภายในของเราเพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติได้ แต่ในอีกทางหนึ่งเราสามารถใช้คำนี้ในความหมายของการสืบค้นลงไปถึงเบื้องหลังหรือเบื้องลึกของสิ่งต่าง ๆ ได้ โลกมนุษย์มีความซับซ้อนมาก และมนุษย์ส่วนมากก็สวมทั้งหัวโขน และ ใส่ทั้งหน้ากาก จนเราไม่สามารถมองเห็นใบหน้าที่แท้จริงที่ถูกปิดบังอยู่ได้ แต่แม้จะเห็นใบหน้าที่แท้จริงแล้ว แต่ก็ยังไม่อาจรู้ว่าใจของผู้นั้นเป็นอย่างไรอยู่นั่นเอง ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องฝึกฝนสร้างความสามารถของเราให้มองทะลุลงไปถึงความรู้สึกหรือความต้องการที่แท้จริงของแต่ละคนได้ หรือมองทะลุลงไปถึงก้นบึ้งหรือสาเหตุของเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ ยิ่งในสังคมปัจจุบันนี้มีปรากฏการณ์การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น เรายิ่งต้องใช้ตาเอ็กซเรย์มองให้เห็นความเป็นจริงของปรากฏการณ์เหล่านั้นให้ได้ การที่จะมีตาเอ็กซเรย์จริง ๆ นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่การฝึกฝนก็คือการสังเกตเรื่องราวที่อ่านและได้ยิน, การใช้เหตุผล, การสืบค้น, การสอบทาน, การไตร่ตรอง และ พิจารณาสิ่งต่าง ๆ อย่างจริงจัง โดยวิธีนี้จะทำให้เราเข้าใจโลกนี้มากขึ้น และไม่หวั่นไหวหรือหลงคารมคำพูดที่ปราศจากความจริงใจได้

Yardstick เครื่องวัด คำนี้ความหมายแท้ ๆ อาจจะหมายถึงไม้วัดเหมือนที่เห็นในร้านขายผ้า แต่โดยอนุโลมแล้วอาจจะหมายถึงเครื่องวัดหรือดัชนีวัดเรื่องต่าง ๆ ได้ด้วย เมื่อเราลองพิจารณาร่างกายของเราเองแล้วจะพบว่าในทางด้านการรักษาสุขภาพนั้น ทางด้านการแพทย์ได้กำหนดัชนีต่าง ๆ เอาไว้มากมาย เช่น การใช้ดัชนีมวลกายสำหรับวัดความอ้วน, ดัชนีไขมันต่าง ๆ สำหรับวัดระดับไขมันในเลือด, ดัชนีน้ำตาลสำหรับวัดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน ฯลฯ นักศึกษาเองก็มีตัววัดที่สำคัญคือ “ระดับคะแนน” แต่ตัววัดนี้ยังไม่พอเพียงที่จะระบุว่านักศึกษาจะประสบความสำเร็จตามหลักสูตรหรือไม่ เราต้องมีตัววัดเพิ่มเติมซึ่งนักศึกษาอาจจะต้องกำหนดขึ้นก่อน และต้องเก็บข้อมูลด้วยตนเองเช่น
จำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการอ่านตำราต่อสัปดาห์
จำนวนข้อของแบบฝึกหัดที่สามารถทำได้ถูกต้องในครั้งแรก
จำนวนเวลาที่ใช้ในการเขียนคำอธิบายเนื้อหาวิชาต่อหน้า
จำนวนเนื้อหาที่เรียนแล้วไม่เข้าใจต่อสัปดาห์
จำนวนกิจกรรมที่ทำสำเร็จตามแผนในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ฯลฯ
ดัชนีเหล่านี้จะบอกให้เราเห็นว่า เรามีความสามารถในการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด และจะสามารถศึกษาได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้หรือไม่
ดัชนีเป็นเครื่องมือของการบริหารจัดการยุคใหม่ซึ่งนักศึกษาควรฝึกฝนใช้งานตั้งแต่ขณะนี้เป็นต้นไป

Zeal กระตือรือร้น คนไทยจำนวนมากไม่ค่อยกระตือรือร้นในเรื่องต่าง ๆ ยกเว้นแต่ในเรื่องสนุกสนาน, เพลิดเพลิน, หรือไร้สาระ เมื่ออาจารย์สั่งการบ้านให้ทำ ก็ไม่รีบทำให้เสร็จสิ้นไปตั้งแต่แรกได้รับคำสั่ง ยังคงโอ้เอ้อยู่จนกระทั่งใกล้จะหมดเวลา จึงลงมือทำ และก็อาจจะพบว่าไม่มีเวลาพอที่จะทำให้ได้ผลงานที่ดี ผลของการขาดความกระตือรือร้น ทำให้เกิดความเฉื่อยแฉะ และไม่ตรงต่อเวลา นิสัยนี้กำลังกลายเป็นนิสัยประจำชาติซึ่งทำให้คนไทยไม่สามารถแข่งขันกับคนชาติอื่นได้ในระยะยาว นักศึกษาจึงจำเป็นต้องปลุกตัวเองให้มีความกระตือรือร้นที่จะเรียน และทำวิจัยตามที่ได้รับมอบหมาย การเข้าห้องเรียนช้าเพราะอ้างว่าการจราจรคับคั่ง หรือ รถติด นั้นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ความจริงแล้วเราควรกระตือรือร้นที่จะตื่นเร็วกว่าเดิม หรือออกจากบ้านให้เร็วกว่าเดิมต่างหาก ความกระตือรือร้นจึงเป็นนิสัยที่เราต้องช่วยกันปลูกฝังขึ้นในตัวของพวกเราทุกคนโดยด่วน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น