วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

จิตตวิเวก

จิตตวิเวก
ธรรมจากจิตอันสงบ
ธรรมบรรยายของพระสุเมธาจารย์
น.พ. วิเชียร สืบแสง แปล
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔: ๒๒ เมษายน ๒๕๔๕

คุณหมอวิเชียร สืบแสง เป็นผู้แปลธรรมบรรยายของท่านสุเมธาจารย์ หรือท่านสุเมโธภิกขุหลายเรื่องออกมาตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓. ผมเคยอ่านประวัติของท่านสุเมโธ มาบ้างแล้ว ใน You tube ก็มีอัตชีวประวัติที่ท่านเล่า. ท่านอาจารย์สุเมโธเป็นพระภิกษุชาวอเมริกันผู้เป็นศิษย์เอกของหลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง. การอ่านครั้งนั้นผมประทับใจมากกับการพยายามนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในอังกฤษของท่านสุเมโธ จนกระทั่งสามารถสร้างวัดและมีผู้สนใจมาศึกษาและปฏิบัติธรรมมาก. ผมไม่ทราบว่ามีผู้เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับศาสนาพุทธในอังกฤษตั้งแต่ยุคแรก ๆ บ้างหรือไม่. ถ้ามีก็น่าจะมีคนแปลออกมาให้คนไทยอ่านกันบ้าง. ผมเองก็ทราบเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการเขียนของอาจารย์หลายท่าน แต่ถ้าจะลงลึกไปถึงความคิดของคนอังกฤษ ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ก็จะทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้มากขึ้น. คำบรรยายของท่านอาจารย์สุเมโธในหนังสือเล่มเล็ก ๆ นี้ก็มีการเปรียบเทียบวัฒนธรรมของอเมริกันและอังกฤษเอาไว้บ้างเหมือนกัน แต่ยังไม่มากนัก.
ผมได้หนังสือนี้มาจากแผงหนังสือสนามหลวงในระหว่างงานสัปดาห์วิสาขบูชา ปี 2553 นี้เอง. เมื่ออ่านแล้วก็ประทับใจในการสอนของท่านมาก. ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะผมคุ้นเคยกับความคิดของฝรั่งต่างชาติสมัยทำงานที่เอไอทีมานานร่วม ๒๓ ปี. ทำให้ผมเข้าใจเหตุผลที่ท่านสอน และ ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างผมกับเพื่อนร่วมงานฝรั่งได้เป็นอย่างดี. ผมจะไม่กล่าวถึงเรื่องเหล่านั้น แต่จะขอยกคำสอนบางส่วนของท่านที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ปัจจุบันมาไว้ในที่นี้.
“โลกของเราทุกวันนี้ขาดเมตตาธรรม เพราะเราพัฒนาความสามารถในด้านตำหนิติเตียนกันมากจนเกินไปป เราชอบวิพากษ์วิจารณ์อยู่เป็นนิจ เราอยู่กับความหลงผิดที่ติดอยู่กับตัวเราเอง กับผู้อื่น และกับสังคมที่เราอาศัยอยู่ เมตตาธรรมนั้นหมายถึงว่าเราจะไม่อยู่กับความเกลียดชัง แต่จะมีความปรารถนาดีและอดทน แม้กระทั่งกับสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง มันง่ายที่จะเมตตาสงสารคนที่เราชอบพอหรือเด็กเล็ก ๆ น่าเอ็นดู หรือคนชราซึ่งเราไม่จำเป็นต้องไปอยู่ด้วย และมันก็ง่ายที่จะมีความปรารถนาดีกับคนที่มีปรัชญาและแนวคิดทางการเมืองตรงกัน และกับคนที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่เป็นการยากที่จะเมตตาคนที่เราไม่ชอบ คนที่เป็นภัย หรือคนที่น่ารังเกียจ เพราะต้องใช้ความอดทนอย่างมากทีเดียว”
ลองพิจารณาดูจิตของตัวเองดีไหมครับว่า เหตุการณ์ทุกวันนี้ทำให้เราโกรธเกลียดใครบ้าง. แต่เราจะยุติความโกรธเกลียดนี้ได้ด้วยการมีเมตตาได้อย่างไร? คนเหล่านี้เผาบ้านเผาเมือง, ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียทรัพย์สินและขาดเครื่องมือทำมาหากิน, ทำให้หลายคนเสียชีวิตและพิการ, ทำให้อาคารสำคัญของราชการต้องพินาศ, ฯลฯ.
ท่านสุเมโธเฉลยว่า “ในขั้นแรก เราจะเริ่มที่ตัวเราก่อน เป็นธรรมเนียมทางพุทธศาสนาที่จะเริ่มแผ่เมตตา เราจะเริ่มด้วยเมตตาตนเองก่อนเสมอ ทั้งนี้มิได้หมายความว่า “ฉันรักตัวฉันเอง” แต่หมายความว่าเราจะไม่เกลียดชังตัวเราเองอีกต่อไป เราจะส่งความปรารถนาดีไปยังสภาวะต่าง ๆ ของกายและใจ เราจะแผ่เมตตาและอดทนต่อความผิดพลาด ความคิดชั่ว อารมณ์ร้าย โทสะ ตัณหา ความกลัว ความสงสัยลังเลใจ ความอิจฉาพยาบาท ความหลง ทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งไม่น่านิยมชมชอบเกี่ยวกับเรา”
ท่านอธิบายเรื่องนี้อีกมากแล้วมาลงที่ “ก่อนที่เราจะไปเปลี่ยนแปลงที่สังคม เราต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน โดยแผ่เมตตาให้แก่สภาพของกายและจิต เมื่อเราป่วย เราเมตตาต่อโรคที่กำลังเป็นอยู่นี้ มิได้หมายความว่าเราจะช่วยให้โรคมันอยู่นาน ๆ หรือปฏิเสธไม่ยอมรับยาปฏิชีวนะ เพราะเรามีเมตตาเกรงว่ายาจะไปฆ่าเจ้าตัวจุลิทรีย์เล็ก ๆ ที่มันเล่นงานเราอยู่ แต่หมายความว่าเราจะไม่ตั้งข้อรังเกียจเอากับความไม่สบายและความอ่อนเพลียทางกายที่กำลังป่วยอยู่ เราสามารถเรรียนทำสมาธิในขณะเป็นไข้ หรือกำลังอ่อนเพลีย หรือเมื่อขบตามร่างกาย เราไม่ต้องไป (ไม่) ชอบใจมัน ที่เราต้องทำนั้นคืออดทนกับมัน เข้าใจมัน ไม่ไปเกลียดมัน ถ้าเราขาดเมตตาธรรม เราก็มักจะไปตอบโต้กับสภาวะเหล่านั้น ด้วยความอยากที่จะขจัดมันไปเสียแล้ว เจ้าความอยากนั้นเองจะทำให้เราท้อแท้และหมดอาลัย”
การมีเมตตาธรรมนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากแต่ในสถานการณ์ที่มีข่าวเรื่องราวร้าย ๆ เกิดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์และในเว็บต่างๆ ตลอดเวลานั้น เราก็อาจจะมีเมตตาธรรมต่อไปไม่ไหว. ดังนั้นเราควรพิจารณาหาทางเรียนรู้ความเป็นจริงของโลกต่อไป.
ท่านสุเมโธสอนว่า “สมาธิภาวนา คือ รู้สภาพความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา รู้ทันถึงสภาพของจิตตามที่เป็นอยู่ คนไร้ปัญญาจะไม่เข้าใจในเรื่องอย่างนี้ เขาคิดว่าสภาพของจิตคือตัวเขาเอง หรือไปคิดว่าเขาไม่ควรมีสภาพอย่างนั้น ควรเป็นอย่างอื่น ถ้าท่านเป็นบุคคลที่เล็งผลเลิศ ท่านก็อยากจะเป็นคนดี เป็นนักบุญ ฉลาด น่าเคารพ และองอาจกล้าหาญ ซึ่งเป็นลักษณะที่ดีงามที่สุดของมนุษย์ปุถุชน ทั้งหมดนี้เป็นอุดมการณ์ที่น่าสนใจน่าปรารถนา แต่แล้วท่านก็ต้องมาเผชิญกับความจริงในชีวิตประจำวัน เราจะพบว่าเรายังติดอยู่กับความโกรธ ความริษยา และความโลภ คิดมิชอบต่อผู้อื่น ซึ่งถ้าหากเราอยากจะเป็นคนดีมีอุดมคติ เราก็ไม่ควรมีอารมณ์อย่างนั้น แล้วเราก็ไปตีโพยตีพายว่า “ตัวเรานั้นยังห่างไกลกับการจะเป็นคนดี เราหมดหวังเสียแล้ว เป็นคนเลวใช้ไม่ได้!” ทำไม? ก็เพราะสภาพจิตของเรายังไม่สอดคล้องกับอุดมคติเสมอไปนัก บางครั้งเราทำได้ บางครั้งทำไม่ได้ก็เกิดความสงสัยลังเลใจ

“ทีนี้ เราสามารถจะรู้ทันสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ต้องพยายาม อยากจะมี อยากจะเป็น คือ รู้ว่าสภาวะทั้งหลายทั้งปวงนั้น มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น เอาเถอะไม่ว่ามันจะสูงส่งองอาจ กล้าหาญ หรือ อ่อนแอ หรือโง่เขลาเบาปัญญา มันก็เป็นเพียงสภาวะที่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งเราไม่อาจจะรู้ล่วงหน้าและควบคุมได้ ฉะนั้น ให้เริ่มรู้ทันเสียแต่บัดนี้ว่า สังขารในขั้นที่ยังมีการปรุงแต่งอยู่นั้น ทุกสิ่งทุกอย่างมันเกี่ยวข้อง่งผลต่อกันอยู่ ไม่มีทางที่เราจะแยกตัวของเราเอง ออกจากทุกสิ่งทุกอย่างได้โดยสิ้นเชิง ดังนั้นในขั้นนี้เราทำอะไรไม่ได้มากนัก นอกจากให้รู้ทันเอาไว้ มีทางออกอยู่ทางหนึ่งก็คือ ให้ประกอบแต่กรรมดี ถ้าท่านมีสติปัญญา ท่านจะใช้กายวาจาของท่านด้วยวิธีอันแยบคายต่อสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย และต่อโลกที่ท่านอาศัยอยู่ คือใช้ด้วยความมีเมตตากรุณาและมีคุณธรรม
“ในจิตใจของบุคคลนั้น อะไร ๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ อาจจะนึกอยากฆ่าคนก็ได้ แต่ท่านไม่ทำ เพราะท่านรู้ คือรู้ว่าความนึกคิดอย่างนั้นเป็นเพียงสภาวะอย่างหนึ่ง ไม่มีตัวตน หรือเป็นของตน ในที่นี่มีใครบ้างที่เคยคิดอยากจะฆ่าคน อาตมาเคย อาตมารู้เรื่องการฆ่า แต่ไม่เคยฆ่าใครหรือแม้แต่เฉียด ๆ เข้าไป แต่ความนึกคิดนั้นมันมีอยู่ แล้วเจ้าความนึกคิดเหล่านี้มันมาจากไหน มีอะไรเลวร้ายหนักหนาภายในตัวอาตมา จนต้องไปนั่งวิตกกังวลหรือ หรือวามันเป็นความโน้มเอียงของจิตโดยธรรมชาติที่ เมื่อรู้สึกเคียดแค้นชิงชังขึ้นมาแล้ว ก็อยากจะกำจัดทำลายล้างไปเสียให้สิ้น มันเป็นเรื่องปกติธรรมดา ๆ อย่างหนึ่ง
“การฆ่ากันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เกิดขึ้นตลอดเวลา สัตว์มันจะฆ่ากันเอง ท่านเข้าไปในป่าเวลากลางคืนแล้วลองฟังดูซิ จะได้ยินเสียงฆ่ากันตลอดเวลา กระต่างจะร้องลั่นเมื่อถูกสุนัขจิ้งจอกงับคอหอย มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ในด้านศีลธรรมแล้ว พวกเราในฐานะผู้ใฝ่หาธรรม ผู้รู้ผิดรู้ชอบ แม้เราอาจจะมีความนึกคิดอย่างนั้น แต่เราไม่ทำ ตรงกันข้ามเรากลับจะรู้ทันว่านั่นมันเป็นเพียงอารมณ์ ซึ่งก็คือสภาวะอย่างหนึ่ง อาตมาพูดเช่นนี้หมายความว่าให้รู้ทันว่า “มันเป็นของมันอย่างนั้น”…”
เนื้อหาที่ผมได้คัดลอกมาทุกประโยคนี้อาจจะเข้าใจยากสักหน่อย. ท่านสุเมโธ ท่านบอกเราว่า เราต้องมีเมตตาธรรม แต่ในสถานการณ์แบบที่เกิดกับประเทศไทยเรานี้ บางครั้งพวกเราก็อาจจะทำใจได้ยาก. เราอาจจะนึกเคียดแค้น อยากฆ่าพวกผู้ก่อการร้ายที่ทำกับประเทศอย่างนี้. ท่านสุเมโธบอกว่าความคิดเช่นนั้นก็เป็นธรรมชาติ แต่เมื่อคิดแล้วขอให้เรารู้ว่ากำลังคิด เฝ้าดูเฉย ๆ ไม่ต้องไปคิดว่าเรากำลังคิดไม่ดี หรือเราเป็นคนเลว. เมื่อเราเฝ้าดูความคิดนั้นไปเรื่อย ๆ ด้วยความมีสติ ความคิดนั้นก็จะหายไปเอง เพราะความคิดนั้นก็เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ใช่ความจริงแท้. มันปรากฏขึ้นอย่างธรรมดา ๆ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะดับไป. อย่างไรก็ตามกรุณาเข้าใจด้วยว่า ท่านสุเมโธเทศน์เรื่องนี้เมื่อกันยายน ๒๕๒๕ นะครับ ท่านไม่ได้พูดเกี่ยวกับเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๕๓ นี้เลย. ผมเพียงแต่นำข้อความของท่านมาเรียบเรียงให้ท่านคิดตามสถานการณ์เท่านั้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น