วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ไปเที่ยวนครศรีธรรมราช

ช่วงนี้ผมเดินทางไปหลายจังหวัด ก็เลยไม่มีเวลาเขียนบล็อกมากนัก วันนี้ก็เลยนำบทความสั้น ๆ มาให้อ่านหลายเรื่องหน่อย
ครรชิต

ผมไปนครศรีธรรมราชเมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคมนี้. วัตถุประสงค์ก็คือเพื่อบรรยายในงานปฐมนิเทศให้นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรปริญญาโท Management of Information Technology มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้เข้าใจวิธีการเรียนที่มีการจัดการและการปรับปรุงการเรียนรู้พร้อมกันไปด้วย. การบรรยายนั้นเป็นช่วงบ่ายของวันที่ 15 ผมก็เลยขอให้ทางมหาวิทยาลัยส่งรถมารับผมไปเที่ยวชมสถานที่น่าสนใจในนครศรีธรรมราชในช่วงเช้าก่อนจะตรงไปยังมหาวิทยาลัย.

ความจริงผมก็เคยมาเที่ยวชมสถานที่สำคัญในนครศรีธรรมราชหลายหนแล้ว. โดยเฉพาะวัดพระบรมธาตุฯ นั้น ผมเคยเดินขึ้นไปนมัสการและเดินประทักษิณหลายครั้งเช่นกัน. นอกจากนั้นยังเคยเข้าไปชมสิ่งของต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์ของวัดมาหลายครั้ง แม้มาครั้งนี้ผมก็ยังมาเที่ยวชมอีก. เหตุผลก็คือวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ ผู้คนได้นำเอาสิ่งของเครื่องใช้มาถวายเป็นเครื่องบูชาพระธาตุต่อเนื่องกันมาหลายร้อยปี. ดังนั้นจึงมีวัตถุสิ่งของโบราณน่าชมให้ศึกษามากมายด้วยกัน.

ในวันที่ 15 นั้น คุณเผ่าพงษ์ ณ นคร ผู้เป็นเชื้อสายคนนครฯ และได้รับมอบหมายให้นำผมไปเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ เริ่มต้นพาผมไปยังศาลากลางก่อน. ที่นี่ ผมแวะไหว้อนุสาวรีย์ท่านเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (เจ้าน้อย) ก่อน. คำจารึกใช้ราชาศัพท์กับท่านเจ้าพระยานครท่านนี้ เพราะมีประวัติว่าท่านมีมารดาเป็น เจ้าจอมปราง ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. ขณะที่ตั้งครรภ์ได้ 2 -3 เดือน สมเด็จพระเจ้าตากสินได้พระราชทานให้เป็นภริยาของท่านเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์). แต่ ท่านเจ้าพระยานครฯ ก็มิได้ล่วงเกินท่าน คงยกให้ท่านเป็นแม่เมืองจนตลอดชีวิต. เรื่องราวของท่านเจ้าพระยานครฯ หลายท่านนั้นมีปรากฏในประวัติศาสตร์หลายเล่ม. เล่มที่อาจหาอ่านได้ง่ายในเวลานี้คือ หนังสือเรื่อง พระเจ้าตากสิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร เขียนโดยคุณทศยศ กระหม่อมแก้ว ชาวนครฯผู้สงสัยในเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับพระเจ้าตาก จนต้องลงทุนศึกษาค้นคว้า จนออกมาเป็นประวัติศาสตร์ฉบับท้องถิ่นที่ไม่เหมือนกับประวัติศาสตร์ของทางการ.
ต่อจากนั้นผมก็เดินไปชมหอพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งน่าเสียดายที่เขาไม่ได้เปิดให้นมัสการในวันเสาร์อาทิตย์. ต่อจากนั้น ผมก็นั่งรถไปชม หอพระอิศวร และ หอพระนารายณ์ ซึ่งอาคารทั้งสองนั้นได้บูรณะจากอาคารเดิมที่แสดงร่องรอยว่าชาวนครเคยนับถือเทพทั้งสองมาเก่าก่อนแล้ว. ในหนังสือของคุณทศยศนั้น ก็กล่าวถึงหอพระอิศวร และ เสาชิงช้า ที่อยู่ในบริเวณเดียวกันไว้เหมือนกัน. ที่สำคัญคือ คุณทศยศ ได้ตำหนิการบูรณะอาคารหอพระอิศวรและเสาชิงช้าของกรมศิลปากรว่าทำไม่ถูกหลักการ. เนื่องจากได้เปลี่ยนรูปแบบอาคาร และ เปลี่ยนเสาชิงช้าจากไม้มาเป็นเสาโลหะด้วย. เรื่องการบูรณะโบราณสถานผิดหลักการของกรมศิลปากรนั้น ผมได้ยินมาหลายครั้งแล้ว. ได้ฟังทีใดก็รู้สึกไม่ค่อยสบายใจ แต่ก็เห็นใจกรมศิลปากรซึ่งอาจจะขาดนักวิชาการ และ ขาดงบประมาณที่จะทำอะไร ๆ ให้ดียิ่งไปกว่าที่ทำไปแล้ว. ผมเลยคิดว่า ถ้าหากกรมศิลปากรไม่มีความมานะถือตัวมากนัก การที่จะบูรณะโบราณสถานใด ๆ ต่อไป ก็น่าจะเชิญให้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันคิดในรูปแบบที่เรียกว่า สุนทรียสนทนา เพื่อหาวิธีการทำงานให้ดีขึ้น.
ต่อจากนั้น ผมนั่งรถไปยังวัดเสมาเมือง (หรือเสมาชัย) ซึ่งเคยขุดพบใบเสมาขนาดใหญ่มีอักษรปัลลวะเก่าแก่. ใบเสมาจริงนั้นขณะนี้นำมาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติแล้ว ส่วนที่วัดตั้งแสดงนั้นเป็นเพียงเสมาจำลองเท่านั้น. วัดนี้มีโรงเรียนวัดเสมาเมืองด้วย และ เมื่อเดินเลยผ่านเข้ามาในโรงเรียน ก็เห็นศาลหลวงพ่อวัดเสมาชัย ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยองค์ใหญ่สามองค์. พุทธศิลป์เป็นแบบทางใต้ซึ่งมีความงดงามอีกแบบหนึ่ง ต่างไปจากที่เคยเห็น. เดินเลยต่อไปอีกมุมหนึ่งของวัด ก็มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ชื่อ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์เสมาไชย. น้ำในบ่อนี้ใช้สำหรับนำเข้าพิธิสำคัญของทางราชการมาโดยตลอด. อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีใครดูแลทำให้มีเศษขยะตกลงไปอยู่ในบ่อหลายชิ้น.
ต่อจากนั้น เราก็ผ่านสวนสาธารณะศรีธรรมาโศกราช ซึ่งเคยเป็นเรือนจำของจังหวัด และ เพิ่งรื้อปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะเมื่อไม่นานมานี้เอง. สวนนี้เป็นสนามหญ้ากว้างมีต้นไม้ใหญ่เฉพาะช่วงริม ๆ สวนเท่านั้น.
สถานที่ต่อมาที่เรามาแวะก็คือ ศาลหลักเมืองซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของจังหวัด และ เป็นแหล่งให้กำเนิดพระจตุคามรามเทพรุ่นแรกที่ได้รับความนิยมมานานมาก จนกระทั่งทำให้เกิดกระแสการปลุกเสกเมื่อสามปีที่แล้ว. ใกล้กับศาลมีหอพระสูงซึ่งตั้งอยู่บนเนินดินสูงราวเมตรเศษ มีบันไดเดินขึ้นไปสู่หอพระซึ่งเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดเล็ก หลังคาทรงบ้านไทย มุงด้วยกระเบื้องเคลือบ จั่วเป็นไม้แผ่นปูในแนวตั้ง ไม่มีลวดลายประดับ. อาคารนี้มีประตูด้านหน้าด้านเดียวแต่ปิดอยู่. ด้านข้างสองด้านมีหน้าต่างเจาะช่องข้างละช่อง ตำแหน่งค่อนมาทางด้านหน้าใกล้ประตู. ช่องหน้าต่างเป็นรูปกากะบาด. วันนี้หอพระสูงนี้ปิด แต่ผมทราบจากหนังสือคุณทศยศว่า ภายในประดิษฐาน “พระสูง” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดขนาดใหญ่. ส่วนบริเวณหอพระสูงเองนั้นคุณทศยศก็หาหลักฐานมาเสนอว่า น่าจะเป็นบริเวณที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั่นเอง.
ต่อจากนั้น เรานั่งรถแวะไปชมอนุสรณสถาน พระรัตนธัชมุนี (ม่วง ศิริรัตน์) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุฯ. ท่านผู้นี้ได้บุกเบิกการพระศาสนา และ การศึกษาในนครศรีธรรมราชอย่างกว้างขวาง. เชื่อว่า การที่มหาวิทยาลัยลักษณ์ใช้สีม่วงเป็นสัญลักษณ์ก็เพราะนามของท่านนี้เอง. อนุสรณสถานแห่งนี้ไม่ได้เปิดให้ชม เราได้แต่เดินชมอาคารทรงปั้นหยาแบบเก่าแล้วก็กลับ.
จากนั้น เราก็ไปชมเก๋งจีนที่วัดแจ้ง. ความจริงแล้วที่นครศรีธรรมราชนี้มีเก๋งจีนอยู่ในวัดสองวัด. อีกวัดหนึ่งก็คือวัดประดู่. เก๋งจีนทั้งสองนั้นเป็นที่เก็บอัฐิของผู้คนในตระกูล ณ นคร. สำหรับเก๋งจีนที่วัดแจ้งนั้น มีป้ายแสดงคำ “เชื่อว่า” เป็นที่ประดิษฐาน พระอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชด้วย. เก๋งจีนที่วัดแจ้งนี้มีขนาดเล็ก เนื้อที่ประมาณสามคูณสี่ตารางเมตรเท่านั้น. ด้านนอกพ้นอาคารเก๋งออกมามีรั้วและประตูซุ้มสำหรับเดินจากข้างนอกเข้าไปข้างใน. อาคารเก๋งมีกำแพงอิฐเจาะช่องกลม และ มีประตูไม้ทาสีแดง เชื่อมต่อกับแผ่นไม้ที่เจาะช่องโปร่ง ยึดติดกับผนังกำแพง. เราเข้าไปชมข้างในไม่ได้เพราะประตูติดกุญแจ. เมื่อมองผ่านช่องโปร่งเข้าไปก็เห็นเจดีย์และปรางค์ขนาดสูงเมตรเศษประดิษฐานอยู่สององค์. ผมเข้าใจเอาเองว่าอัฐิต่าง ๆ ก็คงจะเก็บอยู่ที่เจดีย์และปรางค์ทั้งสองนี้เอง.
ต่อจากวัดแจ้ง เรามุ่งหน้าไปที่วัดบางนา หรือ วัดอินทรคีรีซึ่งอยู่ใกล้กับอำเภอพรหมคีรี. จุดประสงค์ก็เพื่อมานมัสการพระพุทธรูปซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธสิหิงค์องค์จริง. พวกเราได้ทราบกันมาว่า ในเมืองไทยนั้นมีพระพุทธสิหิงค์อยู่สามองค์ คือ ที่ กทม., เชียงใหม่ และ นครศรีธรรมราช. แต่คุณเผ่าพงษ์บอกว่า แม้แต่องค์ที่อยู่ที่หอพระพุทธสิหิงค์ก็ยังไม่ใช่องค์จริง. ตามตำนานแล้ว พระพุทธสิหิงค์ที่ได้มาจากศรีลังกาในอดีตนั้นอยู่ที่วัดบางนาต่างหาก. เมื่อเรามาถึงวัด ท่านเจ้าอาวาสก็มีเมตตาให้พวกเราขึ้นไปนมัสการพระพุทธสิหิงค์องค์นี้. แต่เราก็ไม่ได้เห็นองค์จริงอยู่ดี เพราะประดิษฐานอยู่ในห้องมั่นคงที่มีรั้วเหล็กกั้นถึงสองชั้น. ที่โต๊ะหมู่หน้าห้องมั่นคงนั้น ประดิษฐานพระพุทธรูปซึ่งผมเข้าใจเอาเองว่าคงจะเป็นองค์จำลองไว้ด้วย. เมื่อลองพิจารณาดูแล้ว ก็เห็นว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัย ประดิษฐานบนฐานเรียบหลายชั้น. พระพักตรและพระเนตรค่อนข้างดุมีลักษณะเหมือนกับศิลปอินเดีย. ภายในห้องมั่นคงยังมีตู้กระจกประดิษฐานพระพุทธรูปยืนสำริดอีกองค์หนึ่ง. พิจารณาดูคล้ายกับเป็นปางอุ้มบาตร แต่ไม่มีบาตร. พระเศียรสวมอุษณีษ์ และ เทริด. พุทธศิลป์แบบทางใต้นี้เอง.
วัดบ้านนานี้ยังมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งตามที่ปรากฏในหนังสือของคุณทศยศ. นั่นก็คือเป็นสถานที่ซึ่งเป็นทางผ่านไปยังวัดเขาขุนพนมซึ่งเชื่อกันว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมาพำนักอยู่ที่นี่ก่อนสิ้นพระชนม์.
ผมเล่าเรื่องที่มาเที่ยวชมโบราณสถานและโบราณวัตถุในนครศรีธรรมราชอย่างคร่าว ๆ พอให้เห็นภาพว่า นครศรีธรรมราชมีเรื่องราวต่าง ๆ มากมายที่น่าศึกษา และ มีสถานที่ที่น่าเยี่ยมชมมากมาย. ใครผ่านไปทางนี้ก็ควรเจียดเวลาไปเยี่ยมชมอย่างผมบ้าง จะได้รับความรู้และความชื่นชมในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของเรามาก.
__________________________________

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น