วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกันเถอะ

ผมไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติทั้งในกรุงเทพฯ และ ต่างจังหวัดบ่อยมาก. หากผมไปต่างจังหวัดและมีเวลาพอ ก็จะหาทางไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเสมอ. บางจังหวัดที่ผมมีโอกาสไปบ่อย ผมก็ไปพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่จังหวัดนั้นบ่อยเหมือนกัน.
การที่ผมได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งช่าติบ่อย ๆ นั้น ทำให้ผมพบประเด็นต่าง ๆ ที่อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังบ้าง.
เรื่องแรกก็คือ ในฐานะนักสารสนเทศ ผมเห็นว่าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติมีสารสนเทศให้บริการน้อยมาก. หลายแห่งมีแผ่นพับแจก และมีหนังสือนำชมศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑ์จำหน่ายด้วย. อย่างไรก็ตาม แผ่นพับที่แจกนั้นมีเนื้อหาน้อยมาก และอาจจะไม่น่าดึงดูดให้เยาวชนสนใจพิพิธภัณฑ์มากนัก. พิพิธภัณฑ์สถานหลายแห่งวางป้ายอธิบายผิดตำแหน่งที่ควรจะวางบ้าง, พิมพ์คำอธิบายผิดบ้าง. หรือ แม้แต่แผ่นโปสเตอร์ขนาดใหญ่สำหรับอธิบายที่จ้างจัดทำมาอย่างดีเพื่อแขวนไว้ในพิพิธภัณฑ์ก็ยังมีที่ผิด. พิพิธภัณฑ์นั้นเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ หากความรู้ที่ให้ผิดพลาดเสียแล้ว เราจะเชื่อถือพิพิธภัณฑ์ได้อย่างไร?
เรื่องที่สองก็คือ พิพิธภัณฑ์ควรมีชีวิตและปรับเปลี่ยนการนำเสนอบ่อย ๆ เพื่อให้ผู้สนใจแวะเวียนกลับมาศึกษาหาความรุ้บ่อย ๆ. ผมไปพิพิธภัณฑ์หลายจังหวัดหลายหน ไปแต่ละครั้งก็แสดงแต่ของเดิม ๆ ไม่ได้มีการจัดนิทรรรศการหมุนเวียน. ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติใน กทม. นั้นยังดีหน่อยที่มีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนบ่อยครั้ง. แต่ก็ควรหมุนเวียนออกไปต่างจังหวัดให้ได้บ่อยครั้งด้วย.
เรื่องที่สามก็คือ พิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศนั้น มีอาสาสมัครคอยอธิบายให้คนที่เข้าชมได้ทราบความเป็นมาของศิลปวัตถุหรือโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์นั้น. ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติใน กทม. ก็มีอาสาสมัครเหมือนกันครับ. แต่อาสาสมัครที่ผมพบนั้นเป็นฝรั่ง ซึ่งเขาก็ให้บริการแก่ผู้มาเยี่ยมชมที่เป็นฝรั่งด้วยกัน. อาสาสมัครชาวไทยอาจจะมีก็ได้ แต่ผมยังไม่เห็น. ผมคิดว่าเรื่องนี้ควรจัดให้เป็นกิจกรรมไปยังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติทุกแห่ง. ไม่ใช่ให้มีอาสาสมัครฝรั่งครับ. ผมเสนอให้ใช้นักเรียนมัธยมนี่แหละมาทำงานนี้. ประการแรกก็เพื่อให้นักเรียนเหล่านั้นรู้จักและเห็นความสำคัญของพิพิธภัณฑ์สถาน และ ประการที่สองก็จะทำให้เพื่อน ๆ ของอาสาสมัครตามมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์กันด้วย. เมื่อหลายวันที่ผ่านมา ผมไปชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดปราจีนบุรี. ผมเกิดความสงสัยเรื่องง่าย ๆ เกี่ยวกับการขุดค้นชุมชนโบราณแห่งหนึ่งที่ชลบุรีว่าเกิดเมื่อใด. ปรากฏว่าคนที่เฝ้าห้องอยู่ตอบไม่ได้ เขาต้องไปอ่านข้อความที่อยู่ในตู้นิทรรศการอีกพักใหญ่ จึงหันมาบอกผมว่าเกิดเมื่อปีนั้น ๆ. นี่ถ้าผมถามยากกว่านี้ เขาก็คงจะตอบไม่ได้ เพราะลำพังเนื้อหาที่แสดงอยู่เขายังไม่รู้เลยว่ามีอะไรบ้าง.
เรื่องที่สี่ ก็คือ แต่ละครั้งที่ผมไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์นั้น แทบจะไม่มีคนสนใจมาชมเลย. มีครั้งเดียวที่มีคนแน่นพิพิธภัณฑ์ นั่นก็คือการจัดงานที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ บ้านเชียง ซึ่งมีการจัดงานที่ชุมชนด้านนอกพิพิธภัณฑ์ควบคู่ไปด้วย. ผมเห็นว่า การที่คนไทยไม่เข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาตินั้น ก็คงเป็นเพราะปัญหาสามข้อข้างบนนั่นแหละครับ. หากเราแก้ไขปัญหาสามข้อนี้ได้ และ เพิ่มการประชาสัมพันธ์มากขึ้นอีกหน่อย ผมเชื่อว่าจะมีคนมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สถานกันมากขึ้น.
ผมเคยไปชมพิพิธภัณฑ์พอล เกตตี้ ที่ลอส แองเจลิส มาแล้วสองหน. ผมชอบตรงที่เขาเขียนรายละเอียดของศิลปะวัตถุในแต่ละห้องให้เราศึกษาอย่างละเอียดมาก. อ่านแล้วได้ความรู้มาก. ที่เยี่ยมมากก็คือ ถ่ายภาพได้ด้วย. ที่อื่น ๆ เขาให้ถ่ายรูปได้ทั้งนั้นแล้ว แต่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของไทยยังไม่ยอมให้ถ่ายรูป. ที่อียิปต์ก็ไม่ให้ถ่ายรูป เหมือนกัน. เรื่องนี้น่าจะเสนอให้แก้ไขได้แล้ว. หากให้ถ่ายรูปได้ก็จะทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น หากต้องเอาสมุดมาคอยจดไปก็คงจะดูอะไรไม่ได้มากนัก.
ผมเขียนเรื่องนี้ เพราะอยากชวนให้ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สถานกันมากๆ หน่อยครับ. ค่าเข้าชมสำหรับคนไทยก็ถูกมากจริง ๆ แต่สำหรับผมแล้วดูฟรี เพราะอายุเกินมามากแล้วครับ (ที่แปลกก็คือ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ บางแห่งก็ไม่ทราบว่า ผู้สูงอายุไม่ต้องเสียเงิน. แต่ผมก็ยินดีจ่ายครับ.)

ครรชิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น