วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พระพิฆเนศวร์

พระพิฆเนศวร์เป็นเทพเจ้าแห่งความรู้และศิลปวิทยา. นามของท่านนั้น พระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ) กล่าวว่ามีความหมายถึง หัวหน้าคณะข้ามความขัดข้อง. นอกจากนามนี้แล้ว ท่านยังมีนามอื่น ๆ อีกมาก เช่น อขุรถ (ขี่หนู), คชมุข, กรีมุข (หน้าเป็นช้าง), เอกทนต์ (งาเดียว), ลัมพกรรณ (หูยาน), ลัมโพทร (ท้องยาน), ทวิเทพ (ตัวสองลอน). (จาก ทรงวิทย์ แก้วศรี, พระพิฆเณศวร์, นิตยสารศิลปากร, ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๑ ม.ค. - ก.พ. ๒๕๓๗)
เรื่องราวของพระพิฆเณศวร์ในบทความของคุณทรงวิทย์ นั้นมีรายละเอียดเกี่ยวกับกำเนิด และ การเสียงาจนเหลือข้างเดียวของพระพิฆเณศวร์แล้ว. ใครอยากทราบก็จะสามารถค้นหาอ่านได้. ในที่นี้ผมจะเล่าเรื่องในเชิงเปรียบเทียบเกี่ยวกับท่านให้ทราบ.
ในราวสิบปีมาแล้ว ผมไปอินเดีย กับ ดร. รอม หิรัญพฤกษ์ ผู้อำนวยการคนแรกของเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งประเทศไทย (หรือ ซอฟต์แวร์ พาร์ก). เราได้ไปเยี่ยมชมสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง และได้เห็นคำสอนเปรียบเทียบการเรียนรู้ของนักศึกษากับพระพิฆเณศวร์ที่น่าสนใจมาก. ผมจึงขอนำมาถ่ายทอด และ เพิ่มเติมบางส่วนดังต่อไปนี้...
๑. พระพิฆเณศวร์ท่านเป็นเจ้าแห่งศิลปวิทยา. ท่านมีจมูกเป็นงวงที่ยาวมาก และธรรมดานั้นช้างย่อมแกว่งงวงไปสำรวจสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ ไม่ได้ว่างเว้น. นั่นแสดงว่าท่านสนใจเสาะแสวงหาความรู้ตลอดเวลา เราจึงควรทำตนให้เหมือนท่าน.
๒. ท่านมีหูที่ใหญ่มาก. นั่นแสดงว่าท่านยินดีที่จะรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ เสมอ. เราจึงควรใช้เวลาในการฟังเพื่อเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ให้เหมือนท่าน.
๓. ท่านมีปากที่เล็กเทียบกับส่วนอื่น นั่นแสดงว่าท่านไม่ชอบพูดหรือสนทนาเรื่องที่ไร้สาระหรือเหลวไหล. เราจึงควรพูดให้น้อยลง และใช้เวลาฟังให้มากขึ้น.
๔. ท่านมีศีรษะที่ใหญ่มาก. นั่นแสดงว่าท่านชอบใช้สมองครุ่นคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์เรื่องที่เป็นประโยชน์ตลอดเวลา. เราเองก็ควรใช้สมองคิดในเรื่องที่เป็นประโยชน์เสมอ ไม่ใช่คิดในเรื่องที่ไร้สาระ.
๕. ท่านมีนัยตาที่เล็ก แต่อ่อนโยน เต็มไปด้วยความเมตตา ซึ่งเราควรจะมองคนอื่นด้วยความเมตตาอยู่เสมอเช่นกัน.
๖. ท่านมีร่างกายที่บึกบึนแสดงว่าท่านกล้าบุกลุยปัญหาต่าง ๆ โดยใช้ศิลปวิทยาที่ท่านได้แสวงหามา ซึ่งเราก็ควรจะปฏิบัติเยี่ยงอย่างท่านและกล้าสู้กับปัญหาต่าง ๆ.
ผมจำเรื่องที่ได้อ่านพบที่อินเดียมาพอเลา ๆ เฉพาะข้อ ๑ - ๔ ส่วนข้อ ๕ และ ๖ นั้น ผมเพิ่มเติมขึ้นเอง. แต่ผมก็หวังว่า ผู้ที่เคารพบูชาพระพิฆเณศวร์ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปวิทยานั้น ไม่ควรแค่บูชาเฉย ๆ เท่านั้น แต่ควรจะยึดลักษณะของท่านเป็นเครื่องเตือนใจให้ปฏิบัติด้วย.
________________________

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น