วันศุกร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การใช้แนวคิดของ CMMI ในการปราบปรามการก่อการร้าย

สวัสดีครับ
จากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในรอบสองเดือนมานี้ ผมคิดว่าการพยายามแก้ไขสถานการณ์ของฝ่ายรัฐบาลนั้นยังมีประเด็นที่ CMMI สามารถมาช่วยได้. CMMI คือ Capability Maturity Model Integration ซึ่งเป็น Process Model ของสถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์. รายละเอียดของ Process Model นี้มีมากเกินกว่าผมจะนำมาอธิบายได้ในที่นี้. ผมจะขอนำมาเพียงส่วนเดียวที่เป็นหลักการพื้นฐานอย่างหนึ่งของ CMMI นั่นก็คือ การทำงานใด ๆ จะต้องมีการจัดการ.
การจัดการตามแนวคิดของ CMMI นั้นมีอยู่ด้วยกัน 10 ข้อ คือ...
1. ผู้บริหารจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการดำเนินการ. ผมเชื่อว่าข้อนี้ทาง รัฐบาลก็มีนโยบายอยู่ เพียงแต่อาจจะไม่ชัดเจนนัก นอกจากนั้นยังเปลี่ยนแปลงไปมาด้วย. ความจริงผมยังอาจขยายความข้อนี้ออกไปถึงประเด็นการขาดอำนาจอย่างแท้จริงในการดำเนินการ เพราะผู้ก่อความไม่สงบอ้างว่าชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ.
2. การดำเนินงานจะต้องมีการมอบหมายงานให้ชัดเจน. ผมคิดว่าข้อนี้รัฐบาลมีปัญหา เพราะแม้จะมอบหมายไป แต่คนที่ได้รับมอบหมายก็ไม่มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติมากนัก. คนทั่วไปก็อ่านออกว่า หลายคนก็กลัวถูกฟ้องร้องเรื่องใช้กำลังและไม่อยากเสียประวัติ และ หลายคนอาจจะมีส่วนได้ส่วนเสียด้วยซ้ำ.
3. ขาดการวางแผน. เรื่องนี้ ผมคิดว่าต้องย้อนกลับไปถึงปีที่แล้วด้วยซ้ำว่า รัฐบาลขาดแผนที่จะแก้ไขปัญหานี้แม้ว่ารัฐบาลสามารถสยบกลุ่มเสื้อแดงได้เมื่อสงกรานต์ปีก่อน. ความจริงรัฐบาลน่าจะอ่านเกมออกว่าจะต้องมีการปลุกปั่น, ฝึกอบรมกลุ่มผู้ติดอาวุธ, ล้อบบี้สื่อมวลชน, รวบรวมอาวุธ และ อุปกรณ์ต่าง ๆ. ผมไม่ได้มีสายที่จะบอกผมว่ารัฐบาลมีแผนรับมือ และ แผนแก้ไขปัญหาเหล่านี้มาตั้งแต่แรกหรือเปล่า. แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่าไม่มี. เพราะถ้ามี เรื่องคงไม่ร้ายขนาดนี้. แผนนั้นจะต้องพิจารณาทางหนีทีไล่ต่าง ๆ มากมาย เช่น หากผู้ก่อการร้ายจะระดมคนมาเผาเมืองจะป้องกันและปราบปรามอย่างไร ไม่ใช่ยืนดู แล้วคอยไปจับทีหลัง.
4. ขาดการจัดสรรทรัพยากรให้พอเพียงแก่การปราบปราม. นักข่าวช่อง 3 เล่าผ่านโทรทัศน์ว่า ตำรวจที่ไปช่วยพวกเขาลงจากอาคารมาลีนนท์นั้นไม่มีอาวุธประจำตัว. เมื่อถามว่าทำไมไม่มีอาวุธ ตำรวจก็ตอบว่าพวกเขาเป็นตำรวจภูธร ก็เลยไม่มีปืน. พวกที่มีปืนเป็นตำรวจนครบาล. ผมเห็นว่า หากรัฐบาล และ ศอฉ. วางแผนตามข้อที่แล้วเป็น ก็จะต้องมีอุปกรณ์และทรัพยากรต่าง ๆ มากพอ ไม่ว่า จะเป็นเครื่องทำลายบังเกอร์แหลนหลาวไม้ไผ่ หรือ กว้านสำหรับรื้อและยึดยางรถยนต์.
5. การฝึกอบรม. ผมเริ่มเป็นห่วงว่า การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารของเราอาจจะไม่พอเพียงแก่การปราบปรามผู้ก่อการร้ายเสียแล้ว. ยกตัวอย่างเช่น การที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายยกกำลังมาเผาศาลากลางจังหวัด ทำให้สูญเสียเงินไปแห่งละกว่า 200 ล้านบาทนั้น. ดูจากภาพข่าวก็ไม่เห็นตำรวจและทหารทำอะไร นอกจากยืนดู. การเผาสถานที่ราชการนั้นเป็นความผิดสถานหนักขนาดประหารชีวิต เหตุใดจึงไม่จัดการให้เด็ดขาดตั้งแต่แรก. ผมเชื่อว่า ปัญหาข้อนี้โยงไปถึงการขาดการวางแผน และ การคาดคะเนสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น. ความเห็นห่วงนี้เลยออกไปจนถึงขั้นที่ว่า หากมีกองกำลังต่างชาติบุกเข้ามายึดหรือเผาสถานที่ราชการของเราในอนาคตแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารของเราจะสามารถป้องกันได้ละหรือ.
6. การบันทึกรายละเอียดการดำเนินงานต่าง ๆ. เรื่องนี้ผมคิดว่าบรรดานักข่าวต่าง ๆ ได้บันทึกภาพและเสียงต่าง ๆ เอาไว้เป็นจำนวนมาก. จำเป็นที่ ศอฉ. จะต้องรวบรวมรายละเอียดเหล่านี้ทั้งหมด รวมทั้งเว็บของกลุ่มคนเสื้อแดง, เว็บสนับสนุน, เว็บสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศเอาไว้หมด. จากนั้นจะต้องจัดหาผู้ชำนาญมาอ่านศึกษา, และ จัดทำออกมาเป็นเอกสารรายละเอียดทั้งหมด. บุคคลที่ปรากฏในภาพว่าเป็นผู้ก่อการร้าย และ ผู้สนับสนุน จะต้องรวบรวมรายละเอียดข้อมูลและประวัติมาให้ครบ. นอกจากนั้น แม้แต่เจ้าหน้าที่ของเราเองก็จะต้องรวบรวมรายละเอียดเพื่อศึกษาว่าแต่ละคนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงานอย่างไร.
7. พิจารณาว่าใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบ้าง. งานนี้ทั้งหมดเกี่ยวกับใครบ้าง, ใครมีส่วนได้ส่วนเสีย, ใครปลุกปั่น, ใครระดมพล, ใครฝึกอบรมการทำระเบิด, ใครเป็นผู้ถืออาวุธ, ใครเป็นผู้เสียหาย, ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์ ฯลฯ. เรื่องนี้ได้ทราบว่า รัฐบาลจะเยียวยาทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ และ ผู้ที่ถูกชักนำให้มาร้องเรียนเพราะมีปัญหาที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขจริง. อย่างไรก็ตาม การเยียวยายังไม่เพียงพอ. รัฐบาลต้องแยก บุคคลที่ถูกลวงให้มา และ บุคคลที่เป็นตัวการหรือผู้ปลุกปั่นออกให้ชัด.
8. การติดตามรับทราบข้อมูลข่าวสารและงานตามแผน. เรื่องนี้สำคัญมาก. รัฐบาลจะต้องทราบรายละเอียดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรทันทีที่เกิดความเสี่ยงหรือปัญหา. ข้อมูลข่าวสารจะต้องมีรายละเอียดพร้อมที่จะป้องปรามได้. ผมสงสัยว่าหน่วยงานการข่าวกรองของรัฐบาลอาจจะมีปัญหา และต้องการการปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยด่วน.
9. การสร้างความสามารถในการตรวจสอบ. ขณะนี้แม้ว่ารัฐบาลจะทำให้เรื่องสงบลงได้ระดับหนึ่ง. แต่วิสัยผู้ก่อการร้ายดังที่ประชาชนได้เห็นจากคำขู่เข็ญที่ผู้ก่อการร้ายได้ประกาศออกมานั้น เราย่อมคาดคะเนได้ว่า พวกเขาย่อมกล่าวหารัฐบาลว่าเป็นผู้กระทำผิด. แม้แต่สื่อมวลชนเอง แม้ว่าเวลานี้รัฐบาลจะทำให้สถานการณ์สงบลงได้แล้ว พวกเขาก็เริ่มพาดหัวข่าวในทำนนองให้เกิดความสงสัยว่าทหารฆ่าประชาชนเสียแล้ว.
10. การจัดทำรายงานเสนอประชาชนและรัฐสภา. งานนี้คืองานสุดท้ายที่รัฐบาลจะต้องทำเมื่อทุกอย่างคลี่คลายแล้ว.

หัวข้อทั้ง 10 ไม่ใช่การแก้ปัญหานะครับ. อย่าสับสน. ผมไม่มีความรู้ทางยุทธวิธีปราบปรามผู้ก่อการร้ายพอที่จะบอกว่าการแก้ปัญหาที่จะเริ่มตั้งแต่ระดับที่เรียกว่าสุภาพไปจนถึงระดับใช้กำลังรุนแรงนั้น ต้องทำอย่างไร. หัวข้อทั้ง 10 ที่ผมเสนอนั้น เป็นสิ่งที่จะต้องทำร่วมไปกับการแก้ปัญหาไม่ว่าจะเลือกวิธีใดก็ตาม. เช่น เมื่อเลือกวิธีล้อมผู้ก่อการร้ายให้หมดเสบียงและไม่มีสาธารณูปโภคนั้น ก็จะต้องมี 10 ข้อที่ผมอธิบายมานี้ประกอบ. เมื่อทำได้ก็จะทำให้การแก้ปัญหานั้นมีการจัดการที่ดีร่วมด้วย.

เรื่องที่อธิบายมานี้ พวกคุณไม่จำเป็นต้องนำไปใช้กับการปราบปรามผู้ก่อการร้ายก็ได้. เพราะทั้ง 10 ข้อนี้สามารถประยุกต์กับงานทุกงาน รวมไปถึงการเรียน, การสอน, การให้บริการ, การขาย, การผลิต ฯลฯ.

ลองนำไปประยุกต์ดูเถอะครับ
ครรชิต มาลัยวงศ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น