วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วันเสรีภาพสื่อมวลชน

สวัสดีครับ
วันนี้เป็นวันที่ชาวสื่อมวลชนยินดีและชื่นชมมากเพราะเป็นวันที่องค์กรยูเนสโก ประกาศให้เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชน
แปลความหมายอย่างง่าย ๆ ก็คือ สื่อมวลชนมีเสรีภาพที่จะแสวงหาความจริง มาเสนอข่าวให้ประชาชนทราบ.
ปัญหาก็คือ คำว่าสื่อมวลชนนั้น หมายถึงทั้งผู้ปฏิบัติงานสื่อมวลชน และ เจ้าของสื่อมวลชน. จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะผู้ก่อความไม่สงบในเวลานี้ ทำให้เรามองเห็นภาพชัดว่า เจ้าของสื่อมวลชนจำนวนมาก มักจะเลือกเสรีภาพในการเหยียบเรือสองแคม. คอลัมน์หลายคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันก็ด่ารัฐบาล และ อีกหลายคอลัมน์ก็ด่าพวกก่อความไม่สงบ. ผมสังเกตมาหลายครั้งแล้วว่า เวลาเกิดวิกฤติการณ์ซึ่งยังไม่รู้ว่าใครจะชนะนั้น เจ้าของสื่อมวลชนก็มักจะยึดวิธีนี้เสมอ เพื่อที่จะได้ไม่เจ็บตัวทีหลังเมือเกิดผลแพ้ชนะขึ้น.
ผมเชื่อว่า สื่อมวลชนที่เป็นผู้สื่อข่าวนั้น ในทางปฏิบัติแล้วก็คงทำอะไรเจ้าของสื่อไม่ได้. เพราะผู้สื่อข่าวก็ต้องกินเงินเดือนเจ้าของสื่ออยู่นั่นเอง. ผู้สื่อข่าวบางคนอาจจะมีอุดมคติหรืออุดมการณ์สูง เมื่อไม่พอใจเจ้าของสื่อ ก็อาจจะออกไปหาทุนรอนมาดำเนินธุรกิจสื่อเสียเอง. แต่ในที่สุดแล้ว ก็ต้องประพฤติตนเหมือนเจ้าของสื่ออื่น ๆ อยู่นั่นเอง. เรื่องนี้ก็พอเข้าใจได้อยู่.
ด้วยเหตุนี้เองผมจึงคิดว่า วันเสรีภาพสื่อ ก็คงประโคมให้คนรู้กันอย่างผิวเผินไปอย่างนั้นเอง. เพราะจริง ๆ แล้ว ผู้สื่อข่าวและผู้เขียนข่าวเองก็ไม่ได้มีเสรีภาพในการทำข่าวเท่าใดนัก. หากเขียนข่าวไม่ตรงกับนโยบายของเจ้าของสื่อ คนเขียนข่าวก็อยู่ไม่ได้.
ผมยังติดใจคำว่า เป็นกลาง ด้วย. การเป็นกลางระหว่างคนสองกลุ่ม. กลุ่มหนึ่งเป็นฝ่ายถูกต้องตามกฏหมาย และ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายที่ละเมิดกฎหมายนั้น ความเป็นกลางอยู่ตรงไหน? ผมคิดว่าการสอนปรัชญาเรื่องเสรีภาพและความเป็นกลางให้แก่ผู้ประกอบอาชีพสื่อนั้นคงจะผิดไปเสียแล้ว.
ครั้งหนึ่ง มีนักอ่านข่าวคนหนึ่ง วิ่งแจ้นไปดูชายหาดภูเก็ตในตอนเช้าหลังจากวันที่สึนามิเข้าถล่ม. เขาไม่พบใครเลย เพราะอาสาสมัครที่ทำงานมาตลอดคืน ต้องทยอยกลับที่พักเพื่อไปพักผ่อนหลับนอน. นายนักอ่านข่าวผู้นี้ก็ประกาศออกข่าวว่า ไม่เห็นมีใครสนใจคอยอยู่ช่วยผู้ได้รับภัยพิบัติเลย. ข่าวแบบนี้เป็นกลางหรือเปล่าไม่ทราบ? ในทางตรงกันข้าม ข่าวนี้กลับเป็นข่าวที่ทำลายจิตใจอาสาสมัครนับพันๆ คน เพราะนักอ่านข่าวผู้นี้ไม่เคยเสาะแสวงหาความจริงก่อนพูดเลย. แท้จริงแล้วเขาก็เป็นเพียงผู้สร้างวาทกรรมเพื่อความมันส์ปากเท่านั้น?
ผมไม่เข้าใจว่า ในยุคที่เรามีรัฐบาลอย่างถูกต้องแล้วถูกปฏิวัตินั้น ดูเหมือนสื่อต่าง ๆ จะโจมตีกันมากว่าทำไม่ถูกต้อง. แต่ในเวลานี้เราก็มีรัฐบาลที่ถูกต้อง และ ถูกคนกลุ่มหนึ่งมาผลักดันให้รัฐบาลยุบสภา พร้อมกับร้องตะโกน "ออกไป..ออกไป..." แต่เหตุใดไม่มีสื่อออกมาบอกว่าไม่ถูกต้อง. ความเป็นกลางของสื่อมวลชนอยู่ที่ไหนไม่ทราบ? หรือว่า สื่อก็มี double standards เหมือนกัน. เราต้องไปถามคำพูดพล่อย ๆ ของคนที่ก่อความไม่สงบมานำเสนอเป็นข่าว ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ใช่ความจริงแบบนี้น่ะหรือคือเสรีภาพของสื่อ? สงสัยว่าจะเป็นเสรีภาพของการหาเงินของเจ้าของสื่อเสียมากกว่ากระมัง.
ผมอดคิดไม่ได้เลยว่า เสรีภาพของการนำเสนอข่าวนั้นในที่สุดแล้ว ก็จะไปลงเอยด้วยการสิ้นสุดเสรีภาพของคนไทยทั้งมวล. ท่านคิดหรือว่า การนำเสนอข่าวแบบนี้จะทำให้การเหยียบเรือสองแคมของเจ้าของสื่อไปรอดได้. เมื่ออธรรมขึ้นครองอำนาจ และชนะธรรมะได้เพราะอำนาจเงิน, เสรีภาพทั้งของสื่อและของคนไทยทั้งมวลก็คงสิ้นสุดไปอย่างแน่นอน. ถ้าโชคร้ายมากยิ่งขึ้น ทรัพย์สินบ้านช่องของพวกเราก็คงจะถูกพวกถืออำนาจบาทใหญ่ช่วงชิงยึดเอาไปได้โดยเราได้แต่ทำตาปริบ ๆ เท่านั้น.
ลองพิจารณาตัวเองหน่อยดีไหมครับ ท่านสื่อมวลชนที่รักเสรีภาพทั้งหลาย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น