วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

100 หนังสือบริหารธุรกิจที่ต้องอ่าน

100 หนังสือบริหารธุรกิจที่ต้องอ่าน
เขียนโดย Jack Covert และ Todd Sattersten
แปลโดย ดร. รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน

สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นสำนักพิมพ์ที่เพิ่งเกิดใหม่ และควรจะพิมพ์หนังสือเล่มนี้เป็นปฐมฤกษ์ เพราะผู้แปลก็คืออธิการบดีหญิงผู้แกร่งกล้าคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยเอง. แต่บังเอิญต้นฉบับคงจะเสร็จไม่ทัน จึงเพิ่งจะออกมาวางตลาด.
หนังสือเล่มนี้หนาราว 460 หน้า หากเอาจำนวนนี้หารด้วย 100 ก็จะออกมาเพียง 4.6 หน้าต่อหนังสือที่จะแนะนำแต่ละเล่ม. แน่นอนครับว่า ทำอย่างไรก็ไม่สามารถจะย่อเนื้อหาหนังสือขนาด 200 หน้าให้เหลือเพียงสี่หน้าเศษได้. ยิ่งเมื่อเปิดไปอ่านดูหนังสือที่แนะนำแต่ละเล่มด้วยแล้ว ก็จะพบว่าเนื้อหายิ่งน้อยลงไปใหญ่ เพราะผู้เขียนจะต้องแนะนำผู้เขียนแต่ละเล่มด้วย. เรื่องนี้ก็เป็นธรรมดา เพราะถ้านักเขียนเป็นเสมียนโรงรับจำนำเสียแล้ว นักธุรกิจที่ไหนจะมาอ่าน. แต่เรื่องนี้ก็อย่าปักใจเชื่อมากนักนะครับ เพราะเสมียนสำนักงานจดสิทธิบัตรในเยอรมันก็ยังเคยได้รางวัลโนเบลมาแล้ว. เสมียนคนนั้นมีชื่อว่า อัลเบิรต ไอน์สไตน์ครับ.
เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้มาจากธุรกิจของคุณ Covert และ Sattersten นั่นเอง. ธุรกิจนั้นก็คือขายหนังสือ และเพื่อให้การขายเดินหน้าได้ดี ทั้งคู่ก็มีบริการย่อยหนังสือธุรกิจส่งให้สมาชิกอ่านเพื่อจะได้ทราบว่ามีหนังสืออะไรน่าสนใจบ้าง. หากอ่านคำแนะนำและคำวิจารณ์แล้วเห็นว่าหนังสือใดมีเนื้อหาน่าสนใจก็จะได้หาซื้อมาอ่านต่อไป. หลังจากนั้นทั้งคู่ก็นำคำแนะนำและคำวิจารณ์เหล่านี้มาคัดสรรเฉพาะเล่มที่เห็นว่าผู้เขียนสามารถนำเสนอเนื้อหาใหม่ที่น่าสนใจ และสามารถนำไปใช้ปรับปรุงการทำธุรกิจได้จริง. เมื่อคัดสรรแล้วก็นำมารวมและจัดเป็น 12 กลุ่มด้วยกัน คือ..
1. ตัวคุณ การพัฒนาชีวิต ตัวตน และ จุดแข็งของคุณ. หนังสือในกลุ่มนี้มีหลายเล่มที่เราอาจจะได้ยินคนพูดถึงบ่อย ๆ เช่น 7 Habits of Highly Effective People หรือหนังสือเก่าแก่อย่างเช่น How to Win Friends and Influence People ของ เดล คาร์เนกี.
2. ความเป็นผู้นำ แรงบันดาลใจ, ความท้าทาย, ความกล้าหาญ, การเปลี่ยนแปลง. ในกลุ่มนี้มีหนังสือที่เคยแปลเป็นภาษาไทยแล้ว เช่น The Leadership Challenge และ Leadership is an Art, The Radical Leap.
3. กลยุทธ์ พิมพ์เขียวองค์กรทั้งแปดแบบที่คุณสามารถใช้เป็นต้นร่างองค์กรของคุณ. ในกลุ่มนี้มีหนังสือที่คนไทยเคยอ่านมาแล้วเช่น In Search of Excellence, Good to Great.
4. การขายและการตลาด วิธีดำเนินการและหลุมพรางที่แฝงอยู่ในกระบวนการสร้างลูกค้าอย่างต่อเนื่อง. ในกลุ่มนี้ก็มีหนังสืออย่างเช่น Positioning: The Battle for Your Mind, How to Become a Rainmaker, และ Purple Cow.
5. กฎเกณฑ์และการเก็บคะแนน ตัวเลขข้อมูลสำคัญ ๆ. ในกลุ่มนี้ก็ย่อมต้องมีหนังสือ The Balanced Scorecard แน่นอนอยู่แล้ว.
6. การจัดการ การให้คำแนะนำและกำหนดทิศทางแก่คนรอบข้าง. ในกลุ่มนี้ก็มีหนังสือจากปรมาจารย์ The Essential Drucker, และเล่มอื่น ๆ เช่น Toyota Production System, Reengineering the Corporation, Six Thinking Hats.
7. ชีวประวัติ เจ็ดชีวิต บทเรียนไร้ขีดจำกัด. ในกลุ่มนี้ก็มีหนังสือที่น่าสนใจอย่างเช่น My Years with General Motors และ Sam Walton: Made in America – My Story.
8. ความเป็นผู้ประกอบการ ความหลงใหลและการยืนอยู่บนหลักแห่งความเป็นจริง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างธุรกิจยุคใหม่. ในกลุ่มนี้มีหนังสือที่เคยแปลเป็นไทยแล้วเล่มเดียวคือ The E-Myth Revisited.
9. เรื่องเล่า เรื่องราวความสำเร็จและล้มเหลวในอุตสาหกรรมทั้งหก. หนังสือในกลุ่มนี้เป็นเรื่องของแมคโดนัลด์ซึ่งแน่นอนว่าคือความสำเร็จ และ เรื่องของ เอนรอน ซึ่งเป็นยิ่งกว่าฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากเห็นเป็นจริง.
10. นวัตกรรมและความสร้างสรรค์ เจาะลึกกระบวนการพัฒนาความคิดใหม่. นวัตกรรมเป็นเรื่องใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจ แต่ผมยังไม่เห็นมีใครแปลหนังสือในกลุ่มที่หนังสือเล่มนี้แนะนำออกเป็นภาษาไทย.
11. ไอเดียสุดยอด อนาคตของหนังสือแนวบริหารอยู่ตรงนี้. หนังสือในกลุ่มนี้ที่ผมคุ้นเคยก็มีเพียง To Engineer is Human ที่เขียนโดย Henry Petroski.
12. ติดตัวไปทุกที สิ่งที่ทุกคนมองหา. หนังสือในกลุ่มนี้คือหนังสือที่ผู้เขียนเชื่อว่าจะมีประโยชน์ตรงสามารถนำเนื้อหาไปประยุกต์ได้ทันทีที่ต้องการ หรือ เมื่อเกิดปัญหา.

กล่าวโดยสรุป แม้เนื้อหาเกี่ยวกับหนังสือแต่ละเล่มจะไม่มากพอที่จะทำให้เรานำไปใช้ได้จริง แต่ก็เป็นประโยชน์ตรงที่ให้แนวคิดเบื้องต้นหลายอย่างแก่เรา. บางทีเราอาจต้องการแค่แนวคิดซึ่งเป็นเนื้อยิ่งกว่าจะอ่านส่วนที่เป็นน้ำในแต่ละเล่ม. หากลองเคี้ยวกินแล้วรู้สึกว่าอร่อย ก็ลองไปหาฉบับแปลหรือฉบับภาษาอังกฤษมาอ่านต่อไปก็แล้วกัน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น