วันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พจนานุกรมความสำเร็จ ตอน 3

Improvement การปรับปรุง โดยหลักการแล้วนักศึกษามาศึกษาต่อก็เพราะต้องการที่จะปรับปรุงตนเองให้มีความรู้มากขึ้น, ทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม, มีพฤติกรรมดีขึ้น, วางแผนเป็น, คิดเป็น, สื่อสารเป็น, ตัดสินใจเป็น ฯลฯ การที่จะทำอะไร ๆ ให้ดีขึ้นนั้นอยู่ที่จะต้องปรับปรุงวิธีการทำงานแบบเดิมให้ดีขึ้น ซึ่งหมายความว่า เราจะต้องคอยพิจารณาวิธีการคิด, การตัดสินใจ และ การทำงานของเราตลอดเวลาว่าให้ผลดีตามที่เราคาดหวังหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าเป็นเพราะเหตุใด แล้วก็พยายามปรับปรุงตนเองใหม่ แนวคิดเรื่องการปรับปรุงตัวเองอยู่เสมอนั้นเป็นแนวคิดหลักของมาตรฐานคุณภาพขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO หรือ International Organization for Standardization) แนวคิดนี้ก็คือ ก. กำหนดข้นตอนการปฏิบัติงาน ข. ปฏิบัติงานและวัดผลการปฏิบัติงาน ค. พิจารณาผลการปฏิบัติงานว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ ง. หากผลการปฏิบัติงานไม่ดี ให้วิเคราะห์หาสาเหตุ แล้วกลับไปปรับปรุงการปฏิบัติงานนั้น

Information สารสนเทศ สารสนเทศเป็นข่าวสารที่สรุปหรือกลั่นกรองได้จากข้อมูลหลาย ๆ ชิ้น ในขณะที่ข้อมูลคือข้อเท็จจริงแต่ละรายการซึ่งบอกอะไรไม่ได้มากนัก ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยกำหนดให้นักศึกษาประเมินการสอนของอาจารย์เมื่อจบภาคเรียน คะแนนที่นักศึกษาแต่ละคนให้ในแต่ละหัวข้อการประเมินนั้นคือข้อมูล เมื่อสรุปเป็นผลการประเมินในภาพรวมของนักศึกษาแต่ละคนต่ออาจารย์ท่านนั้น ก็ยังคงเป็นข้อมูลอยู่ แต่เมื่อนำข้อมูลการประเมินของนักศึกษาทั้งชั้นมาสรุปเป็นค่าเฉลี่ยก็จะได้สารสนเทศว่านักศึกษาทั้งชั้นเห็นว่าอาจารย์ท่านนั้นมีผลการสอนอย่างไร ถ้ากำหนดให้คะแนนระหว่าง 1 ถึง 5 และค่าเฉลี่ยเป็น 4.1 ก็อาจสรุปได้ว่าอาจารย์ท่านนั้นสอนในเกณฑ์ดีมาก แต่ถ้าหากนำคะแนนนี้ไปเปรียบเทียบกับคะแนนค่าเฉลี่ยรวมของอาจารย์ทุกท่านซึ่งสมมุติว่าเท่ากับ 4.5 ก็แสดงว่าอาจารย์ท่านแรกนั้นยังสอนดีไม่เท่ากับอาจารย์ท่านอื่น ๆ ที่อธิบายมานี้ก็คือการนำสารสนเทศไปใช้เพื่อทำความเข้าใจโลกของความเป็นจริง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจขีดจำกัดเวลานำสารสนเทศไปใช้ด้วย เพราะในกรณีตัวอย่างนี้ นักศึกษาที่ให้คะแนนประเมินอาจารย์อาจจะไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน ดังนั้นจึงอาจจะเกิดความลำเอียง หรือความเห็นที่ไม่เป็นกลางได้ สารสนเทศมีความสำคัญมากในยุคปัจจุบันเพราะเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้บริหารเห็นสภาพความเป็นจริงในหน่วยงานของตนเองได้ดีขึ้น ดังนั้นหน่วยงานต่าง ๆ จึงจัดทำระบบสารสนเทศขึ้นสำหรับบันทึกข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำมาสรุปเป็นสารสนเทศเสนอผู้บริหาร สำหรับนักศึกษาเองนั้น นักศึกษามีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลที่มหาวิทยาลัยจัดเก็บไว้ว่าถูกต้องตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ เพื่อไม่ให้ระบบจัดทำสารสนเทศที่ผิดพลาดออกมา และ ที่สำคัญก็คือนักศึกษาต้องเรียนรู้การนำสารสนเทศไปใช้เพื่อทำความเข้าใจโลกและเหตุการณ์ต่าง ๆ

Internet อินเทอร์เน็ต ในที่นี้คงไม่ต้องย้ำว่าระบบอินเทอร์เน็ตมีความสำคัญต่อนักศึกษาทั้งในเวลาที่ยังเรียนอยู่ขณะนี้ และทั้งในเวลาที่จบการศึกษาไปแล้วอย่างไรบ้าง ปัจจุบันนี้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่สำคัญทั้งต่อการสื่อสาร, การประชาสัมพันธ์, การเรียนรู้, การทำธุรกิจ และ การทำวิจัย นักศึกษาควรศึกษาการใช้อินเทอร์เน็ตในด้านต่าง ๆ ให้เป็น ส่วนในด้านที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการทำวิจัยนั้นยิ่งต้องฝึกฝนให้ชำนาญให้มาก นักศึกษาอาจจะใช้ Blog ในการบันทึกการเรียนของตนเองและเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเพื่อน ๆ ด้วยกัน

Journal วารสารวิชาการ ความรู้ในระดับปริญญาโทและเอกนั้นจะต้องเป็นเรื่องใหม่ ยกตัวอย่างเช่นถ้าเรียนเรื่องความขัดแย้งในวงการเมือง ก็ไม่ใช่เรียนรู้แต่เรื่องความขัดแย้งระหว่างพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กับ นายทหารกลุ่มยังเติร์ก ที่นำไปสู่การปฏิวัติ แต่ต้องเรียนรู้เรื่องที่ใหม่ ๆ มาจนถึงกลุ่มเสื้อแดงและเสื้อเหลือง หรือความขัดแย้งในด้านการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ปัญหาคือเรื่องราวที่ใหม่ ๆ นั้นบางครั้งไม่ใช่ข้อเท็จจริง หากเป็นเพียงเสียงเล่าลือเท่านั้น ดังนั้นนักศึกษาที่ต้องการทำความเข้าใจข้อเท็จจริงจะต้องศึกษาจากบทความวิชาการหรือบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเท่านั้น วารสารวิชาการของไทยนั้นอยู่ระหว่างการพัฒนาให้มีคุณภาพดีขึ้น มีคณะบรรณาธิการและคณะกรรมการวิชาการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาก่อนนำบทความลงตีพิมพ์ ดังนั้นบทความวิชาการเหล่านี้จึงเชื่อถือได้ดีกว่าบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารทั่วไป การทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์จึงต้องอ้างอิงบทความที่น่าเชื่อถือเหล่านี้ ห้องสมุดในมหาวิทยาลัยนั้นมีวารสารชั้นนำด้านต่าง ๆ อยู่หลายชื่อ นักศึกษาควรหมั่นอ่านวารสารเหล่านี้เพื่อนำเนื้อหาไปอภิปรายหรือค้นคว้าต่อ มีคำถามว่าบทความในวารสารนั้นแตกต่างจากบทความที่ผู้เขียนนำลงในอินเทอร์เน็ตอย่างไร คำตอบก็คือบทความที่ผู้เขียนนำเผยแพร่ทางเว็บไซต์ต่าง ๆ นั้น อาจจะไม่มีผู้ตรวจสอบความถูกต้องทางวิชาการ ดังนั้นความน่าเชื่อถือของเนื้อหาจึงน้อย ยกเว้นแต่บทความวิชาการของสถาบันชั้นนำซึ่งนำออกเผยแพร่โดยไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารก่อนเท่านั้นที่น่าจะเชื่อถือได้ดีกว่า

Knowledge ความรู้ ในทางทฤษฎีแล้วนักวิชาการได้จำแนกความรู้เป็นประเภทต่าง ๆ หลายประเภท ความรู้แบบหนึ่งเรียกว่า “propositional knowledge” ซึ่งอาจแปลว่า “ความรู้ว่า...” หรือ “ความรู้เกี่ยวกับ...” และความรู้แบบที่สองคือ “ความรู้เชิงกรรมวิธี” หรือ “ความรู้เชิงขั้นตอนในการปฏิบัติ” ซึ่งเรียกว่า procedural knowledge ยกตัวอย่างของความรู้แบบแรก ก็คือความรู้ว่า “2 + 2 = 4” ส่วนความรู้แบบที่สองก็คือการรู้วิธีบวกเลข ซึ่งมีภาษาอังกฤษที่เราคุ้นเคยอยู่คำหนึ่งก็คือ “รู้ว่าทำอย่างไร” หรือ Know how ความแตกต่างนี้เห็นได้ค่อนข้างชัดมาก ยกตัวอย่างเช่น เวลานี้มีผู้พัฒนาเกมคอมพิวเตอร์ออกมามาก ห้างสรรพสินค้าบางแห่งก็มีตู้เกมคอมพิวเตอร์ให้คนเล่น เกมที่มีผู้ชอบเล่นกันมากก็คือ เกมแข่งขันฟุตบอล ส่วนใหญ่เรามี “ความรู้” เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของฟุตบอลค่อนข้างดี และเรา “รู้ว่า” กีฬาฟุตบอลนั้นแข่งกันอย่างไร นักฟุตบอลเลี้ยงลูกหลบหลีกคู่แข่ง และส่งลูกกันไปมาเพื่อหาทางนำลูกไปยิงประตูคู่แข่งอย่างไร แต่ถ้าหากเราลงไปเล่นเกมนี้เอง เราก็อาจจะเล่นไม่เป็น เพราะเราไม่มีความรู้ “know how” ในการเล่นเกมนี้มาก่อน สมมุติต่อไปว่า เราถามผู้ที่เล่นเป็น และลองเล่นเกมนี้จนเป็นจนสามารถควบคุมผู้เล่นในเกมให้ยิงประตูคู่แข่งได้จริง ๆ แล้ว เมื่อเราได้ลงสนามไปเตะฟุตบอลจริง ๆ เราก็อาจจะไม่สามารถเลี้ยงลูกไปยิงประตูได้เหมือนการเล่นเกม เพราะเรายังคงขาดความรู้ “know how “ ในการเตะฟุตบอลในสนามจริง ๆ อยู่นั่นเอง การเรียนของนักศึกษาในชั้นเรียนนั้นเน้นความรู้แบบ propositional knowledge แต่ความรู้แบบนี้ยังไม่พอที่จะนำไปใช้ประกอบอาชีพ ต้องเรียนความรู้แบบ procedural knowledge ควบคู่ไปด้วย ซึ่งความรู้แบบนี้ก็จะได้จากการทำแบบฝึกหัด และ การทำวิทยานิพนธ์นั่นเอง

Learn เรียนรู้ การเรียนรู้ก็คือการรับความรู้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามความถนัดหรือความสนใจ จนสามารถนำความรู้นั้นไปใช้งานได้ การอ่านข่าวในหนังสือพิมพ์อาจจะเป็นแค่การรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าหากเราสามารถพิจารณาข่าวนั้นจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ก็เป็นการเรียนรู้ ในแง่นี้การที่นักศึกษาไปนั่งฟังอาจารย์ในชั้นโดยไม่ได้ไตร่ตรองหรือใคร่ครวญเนื้อหาที่ได้ยิน เพื่อให้เกิดเป็นความรู้ที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้จึงยังไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง ในทางพุทธศาสนานั้นถือว่าการเรียนรู้เป็นเพียงงานขั้นต้นเท่านั้น (คือปริยัติ) เรายังต้องปฏิบัติสิ่งที่ได้เรียนรู้ เพื่อให้เกิดผลจริง (คือปฏิเวธ) แต่ไหนแต่ไรมานักปราชญ์ชาวไทยได้สอนหลักการเรียนว่าประกอบด้วย คำสี่คำคือ สุ จิ ปุ ลิ คำแรกคือ สุ นั้นมาจาก สุตะ หมายถึงการฟัง (และปัจจุบันก็รวมถึงการอ่านด้วย) จิ มาจาก จิตตะ คือเอาใจใส่พิจารณาไตร่ตรองเนื้อหานั้นให้เข้าใจ ปุ มาจาก ปุจฉา คือเมื่อไม่เข้าใจหรือยังไม่แจ่มแจ้งก็ถามคำถามต่ออาจารย์เพื่อให้ท่านช่วยอธิบายประเด็นที่ยังไม่แจ่มแจ้งนั้น และ ลิ มาจาก ลิขิต ซึ่งก็คือการบันทึกเรื่องราวที่เราได้รู้, ได้คิด, ได้ถาม, ได้คำตอบ เอาไว้เพื่อการอ้างอิง หรือนำไปใช้ในภายหน้า ปัจจุบันนี้ความสามารถของบัณฑิตไทยจำนวนมากตกต่ำลงไปมาก ความรู้ก็ไม่ลึกซึ้ง คิดอะไรก็ไม่เป็น และ ผลการทำงานก็ไม่มีคุณภาพ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะนักเรียนนักศึกษาละเลยภูมิปัญญาไทยในเรื่องการเรียนรู้ เวลาอยู่ในชั้นเรียนก็ไม่ตั้งใจฟัง ไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักตั้งคำถาม และไม่จดบันทึกสิ่งที่เรียน นักศึกษาจำนวนหนึ่งนำเครื่องบันทึกเสียงเข้าไปบันทึกการสอนของอาจารย์แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยฟัง ดังนั้นจึงเสียเวลาไปเปล่า เพราะลงท้ายก็ไม่ได้เรียนรู้ ด้วยเหตุนี้เอง การเรียนรู้อย่างถูกต้องจึงเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จที่เราต้องไม่มองข้าม

Lesson บทเรียน บทเรียนเป็นความหมายที่ตรงไปตรงมาของเรื่องราวที่เราได้เรียนรู้ แต่ความหมายอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ ซึ่งถ้าใช้คำเต็มก็คือ Lesson learned หมายความว่าเมื่อเราทำงานใด ๆ แล้วเราจะได้รับประสบการณ์จากงานนั้น ซึ่งอาจจะเป็นประสบการณ์ที่ดีก็ได้ หรือที่ร้ายก็ได้ แต่เราไม่ควรปล่อยให้เป็นเพียงประสบการณ์เฉย ๆ เราควรนำประสบการณ์นั้นมาพิจารณาใคร่ครวญให้เป็นความรู้สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ต่อ ในขณะที่ยังเรียนอยู่ในหลักสูตรนั้น นักศึกษาจะได้รับประสบการณ์มากมาย แต่นักศึกษาส่วนมากไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษามีประสบการณ์จากการสอบกลางภาค แต่ก็ไม่เคยนำผลสอบมาพิจารณาว่าเหตุใดจึงได้คะแนนสูงหรือต่ำ ที่ได้คะแนนสูงเป็นเพราะอะไร หรือถ้าได้คะแนนต่ำ นักศึกษาควรแก้ไขอย่างไร

Library ห้องสมุด ห้องสมุดเป็นสถานที่ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อนักศึกษาทุกระดับ ห้องสมุดเป็นที่เก็บรวบรวมตำราสรรพวิชาการ และ วารสารวิชาการมากมายให้นักศึกษาค้นคว้า จริงอยู่ทุกวันนี้นักศึกษาสามารถค้นคืนตำราและบทความวิชาการต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ แต่นักศึกษาก็ไม่ควรมองข้ามห้องสมุดไป นักศึกษาควรตรวจสอบว่ามหาวิทยาลัยมีหนังสืออ้างอิง หรือตำราในสาขาวิชาของเรามากน้อยเพียงใด พอต่อการใช้งานหรือไม่ และควรเสนอแนะหนังสือที่เหมาะสมให้มหาวิทยาลัยจัดซื้อจัดหามาไว้ในห้องสมุด แต่ที่สำคัญก็คือนักศึกษาควรยืมหนังสือไปอ่านเพิ่มเติมจากตำราที่อาจารย์ใช้สอนเพื่อขยายขอบเขตความรู้ของเราให้กว้างขวางมากขึ้นไปอีก

Manage จัดการ นักศึกษาระดับปริญญาโทและเอกนั้นโดยทั่วไปย่อมมีวุฒิภาวะสูงกว่านักศึกษาระดับปริญญาตรี การเรียนของนักศึกษาปริญญาตรีส่วนมากเป็นไปตามยถากรรม ไม่มีการวางแผน ไม่มีการจัดการ และในหลายกรณีอาจจะลงท้ายด้วยความล้มเหลว ถ้าหากนักศึกษาปริญญาโทและเอกยังคงเรียนเหมือนการเรียนในระดับปริญญาตรีแล้ว ความล้มเหลวก็ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้นักศึกษาปริญญาโทและเอกจะต้องรู้วิธีจัดการการเรียนอย่างเหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่าการเรียนจะประสบความสำเร็จ วิธีการจัดการการเรียนที่ควรนำไปฏิบัติมีดังนี้
1. มีความมุ่งมั่นและพันธกิจในการเรียน และกำหนดระดับคะแนนที่ต้องการ รวมทั้งคุณภาพของผลการเรียนที่เราต้องการ
2. วางแผนการเรียนตลอดหลักสูตรเป็นตารางเวลาอย่างละเอียด
3. จัดทำงบประมาณ และ จัดเตรียมทรัพยากรที่จำเป็นต่อการเรียน (คอมพิวเตอร์, ซอฟต์แวร์, ตำรา, เครื่องเขียน, เครื่องมือ ฯลฯ) ให้พร้อม
4. พิจารณาว่าเรายังขาดความรู้ที่จำเป็นต่อการเรียนในระดับปริญญาโทและเอกอย่างไรบ้าง เมื่อทราบแล้วให้รีบเร่งเข้ารับการฝึกอบรมเรื่องนั้น (เช่นการใช้โปรแกรม PowerPoint, Excel, Microsoft Project, SPSS, Words)
5. พิจารณาใช้คอมพิวเตอร์จัดเก็บผลงานที่ได้เรียนรู้, ความรู้ที่ได้รับ, บทความอ้างอิงที่ได้อ่าน, ความก้าวหน้าของการทำวิจัย, รวมทั้งคำสั่งหรือคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา เอาไว้ให้เป็นหมวดหมู่
6. พิจารณาว่าการเรียนและการวิจัยของเรานั้นต้องเกี่ยวข้องกับผู้ใดบ้าง เราได้ค้นหาชื่อ, ประวัติ, สถานที่ติดต่อ, หมายเลขโทรศัพท์ ไว้ครบถ้วนหรือไม่ ต่อจากนั้นจึงติดต่อขอความร่วมมือจากบุคคลเหล่านั้น
7. การติดตามว่าเราการเรียนของเราเป็นไปตามแผนงานหรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามแผนงานเราต้องตรวจสอบว่าเป็นเพราะอะไร และจะแก้ไขอย่างไร
8. การเข้าพบเพื่อรายงานความก้าวหน้าของงานวิจัยให้อาจารย์ที่ปรึกษาทราบ เพื่อขอคำแนะนำต่าง ๆ
9. การพิจารณาคุณภาพของงานว่าเป็นไปตามที่เราคาดหวังหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็ต้องหาทางแก้ไข
10. การตรวจสอบการเรียนตลอดเวลาเพื่อหารทางปรับปรุงการเรียนของเราให้ดีขึ้น

Notebook โน้ตบุ๊ก, สมุดบันทึก นักศึกษาปริญญาโทและเอกทุกวันนี้จะขาดคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า โน้ตบุ๊ก (หรือ Laptop) ไม่ได้ เพราะการเรียนทุกวันนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น มีเนื้อหามากขึ้น และต้องค้นหาความรู้ต่าง ๆ มาใช้ในการเรียนมากขึ้น นอกจากนั้นงานวิจัยทุกวันนี้ก็ยังต้องอาศัยคอมพิวเตอร์ในการเก็บข้อมูลและการวิจัยเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นนักศึกษาทุกคนจึงควรลงทุนซื้อโน้ตบุ๊กมาใช้ และหัดใช้ซอฟต์แวร์ให้เป็น (ดู computer)
สำหรับในความหมายของสมุดบันทึกนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะทุกวันนี้นักศึกษาได้รับการสอนอย่างผิด ๆ จากนักการศึกษาว่าการเรียนสมัยนี้ไม่ต้องจำอะไรทั้งนั้น ขอเพียงแต่ให้คิดเป็นเท่านั้น แต่นักการศึกษาเหล่านั้นลืมไปว่าการคิดจะต้องมีความรู้ที่แน่นแฟ้นเป็นรากฐาน นั่นหมายความว่าต้องระลึกได้ทันทีว่าอะไรเป็นอะไร ยิ่งความรู้ทุกวันนี้เพิ่มพูนตลอดเวลา เรายิ่งต้องจำมากขึ้นตามไปด้วย แต่การจำเรื่องราวทุกอย่างย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องหัดจดบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ เอาไว้อ้างอิง ด้วยเหตุนี้เองนักศึกษาจึงต้องมีสมุดบันทึกประจำตัวสำหรับบันทึกคำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา, การสั่งงานของอาจารย์ประจำวิชา, เนื้อหาวิชาการที่น่าสนใจ ฯลฯ หากนักศึกษามีคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก นักศึกษาอาจจะบันทึกลงเป็นแฟ้มก็ได้หากมีความสามารถในการพิมพ์ได้รวดเร็วพอ การจดบันทึกนั้นเป็นศิลปะที่สำคัญอย่างหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น