วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

พจนานุกรมแห่งความสำเร็จตอนที่ 4

พจนานุกรมแห่งความสำเร็จตอนที่ 4
Organize การจัดหมวดหมู่, การจัดงาน ปัจจุบันนี้เราต้องทำอะไรรวดเร็วขึ้นกว่ายุคก่อน เราต้องการค้นหาเอกสารที่เก็บไว้ได้อย่างรวดเร็ว, เราต้องการค้นหาแฟ้มที่เราเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ของเราแต่เราลืมชื่อไปแล้วเพียงแต่รู้ว่าเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรเท่านั้น, เราต้องการค้นหาภาพได้รวดเร็ว ฯลฯ การที่จะค้นหาสิ่งต่าง ๆ ที่เราต้องการได้รวดเร็วนั้น จำเป็นที่เราจะต้องสร้างระบบการจัดหมวดหมู่สิ่งเหล่านั้นอย่างเหมาะสม เราต้องรู้วิธีทีจะสร้างโฟลเดอร์และชื่อแฟ้มที่เข้าใจได้ง่าย, เราต้องรู้วิธีที่จะสร้างฐานข้อมูลสำหรับจัดเก็บรายละเอียดค่าใช้จ่าย หรือ แฟ้มสรุปวรรณกรรมที่เราได้บันทึกไว้สำหรับการทำวิจัย การจัดงานต่าง ๆ ให้เป็นหมวดหมู่นั้นไม่ใช่ของยาก วิธีง่าย ๆ ที่จะเรียนรู้ก็คือเดินเข้าไปในห้องสมุดและศึกษาการจัดหมวดหมู่ของหนังสือ หรือ การจัดวางวารสาร แล้วนำวิธีจัดหมวดหมู่เหล่านั้นมาใช้กับงานของเรา นอกจากการจัดหมวดหมู่งานเอกสารแล้ว สิ่งที่เราต้องทำเป็นอีกอย่างก็คือการจัดงานต่าง ๆ ของเราให้มีลำดับที่เหมาะสม เราต้องรู้ว่าในการทำงานต่าง ๆ นั้น เราควรทำอะไรก่อนอะไรหลัง

Planning การวางแผน ไม่ว่าเราจะทำงานใด ๆ เราต้องวางแผนการทำงานนั้นก่อนการลงมือทำงาน การวางแผนที่ดีจะช่วยให้เรามีรายละเอียดงานที่จะต้องทำได้อย่างครบถ้วน รู้ว่าจะต้องทำอะไรเมื่อใด และรู้ว่างานเหล่านั้นเมื่อทำเสร็จแล้วจะได้อะไร คนทั่วไปคิดว่าเราควรวางแผนเฉพาะในงานที่สำคัญ เช่น การสร้างบ้าน หรือ การผลิตสินค้า แต่อันที่จริงแล้วเราต้องวางแผนงานในทุกเรื่อง แม้แต่การเดินทางไปเรียนในแต่ละวันก็ต้องวางแผน หรือแม้แต่ชีวิตของเราเองก็ต้องวางแผนด้วยเช่นกัน
การวางแผนประกอบด้วยการกำหนดเป้าหมายของงานว่าเราต้องการให้เกิดผลลัพธ์อะไรบ้าง และการสร้างผลลัพธ์นั้นจะต้องทำกิจกรรมอะไรบ้างและต้องใช้เวลาเท่าใด จากนั้นก็นำกิจกรรมเหล่านั้นมาจัดเรียงกันไว้ตามลำดับขั้นตอนที่เหมาะสมตั้งแต่กิจกรรมแรก จนถึงกิจกรรมสุดท้ายซึ่งจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ในการทำเช่นนี้หมายความว่าเราจะต้องรู้ว่าการทำงานต่าง ๆ ต้องมีกิจกรรมอะไรบ้าง เช่น การทำวิทยานิพนธ์มีกิจกรรมอะไรบ้าง เรื่องเหล่านี้นักศึกษาจะต้องศึกษาค้นคว้าจากแหล่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง

Prestige เกียรติภูมิ ความจริงแล้วเกียรติภูมิหรือเกียรติศักดิ์เป็นผลของความสำเร็จในการศึกษาหรือในหน้าที่การงาน แต่เกียรติภูมินั้นจะต้องเกิดด้วยความสามารถของตนเอง และเราสามารถทบทวนการทำงานของเราได้ด้วยความภาคภูมิใจ นักศึกษาบางคนอาจสนใจเฉพาะให้มีงานส่งอาจารย์โดยไม่เลือกว่าจะลอกเลียนของใครมา หรือไปจ้างใครทำมาส่ง แต่การทำเช่นนั้นไม่ได้มีเกียรติภูมิแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามเกียรติภูมิเป็นหลักคิดสำคัญที่จะหล่อหลอมให้เกิดความสำเร็จก็ได้ หลักคิดที่สำคัญก็คือ ไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ไหนเราจะต้องสร้างชื่อเสียงและความมั่นคงให้แก่ที่นั้น หลักคิดนี้เป็นสิ่งที่นักวิชาชีพ (professional) ยึดถือ เช่น นักบริหารมืออาชีพ เมื่อได้รับการว่าจ้างไปอยู่ที่ไหน เขาจะต้องทุ่มเทการทำงานเพื่อให้บริษัทที่ว่าจ้างเขานั้นรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จ หรือนักฟุตบอลอาชีพที่ย้ายจากทีมหนึ่งไปอีกทีมหนึ่ง ก็จะต้องทุ่มเทให้ทีมที่ตนสังกัดประสบชัยชนะ แม้ว่าจะต้องแข่งขันกับทีมเก่าที่มีเพื่อนเก่าอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม ด้วยเหตุนี้นักศึกษาจะต้องสร้างเกียรติภูมิหรือมีหลักคิดที่ดีก่อนจึงจะนำตัวเองไปสู่ความสำเร็จได้

Questioning การตั้งคำถาม การรู้จักตั้งคำถามที่เหมาะสมเป็นเทคนิคสำคัญของการเรียนรู้ และการบริหารจัดการ คำถามภาษาอังกฤษใช้คำนำหน้าที่จำง่ายนั่นก็คือ What, When, Where, Why, Why not, How, How to แต่เราต้องรู้จักใช้คำนำหน้าคำถามเหล่านี้อย่างเหมาะสมจึงจะเกิดประโยชน์จริง การตั้งคำถามมีประโยชน์หลายอย่างคือ ทำให้เราได้ทราบรายละเอียดและประวัติของเรื่องที่เราสนใจมากขึ้น, ทำให้เราทราบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์, ทำให้เราทราบเหตุผลของเรื่องเหล่านั้นมากขึ้น, ทำให้เราสรุปข้อเท็จจริงได้อย่างถูกต้องขึ้น ฯลฯ ในประวัติศาสตร์มนุษยชาตินั้นบุคคลที่มีความสามารถในการตั้งคำถามให้เราเรียนรู้ได้มากมีหลายคน เช่น พระพุทธเจ้า, โสเครตีส, และ ขงจื๊อ ส่วนในปัจจุบันนั้นผู้ที่โดดเด่นก็คือ กฤษณามูรติ เราควรศึกษาแนวทางการตั้งคำถามของท่านเหล่านี้ แล้วนำคำถามในลักษณะเดียวกันไปใช้บ้าง

Read อ่าน ในอดีตวิธีการเรียนรู้ที่สำคัญก็คือการฟัง แต่ในยุคนี้วิธีการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดก็คืออ่าน ทุกวันเราได้อ่านเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ทั้งการอ่านหนังสือพิมพ์, อ่านข้อความ SMS, อ่านอีเมล, อ่านเรื่องราวต่าง ๆ ในอินเทอร์เน็ต ฯลฯ โดยรวมแล้วเราต้องใช้เวลามากมายในการอ่าน แต่กลับกลายเป็นว่ายิ่งเราอ่านมากเท่าใด เรากลับเรียนรู้ได้น้อยลงเท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะความสามารถในการเขียนของคนร่วมสมัยของเรากลับลดลง ทุกวันนี้เมื่ออ่านเรื่องต่าง ๆ ที่ได้รับทาง SMS, อีเมล, หรือแม้แต่ข่าวหนังสือพิมพ์ เราต้องใช้เวลาตีความหรือหาความหมายที่แท้จริงนานมากขึ้น
ในเมื่อทุกวันนี้มีสื่อให้เราอ่านมากขึ้น เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการอ่านแฟ้ม, เอกสารหรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันด้วย การอ่านตำรานั้นไม่จำเป็นต้องอ่านทุกตัวอักษรและทุกหน้า แต่ต้องเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจแนวทางการเขียนตำราของผู้เขียนซึ่งจะปรากฎอยู่ในคำนำของตำรา, ต้องทำความเข้าใจโครงสร้างของเนื้อหาซึ่งปรากฎในสารบาญ, จากนั้นจึงเลือกอ่านบทที่เราต้องการเรียนรู้ ซึ่งแม้แต่การอ่านเนื้อหาในบท เราก็ต้องรู้ว่าโครงสร้างของแต่ละบทมีลักษณะอย่างไร และโครงสร้างของเนื้อหาที่อยู่ในแต่ละพารากราฟเป็นอย่างไรด้วย สำหรับการอ่านบทความวิชาการนั้น เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจชื่อบทความซึ่งสะท้อนเนื้อหาอย่างกว้าง ๆ ก่อน จากนั้นจึงพิจารณาว่าผู้เชียนคือใคร สังกัดอะไร มีตำแหน่งหน้าที่อะไร แล้วจึงอ่านบทคัดย่อเพื่อทำความเข้าใจภาพรวมของงานวิชาการนั้น หากสนใจก็ขอให้ข้ามไปพิจารณาว่าผู้เขียนบทความนั้นอ้างอิงเนื้อหาหลักจากเอกสารหรือบทความวิชาการใดบ้างและทันสมัยหรือไม่ จากนั้นจึงค่อยอ่านรายละเอียดของตัวบทความ
การอ่านนั้นเราต้องจดบันทึกไปด้วย ไม่ใช่อ่านเฉย ๆ เราควรมีปากกาเน้นข้อความ หรือ marker สำหรับชีดเส้นใต้หรือขีดทับประโยคสำคัญที่เราต้องการย้อนกลับมาทบทวน หากเราต้องการที่จะค้นคว้าเรื่องใดต่อ ให้เขียนรายละเอียดหรือคำถามลงไปที่ขอบกระดาษเพื่อให้เราย้อนกลับมานำคำถามเหล่านั้นไปหาคำตอบได้

Research การวิจัย การศึกษาระดับปริญญาตรีเน้นที่การเรียนในชั้นอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันนี้เริ่มกำหนดให้นักศึกษาไปปฏิบัติงานในบริษัทเอกชนตลอดภาคการศึกษาและเรียกการเรียนแบบนี้ว่า สหกิจศึกษา การศึกษาปริญญาโทนั้นนอกจากเรียนในชั้นแล้วยังเน้นการเรียนรู้และทำงานวิจัยด้วย ถ้าหากเป็นงานวิจัยขนาดใหญ่และเป็นเรื่องที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนก็เรียกว่าเป็นวิทยานิพนธ์ ส่วนการศึกษาปริญญาเอกนั้นไม่เน้นการเรียนในชั้น แต่ให้ทำวิทยานิพนธ์ซึ่งเป็นงานวิจัยขนาดใหญ่และยากเพิ่มมากขึ้นกว่าระดับปริญญาโท ด้วยเหตุนี้นักศึกษาจึงต้องสนใจเรื่องงานวิจัยและต้องทำวิจัยให้ถูกขั้นตอนและระเบียบวิธีด้วย
นักศึกษาควรเข้าใจว่าการทำวิจัยนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาความรู้ที่เรายังไม่เคยรู้มาก่อน ไม่ใช่งานทดลองในห้องปฏิบัติการของเด็กมัธยมหรือนักศึกษาปริญญาตรี การทดลองน้ำมาแยกด้วยกระแสไฟฟ้าให้เป็นออกซิเจนและไฮโดรเจนในห้องปฏิบัติการนั้นไม่ใช่งานวิจัยเพราะเป็นเรื่องที่รู้จักกันดีแล้ว งานวิจัยต้องหาความรู้ใหม่ที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน หรือยืนยันในสิ่งที่อาจจะรู้แต่ไม่เคยมีใครวิจัย ยกตัวอย่างข้อเท็จจริงในสังคมไทย คือ ทุกปีประเทศไทยส่งนักเรียนไทยไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก นักเรียนที่เป็นตัวแทนของไทยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชาย ๆ นาน ๆ จึงจะมีนักเรียนหญิงได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนสักครั้ง ข้อเท็จจริงนี้แสดงว่านักเรียนชายมีทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์มากกว่านักเรียนหญิงจริงหรือไม่ นี่เป็นคำถามวิจัยที่ยังไม่มีใครตอบด้วยการวิจัย เพียงแต่ยืนยันกันจากการสังเกตว่านักเรียนชายชอบเครื่องยนต์กลไกมากกว่านักเรียนหญิง แต่ในชีวิตการทำงานแล้วปรากฏว่ามีนักเขียนโปรแกรมหญิงมากพอ ๆ กับชาย หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ
การวิจัยที่ดีจะต้องต่อยอดงานวิจัยอื่น ๆ ที่รู้จักกันจนถึงปัจจุบัน นั่นคือนักวิจัยจะต้องค้นคว้าหาวรรณกรรม (หมายถึงบทความวิชาการหรือบทความวิจัย) ที่เกี่ยวข้องมาอ่านจนตระหนักดีว่าในปัจจุบันวงการวิชาการด้านนี้รู้อะไรถึงไหนแล้ว และมีอะไรที่ยังไม่รู้ เพื่อที่นักวิจัยจะได้ศึกษาค้นคว้าต่อจากนั้นออกไป
การทำวิจัยมีหลายรูปแบบ และอาจแบ่งได้หลายลักษณะ ถ้าแบ่งอย่างกว้างที่สุดก็คืองานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์ ถ้าแบ่งตามลักษณะการทำวิจัยก็อาจแบ่งเป็นการวิจัยเชิงการทดลอง, การวิจัยเชิงพรรณนา, การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ ถ้าแบ่งตามสาขาวิชาการก็ยังอาจแบ่งได้เป็นการวิจัยทางสังคมศาสตร์, การวิจัยทางวิทยาศาสตร์, การวิจัยทางเกษตรศาสตร์, การวิจัยทางแพทยศาสตร์, ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยแบบใด ต่างก็มีระเบียบวิธีวิจัย (Research methodology) ที่เราจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อให้แน่ใจว่างานวิจัยนั้นไม่เกิดข้อบกพร่องจนถึงกับทำให้ผลงานได้รับการปฏิเสธจากนักวิจัยอื่น ๆ
การทำวิจัยอย่างถูกต้องและน่าเชื่อถือเป็นเรื่อใหญ่ และนักศึกษาจะต้องลงทะเบียนเรียนวิชาเกี่ยวกับการทำวิจัยให้เข้าใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น