วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

กาลามสูตรกับสถานการณ์ปัจจุบัน

กาลามสูตรกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ครรชิต มาลัยวงศ์


ความก้าวหน้าของไอซีทีทำให้เกิดปัญหาในการเข้าถึงความจริงหรือความถูกต้องอย่างน่าเป็นห่วง. ไอซีทีทำให้เกิดสื่อมวลชนจำนวนมากมาย จนไม่อาจทราบได้ง่าย ๆ ว่าใครเป็นใคร หรือใครเป็นค่ายใด หรือมีทัศนคติและทิศทางอย่างไร. นอกจากนั้นไอซีทียังทำให้เกิดสื่อปัจเจกบุคคลมากมายที่เผยแพร่ความคิดเห็นหรือความรู้สึกของตนเองออกเผยแพร่โดยไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่. ไม่ต้องดูอื่นไกล บทความนี้ก็เป็นการเผยแพร่ความคิดเห็นของผู้เขียนเองออกไปโดยไม่มีใครตรวจสอบว่าความคิดนั้นเป็นบวกหรือลบ, หรือเป็นความคิดที่มีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผลเช่นเดียวกัน. ไอซีทีกำลังทำให้เกิดข่าวสารมากมายจนกระทั่งอาจกล่าวได้ว่า เรากำลังถูกทับถมและท่วมท้นด้วยข้อมูลข่าวสาร จนกระทั่งเราไม่อาจบอกได้ว่า อะไรคือความจริง หรือไม่จริง. ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นก็คือ ไอซีทีสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการตกแต่งปลอมแปลงภาพถ่ายและเอกสารได้โดยไม่ยาก. ในสมัยก่อนเราอาจจะใช้ภาพถ่ายเป็นพยานหลักฐานในคดีต่าง ๆ เพื่อแสดงว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำผิดจริง เช่น กำลังใช้อาวุธยิงผู้เสียหายจริง. แต่ในสมัยนี้เราสามารถใช้ไอซีทีตกแต่งหรือสร้างภาพเช่นนี้ขึ้นมาได้โดยง่าย. ดังนั้นการค้นหาว่าอะไรคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงจึงยากมากขึ้นเป็นทวีคูณ.
ถ้าเช่นนั้น เราจะเชื่อถือสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้เห็นหรือได้อ่านอย่างไร? คำตอบก็คือต้องยึดตามหลักกาลามสูตรซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงประทานไว้ให้เป็นเครื่องมือสำคัญ. คำสอนในพระสูตรนี้มีบางประเด็นที่ท่านต้องตีความหรือพิจารณาอย่างรอบคอบ. อย่าลืมว่าพระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องนี้เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว. ขณะนั้นยังไม่มีประเทศไทย หรือยังไม่แน่ว่ามีคนไทยแล้วหรือยังด้วยซ้ำไป. บ้านเมืองสมัยนั้นก็ไม่ได้มีไฟฟ้าน้ำประปาหรือโทรศัพท์เหมือนสมัยนี้. การคมนาคม การสื่อสาร การเผยแพร่ข่าวสาร แม้แต่การสาธารณสุขเองก็ยังอยู่ในระดับที่เรียกว่าอยู่ในระดับตั้งต้นของมนุษยชาติมาก. ยิ่งการศึกษาด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องคิดเลยว่าจะมีให้ประชาชนทุกคนได้เรียนรู้. ประเด็นเรื่องเหล่านี้แหละที่เราควรพิจารณาเวลานำพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาตีความหรืออธิบายความ.
กาลามสูตร กล่าวถึงชนเผ่าหนึ่งในแคว้นโกศลชื่อชาวกาลามะ. ชุมชนนี้เกิดความสงสัยว่ามีนักบวชหลากหลายกลุ่มมาสอนแนวคิดแนวปฏิบัติต่าง ๆ มากมายให้แก่พวกเขา. เรื่องที่สอนเหล่านี้บางทีก็ขัดแย้งกัน. พวกเขาจึงอยากทราบว่าควรจะเชื่อผู้ใดกันแน่ หรือมีวิธีการตรวจสอบความเชื่อนั้นอย่างไร. ชาวกาลามะจึงกราบทูลถามเรื่องนี้ต่อพระพุทธองค์. พระพุทธองค์ได้ทรงประทานวิธีการตรวจสอบความเชื่อไว้ ๑๐ ข้อ. ในที่นี้ผมจะลองนำมาประยุกต์กับสถานการณ์การชุมนุมและก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนี้...
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา (มา อนุสสะเวนะ). เนื้อหาข้อนี้อาจเทียบเคียงได้กับการอ่านอีเมลที่ได้รับต่อ ๆ กันมา, อ่านเนื้อความจากอินเทอร์เน็ต, อ่านจากสื่อต่าง ๆ เช่นหนังสือพิมพ์,วิทยุชุมชน, หรือ ฟังผู้ประกาศข่าวพูดแสดงความเห็นทางโทรทัศน์ แถมด้วยการฉายข้อความสั้น (SMS) ที่ได้รับจากคนทั่วไป . การที่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เชื่อได้ยาก เพราะการสื่อความต่าง ๆ ออกมาเป็นคำพูดนั้นอาจถูกบิดเบือนไปได้ทั้งโดยจงใจหรือไม่จงใจ. บางครั้งข่าวสารที่สื่อออกมานั้น อาจจะไม่ตรงกับความจริงเพราะการใช้ถ้อยคำ, ประโยคและข้อความที่ผิดพลาด หรือเขียนไม่ครบถ้วน ทำให้ต้องแปลความหมายว่าเนื้อความที่แท้คืออะไร. นอกจากนั้นการเห็นเหตุการณ์เพียงแง่มุมเดียวก็ไม่อาจจะบอกได้ว่ากำลังเห็นอะไรด้วยเช่นกัน. เมื่อผู้เห็นเหตุการณ์นำมาเขียนลงในเว็บ ก็อาจจะคลาดเคลื่อนไปจากความจริงได้. ยิ่งเมื่อคัดลอกส่งต่อ ๆ ไปด้วยแล้ว ยิ่งไม่ควรเชื่อมากขึ้น.
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการทำตามสืบ ๆ กันมา (มา ปรัมปรายะ). เนื้อหานี้อาจจะเทียบเคียงได้กับการที่เราเชื่อถือและทำตามคำสอนโบราณเช่น การไม่ออกจากบ้านเพราะยันต์อุบากองห้าม, หรือ ทำตามคติเก่าแก่เช่น ไม่เผาศพวันศุกร์ หรือ ไม่แต่งงานวันพุธ. ในกรณีของเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้ เราจะเชื่อว่าการชุมนุมเรียกร้องจะเป็นแบบสงบและปราศจากอาวุธ เหมือนที่เคยเห็นการชุมนุมและเดินขบวนเรียกร้องหรือประท้วงครั้งก่อน ๆ ไม่ได้, เราจะเชื่อต่อไปจากการกระทำสืบต่อกันมาไม่ได้เช่นกันว่าตำรวจจะเป็นผู้ปราบปรามผู้ก่อการร้าย, เราจะเชื่อต่อไปไม่ได้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือผู้ทรงเกียรติ และเป็นตัวแทนประชาชนเพื่อสร้างความเจริญให้แก่ประเทศชาติ, แต่ เราจะเชื่อต่อไปไม่ได้เหมือนกันว่าสื่อมวลชนจะมีความเป็นกลางเหมือนที่พยายามประกาศเรียกร้องให้เชื่อเช่นนั้น. พวกเราเคยพลาดมาแล้ว เพราะเชื่อว่าการที่นักการเมืองเป็นคนร่ำรวยนั้นจะไม่โกงกินอีก. ผลลัพธ์เป็นอย่างไรก็คงจะเห็นประจักษ์แล้วว่าเชื่อไม่ได้.
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือตื่นข่าว (มา อิติกิรายะ). เนื้อหานี้อาจเทียบเคียงได้จากการพูดปากต่อปาก ลือไปทั้งเมือง เช่น ลือว่าคนโน้นคนนี้เป็นมะเร็ง, ลือว่าคนโน้นคนนี้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นั้น ๆ, ลือว่าผู้ชุมนุมรายหนึ่งกระโดดหนีจากเวที และถูกจับตัวไว้แล้ว, ฯลฯ. ความจริงแล้ว เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ส่วนหนึ่งน่าจะลุกลามเพราะการเล่าลือแบบปากต่อปากนี่แหละ. ดังนั้นในเหตุการณ์ทำนองนี้เราอย่าได้เชื่อตามเสียงเล่าลือเป็นอันขาด. เราอาจจะฟังคนที่มาเล่าข่าว ไม่ต้องแสดงความเห็นขัดแย้ง, ไม่ต้องสนับสนุน, แล้วก็เงียบไว้ ไม่นำข่าวนั้นไปเล่าลือต่อ.
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ (มา ปิฎกสัมปทาเทนะ). เนื้อหานี้ อาจจะแปลกมากสักหน่อยสำหรับคนปัจจุบันซึ่งยึดถือตำราเป็นสรณะ. ถ้าหากเราลองทบทวนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ดู จะพบว่า ตำราฟิสิกส์ที่นิวตันเขียนนั้นขณะนี้ก็ไม่เป็นความจริงหมดเสียแล้ว เนื่องจากมีผู้ค้นพบเรื่องราวใหม่ ๆ ที่ไม่เป็นไปตามหลักการฟิสิกส์สมัยนิวตัน. ขณะนี้การศึกษาจักรวาลต้องใช้แนวคิดใหม่ด้านควอนตัมเป็นเครื่องมือ. อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ว่าฟิสิกส์ใหม่จะเป็นความจริงได้ตลอดกาลหรือไม่. ศัพท์บาลีข้อนี้ใช้ว่า มา ปิฏกสมฺปทาเนน และทางพุทธศาสนาใช้คำว่า ปิฏก ในความหมายของตำรามานานแล้ว. นั่นแปลว่า สมัยพระพุทธองค์ทรงมีพระชนม์อยู่นั้น ก็มีการเขียนตำรากันแล้ว. มีคำถามว่าแล้วเหตุใดจึงไม่มีใครบันทึกคำสอนของพระองค์เป็นตัวหนังสือบ้างหรือไร. ผมเองเชื่อว่าคงมีการบันทึกคำสอนไว้เป็นตัวหนังสือบ้างเหมือนกัน แต่หลัก ๆ อยู่ที่การทรงจำของพระเถระต่าง ๆ สืบต่อกันมา. หากบันทึกไว้แต่เพียงเป็นคัมภีร์เท่านั้น ป่านนี้ก็อาจจะไม่มีอะไรเหลือมาถึงพวกเราแล้ว. ขอย้ำอีกครั้ง...อย่าลืมว่านั่นเป็นยุคสมัยสองพันกว่าปีมาแล้ว. ในกรณีของเหตุการณ์การก่อการร้ายนั้น ผมขอขยายความว่า เราไม่ควรเชื่อเนื้อความที่เขียนในรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายมากนัก เพราะเนื้อความเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์เอาไว้อย่างชัดเจนนัก. เช่น การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ชุมนุมเรียกร้องอย่างสงบได้นั้น ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้มีเจตนาให้เดินขบวนมาเรียกร้องให้ยุบสภา หรือไปยึดราชประสงค์, หรือให้คนชุมนุมไปตรวจค้นผู้คนที่ขับยวดยานผ่านไปมาโดยไม่ได้มีหน้าที่.
อย่าปลงใจเชื่อพราะตรรกะ (มา ตักกะเหตุ). เรื่องนี้ดูจะแปลกสักหน่อยที่พระพุทธองค์ไม่ให้เชื่อเพราะตรรกะ. ผมเชื่อว่าสมัยนี้เรามีความรู้เรื่องตรรกะ หรือ ความเป็นเหตุเป็นผลกันมาก. เนื้อความข้อนี้จึงแปลก เพราะคำสอนในพระพุทธศาสนาล้วนมีเหตุผล. พระพุทธองค์เองก็สอนให้คนรู้จักเหตุ และ รู้จักผล ดังปรากฏในสัปปุริสธรรม ๗. เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุใดจึงทรงห้ามปลงใจเชื่อข้อนี้. คำตอบก็ต้องเริ่มด้วยคำถามคือ พวกเรารู้ตรรกะแค่ไหน? เรารู้วิธีการหาข้อเท็จจริงจากตรรกะหรือไม่? ถ้าตรรกะสามารถให้คำตอบได้ทุกอย่าง เราก็คงจะไม่เกิดความวุ่นวายจากสถานการณ์การก่อการร้าย. เราสามารถเอาชนะกันได้ตรรกะ ในการเจรจาไม่ได้ เพราะฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายผู้ชุมนุมถือข้อเท็จจริงต่างกัน. โดยทั่วไปแล้ว วาทกรรมของหัวหน้าผู้ชุมนุมนั้น เขายึดแต่เพียงสิ่งที่เขาเชื่อว่าเป็นความจริง และไม่ยอมรับสิ่งที่เป็นความจริงที่คนทั่วโลกยึดถือ. ดังนั้น เราจึงไม่ควรเชื่อในตรรกะว่า การมอบตัว และ การยุติการชุมนุม คือ การยุติการก่อการร้ายทั้งปวง. รวมทั้งไม่ควรเชื่อว่าหัวหน้าผู้ชุมนุมจะทำอะไร ๆ ตามที่เขาบอก หรือ สัญญาว่าจะทำ.
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอนุมาน(มา นยเหตุ). การอนุมานนั้นอาจกล่าวได้ย่อ ๆ ว่า คือการคาดคะเนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นแล้ว จะทำให้เกิดอะไรต่อไป. การอนุมาน เป็นการมองภาพใหญ่แล้วสรุปออกมาเป็นภาพเล็ก. การอนุมานในหลาย ๆ เรื่องนั้นเป็นความจริงแท้แน่นอน. เช่น การอนุมานด้วยการยกประเด็นว่า คนเป็นสิ่งมีชีวิต, สิ่งมีชีวิตทั้งหลายต้องตาย, ดังนั้นจึงสรุปว่าคนทุกคนก็ต้องตายในที่สุด. การอนุมานที่พระพุทธองค์ทรงห้ามไว้นั้น ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกินความรู้ของคนในยุคนั้น หรือ เป็นเรื่องที่อนุมานโดยไม่มีข้อมูลประกอบครบถ้วน. ยกตัวอย่างเช่น การอนุมานว่า พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์, พระป่าสายอิสานจำนวนมากบรรลุธรรมในป่า ดังนั้น ถ้าเราอยู่ในป่าที่มีต้นไม้มาก ๆ เราก็จะบรรลุธรรมได้. อย่างนี้ย่อมเป็นการอนุมานที่ผิด. ในทำนองเดียวกัน การที่หัวหน้าผู้ชุมนุมหลายคนเข้ามอบตัว จึงไม่สามารถจะอนุมานได้ว่าพวกเขาจะให้ลูกสมุนยุติการก่อการร้าย. หรือ การอนุมานว่า ผู้ที่ประกาศว่ามาชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ จะไม่ใช้อาวุธนั้น ย่อมเป็นการคาดคะเนที่ผิด เพราะเราไม่มีทางทราบว่าผู้มาชุมนุมได้แอบนัดแนะกับผู้ถืออาวุธไว้อย่างไรบ้าง
อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามอาการ (มา อาการปริวิตกฺเกน). เนื้อหานี้สอนว่า เราอย่ามองเพียงแค่อาการ หรือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วเชื่อตามนั้น. เราอย่าเพิ่งเชื่อว่า การที่สถานการณ์สงบและไม่มีการก่อการร้ายแล้ว จะไม่มีการก่อการร้ายอีก. เราจะต้องไม่เชื่อว่า การที่ผู้ที่เข้ามอบตัวได้รับการปฏิบัติอย่างดี คือ การสมรู้ร่วมคิดระหว่างตำรวจกับผู้ต้องหา เพียงเพราะตำรวจมีอาการที่เข้าข้างผู้ชุมนุม หรือมีรูปปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์เท่านั้น.
อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว (มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา). เนื้อหานี้หมายความว่าเราจะต้องไม่เชื่อ เพราะข้อมูลข่าวสารนั้นตรงกับความเห็นที่เรามีอยู่. ยกตัวอย่างเช่น เรามีความเชื่ออยู่แล้วว่า ทหารคือคนถืออาวุธ ส่วนผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ. เมื่อเราเห็นมีคนตาย เราก็เชื่อว่าทหารเป็นคนยิง. ความเชื่อนี้ยังไม่ถูกต้องตามหลักปฏิบัติข้อนี้. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีทฤษฎีว่า ประชาชนผู้เดือดร้อน น่าจะชุมนุมกันโดยสงบเพื่อร้องเรียนเรื่องที่เดือดร้อนต่อรัฐได้. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเชื่อตามทฤษฎีนี้ว่า การชุมนุมทำนองนี้จะช่วยแก้ปัญหาของชาติได้. แต่นี้ก็คือ ความเชื่อที่ผิด เพราะผู้ชุมนุมก็สามารถปลุกปั่นประชาชนผู้เดือดร้อนจริง ๆ ให้มาสนับสนุนการเรียกร้องที่ไม่มีเหตุผลของตนได้ด้วย. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าจะยอมให้มีการชุมนุมโดยสงบได้แล้ว ผู้ชุมนุมจะทำอะไรได้บ้าง และทำอะไรไม่ได้บ้าง.
อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นว่าผู้พูดควรเชื่อถือได้ (มา ภพฺพรูปตาย). เนื้อหาข้อนี้ พระพุทธองค์ทรงแนะนำไม่ให้เชื่อเพราะผู้พูดเป็นคนโน้นคนนี้. ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือ เราไม่ควรเชื่อใครทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล หรือ ฝ่ายผู้ชุมนุม. อดีตนายกรัฐมนตรีที่ต้องระหกระเหินไปไกลนั้นแม้ว่าจะเคยพูดบ่อย และน่าเชื่อถือได้ เราฟังหรืออ่านแล้วก็ไม่ควรเชื่อ. แม้แต่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเองพูดอธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ เราก็ยังไม่ควรเชื่อ. ผู้ที่ออกมาอภิปรายประเด็นต่าง ๆ ทางโทรทัศน์ในช่วงเกิดเหตุการณ์หรือในช่วงนี้ เราก็ไม่ควรเชื่อ. สส. และ สว. ที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจะพูดอะไร ก็ไม่ควรเชื่อ.
อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ). เนื้อความข้อนี้ นับว่าสุดยอด เพราะพระพุทธองค์ทรงสอนว่า เราจะต้องไม่เชื่อแม้ว่าผู้สอนจะเป็นพระองค์เอง. อย่างไรก็ตาม สำหรับพวกเราแล้ว หากเราเห็นครูบาอาจารย์ของเราออกมาพูดเข้าข้างใครทางโทรทัศน์ แม้เราจะเคยเชื่อในความรู้และประสบการณ์ของท่านที่ได้ถ่ายทอดมาให้เราเรียน เราก็ยังไม่ควรเชื่อท่าน. เราควรทำเพียงแค่ฟังหูไว้หูเท่านั้น.

คำถามคือ แล้วเราจะเชื่อได้เมื่อใด? เท่าที่อธิบายมานี้ดูเหมือนว่า พระพุทธองค์สอนให้เราไม่เชื่อไปทุกสิ่งทุกอย่างเสียแล้ว. ตรงนี้ก็คือประเด็นที่เราต้องย้อนกลับไปพิจารณาว่า พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องนี้ในบริบทแบบใด? ชาวกาลามะนั้น มีปัญหาเรื่องการปฏิบัติธรรมว่า จะเชื่อผู้สอนคนไหนดี. ชาวกาลามะไม่ได้มีปัญหาว่าจะเชื่อว่าเกิดเหตุการณ์อะไรจริงหรือไม่จริง เหมือนที่เรากำลังประสบอยู่.
พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ระหว่างที่ทรงประทับนั่งพิจารณาตรวจสอบความเป็นไปในสกลกายของพระองค์ท่าน และทรงประจักษ์แจ้งถึงความจริงของธรรมชาติของชีวิตในช่วงนั้น. ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เราพิจารณาอริยสัจจ์หรือเหตุการณ์อันเป็นธรรมชาติที่เกิดกับร่างกายของเราให้เข้าใจหรือรู้แจ้งด้วยตัวเอง. ทรงให้หลักการว่า เราจะต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองเองว่า ธรรมใดเป็นกุศลหรืออกุศล, ธรรมใดมีโทษ หรือ ไม่มีโทษ แล้วจึงปฏิบัติตามนั้น. ด้วยเหตุนี้คำสอนในพระสูตรนี้จึงเป็นเรื่องปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของความเชื่อเท่านั้น.
ย้อนกลับมาสู่คำถามว่าแล้วเราควรจะเชื่ออะไรดีเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้?
คำตอบก็คือ ยังไม่ต้องเชื่ออะไรเลย. เราควรพิจารณาด้วยตัวเองว่า เหตุการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาตามลำดับนั้นถูกต้องหรือไม่. การชุมนุมโดยการปลุกระดมมานั้นถูกต้องหรือไม่? การยึดถนนและสถานที่ประกอบธุรกิจเอาไว้นานเป็นเดือน ๆ จนทำให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องนั้นเดือดร้อน เป็นการถูกต้องหรือไม่ เป็นกุศล หรืออกุศล? การเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาในทันที เป็นการเรียกร้องที่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยหรือไม่? การตรวจค้นผู้คนที่เดินทางสัญจรโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ เป็นการถูกต้องหรือไม่? การเข้ายึดรถและอาวุธของทหารที่เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในภาคใต้ถูกต้องหรือไม่? การบุกรุกเข้าไปในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ถูกต้องหรือไม่? การประกาศอย่างเปิดเผยให้ผู้ชุมนุมเผาอาคารต่าง ๆ โดยเฉพาะศาลากลางจังหวัดนั้น ถูกต้องหรือไม่? การปล่อยให้ผู้ชุมนุมมีอาวุธร้ายแรงโดยไม่ห้ามปรามนั้นถูกต้องหรือไม่? การเผายางรถยนต์จนเกิดควันพิษนั้นถูกต้องหรือไม่?
สำหรับทางฝ่ายรัฐบาลเอง เราก็พิจารณาได้ว่า ที่รัฐบาลไม่ยอมยุบสภาตามคำเรียกร้องนั้นถุกต้องหรือไม่? การที่รัฐบาลพยายามยึดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนเกิดเหตุการณ์วุ่นวายนั้น ดำเนินการโดยชอบหรือไม่? การที่รัฐบาลพยายามตัดกำลังไม่ให้ผู้ชุมนุมมีจำนวนมากขึ้นนั้นถูกต้องหรือไม่? การที่รัฐบาลโอบล้อมผู้ชุมนุมและผลักดันจนต้องสลายการชุมนุมนั้นถูกต้องหรือไม่? การที่รัฐบาลดำเนินการล่าช้า จนอาคารหลายแห่งต้องเสียหายนั้นถูกต้องหรือไม่?
ทั้งหมดนี้ เราควรพิจารณาไตร่ตรองเอง แต่ขณะเดียวกันคำถามที่ยกขึ้นมาเป็นประเด็นนั้น เราจะตอบจากการนั่งวิปัสสนาไม่ได้. เราต้องอาศัยข้อเท็จจริงอีกมาก เราต้องอาศัยข้อความที่โฟนอินเข้ามาจากต่างประเทศ, ข้อความบนแผ่นประกาศปลุกเร้าในที่ชุมนุม, ข้อความที่หัวหน้าผู้ชุมนุมประกาศปลุกเร้า, ข้อความจากวิทยุชุมชน, ข้อความจากโทรทัศน์ทั้งจากฝ่ายผู้ชุมนุมและรัฐบาล, ภาพถ่ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น, ภาพวีดิทัศน์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น, คำให้การของผู้เกี่ยวข้อง ฯลฯ. ในที่นี้ ไม่ได้รวมเอาข้อความจากสื่อหนังสือพิมพ์เอาไว้ด้วย เพราะเท่าที่ปรากฏนั้น ส่วนที่เป็นข้อความทั้งหลายในสื่อหนังสือพิมพ์นั้น ล้วนเป็นความเห็นของผู้สื่อข่าวและคนเขียนข่าว มากกว่าเป็นข้อเท็จจริง.
เราจะได้ข้อเท็จจริงเหล่านี้มาได้อย่างไร? คำตอบก็คือ ไม่มีทางที่จะหามาได้เอง. ดังนั้นทางที่ดีที่สุดสำหรับการเชื่อว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ก็คือ รอฟังคำวินิจฉัยจากศาล เมื่อมีคำพิพากษาแล้วเท่านั้น.
ผลที่สุด เราก็ต้องเชื่อในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของตุลาการเท่านั้นเอง.
(กาลามสูตร อ้างจากหนังสือสารธรรม ซึ่งรวบรวมและเรียบเรียงโดยคุณนิตย์ จารุศร ๒๕๔๗)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น