วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การแข่งขัน IOI ระดับประเทศที่เชียงใหม่

สวัสดีครับ
สามวันที่ผ่านมา ผมไปอยู่เชียงใหม่เพื่อร่วมการแข่งขันการเขียนโปรแกรมของนักเรียนระดับมัธยม ซึ่งทางมูลนิธิ สอวน. มอบหมายให้คณะวิทยาศาสตร์ของ มช. เป็นผู้จัด. การแข่งขันครั้งนี้จัดที่โรงแรม Kantary Hill ซึ่งเพิ่งเปิดมาได้ปีเศษ. ผมและบรรดาอาจารย์จากศูนย์ฝึกอบรมต่าง ๆ ทั่วประเทศก็เลยได้มาพักที่โรงแรมที่สวยงาม แห่งนี้.

มูลนิธิ สอวน. นั้นจัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการฝึกอบรมนักเรียนไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ. เมื่อแรกตั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวง ทรงเป็นองค์ประธาน. ปัจจุบันนี้มีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงรับเป็นองค์ประธาน. ในทางด้านคอมพิวเตอร์นั้น มูลนิธินี้ได้มอบหมายให้มีศูนย์ฝึกอบรมนักเรียน 13 แห่ง เพื่อส่งเข้ามาแข่งขันและคัดเลือกนักเรียนมาเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อคัดเป็นตัวแทนไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกเป็นประจำทุกปี.

การแข่งขันครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 และ มีนักเรียนมาเข้าร่วมแข่งขันเกือบหนึ่งร้อยคน. การแข่งขันมีสองวัน ๆ ละ 3 ชั่วโมง ในช่วงเช้าระหว่าง 9 - 12 น. ในการแข่งครั้งนี้ ทาง สสวท. ซึ่งทำหน้าที่ส่งนักเรียนไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ และ มีผมเป็นประธานอนุกรรมการคัดเลือกนักเรียนทางด้านคอมพิวเตอร์นั้น ได้ขอความร่วมมือจากทางมูลนิธิ และ มช. เพื่อขอนำโปรแกรมการลงทะเบียนเข้าแข่งขัน และ โปรแกรมการตรวจโปรแกรมที่นักเรียนเขียน ไปทดสอบที่นี่. วัตถุประสงค์ของการตรวจสอบก็เพื่อเป็นการเตรียมตัวสำหรับการเป็นเจ้าภาพในการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศในปลายเดือนกรกฎาคม ปีหน้า.

ผลการทดลองเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและราบรื่น ทีมงานวิชาการที่ทาง สสวท. ส่งไปทดลองและฝึกเตรียมการนั้นมาจากทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สำหรับการแข่งขันนั้น ผมยังไม่ทราบผล เพราะเดินทางกลับ กทม. ก่อน.

วันนี้ช่วงเช้า ทางเราขอประชุมกับอาจารย์หัวหน้าทีมและผู้แทนศูนย์ฯ ต่าง ๆ เพื่อร่วมกันคิดว่าจะทำให้การแข่งขันระดับประเทศนั้นมีความแข็งแกร่ง และ มีรูปแบบเป็นมาตรฐานได้อย่างไร. ผมเล่าให้ผู้แทนฟังถึงการจัดงานของ คณะกรรมการนานาชาติ (International Committee) ที่บริหารการจัดการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ว่าประกอบด้วยกรรมการที่มาจากการเลือกของหัวหน้าทีมที่เข้าแข่งขันทุกทีม, และ กรรมการที่เป็นผู้แทนของประเทศเจ้าภาพ. กรรมการประเภทที่สองนี้มี 7 คน คือ อดีตเจ้าภาพสามคน, เจ้าภาพปีปัจจุบันหนึ่งคน, และ เจ้าภาพปีต่อไปอีก 3 คน. การมีกรรมการที่มาจากเจ้าภาพเก่าและใหม่นี้ทำให้การดำเนินการแข่งขันเป็นไปอย่างราบรื่น เพราะเจ้าภาพใหม่ที่จะจัดต่อไป ก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์จากเจ้าภาพเก่า และ มีโอกาสซักถามประเด็นปัญหาต่าง ๆ จากเจ้าภาพเก่าเพื่อนำไปปรับปรุงการจัดให้ดีขึ้น.
อ. ยืน ภู่วรวรรณ ก็ได้เชิญชวนให้คิดว่า เราน่าจะจัดให้มีกรรมการในทำนองนี้ เพื่อจะได้เกิดการเรียนรู้และปรับปรุงการจัดให้ดีขึ้น.
ผลของการปรึกษาหารือ ก็ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมประชุมเห็นด้วย และ ได้กำหนดให้มีกรรมการจากเจ้าภาพเก่า 2 ปี, เจ้าภาพปัจจุบัน, และ เจ้าภาพปีถัดไปอีก 2 ปี. จากนั้นก็ได้มีผู้เสนอผู้ที่ควรเป็นกรรมการอีกสี่คน โดยขอให้ ดร. พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่า จาก ม. เกษตรศาสตร์ เป็นประธาน. กรรมการที่ได้รับเลือกอีก 3 คนนั้น ผมยังไม่บอกชื่อ เพราะทั้ง 3 คนมัวยุ่งอยู่กับการตรวจข้อสอบและคะแนนอยู่ จึงยังไม่ทราบว่าได้รับเลือก. ขณะที่ผมกลับ กทม. ผมก็ยังไม่ทราบว่าอาจารย์ทั้ง 3 คนนั้นตอบรับแล้วหรือยัง.
มหาวิทยาลัยที่จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันปีต่อไปคือ ม. นเรศวร ครับ.
ความจริงแล้ว ผมบอกกับผู้เข้าร่วมประชุมว่า ปีหน้าที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันระหว่างประเทศนั้น ไทยต้องใช้เงินจำนวนมาก. อยากให้ทุกคนช่วยกันคิดว่า เราจะส่งเสริมให้เด็กไทยสนใจด้านงานเขียนโปรแกรมได้อย่างไร. เวลานี้ นักเรียนไม่ค่อยอยากเรียน Computer Science และ ไม่อยากเขียนโปรแกรม. ถ้าเป็นอย่างนี้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยก็จะไม่เกิด และไทยจะต้องเป็นทาสโปรแกรมฝรั่งไปตลอดกาล. เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ผมคิดว่าบางทีอาจารย์อาจจะยังไม่ตระหนักมากนัก. นอกจากนั้นยังมีเรื่องที่ต้องผลักดันอีกมาก เช่น ทำให้วิชาการเขียนโปรแกมเป็นวิชาที่นักเรียนทุกคนควรจะเรียนในระดับมัธยม. หลายคนอาจจะสงสัยว่าเรียนไปทำอะไร เพราะอาจจะไม่ได้ใช้. ถ้าเราย้อนกลับไปคิดเรื่องที่เราเรียน ก็จะพบว่า หลายวิชาเราก็ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ตรีโกณมิติ หรือแม้แต่เรขาคณิต เราก็ใช้แบบง่าย ๆ เช่น รูปสามเหลี่ยมมุมฉาก หรือความเป็นมุมฉากเท่านั้น. แต่เราก็ต้องเรียนไปเสียตั้งมาก. ความรู้ด้านเขียนโปรแกรมนั้น สามารถช่วยงานในชีวิตประจำวันเราได้อีกมาก. ยกตัวอย่างเช่น นำมาใช้กับ Excel หรือ ใช้ในการค้นคืนฐานข้อมูล ฯลฯ.
วันนี้ผมเอาเรื่องนี้มาเกริ่นให้ฟังกันไว้ก่อน ต่อไปผมจะนำเรื่องการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกมาเล่าให้ฟังเพื่อประดับความรู้ และจะได้ช่วยผมคิดว่าเราจะส่งเสริมการเขียนโปรแกรมต่อไปอย่างไรดี.

ครรชิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น