วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ท่านอิ๊คคิวซัง

วิถีแห่งอิ๊คคิวซัง เสริมปัญญาด้วยสมาธิ
วิทักโข เขียน
สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊กส์ ตุลาคม 2551

หลายปีมาแล้วระหว่างที่รอเครื่องบินอยู่ที่สนามบินโตเกียว ผมก็เดินเตร่ไปหาซื้อหนังสือมาอ่านที่ร้านหนังสือในสนามบิน. หนังสือเกือบทั้งหมดในร้านเป็นภาษาญี่ปุ่น และมีอยู่ไม่กี่เล่มที่เป็นภาษาอังกฤษ. ผมพบหนังสือน่าสนใจเล่มหนึ่งเกี่ยวกับพระเซ็นในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น และมีประวัติของท่านอิ๊คคิวซังอยู่ในหนังสือเล่มนี้ด้วย. ต่อมาอีกหลายปี ผมก็ได้เห็นหนังสือที่คุณ “วิทักโข” หรือคุณพิทักษ์ ไทรงาม เขียนออกมาเผยแพร่เล่มที่มีชื่อข้างต้น. เมื่อได้อ่านแล้วก็ต้องชมว่า วิทักโข ได้เรียบเรียงเนื้อหาของพระภิกษุชาวญี่ปุ่นรูปนี้ออกมาได้อย่างดี.
พวกเราหลายท่านเคยรู้จักท่านอิ๊คคิวซังในรูปแบบของภาพยนต์การ์ตูนเรื่องเณรน้อยเจ้าปัญญามาแล้ว แต่อาจไม่ทราบว่าท่านเป็นบุคคลที่เคยมีตัวตนจริง ๆ. นอกจากนั้นประวัติของท่านก็โลดโผนมากทีเดียว ดังที่คุณวิทักโขได้นำมาถ่ายทอดให้อ่าน.
ประวัติของท่านอิ๊กคิวซังนั้น ไม่เบาเลยทีเดียว ท่านเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของจักรพรรดิ์ญี่ปุ่น ส่วนมารดาของท่านก็คือพระนางโนะจิโบเนะ พระสนมที่ถูกความอิจฉาริษยาของสนมอื่น ๆ ใส่ร้ายจนต้องถูกเนรเทศกลับบ้านเดิมขณะตั้งครรภ์.
อิ๊กคิวซังถือกำเนิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 1892 มีนามว่า เซนงิกามารุ. เมื่อท่านมีอายุได้ 6 ขวบ มารดาของท่านวิตกว่าท่านอาจจะถูกภัยจากผู้ปองร้าย จึงพาท่านไปบวชเป็นเณรที่วัดอังคะคุจิ ซึ่งมีท่านโกคันเป็นเจ้าอาวาส และ ได้รับชื่อใหม่ว่า “ชูเคน”. ขณะที่ท่านเป็นเณรอยู่ที่นี่นั่นเองที่ท่านได้แสดงสติปัญญาในด้านต่าง ๆ ให้เป็นที่ประจักษ์จนกลายมาเป็นเรื่องบอกเล่า และมีผู้นำมาถ่ายทอดเป็นการ์ตูนให้เราได้ชื่นชม.
ครั้นท่านอายุได้ 17 ปีแล้ว ท่านก็กราบลาท่านโกคันไปศึกษาต่อที่วัดโกคอนจิ และที่วัดนี้เองท่านเคนโอ เจ้าอาวาสได้เมตตารับท่านไว้เป็นศิษย์และได้ตั้งชื้อให้ใหม่ว่า “โชจุน”. ต่อมาไม่นานนักท่านเคนโอก็มรณภาพ เณรโชจุนขาดร่มโพธิ์ร่มไทร ก็เลยออกเดินทางไปขอปฏิบัติธรรมที่วัดอิชิยามา. ท่านพำนักอยู่ที่วัดนี้จนอายุได้ 20 ปี ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ. ท่านยังคงอยู่ที่วัดนี้อีก 3 ปี จึงกราบลาท่านเจ้าอาวาสเพื่อไปศึกษากับท่านคะโซ ที่วัด โคอัน.
ระหว่างที่ท่านได้ศึกษาธรรมะกับท่านคะโซนั้น ท่านคะโซได้ให้ปริศนาธรรมไปพิจารณา. ในหนังสือเล่มนี้ วิทักโข ไม่ได้เล่าว่าปริศนาธรรม (เข้าใจว่าเป็น โกอาน)นั้นมีเนื้อความว่าอะไร. โกอานนั้นเป็นปริศนาธรรมที่เข้าใจยาก เช่น เสียงของการตบมือข้างเดียวเป็นอย่างไร, หรือ ก่อนที่เราจะเกิดมานั้นมีหน้าตาอย่างไร? วิทักโขเล่าแต่เพียงว่า ในที่สุดแล้วพระโจชุนก็ขบปริศนาธรรมออกและบรรลุธรรม. ท่านคะโซจึงตั้งชื่อให้ท่านใหม่ว่า “อิ๊คคิว โชจุน” มีความหมายว่า พระโจชุนบรรลุธรรม.
เมื่อท่านได้บรรลุธรรมแล้ว ท่านก็ได้สั่งสอนคนญี่ปุ่นทุกเพศทุกวัยจนเป็นที่เลื่องลือ และในที่สุด พระเจ้าจักรพรรดิ์ก็ทรงโปรดให้เข้าเฝ้า และ ได้ซักไซร้จนทรงตระหนักว่าท่านอิ๊คคิวคือพระโอรสของพระองค์เอง. พระเจ้าจักรพรรดิ์ทรงขอให้ท่านสึกมาอยู่ในวัง แต่ท่านไม่รับ ดังนั้นพระเจ้าจักรพรรดิ์จึงขอให้ท่านพำนักอยู่ที่วัดใกล้ ๆ กับวังแทน. ช่วงนี้เองที่ท่านอิ๊คคิวก็ถูกพระอลัชชี (ซึ่งมีทุกยุคทุกสมัย) พยายามกลั่นแกล้งให้ร้าย แต่ก็ไม่สามารถจะทำอันตรายต่ออริยบุคคลเช่นท่านได้. ท่านมีชีวิตต่อมาอีกนานจนมรณภาพเมื่อ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2024 สิริอายุ 88 ปี พรรษา 68.
ผู้เขียนคือ วิทักโข นั้นเคยบวชเรียนมานานหลายปี ดังนั้นจึงนำธรรมะต่าง ๆมาสอดแทรกไว้ค่อนข้างมาก. วิทักโขบอกว่า “หนังสือเล่มนี้ถือเอาประวัติของท่านอิ๊คคิวซังส่วนหนึ่งมาขยายความ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่าน แต่ยังคงข้อเท็จจริงของเรื่องท่านอิ๊คคิวเอาไว้”. อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการขยายความนี้อาจจะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในยุคห้าร้อยปีมาแล้วเท่าใดนัก. วิทักโขกล่าวไปถึงการมีกฎหมายห้ามฆ่าช้างเอางาในอินเดีย หากพบงาช้างแล้วยึดมาก็จะเผาไฟทิ้ง. เรื่องนี้ไม่น่าจะจริงสำหรับยุคนั้น และญี่ปุ่นก็อยู่ห่างจากอินเดียมากเกินกว่าจะมีใครเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับความสนใจในการอนุรักษ์ช้างที่อินเดีย. อีกเรื่องหนึ่งก็คือการที่ท่านอิ๊กคิวไปบิณฑบาตรได้ส้ม และ ได้กล้วย แล้วนำมาแจกให้โสเภณี. เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะพระญี่ปุ่นไม่มีประเพณีการบิณฑบาตร และ การได้กล้วยมาก็ยิ่งไม่น่าเชื่อ เพราะญี่ปุ่นไม่ได้ปลูกกล้วยเอง. การตักบาตรด้วยกล้วยหนึ่งหวี จึงอาจจะเป็นไปไม่ได้. อีกเรื่องหนึ่งที่วิทักโขไม่ได้กล่าวถึงมากนักก็คือ การสร้างปัญญาด้วยสมาธิ.
อย่างไรก็ตาม ยกเว้นแต่เรื่องการขยายความเหล่านี้แล้ว ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าอ่านเพื่อจะได้ทราบประวัติที่น่าสนใจของท่านอิ๊คคิว. ในภาพรวมแล้วหนังสือเล่มนี้จะน่าสนใจมากขึ้นหากวิทักโขจะศึกษาแนวคิดของพุทธศาสนาในญี่ปุ่นให้ลึกซึ้งขึ้น แล้วนำแนวคิด, แนวปฏิบัติ และ คำสอนของทางญี่ปุ่นมาสอดแทรกและอธิบายเพิ่มขึ้น.

______________________________________

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น