วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ความสำคัญของ TQF

สวัสดีครับ
วงการอุดมศึกษาทุกวันนี่กำลังวุ่นวายด้วยกรอบมาตรฐานคุณภาพไทยที่ สกอ. กำหนดขึ้น. กรอบมาตรฐานนี้เรียกกันย่อ ๆ ว่า TQF หรือ Thai Quality Framework.
สกอ. กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้มีรูปแบบเดียวกันกับที่ทาง สกอ. กำหนด. หลักการสำคัญก็คือ หลักสูตรต่าง ๆ นั้นจะต้องเป้นไปตามกรอบเนื้อหาที่ทาง สกอ. กำหนดขึ้น. กรอบนี้กำหนดให้ผู้จัดทำหลักสูตรต้องเข้าใจว่าองค์ความรู้หลักของหลักสูตรประกอบด้วยเนื้อหาอะไรบ้าง. เนื้อหาทั้งหมดจะแบ่งออกไปเป็นรายวิชาอะไรบ้าง. รายวิชาต่าง ๆ จะต้องมีลำดับการเรียนรู้อย่างไร. แนวคิดนี้สำคัญมาก เพราะจากการที่ผมได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสิบกว่าแห่ง ผมพบว่าอาจารย์หลายท่านยังไม่ค่อยทราบประเด็นเหล่านี้. ดังนั้นลำพังแค่ภาควิชาที่รับผิดชอบแต่ละหลักสูตรสามารถทำตามกรอบส่วนนี้ได้ ก็ได้ประโยชน์มากแล้ว.
เพื่อนรุ่นน้องของผมหลายคน ไม่ชอบ TQF เพราะไปทำให้งานของเขาเพิ่มมากขึ้น และเขาเชื่อว่าเนื้อหาวิชาของเขาดีอยู่แล้ว. ผมเห็นใจคนที่ไม่ชอบเหล่านี้. แต่อย่างที่ผมได้เล่าให้ฟังไปแล้วว่า ผมเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยมาแล้วหลายแห่ง. ผมได้พบว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งไม่ได้มีแต่เพียงอาจารย์ประจำเท่านั้น หากมีอาจารย์ภายนอก ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ. ท่านเหล่านี้อาจจะสอนเป็นและถ่ายทอดประสบการณ์ของท่านได้. แต่การไม่เข้าใจหลักการและเนื้อหาของวิชาที่ท่านสอนว่าเกี่ยวข้องกับวิชาอื่น ๆ อย่างไร ก็ทำให้เกิดความบกพร่องในการสอนของท่านเหล่านั้นได้. ผมพบว่า การสอนบางวิชาไม่ได้เน้นเรื่องที่ควรจะเน้น และทำให้นักศึกษาไม่ได้รับความรู้ที่สำคัญเหล่านั้น. ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ เมื่อหัวหน้าภาควิชา ติดต่อประสานงานให้อาจารย์ภายนอกมาสอน ก็มักจะบอกแค่ว่าจะให้สอนวิชาอะไร, ไม่ได้คุยกันให้ชัดว่าจะต้องสอนเนื้อหาอะไร และ แต่ละเนื้อหาจะต้องเกี่ยวข้องกับวิชาอื่นใดบ้าง. การจัดทำรายละเอียดของหลักสูตรตามแนวคิดของ TQF จะทำให้เราลดปัญหาเหล่านี้ลงได้.
เวลานี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นไปตามกรอบ TQF แล้ว. ผมมีโอกาสไปประเมินการสอนของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งเริ่มใช้ TQF ในหลักสูตรหนึ่งเป็นแบบนำร่องดูเพื่อศึกษา. ผมพบว่า อาจารย์เองก็ยังไม่ได้สอนตามกรอบนี้. นั่นก็คือ ยังคงสอนไปตามปกติ ทั้ง ๆ ที่ในหลักสูตรใหม่ ได้กำหนดว่าอาจารย์จะต้องประเมินผลการเรียนของนักเรียนในหลาย ๆ ด้านด้วย. กรอบมาตรฐาน ได้กำหนดให้ประเมินในด้าน คุณธรรม จริยธรรม, ความรู้, ทักษะทางปัญญา, ทักษะความสัมพันธระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ และ ทักษะการวิเคราะห์ เชิงตัวเลข การสื่อสาร และ เทคโนโลยีสารสนเทศ. ผมพบว่าอาจารย์สอนแล้วก็ประเมินด้วยการสอบกลางภาคและปลายภาคเท่านั้น ไม่ได้ประเมินด้านอื่น ๆ ด้วย. เรื่องนี้คงจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับอาจารย์ต่อไป.
ผมเห็นว่า ขณะนี้ความรู้เกี่ยวกับการใช้กรอบมาตรฐานนี้ยังคงต่ำอยู่. อาจารย์จำนวนมากยังไม่ทราบและไม่เห็นความสำคัญด้านนี้. นอกจากนั้นยังมีอาจารย์ที่คัดค้านกรอบมาตรฐานนี้ด้วย. ดังนั้นจึงจำเป็นที่ สกอ. จะต้องรีบเร่งอธิบายแนวทางการสอนรายวิชาต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับ TQF ด้วย. การกำหนดกรอบอย่างเดียว แต่ไม่บอกว่ามีกรอบแล้ว จะนำไปใช้อย่างไร ก็เหมือนกับการไม่มีกรอบนั่นแหละครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น