วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ร่มโพธิ์ร่มไทร

ร่มโพธิ์ร่มไทร

หนังสือ ร่มโพธิ์ร่มไทร เล่มนี้ ผมได้รับมาจากคุณโชติกาเจ้าหน้าที่ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้.
หนังสือเล่มนี้เรียบเรียงโดยคณะศิษยภาวนา ๒๕๔๐ ของพระโสภณวิสุทธิคุณ (หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก) แห่งวัดป่าวิเวกธรรม จังหวัดขอนแก่น. จัดพิมพ์ถวายเพื่อแจกเป็นธรรมทาน เนื่องในโอกาสทำบุญอายุ ครบ ๘๒ ปี เมื่อ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ นี้. เนื้อหาของหนังสือก็เป็นการนำคำเทศนาของหลวงปู่มาสรุปให้อ่านกันอย่างเบา ๆ ง่าย ๆ. แต่ความจริงแล้ว เนื้อหาไม่ได้เบาเลย เพราะเป็นเรื่องปฏิบัติล้วน ๆ.
หลวงปู่อธิบายว่า การปฏิบัติเป็นหน้าที่ของทุกคน ต้องทำเอง ให้คนอื่นทำให้ไม่ได้. แนวของท่านคือการใช้คำภาวนา “พุทโธ” เพราะเป็นคำที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว. เราจะต้องพยายามภาวนาจนกระทั่งเกิดความสงบสุข. ไม่ต้องกลัวว่าจะ “ติดสุข”. เราต้องพยายามภาวนาจนกว่าเกิดความสงบ จากนั้นใจก็จะทำหน้าที่ของเขาต่อไป. เริ่มจากรู้เรื่องของตนเอง, รู้เรื่องเจ้ากรรมนายเวร, รู้จักกิเลสต่าง ๆ, สามารถกำหนดจิตดูว่าสกลกายของเราเป็นอย่างไร.
“การกำหนดจิตนอกจากจะใช้ตรวจดูภายในสกลกายของตนเอง สำรวจกิเลสของตนเอง ตรวจดูความเป็นมาของกิเลส ตรวจดูความเปนมาของอุปนิสัยของตนเอง อันเป็นประโยชน์ในการชำระสะสางกิเลสแล้ว ท่านยังทำให้เราฝึกหัดกำหนดจิตดูสิ่งต่าง ๆ ภายนอก ซึ่งการกำหนดจิตดูจะต่างจากที่เราดูที่เรามองเห็นด้วยสายตาเนื้อ ตาเนื้อมองไปได้ด้านเดียวและดูได้เฉพาะในมิติเวลาปัจจุบัน ได้ได้ระยะทางจำกัด และเห็นเฉพาะของที่มีตัวตน แต่ตาจิตหลับตาดู แต่ดูได้ทุกมิติ ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ดูได้รอบทิศ ไม่จำกัดระยะทาง จะข้ามน้ำ ข้ามทะเล มหาสมุทรก็ยังดูได้ รู้ได้ อย่าว่าแต่สิ่งของที่มีตัวตนเลย สิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น วิญญาณ ภูตผี เทวดา ก็ดูได้ แม้แต่ความนึกความคิดของผู้อื่น หากมีความชำนาญแล้วกำหนดจิตดูได้ รู้ได้ ท่านว่ารู้ได้ทุกอย่าง จิตถามจิต จิตตอบจิต จิตเห็นกาย แต่กายไม่เห็นจิต.”
ท่านสอนว่า “การบำเพ็ญภาวนาเป็นทางสายเดียวที่จะพาเราไปสู่สายพระอริยะได้ ไม่มีทางสายอื่น มีแต่การภาวนาเพื่อความสงบของจิตเท่านั้น ถ้าจิตสงบแล้ว ชำนาญแล้ว และมั่นคงแล้ว จิตจะไม่มีหนี ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก จิตไม่หนี เราจะทำงานทำการอยู่ก็ตาม จะพูดจะคุยก็ตาม จิตมีความรู้อยู่เสมอ ไม่ได้หนีออกไปไกล จะอยู่ตลอด จะภาวนาเมื่อไร กำหนดได้ทันทีจิตจะวูบไปเลย หรือนิ่งไปเลย ถ้าจิตเคยชินกับความสงบและได้รับผลของการปฏิบัติด้วยความสงบไปแล้ว เราจะไปนั่งทำความเพียรที่ไหนจะไม่ยาก พอหลับตา จิตก็จะลงเลย จิตจะไปทำงานอยู่ภายใน ไปรู้อยู่ภายใน ไม่ได้มารับรู้ข้างนอกคือไม่สัมผัสกับของภายนอก แม้แต่เสี่ยงที่จะมารบกวนก็ตาม จินนั้นจะไม่รับสัมผัส แม้แต่ความร้อนบางอย่างมากระทบ จิตก็ยังไม่รับสัมผัสนั้น เพราะไปรู้เฉพาะตัวของเขาอยู่ข้างใน จิตจะทำงานของเขาอยู่โดยเฉพาะ สมควรแก่เวลาแล้วจิตจะออกมา”.
นี่แหละครับ เนื้อหาบางส่วนของหนังสือเล่มนี้. หากใครสนใจอ่านก็ต้องติดต่อขอไปที่วัดป่าวิเวกธรรมก็แล้วกันครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น