วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

หลวงปู่เพียร วิรีโย

สวัสดีครับ
วันนี้ผมนั่งอ่านหนังสือที่บ้านหลายเล่ม เพราะรัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุด เพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้าย. ใช่แล้วครับ ผมเรียกว่าผู้ก่อการร้าย ไม่ใช่ผู้ชุมนุมโดยสันติ และ ผมเรียกมาตั้งหลายสัปดาห์แล้วด้วย. ผู้นำของคนเหล่านี้ มองหน้าก็เห็นถึงจิตที่สกปรกโสมมแล้ว. การเขียนบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่มีความปรารถนาดีอยากให้คนคัดค้านการทำงานของรัฐบาลได้นั้น ในที่สุดก็กลายเป็นเครื่องมือของบุคคลที่มีจิตใจเลวทรามแบบนี้.
หนังสือเล่มแรกที่อ่าน เป็นหนังสือที่คุณอำนาจ ผการัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กรุณาเอื้อเฟื้อส่งมาให้. ขอขอบคุณที่ท่านกรุณาส่งมาให้อ่านทำให้ได้รู้เห็นปฏิปทาของพระเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอีกรูปหนึ่ง. วันนี้ ผมเห็นหนังสือแล้วก็รู้สึกสะท้อนใจ ที่คุณอำนาจต้องต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายในจังหวัดของท่านอย่างเหน็ดเหนื่อย และต้องสูญเสียศาลากลางไป. การสู้กับการก่อการร้ายนั้น ความจริงไม่ยากนัก. สิ่งที่ยากกว่าคือการต่อสู้กับความโง่เขลาของประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของผู้ก่อการร้ายนี่สิครับ. เราคงจะต้องค่อย ๆ แก้ไขด้วยการให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องก่อน. ขณะเดียวกันต้องสร้างความคุ้มกันให้แก่ประชาชนด้วย. ผมเดินทางไปตรวจงานภาคอิสานมาสี่ปีแล้ว พบว่าคนชั่วที่ทำร้ายคนอิสานมีมากด้วยกัน และต่างก็ยังอยู่ดีกินดี มีหน้ามีตาอยู่ในสังคมอยู่ในเวลานี้. ถ้าเราไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้ชาวบ้านได้แล้ว คนชั่วเหล่านี้ก็จะทำร้ายคนอิสานและคนไทยต่อไปได้อีกนาน.
หนังสือที่คุณอำนาจส่งก็คือ “ท่านเพียร...ศิษย์ก้นกุฏิของเรา” และเป็นประวัติของหลวงปู่เพียร วิรีโย พระเถระผู้เป็นศิษย์ของหลวงตามหาบัว แห่งวัดบ้านตาด อุดรานี. หลวงปู่เพียร มรณภาพเมื่อ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ สิริอายุ ๘๒ ปี พรรษา ๖๑. ถึงตรงนี้ก็อาจจะมีคำถามว่าอาจารย์ของท่านนั้นมีอายุเท่าใดแล้ว. คำตอบก็คือ ๙๔+ แล้ว ครับ.
หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยคำเทศนาของหลวงตามหาบัวซึ่งท่านเล่าเรื่องน่าสนใจไว้เกี่ยวกับความตายว่า ท่านนั้นก็เคยเฉียดตายมาแล้ว. ท่านเล่าว่า ท่านจำพรรษาอยู่ที่หนองฝือ และป่วย ถ่ายท้อง ๒๕ ครั้ง อาเจียน ๒ ครั้ง. ท่านได้ติดตามดูจิตกับร่างไปตลอดเวลา. “เวลามันจะไปจริง ๆ ทุกขเวทนาแสนสาหัสดับหมดนะ ยังเหลือแต่ความรู้ล่วน ๆ ร่างกายเป็นท่อนไม้ท่อนฟืน ไม่เกิดเวทนาอะไรเลย ถึงเวลาจะไปจริง ๆ ดับนะ ความทุกข์ทั้งหลายในร่างกาย อ่อนเพลียทั้งหมดดับหมดเลย ยังเหลือแต่ความรู้ล้วน ๆ ร่งกายเป็นท่อนไม้ท่อนฟืน ทุกขเวทนาหมดเลย เพราะจิตมันไม่เผลอ ดูมันตลอด พอไปถึงที่สุดแล้วทุกขเวทนาก็ดับ ในร่างกายทุกส่วนดับหมดเลย ยังเหลือแต่ความรู้ ดูความรู้”
“วิตกว่านี่จะไปเดี๋ยวนี้เชียวเหรอ เอา ถ้าจะไปจริง ๆ ก็ไป ว่าอย่างนั้นน่ะ พูดกับเจ้าของนั่นละ พอไปถึงนั้นคือมันปล่อยหมดนะ ทุกขเวทนาทั้งหมดปล่อยหมดเลย ร่างกายเป็นท่อนไม้ท่อนฟืน ยังเหลือแต่ความรู้อยู่ ดู พอไปถึงจุดนั้นมันปล่อยหมดจริง ๆ เอารอตั้งแต่มันจะดีดออก พอไปถึงนั้นหยุดกึ๊ก ไม่เคลื่อนไม่ไหว เราก็ดูอยู่ สักเดี๋ยวก็มียิบแย็บเคลื่อนไหวออกมา แล้วค่อนฟื้นขึ้นมา ฟื้นขึ้นมา ว่าจะไปแล้วก็หยุดตรงนั้นแล้วฟื้นกลับคืน ... ถ้าหากจิตใจหวั่นไปละ ไปเลยในคราวนั้น แต่นี่จิตใจไม่หวั่นคือดูความจริงทุกอย่ามง พอถึงจุดของมันแล้วก็มาหยุดที่นั่น แล้วค่อย ๆ ถอยออกมา ถอยออกมาก็เริ่มมีเวทนาขึ้นมาอีก เหอ ไม่ไปเหรอ ก็เลยหยุดละ...”
เรื่องที่หลวงตาบัวท่านเล่าในเทศนาครั้งนี้ ทำให้เราพอเข้าใจได้ว่าในช่วงที่เราจะสิ้นใจนั้นเป็นอย่างไร. แต่เรื่องนี้ทางพระสงฆ์ทิเบตเขาได้ศึกษาไว้เยอะมาก. เอาไว้วันหลังผมจะนำมาเล่าให้ฟัง.
สำหรับประวัติท่านเพียรนั้นมีย่อ ๆ ดังนี้ ท่านถือกำเนิดในครอบครัวชาวนา สกุล “จันใด” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๗ เดือน ตุลาคม ๒๔๖๙ ที่หมู่บ้านศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร. ท่านได้เรียนหนังสือแค่ประถม ๒ เท่านั้น ไม่ได้เรียนจบประถม ๔ เพราะต้องช่วยครอบครัวทำงาน. ท่านอุปสมบทที่วัดป่าศรีฐานใน เมื่อ ๕ กรกฏาคม ๒๔๙๐ โดยมี ท่านพระครูพิศาลศีลคุณ (โฮม วิสารโท) เป็นพระอุปัชาย์ และ พระมหาแสง อนาวิโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า วิริโย แปลว่า ผู้มีความพากเพียร
การบวชและการศึกษาของท่านเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก เพราะท่านไม่รู้หนังสือ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้. การขานนาคต้องอาศัยการฟังแล้วจำเอาไว้. กว่าจะท่องคำขานนาคได้ก็ใช้เวลาถึง ๓ เดือน. ในตอนแรกของชีวิตภิกษุของท่าน ท่านก็ประสบความยากลำบากในการเรียนเช่นกัน. แต่ในช่วงต่อมา ท่านก็สามารถเรียนตัวหนังสือได้ในนิมิต ระหว่างที่ท่านมาอยู่ที่วัดป่าโสตถิผล อำเภอพรรณานิคม จังหวัด สกลนคร. ลายมือของท่านนั้นสวยงามมาก. นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากจริง ๆ.
หนังสือเล่มนี้ส่วนมากกล่าวถึงเส้นทางการเดินทางของท่านในแต่ละพรรษาเพื่ออไปนมัสการพระผู้ใหญ่, ไปศึกษาเล่าเรียนธรรมะ และ ไปธุดงค์. ในที่สุดในช่วงพรรษาที่ ๒๕ เป็นต้นมา ท่านก็มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าหนองกลอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี จนกระทั่งมรณภาพ.
ท่านเป็นพระเถระที่ไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยแสดงเทศนาพิศดารมากนัก ท่านเน้นที่การปฏิบัติและกวดขันให้ศิษย์ของท่านปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่เกียจคร้านมากกว่า. มีบ้างที่ท่านตอบคำถามศิษย์ที่มาถามปัญหา แต่ก็มักจะตอบสั้น ๆ เท่านั้น.
_____________________________

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น