วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ชีวิต ก. เขาสวนหลวง

ชีวิต ก. เขาสวนหลวง
สายธาร ศรัทธาธรรม
สำนักพิมพ์ สร้อยทอง, กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙

ผู้ปฏิบัติธรรมและผู้ศึกษาพุทธศาสนาในเมืองไทยทุกคนย่อมรู้จักท่านพุทธทาสภิกขุ พระสงฆ์ผู้เป็นยิ่งกว่านักปราชญ์ทางธรรมของไทย. ทั้งนี้เพราะท่านมีมรดกเป็นพระธรรมเทศนาจำนวนมากมายยิ่งกว่าพระรูปอื่นใดจะทำได้เทียมท่าน. นอกจากนั้นพระธรรมเทศนาของท่านยังย้ำตรงไปถึงจุดที่เป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยมาทุกยุคทุกสมัยด้วย. นั่นก็คือ การขาดศีลธรรมขั้นพื้นฐาน, การขาดความเข้าใจในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา, ความเห็นแก่ตัวของคนไทย, และ การฟุ้งเฟ้อในวัตถุกามทั้งหลาย. อย่างไรก็ตามในช่วงที่ท่านพุทธทาสยังเพียรสั่งสอนพวกเราอยู่นั้น ก็มีอุบาสิกาอีกท่านหนึ่งที่อุทิศตนให้แก่พระพุทธศาสนาและการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดอย่างหาผู้ใดเปรียบได้ยาก. ท่านผู้นี้ก็คือ ท่าน กี นานายน หรือที่รู้จักกันในนาม ท่าน ก. เขาสวนหลวง.
ผมได้ยินกิตติศัพท์ของท่าน ก. เขาสวนหลวงมานานแล้ว อีกทั้งเคยอ่านคำสอนของท่านมาบ้างแล้วเหมือนกัน แต่ผลงานของท่านไม่มากเหมือนของท่านพุทธทาส. อย่างไรก็ตาม ผมเพิ่งได้หนังสือประวัติของท่านมาอ่านจากงานวิสาขบูชาเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง. ชีวิตของท่านนั้นแม้จะราบเรียบแต่ก็น่าสนใจมาก.
ท่านกีเกิดเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๔๔ ที่ตำบลท่าเจ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี. บิดาชื่อนายฮก นานายนและ มารดาชื่อนางบุญมี นานายน. ตระกูลนานายนเป็นชาวบ้านธรรมดา แต่ก็มีอันจะกิน อีกทั้งบิดามารดาก็ใฝ่ในทางศาสนา และ ได้สั่งสอนให้ลูกดำรงอยู่ในศีลธรรมอันดีมาตั้งแต่ยังเล็ก. เมื่อท่านมีอายุแค่ ๓-๔ ขวบ มารดาได้สอนให้ท่านสวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน. ถ้าหากคืนไหนท่านเผลอหลับไปก่อน มารดาก็จะปลุกให้ลุกขึ้นมาสวดมนต์ก่อนจึงจะให้นอนได้. เมื่อท่านมีอายุมากขึ้น ท่านก็ช่วยเหลือทำงานบ้านเพื่อแบ่งเบาภาระจากมารดาของท่านโดยไม่มีใครสั่ง.
เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ บิดามารดาได้ส่งท่านไปอยู่กับญาติที่กรุงเทพฯ และ ได้ค่าขนมเป็นประจำทุกวัน แต่ท่านนำค่าขนมไปซื้อดอกไม้มาบูชาพระแทน. ครั้นเมื่อท่านอายุได้ ๑๐ ขวบ ท่านก็กลับไปอยู่บ้านที่ราชบุรีกับบิดามารดา และ ได้เริ่มถือศีล ๕. การที่มารดาของท่านเน้นในเรื่องธรรมะมากกว่าการศึกษา ก็เพราะเห็นว่าต้องให้ลูกเป็นคนดีก่อนที่จะเป็นคนเก่ง. ครั้นถึง ๑๑ ขวบ ท่านจึงได้มีโอกาสเรียนหนังสือที่บ้าน จนกระทั่งสามารถอ่านและเขียนหนังสือได้ดี. หนังสือที่ท่านชอบอ่านก็คือหนังสือสุภาษิตคำกลอน และ การสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์.
เมื่อท่านอายุได้ ๑๘ มารดาของท่านก็ป่วยหนักและถึงแก่กรรมไป. ต่อมาเมื่อท่านอายุได้ ๒๕ ปี ท่านก็ได้รักษาศีลอุโบสถอย่างจริงจัง และ ได้เริ่มปฏิบัติภาวนา “พุทโธ”. ในปีต่อมาท่านได้ชวนเพื่อนหญิงไปปฏิบัติธรรมที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี ซึ่งเป็นป่าเงียบสงัด พวกท่านนั่งภาวนาอยู่บนศาลาห่างจากเชิงตะกอนหลายเมตร. ต่อจากนั้นท่านก็รวบรวมความกล้า กระเถิบเข้าไปนั่งภาวนาใกล้เชิงตะกอนมากขึ้นทุกวัน. สุดท้ายท่านก็นั่งชิดกับเชิงตะกอนได้จนสามารถเห็นเศษกระดูกในเชิงตะกอนด้วย. การฝึกปฏิบัติเช่นนี้ทำให้ท่านสามารถเอาชนะความกลัวได้. ระหว่างที่ท่านปฏิบัติอยู่ที่วัดมหาธาตินี้เอง ท่านก็ได้ภาวนาจนถึงขั้นที่จิตมีความรู้แจ้งในสภาพธรรมที่มีลักษณะเกิดดับ เปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ อีกทั้งยังเห็นสภาพที่ไม่มีการเกิดดับเปลี่ยนแปลงในภายใน พ้นจากการเกิดการตายด้วย. เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความรู้ภายในขึ้นอย่างแจ่มแจ้ง.
ปกติแล้ว ท่าน ก. เขาสวนหลวง ไม่ชอบแสวงหาอาจารย์. ท่านศึกษาค้นคว้าจากบทสวดมนต์และหนังสือต่าง ๆ ด้วยตัวเอง. อย่างไรก็ตามท่านมีศรัทธาในผลงานของท่านพุทธทาสมาก จนถึงกับได้เดินทางไปสนทนาธรรมกับท่านพุทธทาส. ต่อมาท่านพุทธทาสก็ได้ยกย่องท่านว่าเป็นผู้ที่กล้าหาญไม่กลัวตาย.
ในช่วงปี ๒๔๘๘ ท่าน ก. เขาสวนหลวง ได้ตัดสินใจไปอยู่ในเขาสวนหลวง และ ได้เปิดสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นและรับแต่เฉพาะสตรีเท่านั้น. ในระยะแรกท่านมีศิษย์เพียง ๓ คนเท่านั้น. แต่ต่อมาก็มีผู้สนใจไปสมัครเป็นศิษย์กับท่านจำนวนมาก. ท่าน ก. เขาสวนหลวงนั้น ท่านโกนผม นุ่งผ้าถุงสีดำ สวมเสื้อสีขาว. คำสอนของท่านเป็นแนวเดียวกับของท่านพุทธทาส.
ต่อมาในปี ๒๕๐๐ ท่าน ก. เขาสวนหลวง ได้ประสบวิบากกรรมจนถึงกับตาบอดสนิท แต่ท่านก็มิได้เป็นทุกข์ร้อนหรือหวั่นไหว. ท่านยังคงดำเนินชีวิตทางธรรมตามปกติ, ยังคงเผยแพร่คำสอน และ สั่งสอนศิษย์ต่อไปตามเดิม. ในที่สุดท่านก็ได้ละสังขารไปเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๑.
ท่าน ก. เขาสวนหลวง สอนไว้ตอนหนึ่งดังนี้...”ชีวิตของการปฏิบัติธรรมเป็นชีวิตของการต่อสู้นั่นเอง คือต่อสู้กับกิเลสทุก ๆ ประเภทที่จะเกิดขึ้น ผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ เป็นบ่อเกิดของกิเลสประเภทไหนก็ตาม ก็จะต้องมีความรู้สึกตัว เพราะทางอายตนะผัสสะนี้ ถ้าไม่มีนายประตูแล้ว มันก็จะวิ่งพล่านไปตามอารมณ์ ซึ่งกิเลสมันก็คอยมาดักอยู่ทุกด้านเหมือนกัน การมีสติคุ้มครองใจได้ทุกเวลานาที ทำให้เรียบร้อยไปทั้งหมด ไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจอะไร เพราะเมื่อรับรู้อะไรมันก็ดับได้ ไม่ว่าเรื่องจะดีจะชั่ว จะถูกจะผิดก็ตาม เพียงแต่รับรู้แล้วก็ผ่านไป ดับไป สลายตัวไปหมด แล้วจิตนี้ก็มีความสงบรู้อยู่ เห็นอยู่ เป็นความว่างทั้งหมด
“เมื่อพิจารณาอยู่เป็นประจำแล้ว จะเห็นว่าโลกทั้งหมดนี้เหมือนความฝัน คือเมื่อไปยึดถือเข้าเป็นจริงเป็นจัง มันก็เป็นทุกข์ หรือว่ากามทั้งหลายมีความใคร่ ความอยาก เช่นวัตถุกามก็ตาม หรือว่ากิเลสกามก็ตาม อย่างนี้เป็นของชั่วคราว ยิ่งวัตถุกามที่เราพิจารณาดูแล้ว เป็นของชั่วคราวจริง ๆ คือ มันหลอกให้ยึดมั่นถือมั่นไปเพลิน ๆ เป็นของชั่วคราว แล้วก็ดับสลายตัวหมด ถ้าเปรียบก็เหมือนกับของที่ขอยืมเขามาใช้ทุกสิ่ง ทั้งเนื้อทั้งตัว ทั้งกาย ทั้งใจนี้ เดี๋ยวนี้กำลังถูกทวงกลับไปแล้ว ทวงกลับไปเรื่อย ๆ แล้วใครจะเป็นเจ้าของได้ ในเมื่อของนี้ขอยืมเขามาใช้ นี่มาทวงกลับไปเรื่อย ๆ แล้วนะ”

___________________________________

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น